เศรษฐกิจจีนจะแซงหน้า สหรัฐฯ ปีไหน?

เขียนเกี่ยวกับเรื่องเงินดอลลาร์กับเงินหยวนติดต่อกันมาหลายวัน ก็มีคำถามต่อมาว่า ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ กับจีนใครจะใหญ่กว่าใคร

หรือคำถามง่ายๆ ที่จะเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าจีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ในทุกๆ ด้านนั้นต้องเริ่มด้วยเศรษฐกิจ

จึงต้องตรวจสอบไปหลายๆ สำนักงานที่เขาพยากรณ์ว่าผลผลิตมวลรวมหรือ GDP ของจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐฯ เมื่อไหร่?

เป็นคำถามที่อยู่บนพื้นฐานความเชื่อของผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ว่าวันหนึ่งข้างหน้าอีกไม่นานนัก GDP ของจีนจะต้องใหญ่กว่าของสหรัฐฯ แน่นอน 

คำถามจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะแซงหน้าไหม แต่ต้องถามว่าเมื่อไหร่? จะช้าหรือเร็วเพียงใด?

นิตยสาร The Economist ของอังกฤษมีรายงานวิเคราะห์ว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้ว เศรษฐกิจของจีนมีขนาดเพียง 14% เท่ากับเศรษฐกิจของอเมริกา (ตามอัตราแลกเปลี่ยนในตลาด)

แม้แต่ตอนนั้นนักเศรษฐศาสตร์บางสำนักก็เริ่มจะเชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องเร็วเกินไปที่จะเริ่มคาดคะเนว่าเมื่อใดที่ GDP ของจีนอาจเบียดอเมริกาให้ตกจากตำแหน่งประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก           

ในบทวิเคราะห์ที่มีคนอ้างอิงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2003 ของ Goldman Sachs ซึ่งเป็นสถาบันการเงินยักษ์ของโลก ทำนายว่าปีแห่งการตัดสินรู้หมู่รู้จ่าจะเป็นปี 2041

เมื่อพอเกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2007-2009 แนวคาดการณ์นั้นก็ดูจะต้องปรับให้เร็วขึ้นกว่าเดิมเสียแล้ว

ช่องว่างระหว่างจีนกับอเมริกาแคบลงเร็วกว่าที่คาดไว้มาก เพราะอเมริกาเริ่มแสดงอาการสั่นคลอนขณะที่การเติบโตของจีนดูจะมี “พลังอึด” มากกว่า

อีกทั้งเงินสกุลหยวนของจีนก็แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภายในปี 2010 GDP ของจีนก็กระโดดขึ้นมาเท่ากับ 40% ของอเมริกา

Goldman Sachs ปรับคำพยากรณ์ใหม่ ด้วยการทำนายว่าจีนจะวิ่งแซงหน้าสหรัฐฯ เร็วขึ้น

จากเดิมที่ตั้งไว้ต้นทศวรรษ 2040 มาเป็นปลายทศวรรษ 2020

สำนักพยากรณ์ของ The Economist เองก็กระโจนลงมาเล่นเกมการคาดคะเนในเกมเดียวกันอย่างไม่สะทกสะท้าน

นั่นหมายความว่าไม่กลัวจะหน้าแตก

ในปีนั้น สื่ออังกฤษสำนักนี้เขียนสร้างแผนภูมิเชิงโต้ตอบ เพื่อให้ผู้อ่านสามารถคาดการณ์ได้เองว่าจีนจะแซงหน้าอเมริกาเมื่อใด โดยให้ผู้อ่านตั้งสมมติฐานตัวเลขการเติบโต อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน

สมมติฐาน "เริ่มต้น" ของเราบอกเป็นนัยว่า ช่วงเวลาแห่งชัยชนะทางเศรษฐกิจของจีนอาจมาถึงอย่างเร็วที่สุดในปี 2019

แต่ 5 ปีต่อมา สำนักข่าวนี้ก็ยอมรับว่าประเมินการเติบโตของจีนแบบ “โลกสวย” เกินไปหน่อย

