ผู้นำภูมิภาคถามหาบทบาท อาเซียนในวิกฤตภูมิรัฐศาสตร์

ผู้นำเอเชียหลายท่าน รวมทั้งคุณดอน ปรมัตถ์วินัย รักษาการรองนายกฯ   และรัฐมนตรีต่างประเทศ ไปร่วมแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โลกเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

ความเห็นร่วมกันน่าจะเป็นการหาทางให้เอเชียจับมือกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองและพยายามหลีกเลี่ยงการถูกดึงเข้าความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจ

คุณดอนบอกว่าพูดในฐานะคนของรัฐบาลรักษาการ จึงจะพยายามรักษามารยาททางการเมือง

เราจึงไม่ได้ยินว่าทิศทางนโยบายต่างประเทศของไทยหลังการเลือกตั้งจะเป็นเช่นไร

เพราะคุณดอนไม่ได้แตะประเด็นที่อ่อนไหวทั้งหลายที่ไทยต้องเผชิญจากนี้ไป

หรือที่มีเสียงเรียกร้องว่าประเทศไทยต้องหาทาง “กลับสู่จอเรดาร์ของโลก”    หลังจากที่ถูกมองว่าได้ลดบทบาทในอาเซียนและเวทีระหว่างประเทศไปมากพอสมควร

บนเวทีหัวข้อ Future of Asia จัดโดยสื่อ Nikkei Asia ที่โตเกียว คุณดอนบอกว่าภายใต้ความเสี่ยงของความขัดแย้งทางทหาร เอเชียต้องรวมตัวกันและทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมสันติภาพ

คุณดอนชี้ว่า สงครามยูเครน "แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนสถานภาพที่รุนแรงที่สุดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2"

ความคิดริเริ่มที่สร้างขึ้นหลังสงครามเพื่อรักษาสันติภาพก็ไม่ได้ผลตามเป้าประสงค์

ขณะเดียวกัน การแข่งขันระหว่างสหรัฐฯ กับจีนได้ทำให้ระเบียบโลกขั้วเดียวแบบเดิมก็มีอันต้องพลิกผัน

คุณดอนตั้งข้อสังเกตว่าวันนี้ประเทศต่างๆ ได้เพิ่มงบประมาณกลาโหมอย่างเห็นได้ชัด

และต่างก็หันไปใช้สกุลเงินและการค้าเป็นอาวุธในการต่อรอง

“แนวทางตาต่อตา ฟันต่อฟัน กำลังทำให้ทุกคนตาบอด”

(The eye for an eye, tit for tat approach is turning everyone blind)

และแนวทางการปรับนโยบายของหลายประเทศเป็น re-shoring และ friend-shoring อย่างต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทาน สะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของประเทศมหาอำนาจที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของชาติของตนมากขึ้น

ตอนหนึ่ง คุณดอนบอกว่า  "สหรัฐฯ และยุโรปตะวันตกไม่สามารถกำหนดเจตจำนงทางเศรษฐกิจเพียงฝ่ายเดียวต่อประเทศใหญ่ๆ ในเอเชียได้อีกต่อไป"

รักษาการรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยยืนยันว่า เอเชียมี "สินทรัพย์" ที่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายระดับโลกในปัจจุบัน

เขายืนยันว่า ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ภูมิภาคนี้ "มีพลังมากขึ้น"

โดยเป็นทั้งศูนย์กลางการผลิตของโลกและตลาดผู้บริโภคที่สำคัญ

รัฐมนตรีดอนกล่าวว่า นี่หมายความว่าภูมิภาคนี้อยู่ในฐานะที่ดีกว่าเดิมในการช่วยแก้ปัญหาระหว่างประเทศโดยไม่ต้องหันไปใช้กำลัง

จึงเสนอให้เอเชียร่วมกันหาออกแบบทางเลือกทางการเมืองแทนความขัดแย้งทางทหาร

และสร้างหนทางแห่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแทนวาทกรรมที่อ้างความเหนือกว่าด้านมาตรฐานศีลธรรมหรือนโยบายคว่ำบาตร

จะเป็นการ “แซะ” สหรัฐฯ กับยุโรปหรือไม่ ไม่ชัดเจนนัก

คุณดอนบอกว่า เพื่อสนับสนุนการค้าเสรี ประเทศไทยกำลังพิจารณาเข้าร่วม CPTPP

“ไม่ต้องสงสัยว่าเราจะเข้าร่วมหรือไม่ เรายินดีเข้าร่วม” คุณดอนเน้นย้ำ

แต่ก็ยอมรับว่ารัฐบาลไทย "ไม่สามารถดำเนินการได้ตามที่ควรจะเป็น” เพราะยังไม่ได้รับฉันทามตินอกเหนือจากหน่วยงานของรัฐ

ฟังแล้วคงตีความได้ว่าคุณดอนกำลังบอกว่าหน่วยราชการไทยนั้นตัดสินใจแล้วว่าไทยควรจะเข้าร่วม CPTPP แต่ยังมีเสียงคัดค้านจากหน่วยอื่นๆ นอกเหนือระบบราชการ

