ผมได้นำเรื่องชังชาติ รักชาติที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2563 และนำตอนที่หนึ่งและสองไปเผยแพร่ในเฟสบุ๊ก chaiyan chaiyaporn #รักชังชาติ มีผู้แสดงความเห็นที่น่าสนใจเข้ามาหลายท่าน แม้ว่าในตอนที่สอง ผมจะทิ้งท้ายว่า “การไม่รักชาติใดชาติหนึ่งก็หาใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตัวเสมอไปเท่านั้น เพราะยังมีพวกที่เชื่อในความเป็นสากลนิยม--ความเป็นคนในโลกใบเดียวกันมากกว่าที่จะยึดติดกับพื้นที่เล็กๆวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง โดยคนแบบนี้ต้องการที่จะเป็นพลเมืองโลกและรับวัฒนธรรมอันหลากหลาย มองเห็นความสวยงามของสิ่งต่างๆในโลก คนพวกนี้อาจจะชังชาติได้ หากชาติมันคับแคบและเห็นแก่ตัวเกินไป คนพวกนี้เป็นปฏิเสธ nationalism แต่ยึดมั่นในหลักการที่เรียกว่า cosmopolitanism และต้องการให้คนเป็น ‘พลเมืองโลก’ มากกว่าจะยึดติดกับ ความเป็นพลเมืองของชาติใดชาติหนึ่ง เท่านั้น อย่างไรก็ตาม บางพวกที่เชื่อใน ‘cosmopolitanism’ ก็ยืนยันว่า การเป็นพลเมืองโลก ไม่จำเป็นต้องละทิ้งการเป็น พลเมืองที่สังกัดรัฐสังกัดชาติ ด้วย”
ผมกะว่าจะอธิบายขยายความเรื่อง “cosmopolitanism” ในตอนนี้ แต่เนื่องจากอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า มีผู้แสดงความคิดเห็นต่อข้อเขียนสองตอนก่อน ผมจึงอยากจะนำความคิดเห็นเหล่านั้นมาเผยแพร่ในตอนนี้
ผมได้เคยกล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยม เช่น รัฐบาลรณรงค์ให้ประชาชนซื้อและใช้ข้าวของที่ผลิตในประเทศแม้ว่าคุณภาพและราคาจะยังไม่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับสินค้าต่างประเทศ แต่การรณรงค์นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมนี้ก็เพื่อหวังผลในระยะยาวที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศให้อยู่ได้ และเมื่ออยู่ได้ก็จะสามารถพัฒนาต่อยอดจนทำให้สินค้าที่ผลิตขึ้นภายในประเทศมีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม แต่แน่นอนว่าในตอนแรกๆ อาจจะมีประชาชนที่ต้องการซื้อสินค้าจากต่างประเทศที่มีคุณภาพและราคาเหมาะสมกว่าของในประเทศ คนพวกนี้อาจจะโดนข้อหาว่าเป็นพวกไม่รักชาติได้ และถ้าคนพวกนี้ออกมารณรงค์ต่อต้านนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยมโดยอ้างสิทธิเสรี่ภาพในการเลือกซื้อสินค้าตามเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม คนพวกนี้ก็อาจจะโดนข้อหาชังชาติได้
ต่อประเด็นดังกล่าวนี้ ดร. ทศพร นพวิชัยได้กรุณาแสดงความเห็นในลักษณะตั้งคำถามมาว่า “ชังชาติ รักชาติ ถือเป็นวาทกรรมทางการเมืองได้ไหม ? เพราะคนที่จุดประเด็นเหล่านี้มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรของส่วนรวม” หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าพิจารณาในบริบทของนโยบายทางเศรษฐกิจ จะพบว่า คนที่เป็นเจ้าของกิจการเป็นผู้ผลิตคือผู้ได้ประโยชน์จากการที่ประชาชนซื้อสินค้าภายในประเทศที่ตนเป็นเจ้ากิจการ ส่วนนักธุรกิจนำเข้าก็จะเสียประโยชน์ ซึ่งในแง่นี้ รักชาติ ชังชาติก็จะถูกมองว่าเป็น “วาทกรรม” ที่ถูกสร้างขึ้นมาอำพรางผลประโยชน์ทางธุรกิจของผู้ผลิตภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การอ้าง “เสรีนิยม” ก็เป็น “วาทกรรม” ที่ผู้สร้างขึ้นมาจากฝั่งนักธุรกิจนำเข้าด้วยเช่นกัน
