ในการพิจารณาพรรคการเมืองทั่วไป กล่าวได้ว่า พรรคการเมืองประกอบไปด้วย เอกบุคคล (the one) อันได้แก่ หัวหน้าพรรค และคณะบุคคล (the few) อันได้แก่ คณะกรรมการบริหารพรรค และคนจำนวนมาก (the many) อันได้แก่ สมาชิกพรรคหรือประชาชนผู้สนับสนุนพรรค ซึ่งสมาชิกหรือประชาชนผู้สนับสนุนพรรคย่อมมีจำนวนมากกว่าหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเสมอ
ขณะเดียวกัน กิจกรรมของพรรคการเมืองย่อมเป็นกิจกรรมที่แตกต่างไปจากกลุ่มหรือสมาคมที่ไม่ใช่พรรคการเมือง เพราะแม้ว่ากิจกรรมทุกกิจกรรมภายในกลุ่มหรือสมาคมที่ไม่ใช่พรรคการเมืองจะไม่ใช่กิจกรรมทางการเมืองเสมอไป แต่ก็มีบางครั้งที่ถือได้ว่าเป็นกิจกรรมทางการเมือง อันได้แก่ การใช้อำนาจและอิทธิพลในการต่อรองกันและกันภายในกลุ่มหรือสมาคม
แต่ความสัมพันธ์ของบุคคลที่เป็นสมาชิกของกลุ่มหรือสมาคมที่ไม่ใช่พรรคการเมืองย่อมแตกต่างจากสมาชิกของพรรคการเมือง เพราะสมาชิกของพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นเอกบุคคลหรือคณะบุคคลที่เป็นผู้ก่อตั้งหรือเป็นกรรมการบริหารพรรคย่อมอยู่ในความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกันกับสมาชิกทั่วไปของพรรค ซึ่งแตกต่างจากความสัมพันธ์ของบุคคลที่เป็นสมาชิกกลุ่มหรือสมาคมอื่นๆ
แต่ถ้าความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารและสมาชิกพรรคสามเป็นไปในลักษณะเป็นหัวหน้าพรรคตัดสินใจคนเดียวและสั่งการลงมายังกรรมการและสมาชิก ความสัมพันธ์แบบนี้ย่อมไม่ต่างจากไปจากองค์กรทหารหรือองค์กรเอกชนที่อำนาจตัดสินใจอยู่ที่เจ้านายหรือประธานบริหารสูงสุดหรือองค์กรธุรกิจเอกชนส่วนตัวที่เป็นอยู่ภายใต้เจ้าของกิจการ
เพราะความสัมพันธ์ที่ “ควรจะเป็น” ในพรรคการเมืองก็คือสมาชิกพรรคไม่ว่าจะอยู่สถานะตำแหน่งใดย่อม “เสมอภาค” กันในฐานะสมาชิกพรรค สถานะและตำแหน่งเป็นการแบ่งงานแบ่งหน้าที่กันทำตามประสบการณ์ความเหมาะสมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ความสมัครใจหรือเสรีภาพของสมาชิก และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามส่วนควรจะดำเนินไปบนฐานของความเสมอภาคและเสรีภาพ ในกรณีที่พรรคจะต้องเลือกแนวทางในการดำเนินกิจกรรมภายในพรรค ไม่ว่าจะเป็นการได้มาซึ่งหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค หรือการกำหนดนโยบายแนวทางการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ของพรรคก็ “ควรที่จะ” มาจากการตัดสินใจของสมาชิกทุกคนในพรรค แม้สมมุติว่าจะมีเพียงสามคน (หัวหน้า 1 คน, กรรมการบริหาร 1 คน และสมาชิก 1 คน) ก็ตาม นั่นคือ ทั้งบุคคลทั้งสามที่มีสถานะตำแหน่งแตกต่างกันในพรรคควรจะมีสิทธิ์มีเสียงที่เท่าเทียมกัน นั่นคือ
หนึ่ง เอกบุคคลในฐานะหัวหน้าพรรคมีหนึ่งเสียง หรือมีสองเสียงในกรณีที่เสียงในพรรคเท่ากัน ต้องการการตัดสินสุดท้าย หัวหน้าพรรคจะมีอีกเสียงหนึ่งที่จะลงคะแนนไปในทางหนึ่งทางหนึ่ง
สอง บุคคลในฐานะกรรมการบริหารพรรคมีสิทธิ์มีเสียงในฐานะของการเป็นกรรมาการบริหารพรรค และ
สาม บุคคลในฐานะสมาชิกพรรคก็ย่อมต้องมีสิทธิ์มีเสียงในฐานะสมาชิกพรรคที่ไม่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรค
และเมื่อพรรคการเมืองมีจำนวนสมาชิกมากขึ้นกว่านี้ แน่นอนว่า องค์ประกอบที่ไม่เปลี่ยนแปลงคือ องค์ประกอบที่เป็นเอกบุคคลในฐานะหัวหน้าพรรคที่ยังคงมีจำนวนหนึ่งคนเหมือนเดิม ส่วนองค์ประกอบที่จะเปลี่ยนแปลงไปในเชิงจำนวนก็คือ คณะกรรมการบริหารพรรคที่เป็นคณะบุคคล และองค์ประกอบของสมาชิกพรรคที่เหลือที่นอกเหนือจากหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค และในส่วนขององค์ประกอบคณะกรรมการบริหารพรรคที่เป็นคณะบุคคล ถึงจะเพิ่มมากขึ้นเท่าไร แต่ก็น่าจะต้องน้อยกว่าสมาชิกทั่วไปของพรรคอยู่เสมอ
และถึงแม้ว่า พรรคจะเพิ่มจำนวนสมาชิกมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ระหว่างสามองค์ประกอบก็มิได้เปลี่ยนแปลงแต่อย่างไร นั่นคือ แต่ละองค์ประกอบย่อมต้องมีสิทธิ์มีเสียงในส่วนของตนอยู่เสมอ และแน่นอนว่า ในส่วนของเอกบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคที่ทำหน้าที่ตัดสินสุดท้ายหากเสียงในการลงมติในการกำหนดเรื่องราวและกิจกรรมของพรรคมีเท่ากัน และยังทำหน้าที่ในการริเริ่มเสนอทิศทางและเสนอวิสัยทัศน์ให้กับพรรค และควบคุมให้พรรคอยู่ในกฎกติกาและนำพรรคไปสู่ความสำเร็จทางการเมือง ส่วนคณะกรรมการบริหารพรรค กรรมการบริหารพรรคย่อมเป็นบุคคลที่ “ควร” มีประสบการณ์ทางการเมือง ผ่านการเลือกตั้งมาหลายครั้ง และ/หรือประสบความสำเร็จหรือมีบทบาทมีชื่อเสียงในทางการเมือง สั่งสม ประสบการณ์บารมีจนได้รับการยอมรับทั้งจากหัวหน้าพรรคและสมาชิกพรรค แต่อาจจะไม่เท่าผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรค
กรรมการบริหารพรรคอาจจะเป็นตัวแทนของภูมิภาคหรือตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ และจากการที่เป็นคณะบุคคล
ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค จะเกิดกระบวนไตร่ตรองครุ่นคิดอภิปรายถกเถียงหารืออย่างรอบคอบ และการมีส่วนร่วมและมติของสมาชิกพรรคที่เหลือที่เป็นคนจำนวนมากย่อมจะเป็นพลังที่ทำให้เกิดความชอบธรรมต่อการขับเคลื่อนพรรคของผู้ที่เป็นหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรค อีกทั้งการเปิดให้สมาชิกพรรคทั่วไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและเรื่องราวต่างๆ ภายในพรรค ย่อมเป็นเงื่อนไขให้สมาชิกพรรคเหล่านั้นก้าวขึ้นมาเป็นคณะกรรมการบริหารและหัวหน้าพรรคในอนาคตได้ ซึ่งจะทำให้พรรคสามารถพัฒนาบุคลากรที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งดังกล่าวของพรรคได้อย่างต่อเนื่อง อันเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสร้างและคงความเป็นสถาบัน (institutionalization) ของพรรคการเมืองนั้นๆ และที่สำคัญยิ่งคือ สมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่ (the