หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนราษฎรในที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกัน ฝ่ายแรกเห็นสมควรให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ขอเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาดำรงสิริราชสมบัติต่อไป แม้พระองค์จะไม่ทรงรับ แต่การที่สภาฯมีมติเช่นนั้น ถือว่าเป็นเกียรติยศแก่สภาฯเอง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจงรักภักดี อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ แต่สภาฯมีหน้าที่รับทราบและดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยเร็ว ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าสภาฯมีหน้าที่รับทราบและไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยทันที ขณะเดียวกัน ก็มีการตั้งข้อสงสัยว่า สำเนาพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัตินั้นเป็นหลักฐานที่น่าเชื่อถือเพียงใด เพราะที่ทางรัฐบาลได้รับมาและเสนอแก่ที่ประชุมสภาฯนั้นเป็นการถอดจากโทรเลขที่แปลมาจากต้นฉบับภาษาอังกฤษอีกทีหนึ่ง
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเห็นของนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ที่เสนอให้ที่ประชุมสภาฯลงมติรับรองความถูกต้องของสำเนาดังกล่าว และมีสมาชิกสภาฯให้การรับรองที่นายทองอินทร์เสนอ
ต่อมา ขุนชำนาญภาษา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาสได้อภิปรายค้านว่า “เรื่องนี้ก็น่าจะไม่มีมติอะไรเลย ค่าที่สำเนานี้ รัฐบาลก็รับรอง และไม่มีใครคัดค้านแล้วว่า จะเป็นสำเนาซึ่งไม่แน่แท้ จะมีมติอะไรกัน ไม่มีญัตติว่าไม่ใช่ของแท้ จึงข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่ควรมีมติเช่นนั้น เรื่องนี้ ปัญหาเฉพาะหน้าก็คือ สภาฯนี้อยากจะทราบว่ารัฐบาลจะจัดให้มีพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญเมื่อไร”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ขอให้ตกลงกันเสียก่อนว่า เอกสารเหล่านี้ที่รัฐบาลเสนอมานี้ ยังเป็นที่เคลือบคลุมสงสัยหรือไม่ ถ้าผู้ใดสงสัยว่าจะไม่ตรงต่อข้อความเหล่านี้.....”
หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กล่าวขึ้นว่า “ข้าพเจ้าไม่เคยสงสัยเลยว่า ในสำเนาเอกสารต่างๆเหล่านี้ รัฐบาลจะเสนอเข้ามาโดยไม่ใช่ความจริง แต่มีข้อความตอนท้ายอย่างคุณหลวงธำรงฯ (น.ต. หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ร.น. ผู้อภิปรายไปก่อนหน้านี้/ผู้เขียน) ได้กล่าวมาแล้วว่า มีหมายเหตุของท้ายโทรเลขมีความว่า ‘คำแปลข้างบนนี้ได้ทำโดยกะทันหันในระยะเวลาอันสั้นมาก สำเนาต้นฉบับนั้น จะให้ข้าพเจ้านำมากรุงเทพฯ หรือจะให้ส่งทางไปรษณีย์’
เพราะฉะนั้น จึงน่าจะต้องพิจารณาว่าตามโทรเลขที่ส่งมาในเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัตินี้ จะมีข้อความตรงกับต้นฉบับหรือไม่ ก็มีในท้ายคำบันทึกบอกว่า ไม่รับรองว่าจะถูกต้องแล้ว เราจะให้สภาฯนี้หรือรัฐบาลนี้ไปรับรองว่า ที่ส่งมานั้นถูกต้องกับต้นฉบับได้อย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่า สภาฯนี้และรัฐบาลไม่ควรจะรับรองว่าโทรเลขนี้ถูกต้อง นี่ควรจะถือว่าเป็นข้อใหญ่ใจความที่ส่งมาเท่านั้น ส่วนต้นฉบับจริงๆหรือสำเนาอันแท้จริง ควรจะได้ส่งมาให้สภาฯนี้ทราบก่อน แล้วสภาฯนี้จึงจะพิจารณาต่อไปว่า หนังสือที่ทรงสละราชสมบัตินั้น สภาฯนี้จะรับรองอย่างไรหรือไม่ เพราะเราก็ยังบอกว่า การส่งโทรเลขนั้นอาจจะมีผิดพลาดง่ายๆ และอาจจะเสียความไปได้มากๆ แม้แต่ภายในประเทศเท่านั้น บางทีก็ตกคำไปคำหนึ่ง และความอาจจะเป็นตรงกันข้ามทีเดียวก็ได้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงยังไม่อยากจะรับรองโทรเลขนี้ว่าถูกต้องโดยแท้จริง เมื่อยังรับรองโทรเลขนี้ไม่ได้แล้ว สภาฯนี้ก็ยังไม่ควรจะพิจารณาในการสละราชสมบัตินี้ ว่าจะให้สมควรเป็นไปประการใด และว่าสมควรจะเป็นจริงประการใด เพราะฉะนั้นในระยะเวลาอันสั้นนี้ ข้าพเจ้าจึงได้มีความเห็นอย่างที่ได้แถลงมาแล้ว เมื่อสภาฯนี้ประกอบด้วยผู้แทนราษฎร ควรจะกระทำในหน้าที่นี้”