ดร. ทศพร ยังได้ยกประเด็นที่น่าสนใจและแหลมคมมากขึ้นกว่าเรื่องของสินค้าทั่วไป โดยได้กล่าวถึง นโยบายการสงวนอาชีพที่เป็นนโยบายชาตินิยมในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงครามในช่วง พ.ศ. 2481-2489 โดยหวังจะให้มีหลักประกันทางอาชีพบางอย่างให้แก่คนไทย โดยออกนโยบายสงวนและส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็ส่งผลต่อการส่งเสริมทางสังคมวัฒนธรรมด้วย แต่แน่นอนว่า หากคนไทยที่ประกอบอาชีพที่สงวนให้ได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่สมเหตุสมผลในด้านราคา กลไกตลาดเสรีก็จะทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถ “รักชาติไทย ชูชาติไทย” ตามท่านผู้นำได้ ยกเว้นคนที่ “รักชาติอย่างรุนแรง” แต่ความรักชาติอย่างรุนแรงนี้จะไม่สมเหตุสมผลเลย หากเขายังใช้บริการจากคนไทยที่ให้บริการที่คุณภาพต่ำและแถมยังมีราคาไม่สมเหตุสมผลด้วย
จากตัวอย่างที่ ดร. ทศพร ยกมา ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกรณีแท็กซี่ vs อูเบอร์-GRAB และอีกหลายๆกรณีที่น่าจะเกี่ยวพันกับประเด็นที่กล่าวไปนี้
ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้เขียนนึกถึงประเทศสวีเดนในศตวรรษที่สิบแปด ที่เรื่องราวมันอาจจะกลับตาลปัตร เพราะเมื่อพระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงทำรัฐประหารยึดอำนาจ นโยบายทางเศรษฐกิจของพระองค์คือ ปล่อยให้เกิดการค้าเสรีเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนของพระองค์ เพราะก่อนหน้านี้ พวกอภิชนและพ่อค้าผูกขาดทางเศรษฐกิจอยู่และได้ประโยชน์จากการค้าขายสินค้าของตนโดยได้ประโยชน์จากนโยบายการกีดกันสินค้าต่างประเทศ ทำให้ประชาชนต้องจับจ่ายสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและราคาที่ไม่สมเหตุสมผล และพระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงเชื่อว่า นโยบายการค้าเสรีของพระองค์นั้นเป็นนโยบายเพื่อการกินดีอยู่ดีของประชาชนชาวสวีเดนอย่างแท้จริง และเป็นนโยบายที่พระองค์เรียกว่าเป็นนโยบายเพื่อปิตุภูมิ (patriotic) ในขณะที่พวกอภิชนและพ่อค้าสวีเดนก็จะรู้สึกไม่พอใจกับนโยบายเศรษฐกิจแบบปิตุภูมินิยมของพระเจ้ากุตาฟที่สาม และถ้ามีปฏิกิริยาออกมามากๆ ก็ย่อมจะกลายเป็นพวก “ชังชาติ” ในสายตาของประชาชนสวีเดนส่วนใหญ่ในเวลานั้นที่ได้ประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจของพระเจ้ากุสตาฟที่สาม ที่เป็นปิตุภูมินิยมและเสรีนิยมได้ด้วยในเวลาเดียวกัน !
