หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนราษฎรในที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกัน ฝ่ายแรกเห็นสมควรให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ขอเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาดำรงสิริราชสมบัติต่อไป แม้พระองค์จะไม่ทรงรับ แต่การที่สภาฯมีมติเช่นนั้น ถือว่าเป็นเกียรติยศแก่สภาฯเอง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจงรักภักดี อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ แต่สภาฯมีหน้าที่รับทราบและดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยเร็ว ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าสภาฯมีหน้าที่รับทราบและไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยทันที ขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งข้อสงสัยว่า สำเนาพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัตินั้นเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงใด เพราะที่ทางรัฐบาลได้รับมาและเสนอแก่ที่ประชุมสภาฯนั้นเป็นการถอดจากโทรเลขที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่ง
จนนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี ได้ขอให้หาทางยุติปัญหาโดยให้มีการลงมติในญัตติรับรองหลักฐานสำเนาของรัฐบาลและให้ปิดอภิปรายในเรื่องดังกล่าว
ผลการลงมติคือ สมาชิกสภาฯลงมติรับรอง 33 นาย ส่วนสมาชิกสภาฯที่ต้องการให้มีการเปิดอภิปรายต่อไปมี 7 นาย ผู้ทำการแทนประธานสภาฯจึงขอให้ที่ประชุมสภาฯเสนอญัตติใหม่ต่อที่ประชุมและนายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร ได้เสนอว่า
“ข้าพเจ้าใคร่จะเสนอร่างอย่างนี้คือ คือว่า หลักฐานที่รัฐบาลส่งสำเนามาประกอบทั้งคำอภิปรายของรัฐบาลนั้น ควรจะฟังเป็นหลักฐานที่ตรงกับความจริงหรือไม่ เป็นหลักฐานที่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่ คือ ควรจะเชื่อถือได้หรือไม่”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “หลักฐานของรัฐบาลส่งมานี้ ควรจะถือเป็นหลักฐานได้หรือไม่ ท่านผู้ใดเห็นว่า...”
นายกรัฐมนตรี (พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) กล่าวว่า “ขอเสนอใหม่ว่า ในการที่จะลงมติกันนี้ จะถือว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติจริงหรือไม่”
นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร “ อย่างนั้นก็ได้ คือ ที่จะลงมตินี้ หมายความว่าอย่างนี้ การสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นจะต้องได้ทราบ และเรียกว่าสละ และนับแต่เวลาที่ตั้งแต่ทราบ ไม่ใช่เวลาที่สละ ที่เสนอเช่นนี้ อาจจะเป็นความโง่ของข้าพเจ้าก็ได้ ประเทศสยามอาจขาดพระมหากษัตริย์ตั้งแต่สภาฯนี้ได้ทราบการสละราชสมบัติ เพราะเหตุว่าหนังสือที่ได้ส่งนี้ ตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีว่า ไม่ได้มาตามแบบที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ตั้งปัญหาให้เป็นดังที่ข้าพเจ้าได้อภิปรายมาแล้ว”
นายกรัฐมนตรี (พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) ขอให้หม่อมเจ้าวรรณฯ (ที่ปรึกษาประธานสภาฯ/ผู้เขียน) ทรงแถลง
หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ทรงกล่าวว่า “ในข้อที่ว่า ทรงขาดเมื่อไรนั้น ถ้าเป็นการลาออกแล้ว ก็ขาดตั้งแต่วันที่สภาฯจะได้อนุมัติ แต่ในกรณีนี้ ตามที่ข้าพเจ้าได้เรียนแล้วว่า เป็นการทรงสละราชสมบัติ และพระองค์เองได้พระราชทานกระแสมาว่า เป็นกระแสพระบรมราชโองการตามสำเนาซึ่งผู้แทนคณะรัฐบาลได้มีรับรองส่งมาเป็นทางการ ว่าทรงขาดตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม เวลา ๑๓.๔๕ นาฬิกา นี่จึงได้ให้เวลาเรามาด้วย เวลาที่ทรงเซ็น เพราะฉะนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนริศฯจึงได้บอกว่า จะไม่ทรงเซ็นหนังสือราชการและไม่ปฏิบัติราชการในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการประการใดตั้งแต่นั้นมา”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะให้ลงมติตามญัตติสุดท้ายของรัฐบาล”
........
หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอพูดในประเด็น คือ ข้าพเจ้าไม่ได้ยินว่า ผู้หนึ่งผู้ใดคัดค้านเอกสารของรัฐบาล แล้วเป็นแต่ข้าพเจ้าได้เสนอข้อข้องใจบางประการเท่านั้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีการลงมติเลย ไม่มีผู้ใดค้าน ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้ค้าน”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ “ลงมติอย่างนี้ ไม่เกี่ยวกับประเด็นของท่าน เจ้าคุณนายกฯ (พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) ขอให้ลงมติว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติจริงหรือไม่ ท่านผู้ใดเห็นว่าได้ทรง....ข้าพเจ้าขอถามรัฐบาลว่า ตรงกับความประสงค์หรือไม่”
ร.ท. ทองดำ คล้ายโอกาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวว่า “อาจจะมีผู้ค้าน อย่าเพิ่งลงมติ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอให้เขาพูดกันก่อนจะดีกว่า”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ “ได้ลงมติกันแล้วว่า จะให้ปิดอภิปราย ผู้ขออภิปรายมี ๑๐ นาย...”
ขุนประเจตดรุณพันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก “เพื่อประโยชน์ ข้าพเจ้าขอพูดสักหน่อย ถ้าจะให้ลงมติตามนั้นแล้ว สมมติว่า ได้ลงมติตามนั้น ถ้าไม่เชื่อรัฐบาลแล้วจะทำอย่างไร..”
ผู้แทนประธานสภาฯ “นั้นคนละปัญหา เทียบเสียก่อนว่าผลจะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เรื่อง ท่านผู้ใดเห็นว่า......ข้าพเจ้าจะอ่านญัตตินี้ให้ฟัง เป็นญัตติสุดท้ายที่รัฐบาลเสนอ”
นายมงคล รัตนวิจิตร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช “คือว่าอย่างนี้ ไม่ใช่ข้าพเจ้าค้านญัตติของรัฐบาล คือวิธีลงมติ ไม่ต้องยกมือขึ้น ตามที่รัฐบาลเสนอว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลาออกหรือไม่ นี่ถ้าหากว่า ที่ประชุมไม่คัดค้านแล้ว ข้าพเจ้าถือว่า ที่ประชุมรับทราบแล้ว ไม่ต้องยกมือยกไม้อะไร”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ “เมื่อมีญัตติ ก็ต้องลงมติ ถ้าพูดเช่นนั้น ก็ไม่ต้องมีการลงมติ รัฐบาลขอให้ลงมติ ท่านอาจจะเสนอญัตติสอดก็ได้”
นายสนิท เจริญรัฐ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา “ข้าพเจ้าใคร่จะขอเสนอสอดว่า ไม่ควรจะมีการลงมติ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ท่านสมาชิกเจ้าของญัตติแรกได้ปล่อยให้รัฐบาลเสนอญัตติตามเข้ามานั้น ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ญัตติตามที่ผู้แทนจังหวัดพระนคร (นายไต๋ ปาณิกบุตร/ผู้เขียน) เสนอนั้นเป็นญัตติในข้อเท็จจริง ข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่า ทำไมจะลงมติในข้อเท็จจริง และเรื่องเช่นนี้ก็เคยมีมาหนหนึ่ง ในที่สุด ก็ไม่ได้ลงมติกัน เพราะฉะนั้น นี่เป็นข้อเท็จจริง จะลงมติกันไม่ได้”
………
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ “มีญัตติว่า ไม่ควรจะให้ลงมติในเรื่องนี้ และถ้าไม่มีผู้ใดคัดค้าน เป็นอันว่าสภาฯนี้รับทราบเรื่องสละราชสมบัติ ว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงสละราชสมบัติเป็นญัตติสุดท้าย ใครจะคัดค้าน จะได้ให้ลงมติ เมื่อไม่มีผู้ใดคัดค้าน ก็จะได้ผ่านไป”
ไม่มีผู้ใดคัดค้าน
ต่อไป ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ ได้กล่าวว่า “เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เมื่อไม่มีปัญหาแล้วในเรื่องนี้ หน้าที่ของสภาฯนี้ จะต้องดำเนินการไปตามรัฐธรรมนูญ คือ มาตรา ๙ ข้าพเจ้าจะอ่านให้ท่านฟังใหม่ ‘การสืบราชสมบัติ ท่านว่าให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
นายสร้อย ณ ลำปาง ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง “ก่อนที่จะได้ตั้งพระมหากษัตริย์ ข้าพเจ้าอยากจะให้รัฐบาลเสนอรายชื่อ รัฐบาลมีรายชื่อหรือเปล่าว่า พระบรมวงศานุวงศ์ใดสมควรตามกฎมณเฑียรบาล ก่อนที่สภาฯจะได้อภิปราย”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490