ซึ่งคงจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องสร้างความกระจ่างในเรื่องสำคัญ ๆ ต่างๆ เหล่านี้

อีกคนหนึ่งที่แสดงความเห็นบนเวทีเดียวกันที่น่าสนใจคือ รองนายกฯ  รัฐมนตรีสิงคโปร์ Lawrence Wong ซึ่งก็คือทายาททางการเมืองของนายกฯ หลี่เสียนหลง

ประเด็นหลักของเขาคือ หากมีการ “ลดความเสี่ยง” (de-risking แทน decoupling) จากความตึงเครียดทางการเมืองมากเกินไป “เราจะจบลงด้วยเศรษฐกิจโลกที่กระจัดกระจายและแยกส่วนมากขึ้น”

หว่องบอกว่า เขาเข้าใจดีว่าทำไมประเทศและบริษัทต่างๆ ต้องการป้องกันตนเองจากความเสี่ยงท่ามกลาง "ความหวาดระแวงซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง และความไม่ไว้วางใจพื้นฐาน" ระหว่างสหรัฐฯ และจีน

“ไม่มีใครต้องการพึ่งพาซัพพลายเออร์รายเดียวมากเกินไปสำหรับวัตถุดิบ ส่วนประกอบหลัก หรือเทคโนโลยี” เขากล่าว

แต่หว่องย้ำว่า แนวทางนี้อาจนำไปสู่ "ผลลัพธ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ"

แนววิเคราะห์จากสิงคโปร์เช่นนี้มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากกลุ่ม G-7 ประกาศแนวทาง “ลดความเสี่ยงจากจีน” ในการประชุมสุดยอดที่ฮิโรชิมาของประเทศญี่ปุ่น

เป็นแนวทาง “พบกันครึ่งทาง” ระหว่างการแยกขั้วกันโดยเด็ดขาดระหว่างตะวันตกกับจีนที่เรียกว่า decoupling และการพยายามคงไว้ซึ่งระเบียบโลกเดิม

คำว่า de-risking ถูกนำเสนอครั้งแรกโดยแกนนำของสหภาพยุโรปที่พยายามลดระดับการเผชิญหน้ากับจีน

และลดความเสี่ยงที่จะทำให้โลกแยกเป็นสองขั้วอย่างน่ากังวล

แต่รองนายกฯ หว่องแสดงความเป็นห่วงว่าความตึงเครียดระหว่างมหาอำนาจจะ "พัวพันเราเข้าสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าอีกครั้ง"

มหาอำนาจ "บอกว่านโยบายของพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลง" หว่องกล่าว

แต่ในความเป็นจริง "พวกเขากำลังโยนบาปให้กันและกัน"

ซึ่งก็เกิดจากแรงหนุนจากแรงกดดันทางการเมืองภายในประเทศของมหาอำนาจเอง

จึงทำให้เกิดการเดินสวนทางกันอย่างที่เห็นอยู่

ด้วยเหตุนี้ หว่องเห็นว่าภายใต้สถานการณ์เช่นนี้อาเซียนจะต้อง "เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรด้านการป้องกันและความมั่นคง ทั้งภายในภูมิภาคเอง และกับหุ้นส่วนภายนอกของเราด้วย"

หว่องบอกว่าเขายินดีกับความตั้งใจของญี่ปุ่นที่จะเล่น "บทบาทที่แข็งขันมากขึ้น" ในภูมิภาค รวมถึงความมั่นคงในภูมิภาค ภายใต้แผนเสรีและเปิดกว้างอินโดแปซิฟิกของนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ

นอกจากนี้ เขายังเสนอว่าเอเชียมีโอกาสที่จะ "พัฒนากลไกระดับภูมิภาคของตนเอง แทนที่จะพึ่งพาสถาบันระดับโลกเพียงอย่างเดียว"

โดยเน้นไปที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชียและธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชียที่นำโดยจีน

แต่ก็ต้องมีเรื่องที่ต้อง "ตระหนักว่าสถาบันเหล่านี้ไม่สามารถแทนที่สถาบันระดับโลกที่กำลังพยายามจะฟื้นตัวได้"

และความพยายามของเอเชีย "ต้องเสริมการปฏิรูปในวงกว้างเพื่อเสริมสร้างระเบียบเศรษฐกิจโลก"

สถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์กลายเป็นอันตรายมากขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่าย โดยช่องแคบไต้หวันกลายเป็น “จุดวาบไฟที่อันตรายที่สุดในภูมิภาค” มากขึ้น

ผมนั่งฟังคำปราศรัยของเหล่าผู้นำเอเชียหลายคนบนเวทีเอเชียแห่งนี้แล้ว ก็ยิ่งทำให้เห็นว่าไม่มีใครพูดถึงบทบาทที่จีนพยายามจะเล่นเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ยยุติสงคราม” เท่าไหร่นัก

สะท้อนว่าผู้นำในเอเชียยังเห็นโอกาสจะเกิดสงครามครั้งใหม่มากกว่าสันติภาพ

นี่คือประเด็นน่าห่วงที่สุดในวันนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