เหตุที่พระเจ้ากุสตาฟที่สามทรงออกนโยบายดังกล่าวก็เพราะพระองค์ทรงได้รับการศึกษาและให้ความสนใจอย่างจริงจังในปรัชญาความคิดที่กำลังเฟื่องฟูทั่วยุโรปในขณะนั้น ที่รู้จักกันในนามของ “กระแสแห่งแสงสว่างทางปัญญา” (the Enlightenment) โดยเฉพาะหลักเศรษฐศาสตร์สำนัก “Physiocracy” ที่มีอิทธิพลต่อบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่อย่างอาดัม สมิธ
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า นโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมหรือรักชาติจึงไม่จำเป็นต้องหมายถึงการใช้ของภายในประเทศเสมอ แต่ขึ้นอยู่กับบริบทในขณะนั้น ดังนั้น นโยบายหนึ่งๆจึงนโยบายที่ “รักชาติ” ได้ในบริบทหนึ่ง และก็อาจจะกลายเป็นนโยบาย “ชังชาติ” ได้ในอีกบริบทหนึ่ง คำถามคือ ในเรื่องการเมือง เป็นเช่นเดียวกันแบบเศรษฐกิจหรือเปล่า ?
กลุ่มคนที่อาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็น “พวกชังชาติ” อาจจะได้แก่คนที่อพยพมาจากประเทศหนึ่ง จะด้วยหนีความลำบากอดอยากหรือด้วยสาเหตุใดก็ตาม ที่มาทำมาหากินในอีกประเทศหนึ่ง มีชีวิตรอด มีชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็ยังผูกพันกับประเทศของตนที่จากมาเสมอ ยังคิดว่าสักวันหนึ่งเมื่อลืมตาอ้าปากแล้ว ก็จะกลับไปประเทศดั้งเดิมของตน คนพวกนี้จะเห็นประเทศใหม่ที่ตนมาอาศัยทำมาหากินเป็นที่ตักตวงประโยชน์เท่านั้น ซึ่งมักจะได้แก่คนอพยพลี้ภัยที่เป็นรุ่นแรกๆ ซึ่งก็เข้าใจได้ว่า คนรุ่นแรกๆนี้ยังอยากจะกลับไปบ้านเกิดของตน เพราะลึกๆแล้วยังเห็นว่าชาติดั้งเดิมของตนเหนือหรือดีกว่า
ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศที่มีคนจากประเทศอื่นอพยพเข้ามาอาศัยทำมาหากิน ในอเมริกาก็มี ในไทยก็มี จะมากหรือน้อยเท่านั้น ในกรณีของไทย จะเห็นได้ชัดในสมัยรัชกาลที่หก ซึ่งผมได้รับความกรุณาจากบทความของอาจารย์ ดร. ชัชพันธุ์ ยิ้มอ่อน อาจารย์สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยวราชภัฏลัยลงกรณ์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง “ไทยผสม” เนื่องจากอาจารย์ชัชพันธุ์ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่องการปรับมโนทัศน์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในงานของชัชพันธุ์ได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงบัญญัติศัพท์ “ไทยผสม” ขึ้น โดยทรงได้รับอิทธิพลจากเหตุการณ์ในประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีชาว “อเมริกันผสม” พระองค์จึงนำปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามาเรียกเหตุการณ์ที่คนจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในประเทศไทย พวกเขาได้แปลงเป็นชาวไทยด้วยวิธีการตัดผมเปีย และที่สำคัญคือ คนจีนที่มาอยู่ในสยามสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นไทยหรือเป็นจีน และชัชพันธุ์ได้ตั้งสมมติฐานว่า สิทธิการเลือกที่คนจีนได้รับมาจากผลของสิทธิสภาพนอกอาณาเขตที่ระบุไว้ในสนธิสัญญาเบาริ่ง และบุคคลที่เป็นหนึ่งในเป้าโจมตี คือ เซียวฮุดเสง เนื่องจากพระองค์ทรงพระอักษรว่า “...คนจำพวกจีนโนสยาม และหนังสือพิมพ์อันเปนปากของเขานั้น ย่อมไม่รู้สึกเบื่อหน่ายในการโฆษณาว่าเขาเป็นคนไทยอย่างเราๆ...”
