ต้นเดือนเมษายน 2023 อิหร่าน-ขั้วซาอุฯ ทั้ง 2 ประเทศแถลงร่วมกันว่าจะเปิดสถานทูตระหว่างกัน จะมีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับเศรษฐกิจอีกครั้ง เรื่องนี้น่าสนใจมาก เป็นการตัดสินใจที่ห้าวหาญสวนหลักคิดเดิมที่ยึดมาหลายทศวรรษ หลังจากนั้นอีกหลายประเทศทยอยฟื้นความสัมพันธ์ปกติกับอิหร่าน
เพื่อให้เข้าใจยิ่งขึ้น ควรทบทวนความบาดหมางในอดีต ย้อนหลังกุมภาพันธ์ 2018 นายอเดล อัล-จูเบียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศชี้ว่าอิหร่านสนับสนุนผู้ก่อการร้ายหลายกลุ่ม ทั้งให้แห่งพักพิงแก่อัลกออิดะห์ ทั้งหมดนี้เริ่มต้นจากการปฏิวัติของอยาตุลเลาะห์ โคไมนี (Ayatollah Khomeini)
ในปี 1979 อยาตุลเลาะห์ โคไมนี ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ นำการปฏิวัติอิสลามสู่ประเทศอิหร่าน โค่นล้มระบอบอำนาจเก่า เปลี่ยนแปลงระบอบปกครองเป็นระบอบ Islamic theocracy ยึดหลักศาสนาเป็นรากฐานการปกครอง และเปลี่ยนชื่อประเทศเป็น “สาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน”
การปฏิวัติสร้างความแบ่งแยกทางนิกายอย่างรุนแรง ระหว่างซุนนีที่มีซาอุฯ เป็นแกนนำ กับชีอะห์ที่กำลังโด่งดังในอิหร่านขณะนั้น พร้อมกับส่งออกการปฏิวัติอิสลาม (ชีอะห์) ช่วงนั้นกระแสชีอะห์มาแรง เป็นเรื่องที่เพื่อนบ้านอาหรับยอมรับไม่ได้ (ไม่เพียงการเปลี่ยนนิกาย อาจส่งผลล้มระบอบปกครองจากระบอบกษัตริย์ของเหล่ารัฐอาหรับมาเป็นแบบผู้นำศาสนามีอำนาจสูงสุด)
เมษายน 2018 มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน (Mohammed bin Salman) กล่าวโจมตีผู้นำอิหร่านอย่างรุนแรงว่า ตนเชื่อว่าผู้นำสูงสุดอิหร่านทำให้ฮิตเลอร์ดูดี ฮิตเลอร์ไม่ได้ทำอย่างที่ผู้นำสูงสุดอิหร่านกำลังทำ ฮิตเลอร์พยายามครอบครองยุโรป แต่ผู้นำสูงสุดพยายามครอบครองโลก เป็นฮิตเลอร์ของตะวันออกกลาง ... ตนไม่อยากเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปมาเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง
ในการตัดสินใจปรับสัมพันธ์นี้ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีมีส่วนสำคัญ จะเห็นว่า นโยบายต่ออิหร่านเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ (ไม่คิดว่าผู้นำสูงสุดอิหร่านเป็นฮิตเลอร์อีกต่อไป) อย่างไรก็ตามการปรับความสัมพันธ์อาจยังไม่สนิทใจ รอเวลาทดสอบความสัมพันธ์นี้
ควรเข้าใจว่าแต่ไหนแต่ไรรัฐบาลซาอุฯ ทำหน้าที่เป็นผู้นำซุนนีต่อต้านชีอะห์อิหร่าน อิสราเอลกับสหรัฐได้รับประโยชน์จากการนี้ รัฐบาลสหรัฐใช้หลักนิยมแบ่งแยกแล้วปกครอง (divide and rule) กับภูมิภาคตะวันออกกลาง การจับมือระหว่างซาอุฯ-อิหร่านทำลายหลักนิยมนี้
