การประชุมสภาผู้แทนราษฎร หลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (๔๕)

 

หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ”  รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร           

ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์ 

ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477  ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ  เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”

อย่างไรก็ตาม ผู้แทนราษฎรในที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกัน ฝ่ายแรกเห็นสมควรให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ขอเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาดำรงสิริราชสมบัติต่อไป แม้พระองค์จะไม่ทรงรับ แต่การที่สภาฯมีมติเช่นนั้น ถือว่าเป็นเกียรติยศแก่สภาฯเอง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจงรักภักดี  อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ  แต่สภาฯมีหน้าที่รับทราบและดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยเร็ว ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าสภาฯมีหน้าที่รับทราบและไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยทันที 

จนหลวงนาถนิติธาดา ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยภูมิได้ขอให้ที่ประชุมพิจารณาการสืบราชสมบัติและบุคคลที่จะได้รับการพิจารณาให้ โดยขอให้หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯในฐานะที่ปรึกษาให้คำตอบแก่ที่ประชุมสภาฯเป็นท่านแรก

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ ได้กล่าวว่า “ปัญหามีอยู่ง่ายนิดเดียว เอกสารต่างๆตามที่รัฐบาลเสนอมานี้ ตามที่ท่านสมาชิกอภิปราย ก็ไม่มีใครคัดค้านว่าเอกสารไม่มีหลักฐาน ก็หมายความว่า เรารับรองกันแล้วเป็นเอกสารถูกต้อง และประกอบเรื่องที่ผ่านมาแล้ว เห็นว่าจะเป็นเช่นนั้นด้วย ไม่ได้มีใครคัดค้าน ปัญหาแรกก็ให้ถือว่าเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติแล้ว เวลานี้มีพระมหากษัตริย์หรือเปล่า ขอให้ขบปัญหานี้ ถ้าไม่มีจริง ก็ต้องพิจารณาเสียใหม่ว่าจะมีเดี๋ยวนี้หรือมีเมื่อไร ขอให้ขบปัญหานี้”                 

นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า “ก่อนอื่น ข้าพเจ้าขอให้พิจารณาเรื่องที่ว่านี้ซ้ำเสียก่อนอีกครั้งว่า บัญชีหลักฐานนี้เป็นสำเนา (พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ/ผู้เขียน)  สภาฯนี้จะรับรองหรือไม่ ข้าพเจ้าขอตั้งญัตติแล้ว และมีผู้รับรองแล้ว (ผู้รับรอง คือ นายยู่เกียง ทองลงยา และ นายแข ยูนิพันธุ์/ผู้เขียน) สภาฯนี้ได้รับทราบการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอให้ลงมติว่า สภาฯนี้จะรับรองเรื่องเอกสารนี้หรือไม่”     

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “มีผู้เสนอให้ลงมติเช่นนี้แล้ว ไม่มีผู้ใดคัดค้าน ท่านผู้ใดจะคัดค้านอีกหรือไม่”       

นายนิติ โสรัต ผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าสงสัยว่า สภาฯจะรับรองเอกสารดังที่ท่านสมาชิกเสนอได้อย่างไร สภาฯได้รับแต่เพียงสำเนา อีกอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้าอยากจะพูดหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่ได้พูด”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “คำเสนอนี้เป็นมติแล้ว จะต้องลงมติ แต่ท่านจะคัดค้านในญัตตินี้หรือ”                           

นายนิติ โสรัต ผู้แทนราษฎรจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า “ข้าพเจ้าคัดค้าน ขอให้อภิปรายกันต่อไป”

(ผู้รับรองการคัดค้านคือ หลวงวรนิติปรีชา และ นายบุญสิริ เทพคำ/ผู้เขียน)         

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ท่านผู้ใดเห็นว่า ควรจะอภิปรายกันอีกในเรื่องที่จะรับรองเอกสารเหล่านี้หรือไม่ นี่เป็นญัตติที่สมาชิกเสนอ”

นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะขอให้พิจารณาอันนี้ก่อนว่า คือจะพิจารณาว่า ที่ท่านประธานฯขอให้พิจารณากันในเรื่องนั้น แต่ข้าพเจ้าจะขอให้พิจารณาว่า หลักฐานที่รัฐบาลส่งมานี้เป็นสำเนาเท่านั้น สภาฯนี้จะรับรองเอกสารเหล่านี้หรือไม่เสียก่อน เพื่อที่จะให้ลงมติ เพื่อที่จะให้อภิปรายว่าหลักฐานนี้ควรจะเชื่อถือเพียงไหน และจะรับรองหรือไม่เพียงใด”

ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “ขอให้อภิปรายในเรื่องที่ว่า เรื่องราวเหล่านี้มีหลักฐานเพียงใด ควรจะเชื่อถือหรือไม่”           