ดังนั้นจุดมุ่งหมายตามเจตนาของพระองค์ คือ การเตือนสติให้เพื่อนไทยที่หลงเชื่อคนจีน หรือคนไทยผสมที่ใช้ชื่อ “ไทย” แต่กลับมิได้ภูมิใจเพราะชื่อ “ไทย” เพราะคนไทยผสมคิดว่าชื่อ “ไทย” นั้นไม่ดีพอสำหรับเขา คนไทยผสมจึงเรียกตนเองว่า “จีนโนสยาม” หรือ “สยามจีนางกูร” พระองค์จึงได้เสนอความคิดอุปมาเพื่อเรียกคนไทยผสมว่า “...สมมติว่าข้าพเจ้าได้เคยเปนลิง และภายหลังจากข้าพเจ้าอยากจะเปนคน ข้าพเจ้าก็คงจะไม่เรียกตัวข้าพเจ้าว่า “ลิง-คน” ข้าพเจ้าคงจะเรียกตัวข้าพเจ้าว่า คน เฉยๆ และปล่อยให้คนอื่นเขาวินิจฉัยเอาเองเถิด ...”
ชัชพันธุ์เห็นว่า อย่างไรก็ตามพระองค์ก็ปฏิเสธว่า พระองค์มิใช่เป็นคน “ชัง” คนไทยผสม โดยทรงกล่าวว่า “...ข้าพเจ้าไม่ใช่เปนบ้าชังชาวต่างประเทศ ข้าพเจ้าใคร่จะทำความสนิทสนม และดำเนินการติดต่อกับชาวต่างประเทศในฐานะที่เขาเปนชาวต่างประเทศโดยตรง แต่ข้าพเจ้าไม่ชอบเปนคนซึ่งข้าพเจ้าไม่สามารถจะทราบได้ ว่าเมื่อใดเปนชาวต่างประเทศและเมื่อใดไม่เปน คนลักษณนี้แหละได้แก่คนไทยผสมที่กล่าวมาในเรื่องนี้ และข้าพเจ้ามีความเสียใจจริงๆ ที่จะต้องกล่าวว่า บุคคลชนิดนี้เปนคนที่ไม่พึงปรารถนาให้มีอยู่ในชาติอย่างของเรา...”
พระองค์จึงได้เสนอข้อเรียกร้องต่อคนไทยผสมว่า “...ขอให้เลิกเรียกตนเองว่าจีนโนสยาม ขอให้เขาแสดงว่าเขาทั้งหลายมีความปรารถนาจริงใจที่กลายเปนไทยแท้...ขอให้เขาตัดขาดความรู้สึกและความนิยมในชาติจีน..ขอให้เขาพร้อมอยู่เสมอไม่ว่ากาละใดๆ ที่จะยกประโยชน์แห่งเมืองไทย และชาติไทยขึ้นเหนือประโยชน์อื่นๆ ทั้งสิ้น....”
กล่าวได้ว่า พระองค์ไม่ได้ทรงต่อต้านชาวจีน แต่ต้องการสร้างชาวจีนให้เป็นพลเมืองที่พึงประสงค์ ปลูกฝังความรักชาติและความจงรักภักดีต่อมหากษัตริย์ โดยพระองค์ได้ทรงขอให้เขาเหล่านั้นร่วมบริจาคเงินเพื่อซื้อเรือรบไว้สำหรับป้องกันประเทศ ให้คนจีนและไทยผสมตระหนักถึงการเข้ามาพึ่งพระบรมธิสมภารของพระองค์ คนจีนและไทยผสมก็ควรที่จะช่วยไทยทำรั้วบ้าน ซึ่งในที่นี้พระองค์หมายถึง การบริจาคเงินสร้างเรือรบดังปรากฏเป็นข้อเขียนของพระองค์ว่า “...เมื่อเพื่อนจีนมาอยู่ในบ้านไทยก็ต้องผ่อนตามใจไทยผู้เป็นเจ้าของบ้านบ้าง...”