พ.ต. หลวงเชวงศักดิ์สงคราม กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอให้สมาชิกดูเอกสารหน้า ๒๘ ผู้สำเร็จราชการได้มีลายพระหัตถ์รับรองแล้ว และมีข้อความ ๔ ข้อที่ผู้สำเร็จราชการรับรองแล้ว ถ้าเรายังไม่เชื่อเอกสารเช่นนั้นที่ท่านลงนามรับรอง แล้วเรามิต้องสอบกันเสมอไปหรือ และในกรณีเช่นนี้ เราควรจะเชื่อถือได้ และปัญหาสำคัญก็คือ สภาฯนี้ไม่จำเป็นจะต้องทำอะไร นอกจากรับทราบด้วยความเสียใจ เพราะเป็นสิทธิของพระองค์ที่จะสละราชสมบัติได้ นิติกรรมที่พระองค์ทำย่อมชอบด้วยกฎหมาย เป็นกิจการภายในของพระองค์ เมื่อสละราชสมบัติก็เป็นอันว่าขาดพระมหากษัตริย์แล้ว หน้าที่ของสภาฯนี้ก็คือ จะต้องเลือกกษัตริย์ใหม่เท่านั้น” ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ปัญหาที่อยู่ต่อหน้าสภาฯนี้ก็คือว่า พระมหากษัตริย์ได้ทรงสละราชสมบัติจริงหรือไม่ ตามโทรเลขนี้เสนอข้อความเล็กน้อย ที่เสนอมาอาจจะคลาดเคลื่อนนั้นก็ไม่สำคัญนัก และที่จะถือได้หรือไม่ว่า ท่านทรงสละราชสมบัติจริง ก็ควรจะรับรองคำแปลโทรเลขนี้”
นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอเสนอว่า ควรจะตั้งเป็นญัตติว่า ควรจะฟังหลักฐานนี้ว่าจะเป็นความจริงดังที่รัฐบาลยืนยันหรือไม่ ข้าพเจ้าขอเสนอให้ลงมติ”
(นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ด. ยูเกียง ทองลงยา รับรอง)
ต่อมา พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล เสนอว่า “ข้าพเจ้าขอให้อภิปรายต่อไป”
(หลวงวรนิติปรีชา รับรอง)
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ถ้าจะอภิปราย ขอให้อภิปรายว่า ควรจะถือว่าเป็นหลักฐานหรือไม่ เอกสารที่รัฐบาลเสนอเข้ามานี้”
นายสร้อย ณ ลำปาง ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า “ไม่มีใครคัดค้านว่า สำเนาตามที่รัฐบาลเสนอมานี้ไม่เป็นความจริง เป็นแต่พูดประปรายหน่วงเหนี่ยวให้ช้าไป เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า เมื่อไม่มีใครคัดค้าน ควรจะให้ลงมติ เมื่อไม่มีใครคัดค้านว่าไม่ถูก ถ้าจะมีใครคัดค้าน ขอให้ยืนขึ้นพูด”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “มีผู้ที่คัดค้านเช่นที่ข้าพเจ้าเข้าใจ ก็คือผู้แทนสกลนคร”
หลวงวรนิติปรีชา กล่าวว่า “ข้าพเจ้าคัดค้านว่า สำเนาโทรเลขที่ส่งมานั้นน่าจะไม่ตรง หรือถูกต้องกับต้นฉบับ ข้าพเจ้าไม่ได้คัดค้านว่าสำเนานี้จะเท็จหรืออะไร เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอให้ท่านเข้าใจเสียใหม่” นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า “ผู้แทนพระนคร (นายไต๋ ปาณิกบุตร/ผู้เขียน) ได้ตั้งปัญหาที่สุดเป็นญัตติ และเมื่อญัตติก็ต้องมีมติ ประธานก็เคยว่าเสมอ ถึงแม้ว่าจะไม่มีผู้คัดค้าน ก็ต้องมีมติ และผู้เสนอญัตติก็มีผู้รับรองถูกต้องแล้ว ขอได้โปรดให้โวต”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะให้ลงมติ ญัตติหลังขอให้ปิดอภิปราย ท่านผู้ใดเห็นว่า ควรจะปิดอภิปราย โปรดยกมือขึ้น”
(โปรดติดตามผลการลงคะแนนดังกล่าวในตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490