ร.ต. สอน วงษ์โต ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท  (หนึ่งในคณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ. 130/ พ.ศ. 2455/ผู้เขียน) กล่าวว่า “ตามที่สมาชิกเสนอว่า เอกสารนี้ควรจะรับรองหรือไม่นั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นสมควรด้วย เพราะเอกสารเหล่านี้เป็นของรัฐบาล ซึ่งสภาฯนี้ไว้วางใจแล้ว เพราะฉะนั้น เอกสารที่ส่งเข้ามาในสภาฯนี้จะต้องเป็นสำเนาตามแบบตัวจริงเสมอ ถ้าหากว่าสภาฯไม่รับรองว่าเป็นของจริงแล้ว ข้าพเจ้าสงสัยนักว่า รัฐบาลจะอยู่ได้อย่างไร เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่า รัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ที่สภาฯเราไว้วางใจนั้น จะต้องเอาสำเนาอันแท้จริงมาเสนอสภาฯนี้เสมอ ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยที่จะลงมติในข้อนี้”

ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ (หนึ่งในคณะผู้ก่อการกบฏ ร.ศ. 130/ พ.ศ. 2455/ผู้เขียน) กล่าวว่า “ข้าพเจ้าขอสนับสนุนสมาชิกเมื่อกี้นี้ และขอเพิ่มเติมว่า เรื่องนี้เราได้พิจารณามาครั้งหนึ่งแล้ว สำเนาทั้งหลายนี้ต่อเนื่องมาจากสำเนาก่อนๆ เมื่อเราเชื่อสำเนาก่อนเป็นจริงแล้ว สำเนานี้ก็ต้องเป็นจริงด้วย และครั้งนั้น เราก็ไม่ได้คัดค้านอย่างไร เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่ควรจะให้ลงมติในเรื่องนี้”         

นายไต๋ ปาณิกบุตร ผู้แทนราษฎรจังหวัดพระนคร กล่าวว่า “ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้บอกว่า รัฐบาลเอาสำเนาที่ไม่จริงมาในสภาฯ แต่เรื่องแบบ ข้าพเจ้าจะว่าเรื่องแบบและเรื่องหลักการ ข้าพเจ้าเห็นว่า หน้าที่ของสภาฯ จะควรรับรองจริงๆ เพื่อให้เป็นไปตามแบบวิธีการ แล้วเราจึงค่อยลงมติยอมหรือไม่ยอม เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าเห็นว่า ในโอกาสต่อไปนี้ ข้าพเจ้าใคร่จะได้ฟังความเห็นจากรัฐบาล”   

นายกรัฐมนตรี (พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) กล่าวว่า

“ที่จริง ถ้าจะว่าทางที่ถูกแล้ว พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะต้องส่งมาโดยตรง คือมาทางราชเลขานุการในพระองค์จึงจะถูก นี่ว่าถึงทางที่ถูก แต่เดี๋ยวนี้หาได้เป็นไปเช่นนั้นไม่ แล้วเจ่าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (ประธานสภาฯ/ผู้เขียน) ไม่กล้ารับ ม.ร.ว. สมัครสมาน (ม.ร.ว. สมัครสมาน กฤดากร ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระนางเจ้าฯรำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาล ที่ 7/ผู้เขียน) จึงส่งให้แก่ทางสถานทูต ถ้าเราปล่อยเรื่องไว้เช่นนั้น พระมหากษัตริย์ก็จะว่างเรื่อยๆไป ซึ่งเกรงจะเป็นอันตรายแก่ประเทศอย่างยิ่ง  ในต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เขาก็ลงกันแล้ว เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีหนังสือถึงเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ บอกว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สละราชสมบัติจริงแล้ว ก็ให้ท่านรีบรับเอาพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติไว้ แล้วขอให้ท่านรีบลงโคตรในโทรเลขส่งเข้ามาโดยเร็ว เพราะเราเกรงจะมีช่องว่างในระหว่าง อินเตอร์เรคนัม (Interregnum) เกิดขึ้น

ซึ่งจะเป็นเหตุร้ายแรงสำหรับประเทศ เพราะฉะนั้น เราจึงให้ลงข้อความในโคตรโทรเลขและรีบส่งมาโดยเร็ว เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศจึงแปลโทรเลข คือแปลจากคำตัวจริงในพระราชหัตถเลขา รีบโทรเลขส่งมาให้เรา เราจึงได้นำขึ้นเสนอสภาฯ เพื่อไม่อยากจะให้การสืบสันตติวงศ์เกิดขาดหรือโหว่ขึ้น การสืบสันตติวงศ์เป็นปกติแล้วก็ไม่มีอันตราย ทูตต่างๆเขาก็คอยมาถาม เขาคอยระวังเหมือนกัน และการที่มีอินเตอร์เรคนัม (Interregnum) ในระหว่างนี้ นับว่าเหตุการณ์สำหรับประเทศอยู่ในอาการคับขันอย่างยิ่ง  ที่เราจำต้องรีบนำเรื่องเสนอสภาฯ และอดตาหลับขับตานอนในวันนี้ก็เพื่อจะไม่อยากให้มีอินเตอร์เรคนัม (Interregnum) เกิดขึ้น”

(โปรดติดตาม รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2477 ในตอนต่อไป)           

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490