จากงานของชัชพันธุ์ข้างต้น จะเห็นได้ว่า คนจีนสมัยนั้นอาจจะไม่ได้ “อิน” กับความเป็นไทยอย่างจริงๆจังๆ อาจจะยังนึกถึงประเทศจีนและความเป็นจีนอยู่มาก และจริงๆแล้ว ก็มีคนจีนจำนวนหนึ่งที่มีความรู้สึกภาคภูมิใจและทรนงในความเป็นจีนและสายเลือดจีนอยู่เสมอ บางครอบครัวต้องให้ลูกแต่งงานกับคนจีนด้วยกันเท่านั้น และมีความรู้สึกดูถูกคนไทย และการดูถูกคนไทยของคนจีนประเภทนี้ก็มักจะดูถูกคนไทยอีสานและคนไทยใต้เสียมาก และรังเกียจไปถึง “ความดำ” ของสีผิวเมื่อเทียบกับ “ความขาว” ของคนจีน และรวมไปถึงอาหารการกินวัฒนธรรมของคนไทยอีสานและใต้ด้วย คนจีนมักจะเรียกคนไทยอีสานว่า “พวกจุกบี้” ซึ่งจุกบี้แปลว่า ข้าวเหนียว ออกแนวดูถูก แต่สมัยนี้ จางไปมากแล้ว อาการดูถูกแบบนี้ แต่ คงปฏิเสธยากนะครับว่าคนจีนพวกนี้เป็น “พวกชังชาติไทย”
แต่ก็มีคนจีนอีกประเภทหนึ่งที่อยากเป็นไทย อยากแต่งงานกับคนไทย ใช้ชีวิตแบบไทย
อย่าเพิ่งเถียงกันเลยนะครับ ว่าความเป็นไทยมีหรือไม่มีอยู่จริง ! เพราะเมื่อเทียบวัฒนธรรมประเพณีจีนกับวัฒนธรรมประเพณีของคนท้องถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย มันก็ย่อมมีความแตกต่างระหว่าง “จีน” กับ “ไทย” แต่คนจีนที่อยากเป็นไทยเหล่านี้ กลับถูกล้อเลียน ดูถูกดูแคลน เหยียดจากคนพื้นถิ่นหรือคนไทยนั่นแหละ จึงทำให้เกิดความกินใจลึกๆระหว่าง คนจีนที่อยากเป็นไทย กับ คนไทยที่รังเกียจคนจีน ไปๆมาๆ คนจีนที่อยากเป็นไทยนั้น เมื่อเป็นไม่สำเร็จ ความขมขื่นในใจเขาอาจทำให้เขาเกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิกิริยา “ชังชาติไทย” ขึ้นมาได้ และหากความเป็นชาติไทยนั้นผูกโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์เข้าด้วยแล้ว ก็พาลจะพลอยชิงชัง “สถาบันพระมหากษัตริย์” และผู้คนที่อยู่รายรอบหรือเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ไปด้วย
แต่ครั้นคนเหล่านี้จะกลับไปจีนก็ไม่ได้เสียแล้ว เรื่องมันก็เลยอิหลักอิเหลื่อ แต่คนเหล่านี้จะมีความสุขสงบใจได้ก็ต่อเมื่อเขาสามารถเปลี่ยนแปลงหรือทำลายสิ่งที่เขาชิงชังนั่นเอง และส่วนหนึ่งของการทำลายคติเหล่านี้ก็คือ การสมาทานแนวคิดเสรีนิยมอย่างสุดโต่ง เพราะจริงๆแล้ว ลึกๆ แก่นของเสรีนิยมไม่สามารถอยู่กับชาติหรือชาตินิยมได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง