จากเมืองคริสต์สู่เมืองพุทธ

“ค่าซิมการ์ด 200 รูปี ค่าทำให้ซิมการ์ดใช้งานได้ 150 รูปี ค่าโทร 60 นาที 200 รูปี ค่าอินเทอร์เน็ต 4 GB 300 รูปี รวมทั้งหมด 850 รูปี” คือคำอธิบายค่าใช้จ่ายการเปิดเบอร์โทรโดยหนุ่มเจ้าร้านขายของชำเล็กๆ ขนาด 1 คูหาจิ๋ว แต่เป็นตัวแทนขายซิมการ์ดพร้อมแพ็กเกจมือถือของ Dialog ยักษ์ใหญ่สื่อสารของศรีลังกา

ผมตกลงตามนั้น เขาขอมือถือไปใส่ซิมใหม่ แตะปุ่มคำสั่ง เลื่อนขึ้นเลื่อนลงด้วยความชำนาญ ทั้งที่เป็นภาษาไทย แต่เขาเดาได้ถูกหมด เพราะจำตำแหน่งการเรียงลำดับข้อความคำสั่งได้อย่างแม่นยำ

“มาร์ก แอนโทนี” ผู้เป็นคนขับตุ๊กๆ ตลอดบ่ายนี้ของผมลองใช้โทรศัพท์รุ่นกดปุ่มแบบดั้งเดิมโทรเข้าเบอร์ใหม่ของผม แล้วบอกว่า “นั่นเบอร์ของไอ บันทึกไว้เสียสิ”

สายๆ วันต่อมาผมเช็กเอาต์จากเกสต์เฮาส์ บ้านหลังใหญ่ในสไตล์โคโลเนียล เห็นมีห้องพักอยู่หลายห้อง แต่ไม่มีลูกน้อง ได้รับคำตอบจากมาดามริตาผู้เป็นเจ้าของว่า ก่อนนี้มีบุตรสาว 2 คนคอยช่วยงาน แต่หลังการระบาดของโควิด-19 ทั้งคู่ก็ไม่จำเป็นต้องช่วย แยกย้ายไปทำงานอื่นของตัว เกสต์เฮาส์ของเธอเพิ่งจะกลับมาเปิดได้เพียง 1 เดือน หลังรัฐบาลเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้ เวลานี้แขกผู้เข้าพักยังไม่มาก ยังไม่เหลือบ่ากว่าแรงของเธอและมิสเตอร์มาร์คัสผู้เป็นสามี

ชื่อที่ผมยกมา ทั้ง “มาร์ก แอนโทนี” และสามี-ภรรยาเจ้าของที่พัก ล้วนเป็นชาวสิงหล-ศรีลังกา แต่มีชื่อเป็นตะวันตก เพราะล้วนนับถือศาสนาคริสต์ และในเมืองนีกอมโบนี้มีชาวคริสต์อยู่ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ส่วนใหญ่เป็นคาทอลิก มาร์ก แอนโทนี โม้ว่า “ถ้ากรุงโรมคืออันดับ 1 นีกอมโบก็อันดับ 2 ล่ะ”

นอกจากโบสถ์คริสต์ที่มีอยู่ทั่วเมืองนีกอมโบแล้ว ตามสามแยก-สี่แยกก็จะมีรูปปั้นพระเยซู ไม่ก็พระแม่มารี ตั้งอยู่ สะท้อนข้อมูลที่ผมกล่าวไว้ในบรรทัดก่อน ให้รู้ว่าเมืองนี้คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาใด และหลังจากนั้นก็ได้เห็นว่าทุกเมืองในศรีลังกามีรูปเคารพทางศาสนาตั้งอยู่ตามสามแยก-สี่แยก ตามศาสนิกชนส่วนใหญ่ของแต่ละเมือง