สาเหตุไม่ใช่เพราะการเติบโตของจีนที่ต่ำกว่าที่คาด แต่เป็นเพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับตามอัตราเงินเฟ้อแล้วหยุดแข็งค่าอย่างกะทันหัน

จีนลดค่าเงินหยวนอย่างงุ่มง่ามในปี 2015 ซึ่งสร้างความหวาดกลัวให้นักลงทุนที่หวั่นวิตกว่าค่าเงินจะอ่อนค่าลงอีก

ด้วยเหตุนี้ สำนักวิเคราะห์ The Economist จึงออกบทประเมินใหม่

โดยเลื่อนวันที่ประเทศจีนจะบรรลุเป้าหมายก้าวขึ้นเป็นประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกไปอีกไกลเลย

ตอนปลายปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่เต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญหลายเรื่อง หน่วย “ข่าวกรองเศรษฐกิจ” หรือ EIU ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของสำนักข่าวแห่งนี้ คาดการณ์ว่าจีนจะไม่แซงหน้าอเมริกาจนกว่าจะถึงปี 2032

หรือช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 12 เดือนก่อนหน้าถึง 8 ปี

การเลื่อนวันที่ “นัดพบกับชะตากรรมทางเศรษฐกิจ” ของจีน ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าในท้ายที่สุดการพยากรณ์นี้จะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือไม่

เพราะมีปัจจัยที่ไม่แน่นอนหลายประการที่ต้องนำมาพิจารณาประกอบ ในการที่จะประเมินให้แม่นยำและสอดคล้องกับความเป็นจริง

ตัวแปรสำคัญคือ การเติบโตทางด้าน “ผลิตภาพ" (productivity) ของจีนชะลอตัวลง และโครงสร้างประชากรของประเทศก็เปลี่ยนไปด้วย

นั่นแปลว่าแรงงานของจีนกำลังหดตัวลง

และการปรับตัวลดลงของแรงงานจีนอาจเร่งตัวขึ้นในอีกหลายสิบปีข้างหน้า

สหประชาชาติคาดการณ์ว่า ประชากรจีนวัย 15-64 ปีจะลดลงมากกว่า 100 ล้านคนในช่วงปี 2030

นั่นแปลว่าหากจีดีพีของจีนไม่แซงหน้าอเมริกาในช่วงกลางทศวรรษนั้น ก็อาจไม่มีโอกาสที่จะเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกได้อีกนาน

นั่นเป็นแนวทางวิเคราะห์จากบริษัทวิจัยอีกสำนักหนึ่ง Capital Economics

แต่กระนั้นคำพยากรณ์ของสำนักนี้ก็อาจจะดูมืดมนเกินไป เพราะหน่วยงานคาดการณ์อื่นๆ เช่น OECD, Lowy Institute และ Center for Economics and Business Research  คาดการณ์ว่า GDP ของจีนจะแซงหน้าอเมริกาในช่วงปี 2030

ตัวอย่างเช่น ตอนนี้ EIU มีเหตุผลจะเชื่อว่าปรากฏการณ์เช่นว่านี้น่าจะเกิดขึ้นในปี 2039 หรืออีกประมาณ 16 ปีจากนี้

น่าสังเกตว่า คำทำนายที่ว่านี้ใกล้เคียงกับวันที่เดิมของ Goldman Sachs ซึ่งกะเก็งเอาไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้วอย่างมากทีเดียว

ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจของจีนมีทั้งขึ้นและลงในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

เป็นผลให้การพยากรณ์จากสำนักต่างๆ นั้นต้องปรับต้องเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา

แต่ไปๆ มาๆ คำทำนายจากสำนักทั้งหลายก็วนมาครบวงจรจนได้...นั่นคือวกกลับมาสู่การคาดการณ์ชุดเดิมที่ประเมินเอาไว้เมื่อ 20 ปีก่อน

ตรงกับสัจธรรมที่ว่า “บางครั้งการมองอนาคตนั้น จะเห็นได้ชัดกว่าถ้ามองจากระยะไกล...”

หรืออีกนัยหนึ่งคือ “ยิ่งใกล้ยิ่งมองไม่ชัด”!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