เก็บเรื่องตั้งรัฐบาลไว้ก่อนครับ
แม้ "พิธา" จะเดินสายให้สัญญา ราวกับเป็นนายกรัฐมนตรีที่ผ่านการถวายสัตย์ปฏิญาณตนมาแล้วก็ตาม
เพราะยังอีกยาว...
ต้องผ่านกระบวนการรับรอง ส.ส.ของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้วไปเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร เสียก่อน
จึงยังมีเวลาลุ้นกันอีกเยอะครับ
มาว่ากันเรื่อง พรรคก้าวไกล กับคณะก้าวหน้า ที่พักหลังเริ่มจะเล่นดนตรีคนละเพลงอยู่บ่อยครั้ง
นี่ก็อีกแล้วครับ เรื่องกระจายอำนาจ เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน "พิธา" ไปคุยกับสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็รับปากเอาไว้เยอะครับ
มีทั้งเรื่อง ๑๐๐ วันแรกทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะคำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่้ไม่เอื้ออำนวยการทำงานต่อผู้บริหารท้องถิ่น
เรื่องจะทำตั้งแต่ ๑-๔ ปี รวมไปถึงเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด
จะมีการประชุมร่วมกันและทำเวิร์กช็อปในวันที่ ๑๕-๑๖ มิถุนายน โดยสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพพูดคุยเรื่องรายละเอียดกฎหมายที่ไม่เอื้ออำนวยในการบริหารจัดการในช่วงที่ผ่านมา
มั่นใจเต็มล้านกันทีเดียวว่า "พิธา" เป็นนายกฯ แน่ๆ
ครับ...ดูเหมือนจะเป็นสูตรสำเร็จ หากพูดถึงการกระจายอำนาจ ก็ต้องเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด แต่มันไม่ง่ายแบบนั้น
หากเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดก็ต้องรื้อโครงสร้างการบริหารส่วนท้องถิ่นใหม่หมด ไม่งั้นอำนาจหน้าที่ทับซ้อนกันไปหมด โดยเฉพาะนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจะเอาไว้ไหน
หรือจะยกเลิกไปเลย ก็ไม่ทราบว่า การหารือระหว่าง "พิธา" กับ สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้คุยถึงประเด็นนี้หรือเปล่า
คุยแล้วได้ข้อสรุปอย่างไร ยังไม่ปรากฏเป็นข่าวครับ
แต่ที่ปรากฏคือ "ปิยบุตร แสงกนกกุล" เบรก "พิธา" ตัวโก่ง!
ไปดูกันครับ
"ปิยบุตร" แสดงความเห็นผ่านสื่อออนไลน์ หัวข้อ “เลือกตั้งผู้ว่าฯ” ไม่ใช่ “ยาวิเศษ”
แค่ชื่อเรื่องก็เดือดแล้ว
เนื้อหาบางช่วงบางตอน ตามนี้ครับ
------------------
...เมื่อวาน พรรคก้าวไกล นำโดยพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคณะก้าวหน้า พบกับสามสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อพูดคุยเรื่องการกระจายอำนาจ
อีกไม่ช้าไม่นาน รัฐบาลก้าวไกลคงเร่งดำเนินนโยบายเกี่ยวกับกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น
ผมสนับสนุนเรื่องนี้ แต่มีประเด็นสำคัญที่ผมไม่เห็นด้วย นั่นคือ การเลือกตั้งผู้ว่าฯ
ในช่วงเลือกตั้ง หลายพรรคการเมืองชูนโยบาย “เลือกตั้งผู้ว่าฯ” พรรคก้าวไกลประกาศให้ทำพร้อมกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ พรรคเพื่อไทยเสนอให้ทยอยทำตามความพร้อม
ผมเห็นว่า ปัญหาการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นในประเทศไทย ณ วันนี้ มิใช่เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะเรามีองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดอยู่แล้ว และมีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้บริหารสูงสุดอยู่แล้ว
แต่ปัญหาที่แท้จริงของเรา คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่แล้ว ไม่มีอำนาจหน้าที่เพียงพอ ไม่มีงบประมาณเพียงพอ ถูกราชการส่วนกลางและภูมิภาคแทรกแซงบ่อย และมีกฎหมายที่กำหนดอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะซ้ำซ้อนกันระหว่างส่วนกลาง/ภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น
ผมได้ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หมวด ๑๔ การปกครองส่วนท้องถิ่น และรณรงค์กับคณะก้าวหน้า เพื่อให้พี่น้องประชาชนร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเมื่อเดือน พ.ย.๖๕ แต่รัฐสภามีมติไม่รับหลักการ ทำให้ร่างตกไป
การยกร่างในครั้งนั้น ผมได้นำสภาพปัญหาในประเทศไทย ข้อเสนอของงานวิจัยที่นักวิชาการได้ศึกษาไว้ มาวิเคราะห์ประกอบเป็นร่าง โดยมีเนื้อหาพอสังเขป ดังนี้
หนึ่ง กำหนดให้ อปท.มีอำนาจจัดทำบริการสาธารณะในพื้นที่แบบทั่วไป ทำได้ทุกเรื่อง เว้นแต่เรื่องที่กฎหมายไม่ให้ทำ เช่น บริการสาธารณะระดับชาติ ความมั่นคงการป้องกันประเทศ ระบบเงินตรา เป็นต้น
สอง กำหนดให้อำนาจของ อปท.มาก่อน ส่วนกลางและภูมิภาค ในกรณีที่ อปท.ร้องขอ ส่วนกลางและภูมิภาคจึงเข้ามาทำได้
สาม เพิ่มสัดส่วนรายได้ระหว่างส่วนกลางและท้องถิ่น เป็น ๕๐:๕๐ กำหนดแหล่งรายได้ใหม่ๆ ให้ท้องถิ่น ในกรณีที่ อปท.มีรายได้น้อย รัฐบาลต้องอุดหนุนให้เกิดความเท่าเทียมระหว่าง อปท.