ผมแบกกระเป๋าไปหน้าปากซอย ผิดหวังนิดหน่อยที่ไม่เจอ “มาร์ก แอนโทนี” ในละแวกรัศมีทำการของเขา วานนี้เขาสัญญาว่าจะไปส่งผมที่สถานีรถไฟนีกอมโบเพื่อเดินทางเข้ากรุงโคลัมโบ แถมยังบอกว่าจะไม่คิดเงินเพิ่มจากที่ได้รับไป 3,000 รูปี เขาคงไปส่งผู้โดยสารที่ไหนสักแห่ง แต่ผมไม่รอ เพราะไม่อยากพลาดรถไฟเที่ยว 10.25 น. ไม่เช่นนั้นจะต้องรออีก 2 ชั่วโมงกว่า

ตุ๊กๆ คันหนึ่งวิ่งเข้ามาจอด ตกลงราคากันที่ 200 รูปี ขึ้นไปนั่งพร้อมกระเป๋าเรียบร้อยแล้ว แต่รถสตาร์ทไม่ติด มีคนมาช่วยเข็นสตาร์ท หันไปดู คนเข็นคือ “มาร์ก แอนโทนี” ดีใจที่ได้เจอเขา และดีใจยิ่งกว่าที่เขาเปลี่ยนเสื้อ สองวันก่อนเขาใส่ซ้ำโปโลสีฟ้า วันนี้โปโลสีเหลือง

ใช้เวลาเข็นสตาร์ทอยู่นานก็ไม่ติด จนผมหวั่นๆ ว่าจะตกรถไฟ สุดท้ายลุงคนขับยอมแพ้ มาร์ก แอนโทนี ได้ทำหน้าที่ของเขาอีกครั้ง ผมแบกกระเป๋าไปขึ้นตุ๊กๆ ของมาร์ก แอนโทนี เข้าไปนั่งปุ๊บเขาก็พูดขึ้นว่า “ลุงคนนั้นแกเมาตั้งแต่เช้า” เข้าทำนอง รถก็เก่า คนก็แก่ แถมเมาอีกต่างหาก

มาร์ก แอนโทนี ทำเวลาได้ดีมาก ถึงสถานีรถไฟผมยื่นให้เขา 200 รูปี เขาคงคิดว่าผมลืมไปแล้วว่าเขาสัญญาจะมาส่งฟรี แต่ก็รับไปแบบเขินๆ หลังจากวันนี้ผมไม่เคยโทรหามาร์ก แอนโทนี แต่เขาโทรหาผมทุกวันตลอดเวลาที่อยู่ในศรีลังกา

รถไฟขบวนของผม ต้นทางมาจาก “ชิเลา” เมืองชายทะเลตอนกลางของศรีลังกาฝั่งตะวันตก เมืองนีกอมโบอยู่กึ่งกลางระหว่างชิเลาและโคลัมโบ เป็นรถไฟชานเมือง ชื่อว่า Colombo Commuter จอดทุกสถานี ภายในมีลักษณะเป็นที่นั่งหันหน้าเข้าหากันคล้ายรถไฟฟ้าบ้านเรา พื้นที่สำหรับยืนมีมากกว่านั่ง แต่เที่ยวนี้ผู้โดยสารไม่เต็ม นั่งกันแบบหลวมๆ ขวามือของผมเป็นหนุ่มศรีลังกา เขาทักทายทันทีที่ผมนั่งลงพร้อมหนีบเป้ใบใหญ่ไว้ระหว่างขาได้อย่างมั่นคง วางเป้ใบเล็กไว้บนใบใหญ่

เขาใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่นหลายปี ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยจนจบออกมาทำงาน กลับมาศรีลังกาช่วงโควิดแล้วก็ยังไม่ได้กลับไปญี่ปุ่น เขาไม่เก่งภาษาอังกฤษ แต่คล่องญี่ปุ่น คุยกันได้ครู่หนึ่งผมก็จับสังเกตอาการได้ว่ามือไม้ออกตุ้งติ้ง จัดระเบียบหน้ากากบ่อย แล้วก็เสยผม ต่อด้วยทำท่าเอาปลายผมด้านข้างทัดใบหู ทั้งที่ผมสั้นไม่มีให้ทัด ถามชื่อผมและถามความหมายของชื่อ ผมเลยต้องถามชื่อเขาบ้าง ได้รับคำตอบว่าชื่อ “นิรันดร์”