ในกรณีภูมิภาคตะวันออกกลางคือยุยงปลุกปั่นให้แบ่งแยกด้วยศาสนานิกาย (ซุนนี-ชีอะห์) ระหว่างผู้ปกครองประเทศ เชื้อชาติ (อาหรับ-เปอร์เซีย-เติร์ก-เคิร์ด) ซึ่งบางส่วนแตกแยกอยู่แล้ว เช่นนิกายศาสนา เพียงแต่โหมไฟความแตกแยกให้ทวีความรุนแรงจนแสดงการกระทำที่รุนแรง สร้างผลกระทบวงกว้าง
ผลประโยชน์ของสหรัฐ:
หลายทศวรรษที่ผ่านมา ย้อนหลังตั้งแต่สงครามอิรัก-อิหร่าน 1980-88 สหรัฐมีส่วนสำคัญสร้างความขัดแย้งตามวาระที่ตนกำหนด บังคับทิศทางราคาน้ำมัน ขายอาวุธมหาศาล ปกป้องอิสราเอล สำแดงอิทธิพลของตนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าปัจจุบันสหรัฐผลิตพลังงานใช้เองและส่งออกด้วย แต่ราคาน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติเป็นราคาตลาดโลก ความเป็นไปของตะวันออกกลางจึงมีบทบาทต่อราคาที่ส่งผลดีหรือร้ายต่อทุกประเทศทั่วโลก ทั้งยังสามารถใช้น้ำมันควบคุมเศรษฐกิจสังคมประเทศใดประเทศหนึ่ง เป็นยุทธศาสตร์ใช้น้ำมันควบคุมโลกของสหรัฐ
ประเด็นอยู่ที่ว่า รัฐบาลซาอุฯ แกนนำโอเปกจะให้ความร่วมมือหรือไม่ ร่วมมือมาจากเหตุผลใด เป็นความคิดเห็นร่วมหรือเป็นการกดดันจากสหรัฐ ซาอุฯ จำต้องยินยอมตามความต้องการของรัฐบาลอเมริกันเสียทุกเรื่องหรือไม่
เรื่องขายอาวุธมักเป็นหัวข้อที่ชอบเอ่ยถึง ข้อมูลจาก SIPRI ระบุว่า ช่วงปี 2016-2020 สหรัฐส่งออกอาวุธมากที่สุดในโลก มีซาอุฯ เป็นลูกค้ารายใหญ่อันดับแรก ซาอุฯ ประเทศเดียวนำเข้า 24% ของอาวุธที่สหรัฐส่งออกทั้งหมด
คำถามที่ดีกว่านั้นคือ กองทัพซาอุฯ ต้องการอาวุธมากขนาดนั้นหรือ ภัยคุกคามรุนแรงแค่ไหน ซื้อเพราะหวังใช้จริงหรือด้วยเหตุผลอื่นที่ไม่เกี่ยวกับกองทัพโดยตรง
พันธมิตรเก่าแก่:
กลับมาที่สถานการณ์ตะวันออกกลาง หากบริบทใหม่ไม่เอื้อให้เกิดความรุนแรง รัฐบาลสหรัฐกับพวกมี 2 ทาง ลงทุนลงแรงมากขึ้น หรือละความพยายามที่จะสร้างสงคราม มีข่าวว่านักการเมืองอเมริกันหงุดหงิดหลังซาอุฯ-อิหร่านเป็นมิตรต่อกัน William Burns ผู้อำนวยการ CIA เผย คนในรัฐบาลหงุดหงิดเหมือนตนถูกทิ้ง
แต่หากตีความว่าซาอุฯ ทิ้งพันธมิตรสหรัฐอันเก่าแก่ไม่น่าจะถูกต้อง ความเป็นพันธมิตรยังคงอยู่ กรกฎาคม 2022 ในโอกาสประธานาธิบดีโจ ไบเดน เยือนซาอุฯ อย่างเป็นทางการ รัฐบาลไบเดนกับซาอุฯ ลงนามความร่วมมือ 18 ข้อตกลง ทั้งด้านอวกาศ การลงทุน พลังงาน สุขภาพ การรายงานข่าวจากสื่อรัฐ