สี่ ยกเลิกกฎหมายที้ให้อำนาจส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ซ้ำซ้อนกับส่วนท้องถิ่น
ห้า แผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจมีสภาพบังคับมากกว่าเดิม กำหนดเวลาถ่ายโอนชัดเจน และมีผลบังคับ
หก วางกรอบการกำกับดูแล อปท.ให้ชัดเจนเคร่งครัด ห้ามมิให้ส่วนกลางและภูมิภาคแทรกแซงการทำงานของ อปท.จนเป็นบังคับบัญชาสั่งการ
เจ็ด เพิ่มอำนาจและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในท้องถิ่น เช่น การเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น การถอดถอน การบริหารท้องถิ่น การประมูล จัดซื้อจัดจ้างแบบเปิดเผย ให้พลเมืองเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยง่าย การตั้งสภาพลเมืองเพื่อถ่วงดุลสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
แปด ให้รัฐบาลทำแผนการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค และให้ประชาชนตัดสินใจผ่านการออกเสียงประชามติภายใน ๕ ปี
ผมเข้าใจดีว่า กรณีที่พรรคการเมืองชูคำขวัญ “เลือกผู้ว่าราชการจังหวัด” เพราะ ติดหู เข้าใจง่าย รณรงค์ง่าย
แต่ความเข้าใจง่ายเหล่านั้น อาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิด จนทำให้ทิศทางการกระจายอำนาจที่พยายามทำกันมาตั้งแต่ ๔๐ ไถลออกผิดทางไปอีก เช่น หากให้เลือกผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะไปอยู่ไหน มีต่อหรือไม่ หรือเลิก? หากมีต่อ จะซ้ำซ้อนกับผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งหรือไม่? ใครใหญ่กว่าใคร? ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งเป็นส่วนภูมิภาคหรือส่วนท้องถิ่น?
ผมเห็นว่า ปัญหา ณ วันนี้ มิใช่ “เลือก” ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่ว่าจะทำพร้อมกันทั่วประเทศแบบพรรคก้าวไกล หรือทำทีละจังหวัดแบบพรรคเพื่อไทย แต่เราต้องกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นอย่างสมบูรณ์เต็มรูป เพื่อวันหน้าจะได้พิจารณาว่าควร “เลิก” ผู้ว่าราชการจังหวัดและราชการส่วนภูมิภาค หรือไม่
หากเลิก ประเทศไทยก็จะมีระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น ไม่มีส่วนภูมิภาค เหมือนอังกฤษและญี่ปุ่น
หากไม่เลิก ประเทศไทยก็จะปรับบทบาทราชการส่วนภูมิภาคเสียใหม่ ให้ทำหน้าที่ประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทำภารกิจที่อยู่ในอำนาจของส่วนกลางในพื้นที่ต่างๆ เหมือนฝรั่งเศส และสเปน
“ปลดล็อกท้องถิ่น” อย่างแท้จริง คือ การเอางาน เงิน คน ไปให้ท้องถิ่น การจัดการอำนาจซ้ำซ้อนระหว่างส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่น มิใช่วนเวียนอยู่กับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ...
-------------
ครับ...ถือเป็นการท้าทายกันพอสมควรหาก "พิธา" ได้เป็นนายกฯ และจะเดินหน้าเลือกผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะที่หาเสียงไว้ สักแต่เลือกตั้งจะกลายเป็นการเพิ่มปัญหายุ่งยากและทับซ้อนหนักกว่าเดิม
แต่ประเด็นสำคัญที่ทั้ง "ปิยบุตร" และ "พิธา" ไม่ได้พูดถึงคือ ปัญหาคอร์รัปชันอย่างหนักหน่วงในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น จะแก้อย่างไร
ลำพังการเปิดเผยการจัดซื้อจัดจ้างมันไม่พอครับ เพราะการเมืองระดับชาติก็เปิดเผยการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ยังโกงกันสนั่นหวั่นไหว
ปัญหาคอร์รัปชันสำคัญครับ หากเริ่มต้นมาก็แก้ไม่ได้ มันจะฝังลึกจนยากจัดการ
แต่...เอาไว้ให้ "พิธา" ได้เป็นนายกฯ ก่อน การกระจายอำนาจยังต้องพูดกันอีกเยอะ
ทำอย่างไรไม่ให้เป็นการกระจายการโกงบ้านกินเมือง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่าปล่อยให้เหลิง
นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