ผมทายความหมาย “แปลว่า Eternity ใช่ไหม” เขาไม่เข้าใจ ผมเลยพูดใหม่ “Forever น่ะ”

“ไม่ใช่ ชื่อของไอแปลว่า Blue sky” ทำให้ผมคิดถึงสตรีชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งที่ชื่อ “โซระ อาโออิ” แปลว่าบลูสกายเช่นกัน แต่ผมไม่ได้พูดอะไรออกมา บอกไปแต่ว่า “บลูสกายก็เป็นอะไรที่ฟอร์เอฟเวอร์เหมือนกันนะ”

คุยไปสักพัก เขาบอกว่าจะกลับไปญี่ปุ่นต้นปีหน้าเพื่อแต่งงาน ผมไม่คิดว่ากฎหมายญี่ปุ่นอนุญาตให้ทำได้ แต่ไม่ได้พูดออกไป

หลังแต่งงานเขาจะพา “มายไวฟ์” มาอยู่ศรีลังกา ทำอาชีพส่งออกด้วยกัน เวลานี้เขาก็ส่งออกพวกน้ำมันงา น้ำมันมะพร้าวไปญี่ปุ่น

ผมสะกิดใจตรงคำว่า “มายไวฟ์” แต่ก็ไม่ได้พูดอะไรออกไป เขาเองคงคิดว่าผมสงสัยอะไรบางอย่าง และเพื่อให้ความจริงกระจ่างชัด เขาหยิบมือถือขึ้นมาเปิดให้ดูรูปว่าที่ภรรยา ผมรู้สึกตื่นเต้น

“ดีส อิส มาย ฟิอองเซ วิท เฮอร์ เบิร์ด” เขาอธิบายต่อว่าเป็นนกที่พูดได้

โชคดีที่ผมไม่ได้พูดสิ่งที่สงสัยออกไปสักข้อเดียว เจ้าของนกเป็นสุภาพสตรี แต่...ผมควรโล่งใจ หรือหนักใจต่อไปดี

“ยู โนว์ ดีส เบิร์ด อิน อิงลิช?” นิรันดร์ถาม

ผมขอดูใหม่ เพราะตอนแรกตั้งใจดูเฉพาะคู่หมั้นของเขา เห็นภาพนกสีขาว เขาบอกว่าพูดได้

“งั้นก็คงเป็น Albino parakeet” ผมเดาว่าน่าจะเป็นนกหงส์หยกเผือก หรือนกแก้วเล็กเผือก

“ใช่ๆ แพระคีท” นิรันดร์พยักหน้า

มิสเตอร์บลูสกาย สามีในอนาคตอันใกล้ของสาวญี่ปุ่นเจ้าของนกเผือกพูดได้ขอเฟซบุ๊กของผม ส่งข้อความมาทักทายทันที ใกล้ถึงสถานีมาราดานา เขาลุกขึ้น จัดเสื้อยืดให้เข้าที่ ทำท่าเอาปลายผมทัดใบหู หันมาโบกมือลาแล้วเดินลงจากรถไฟ ทว่าตลอดเวลาที่อยู่ในศรีลังกา ผมไม่ได้รับข้อความจากเขาอีกเลย จนใกล้จะบินกลับเมืองไทยผมส่งข้อความมากล่าวลา เขาจึงตอบมาเป็นชุดใหญ่

เกือบๆ เที่ยงรถไฟเข้าจอดที่สถานีโคลัมโบฟอร์ต หรือป้อมโคลัมโบ ปลายทางของขบวน ผมนึกว่าจะได้เก็บตั๋วรถไฟเป็นที่ระลึก ที่ไหนได้เจ้าหน้าที่เรียกคืนก่อนเดินออกจากสถานีหมดทุกคน เช่นเดียวกับรถไฟทุกขบวนที่ผมโดยสารหลังจากนั้น เข้าใจว่าในอดีตคงมีคนแอบขึ้นฟรีระหว่างทางอยู่บ่อยๆ