นายอเดล อัล-จูเบียร์ (Adel al-Jubeir) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของซาอุดีอาระเบีย กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างซาอุฯ กับสหรัฐว่า “2 ประเทศเป็นพันธมิตรกับหุ้นส่วนมานาน 8 ทศวรรษแล้ว มีผลประโยชน์ร่วมกันมหาศาล และมีความท้าทายมากมายที่จะต้องร่วมกันเผชิญ” การที่ประธานาธิบดีไบเดนเยือนซาอุฯ แสดงถึงความสำคัญที่มีต่อกัน เพื่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก 2 ประเทศทำงานบนพื้นฐานยึดหลักการร่วม ให้มั่นใจว่าจะมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอีก 8 ทศวรรษ ความจริงแล้วความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไบเดนกับซาอุฯ นั้นเข้มแข็งมาก (very solid) ไม่ได้ขัดแย้งรุนแรงเหมือนที่หลายคนพูด
การปรับสัมพันธ์อิหร่าน-ขั้วซาอุฯ ทำให้สถานการณ์ตะวันออกกลางเปลี่ยนครั้งใหญ่ ยากที่สหรัฐจะทำสงครามและดึงอาหรับรบอิหร่าน
อะไรที่ร่วมมือได้ยังทำต่อไป เพียงแค่ซาอุฯ หวังดำเนินนโยบายที่เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ไม่ตกเป็นเหยื่อที่ถูกทำลาย ยึดแนวทางโลกหลายขั้ว มกุฎราชกุมารมุฮัมมัด บิน ซัลมาน กล่าวในโอกาสไบเดนเยือนซาอุฯ ว่า เป็นธรรมดาที่ประเทศต่างๆ จะยึดถือคุณค่าต่างกันและควรเคารพความแตกต่างของอีกฝ่าย ถ้ารัฐบาลสหรัฐจะติดต่อกับประเทศที่คิดเห็นตรงกันร้อยเปอร์เซ็นต์อาจจะเหลือแค่นาโตเท่านั้น ซาอุฯ กับสหรัฐจะอยู่ร่วมกันทั้งๆ ที่ทั้งคู่แตกต่างกัน
เป็นผู้ดูแลความมั่นคง:
ในด้านหนึ่งอิทธิพลลดลง แต่ความตั้งใจและการคงอยู่ของกองทัพสหรัฐในย่านนี้แข็งแกร่ง ย้ำเข้าพัวพัน (engage) ภูมิภาค ปลายเดือนพฤษภาคม 2023 กลาโหมสหรัฐปรับแผน ตอกย้ำเข้าพัวพันภูมิภาคตะวันออกกลาง ประกาศเป็นผู้ดูแลความมั่นคง ส่งเสริมประชาธิปไตย รักษาผลประโยชน์ของตนในย่านนี้ โดยเฉพาะผลประโยชน์สำคัญยิ่ง (vital interests) พร้อมใช้กำลังถ้าจำเป็นและตนจะเป็นฝ่ายชนะ
ที่ผ่านมากองทัพสหรัฐพยายามเชื่อมต่อระบบป้องกันของประเทศแถบนี้ที่มีซาอุฯ เป็นแกนนำ ทั้งยังขอให้ประเทศต่างๆ ช่วยกันลงทุน สนับสนุนงบประมาณ ใช้ระบบอาวุธที่ทันสมัยสอดรับกับกำลังรบของปรปักษ์ แต่เรื่องนี้ไม่ค่อยคืบหน้าเนื่องจากยังต้องไว้ใจกันมากขึ้น ระบบร่วมอาจกลายเป็นระบบที่สหรัฐเป็นผู้ควบคุมหลัก ทำตามความต้องการของสหรัฐ สัมพันธ์กับที่ในระยะหลังชาติอาหรับในย่านนี้หันเข้าหาจีน รัสเซียมากขึ้นด้วย
แม้รัฐบาลสหรัฐยากจะสร้างสถานการณ์ตึงเครียดหรือสงครามได้อีก แต่เนื่องจากมีอิทธิพลมานาน วางเครือข่ายความมั่นคงอย่างเหนียวแน่น สหรัฐจึงมีบทบาทสำคัญต่อไป และต้องติดตามว่ามีแผนใหม่ที่จะกระชับอำนาจหรือไม่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด