เมื่อเซเลนสกีหลบจากสนามรบ โผล่ที่ประชุมสุดยอด G-7 ที่ญี่ปุ่น

เมื่อวานเขียนถึงการประชุมสุดยอดของจีนกับ 5 ประเทศจากเอเชียกลาง...ทับซ้อนกับการประชุมผู้นำ Group of Seven หรือ G-7 ที่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น

วันนี้ต้องวิเคราะห์แถลงการณ์ของ G-7 ที่ออกมาชี้นิ้วกล่าวหาไปที่รัสเซียและจีน

เท่ากับเป็นการประกาศยกระดับการเผชิญหน้าระหว่างตะวันตกกับรัสเซียและจีนอีกขั้นหนึ่ง

โดยมี วโลดีมีร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน “แย่งซีน” ของผู้นำชั้นนำระดับโลกไปหน้าตาเฉย

 เซเลนสกีหลบออกจากสนามรบที่บ้านบินเข้าฮิโรชิมาด้วยเครื่องบินของรัฐบาลฝรั่งเศสหลังจากแวะพักที่ซาอุดีอาระเบีย

ถือเป็นการเดินสายเพื่อระดมความช่วยเหลือรอบล่าสุดเพื่อเตรียมเปิดฉากการรุกใหญ่อีกครั้งที่ค่อนข้างจะน่ากลัว

เพราะล่าสุดสหรัฐฯ เปิดไฟเขียวให้ประเทศพันธมิตรสามารถส่งเครื่องรบบิน F-16 ให้ยูเครน

ทันใดนั้น มอสโกก็ตอบโต้ทันทีว่า การที่ยูเครนได้รับเครื่องบินรบจากตะวันตกเป็น “ความเสี่ยงอันมหาศาล”

ทำให้เห็นภาพของสงครามกลางหาวระหว่างเครื่องบินรัสเซียกับโลกตะวันตกทันที

มิใช่เป็นสงครามจำกัดวงระหว่างรัสเซียกับยูเครนอีกต่อไป

การปราฏตัวของเซเลนสกี ณ ที่ประชุมสุดยอด G-7 ยิ่งทำให้ความตึงเครียดระหว่างตะวันตกกับจีนและรัสเซียเพิ่มขึ้นกะทันหัน

นายกฯ ญี่ปุ่น ฟูมิโอะ คิชิดะ ในฐานะเจ้าภาพตัดสินใจเชิญเซเลนสกีมาร่วมประชุมตัวเป็นๆ ในนาทีสุดท้าย

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้มีแต่เพียงแผนที่จะให้ผู้นำยูเครนเข้าร่วมปรึกษาหารือผ่านช่องทางออนไลน์เท่านั้น

เซเลนสกีคงเห็นจังหวะและสถานที่นัดประชุมครั้งนี้มีความสำคัญต่อทิศทางของสงครามยูเครนมาก จึงตัดสินใจขอมาร่วมประชุมด้วยตัวเอง

และการที่เขาบินลงมาบนเครื่องบินที่รัฐบาลฝรั่งเศสจัดหาให้ก็ยิ่งตอกย้ำถึงแรงสนับสนุนของโลกตะวันตกต่อยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย

พอเซเลนสกีไปถึงญี่ปุ่น เขาก็กลายเป็นจุดสนใจของคนข่าวทันที

ผู้นำยูเครนรายงานทุกความเคลื่อนไหวของตนผ่านทวิตเตอร์และช่องทางโซเชียลมีเดียของตนเพื่อทำให้ทั้งโลกต้องพุ่งความสนใจมายังสิ่งที่เขานำเสนอต่อผู้นำที่มีเศรษฐกิจโลกในแนวหน้าทั้ง 7 ประเทศ

แถลงการณ์ร่วมของผู้นำ G-7 นอกจากการกล่าวถึงหัวข้อสำคัญ เช่น การไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วก็ยังเน้นถึงความมุ่งมั่นที่มีต่อภูมิภาคอินโดแปซิฟิก

และตอกย้ำด้วยการเชิญตัวแทนจากเอเชีย เช่น อินโดนีเซีย อินเดีย และหมู่เกาะคุกมาเป็นผู้สังเกตการณ์การประชุมด้วย

แถลงการณ์ร่วมย้ำถึงการสนับสนุนประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกที่ปักกิ่งกำลังพยายามตีสนิทด้วย

คำแถลงนั้นเรียกร้องให้มี "อินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง" ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ใช้ตอบโต้การอ้างสิทธิ์เหนือเกาะแก่งและดินแดนของจีนในทะเลจีนใต้

ผู้นำ G-7 ชี้นิ้วกล่าวหาจีนว่าใช้มาตรการ "การบีบบังคับทางเศรษฐกิจ" ต่อประเทศต่างๆ ทำนองรังแกชาติที่เล็กกว่า

แถลงการณ์เรียกร้องให้จีน "เล่นตามกฎกติการะหว่างประเทศ"

แต่ขณะเดียวกันก็หยอดคำหวานว่าต้องการพัฒนา "ความสัมพันธ์ที่สร้างสรรค์และมั่นคง" กับจีน

และเสริมว่านโยบายตะวันตก "ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำร้ายจีน และเราไม่ได้พยายามที่จะขัดขวางความก้าวหน้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน"

แต่กระนั้น ปักกิ่งก็กริ้วอย่างออกนอกหน้า

จีนแสดง "ความไม่พอใจอย่างรุนแรง" ต่อแถลงการณ์ร่วมของ G7 ด้วยเหตุผลที่ว่า                     “กลุ่ม G7 ยืนกรานที่จะจัดการกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับจีน ใส่ร้ายป้ายสีและโจมตีจีน”

อีกด้านหนึ่ง แถลงการณ์ G-7 ก็วางแนวทาง 'ลดความเสี่ยง' หรือ de-risking ในความสัมพันธ์กับจีน

เป็นการปรับถ้อยคำจากเดิมที่ใช้คำว่า de-coupling หรือการแยกขั้ว ต่างคนต่างอยู่

หันมาใช้คำที่เบาลง โดยเน้นว่าทั้ง 2 ค่ายยังต้องคบหากัน เพราะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

แต่ก็ต้องพยายามลดความเสี่ยงที่อาจจะนำไปสู่ความตึงเครียดจนอาจเข้าสู่ระดับที่ควบคุมไม่ได้

เอกสารนี้เผยแพร่ก่อนกำหนด 1 วัน โดยไม่มีคำอธิบายเหตุผลหรือที่มาที่ไป

แต่ก็น่าสังเกตว่า แถลงการณ์นี้ถูกแจกจ่ายเพียงไม่กี่วินาที เซเลนสกีจะก้าวลงจากเครื่องบินในเมืองฮิโรชิมาเพื่อเข้าร่วมกับผู้นำทั้ง 7

คงต้องการแยกประเด็นที่ผู้นำ G-7 ประชุมหาข้อสรุปจากกรณีสงครามยูเครนให้เป็นคนละวาระ

แต่แถลงการณ์นั้นก็ไม่วายแตะเรื่องไต้หวันจนได้

"เราขอยืนยันถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพทั่วช่องแคบไต้หวันว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองในประชาคมระหว่างประเทศ"

พร้อมทั้งเรียกร้องให้จีนมีส่วนร่วมกับ G-7 ในด้านต่างๆ เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

และการแก้ไขปัญหาความยั่งยืนและความต้องการทางการเงินของประเทศที่เปราะบาง

ถ้อยแถลงยังเรียกร้องให้จีนกดดันรัสเซียให้ยุติการรุกรานทางทหาร และ "ถอนทหารออกจากยูเครนทันที แบบสมบูรณ์ และไม่มีเงื่อนไข"

ในขณะเดียวกัน ก็มีการระบุถึงเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น AI เมตาเวิร์ส และควอนตัมคอมพิวติ้ง

แถลงการณ์ร่วมของผู้นำกล่าวว่า "การกำกับดูแลของเศรษฐกิจดิจิทัลควรได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับค่านิยมประชาธิปไตยที่มีร่วมกันของเรา"

ด้านพลังงาน ผู้นำเรียกร้องให้ลดการพึ่งพาทรัพยากรของรัสเซียและเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างไม่ลดละ    

แน่นอนว่า “ดาราแห่งเวที” ครั้งนี้คือเซเลนสกีที่มาในชุดกึ่งทหารอีกเช่นเคย

พร้อมกับคำปราศัยเรียกร้องให้โลกตะวันตกเดินหน้าสนับสนุนการทำสงครามกับรัสเซีย

น่าสังเกตว่าในเวทีนี้ไม่มีการพูดถึง “แผนสันติภาพ” ที่จีนได้นำเสนอเพื่อพยายามให้ยุติสงคราม

แม้ว่าจีนจะได้ส่ง “ทูตพิเศษ” ไปยูเครน, รัสเซียและยุโรปอีกหลายประเทศ เพื่อรับฟังความเห็นของฝ่ายต่างๆ ในอันที่จะนำมาซึ่งโอกาสที่จะเริ่มการเจรจาระงับสงคราม

ที่ย่างเข้าเป็นวันที่ 454 แล้ว!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