หน้าสถานีมีพระพุทธรูปตั้งอยู่ ไม่ห่างกันคืออนุสาวรีย์ “เฮนรี สตีล โอลคอต” ชาวอเมริกันผู้มีชีวิตพลิกผันอุทิศตนให้กับพุทธศาสนาในศรีลังกาช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20

ตุ๊กๆ ที่หน้าสถานีรถไฟเรียก 400 รูปี ผมบอกว่าระยะทางแค่ 2 กิโลเองนะ เขาลดให้เหลือ 300 รูปี บอกว่าราคาคนท้องถิ่น ตอนหลังจึงได้รู้ว่าแพงเกินความจริงไป 3 เท่า

ออกจากหน้าสถานีรถไฟ ตุ๊กๆ ขับตรงไปได้สักพักเลี้ยวซ้าย สี่แยกถัดมาเจดีย์ทรงระฆังคว่ำตั้งอยู่แทบจะกลางสี่แยก ถึงที่พักบนถนนยูเนียนเพลส ผลักประตูเข้าไปก็เจอพระพุทธรูปตั้งอยู่ใกล้ๆ เคาน์เตอร์เช็กอิน

ระหว่างเช็กอินมีแขกร่วมโรงแรมส่งเสียงมาทักทายจากมุมหนึ่ง คุยไปคุยมาจึงได้รู้ว่าเขาเป็นสื่อมวลชนอยู่ที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ ผมเดาว่า Al Jazeera เขาแปลกใจ พูดกลับมาว่า “รู้ได้อย่างไร?” ผมบอกว่าสื่อจากกาตาร์ที่รู้จักก็มีอยู่แค่ Al Jazeera เดาไปอย่างนั้นเอง

เขาเป็นชาวบังกลาเทศ หน้ากากอนามัยสวมบ้างไม่สวมบ้าง จึงพอเห็นใบหน้า เดาอายุได้ว่าอยู่ที่ระหว่าง 45-50 ปี ทำข่าวให้กับทีวีช่องของรัฐบาลบังกลาเทศ และไปเป็นสื่อมวลชนฟรีแลนซ์ให้กับอัลจาซีรา เล่าว่าเคยไปทำข่าวในอัฟกานิสถาน 2 วัน ไม่กล้ากินข้าว เพราะกลัวถูกวางยาพิษ กินแต่ขนมปังกับน้ำที่ซื้อตุนและซ่อนไว้ในเสื้อ

ช่วงสัปดาห์นี้มาทำข่าวการแข่งขันฟุตบอลรายการสี่เส้า ชาติที่ร่วมแข่งขัน ได้แก่ ศรีลังกา บังกลาเทศ มัลดีฟส์ และเซเชลส์ เย็นนี้จะเป็นนัดชิงชนะเลิศระหว่างศรีลังกาเจ้าภาพกับเซเชลส์ (ศรีลังกาแพ้ให้กับเซเชลส์ในการดวลจุดโทษชี้ขาดหลังเสมอในเวลาปกติ 3-3) “จันนี อินฟันติโน” ประธานฟีฟ่าจะมาชมการแข่งขันด้วย เขาจะยื่นไมโครโฟนสัมภาษณ์ด้วยตัวเอง

ผมถามว่าทีมงานอยู่ไหน เขาตอบว่าพวกนั้นมาจากบังกลาเทศ พักกันคนละโรงแรม ผมคุยกับเขาอีกสองสามครั้งหลังจากนั้น ดูออกว่าเป็นคนขี้โม้หน่อยๆ ซึ่งเป็นธรรมดาของนักข่าวฟรีแลนซ์ที่มาจากต่างประเทศ เราสามารถพบเห็นได้มากมายในกรุงเทพมหานคร

ราวบ่าย 2 หลังแซนด์วิชแบบซับมารีนและกาแฟดับเบิลเอสเปรสโซที่ร้าน Barista ไม่ไกลจากโรงแรม ผมเดินไปที่ทะเลสาบเบรา (Beira Lake) ลงสะพานเข้าวัดกลางน้ำชื่อ “สีมา มาลากา” วัดนี้เป็นส่วนหนึ่งของวัดคงคาราม วัดของนิกายสยามวงศ์ที่อยู่ห่างจากทะเลสาบไปทางซ้ายมือประมาณ 200 เมตร ค่าตั๋วเข้าวัด 400 รูปี ใช้เข้าวัดคงคารามได้

พื้นที่ของวัดสีมา มาลากา ขนาดค่อนข้างเล็ก ด้านหน้าทางเข้าประดิษฐานรอยพระพุทธบาท มีอาคารหรือศาลาอยู่ 3 หลัง ภายในศาลาหลังกลางหรือหลังหลักประดิษฐานพระพุทธรูปจากศิลปะหลากหลายชาติ ภายนอกเป็นพระพุทธรูปนั่งในปางต่างๆ รอบศาลา หลังขวามือมีขนาดเล็กกว่ามาก เก็บพระไตรปิฎก และทางด้านซ้ายเป็นหลังที่อยู่ติดกับต้นโพธิ์ซึ่งตอนกิ่งมาจากพระศรีมหาโพธิ์เมืองอนุราธปุระ วัดนี้เหมาะกับการนั่งสมาธิและพักผ่อนหาความสงบ เริ่มสร้างเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่เมื่อเกือบ 50 ปีก่อนโครงสร้างค่อยๆ จมลงน้ำ “เจฟฟรีย์ บาวา” สถาปนิกระดับโลกชาวศรีลังกาได้ออกแบบใหม่ และผู้ออกทุนก่อสร้างคือสามีภรรยาชาวมุสลิมตระกูลมูซาจี อุทิศให้กับบุตรชายผู้ล่วงลับ

มีคนตะโกนไล่หลังมาว่าให้ถอดรองเท้าก่อนเข้าวัด แล้วเจ้าของเสียงก็เดินตามเข้ามาประชิด เป็นชายวัยกลางคน รูปร่างอ้วน หัวโล้น พยายามจะอธิบายข้อมูลของวัด แล้วก็เรียกให้ผมเดินตามไปริมศาลาหลังหลักของวัด เขาชี้ไปทางกลุ่มตึกสูงย่านโคลัมโบฟอร์ต พร้อมพูดว่า “ไชนีสสร้างทั้งนั้น คุณควรภูมิใจ” ผมจึงต้องรีบบอกว่า “ไอเป็นคนไทย” น้าอ้วนยิ่งชอบ เดินตามไม่ลดละ ฝนตกลงมา ผมรีบวิ่งเข้าไปในศาลา เขาก็ยังตามมาบรรยาย

หากมีคนเข้ามาคุยกับท่านตามสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยวในศรีลังกา สามารถสรุปได้เลยว่าท่านกำลังคุยกับไกด์ อาจจะเป็นไกด์มีใบอนุญาตหรือไม่มีก็ได้ ส่วนมากแล้วพวกเขาจะไม่แนะนำตัวเอง ไม่บอกราคา ไม่อะไรทั้งสิ้น ไก่อ่อนอย่างผมก็เคยหลงกลอยู่ครั้งหนึ่ง นึกว่าตาลุงที่เมืองแคนดี้แกรักศาสนาและชอบพอคนไทยเป็นพิเศษ อาสาให้ข้อมูล ทำบุญให้กับวัด ยังดีที่แกใจดี ไม่มีพิษมีภัย และออกไปทางตลกปนน่าสงสาร (ไว้จะเล่าในโอกาสต่อไป)

ไกด์จำนวนมากขับตุ๊กๆ หรือจะพูดให้ถูกก็คือคนขับตุ๊กๆ ที่เป็นไกด์ไปด้วย คุณน้าอ้วนคนนี้ก็คือหนึ่งในนั้น หากจับลูกค้าได้แล้วก็จะเข้าแผนพาไปทัวร์รอบเมือง แล้วลงท้ายที่ร้านอัญมณี-เครื่องประดับ และร้านขายชา

ผมเริ่มรำคาญน้าอ้วนขึ้นมาเลยบอกเขาไปตรงๆ ว่าไม่ต้องการไกด์ อยู่เดี๋ยวเดียวก็จะไปแล้ว วัดคงคารามจะมาใหม่ตอนค่ำ (วัดปิด 4 ทุ่ม เก็บตั๋วไว้ใช้ได้ในวันเดียวกัน) ผมพูดย้ำ 2 ครั้ง แกก็เดินตากฝนออกไป

ในศาลาที่ผมหลบฝนนี้มีข้อมูลการเสด็จมายังศรีลังกาของพระพุทธเจ้าที่ระบุว่าเกิดขึ้นอย่างน้อย 3 ครั้ง มีภาพพุทธศาสนสถานต่างๆ ที่ได้สร้างขึ้นเพื่อถวายความรำลึกและเป็นพุทธบูชา มีที่ใดบ้างนั้นเห็นทีจะต้องยกยอดไว้กล่าวในโอกาสต่อไป

ฝนหยุด ผมเดินออกจากวัด ข้ามสะพานไปยังบาทวิถีริมถนน Sir James Pieris Mawatha มุ่งหน้ากลับโรงแรม ตุ๊กๆ คันหนึ่งวิ่งเข้ามาจอดข้างๆ แล้วรีบลงมาประกบ “ท่านครับ ท่านไม่ต้องตกใจ ผมแค่จะช่วยบอกท่านว่าท่านยังไม่ได้ไปวัดคงคารามนะ ตั๋วที่ท่านซื้อใช้ได้

ผมตอบไปว่าจะมาใหม่ตอนค่ำ เขารีบเข้าเรื่อง “ทัวร์เมืองกับผมไหม คิดแค่ 1,000 รูปีเท่านั้น” ผมรู้สึกว่าเขาตรงไปตรงมาดี และมองแววตาแล้วพอเชื่อใจได้

ในตอนหน้า เขาจะเป็นพระเอก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกรงว่าคำอวยพรปีใหม่จะไม่จริง

เวลาที่เรากล่าวคำอวยพรให้ใครๆ เราก็จะพูดแต่เรื่องดีๆ และหวังว่าพรของเราจะเป็นจริง ถ้าหากเราจะเอาเรื่องอายุ วรรณะ สุขะ พละ มาอวยพร โดยเขียนเป็นโคลงกระทู้ได้ดังนี้

แด่...ไพบูลย์ วงษ์เทศ

ถึงแม้จะช้าไปบ้าง...แต่ยังไงๆ ก็คงต้องเขียนถึง สำหรับการลา-ละ-สละไปจากโลกใบนี้ของคุณพี่ ไพบูลย์ วงษ์เทศ นักเขียน นักกลอนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส

กร่าง...เกรี้ยวกราด...ฤากลัว

ใครบางคนตำแหน่งก็ไม่มี สมาชิกก็ไม่ใช่ แต่แสดงบทบาทยิ่งใหญ่กว่าใครๆ เหมือนจงใจจะสร้างตำแหน่งใหม่ที่คนไทยต้องยอมรับ และดูเหมือนเขาจะประสบความสำเร็จเอาเสียด้วย

คำอวยพรปีใหม่ 2568

ใกล้ถึงช่วงปีหน้า-ฟ้าใหม่ยิ่งเข้าไปทุกที...การตระเตรียมคำอำนวย-อวยพรให้กับใครต่อใครไว้ในช่วงวาระโอกาสเช่นนี้ อาจถือเป็น หน้าที่ อย่างหนึ่ง

ก้าวสู่ปีใหม่ 2568

สัปดาห์สุดท้ายปลายเดือนธันวาคม 2567 อีกไม่กี่วันก็จะก้าวเข้าสู่ปี 2568 "สวัสดีปีใหม่" ปีมะเส็ง งูเล็ก