many) นั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการส่งเสริมและรักษาความเป็นสถาบันของพรรคให้เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลสำคัญหกประการที่นักวิชาการที่ศึกษาและเชี่ยวชาญเรื่องพรรคการเมืองอย่าง Seyd, Whiteley and Richardson ได้อธิบายไว้ดังต่อไปนี้คือ หนึ่ง บทบาทของสมาชิกพรรคในการคัดสรรผู้สมัครและผู้นำระดับต่างๆของพรรค นอกจากนี้ การมีสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมากจะเป็นแหล่งที่มาหรือการระดมผู้คนจำนวนมากและหลากหลายให้สามารถเลือก คัดสรร แข่งขันกันเพื่อได้ผู้เหมาะสมที่สุดเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับได้ รวมทั้งดำรงตำแหน่งต่างๆ ภายในพรรค
สอง การมีสมาชิกพรรคเป็นจำนวนมากจะช่วยในเรื่องงบประมาณเงินทุนที่พรรคจะได้จากสมาชิกพรรค รวมทั้งการที่สมาชิกพรรคจะเป็นกำลังในการออกไปหาและระดมทุนเข้าพรรคด้วย อีกทั้งเงินค่าบำรุงพรรคก็ถือเป็นงบประมาณที่พรรคจะได้อย่างแน่นอน และยิ่งมีสมาชิกพรรคมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีงบประมาณที่ได้ตายตัวมากขึ้นเท่านั้น
สาม สมาชิกพรรคจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพรรคภายในชุมชนที่พวกเขาอาศัยอยู่ หรือภายในองค์กรต่างๆ ที่เขาทำงานหรือร่วมกิจกรรมอยู่ การเป็นตัวแทนดังกล่าวนี้ถือเป็นการทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาให้กับพรรค (the parties’eyes and ears) ในเรื่องราวทางการเมือง และถ้าพรรคขาดสมาชิกพรรคที่ทำหน้าที่ดังกล่าวนี้ ก็อาจทำให้พรรคขาดความชอบธรรมในชุมชนต่างๆได้
สี่ สมาชิกพรรคที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพรรคในชุมชนยังมีบทบาทในการสื่อสารทางการเมืองทั้งรับและส่งสารกับชุมชนต่างๆ เช่น สื่อถึงแนวคิดของพรรคไปยังสาธารณะในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารที่เป็นทางการหรือไม่ทางการก็ตาม ขณะเดียวกัน ในการดำเนินชีวิตประจำวัน สมาชิกพรรคย่อมมีการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการกับผู้ที่เขาปฏิสัมพันธ์ด้วย และสามารถที่จะสื่อสารถึงแนวนโยบายหรือกิจกรรมต่างๆ ของพรรค อันจะช่วยทำให้ผู้คนเข้าใจกิจกรรมการทำงานของพรรคได้โดยตรงจากสมาชิกพรรค จะช่วยเสริมภาพลักษณ์และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อพรรคได้
ห้า การมีสมาชิกพรรคที่มีจำนวนมากและมีความแข็งขัน และมีการสื่อสารกับชุมชุนต่างๆ ที่เขาเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ นอกจากจะสื่อสารกิจกรรมของพรรคดังที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว ยังจะสามารถรับข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการ ข้อเรียกร้อง ปัญหาต่างๆ ในชุมชน อันจะส่งผลให้สมาชิกพรรคมีบทบาทในการนำเสนอและริเริ่มเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายของพรรค
หก ประการสุดท้าย แน่นอนว่า สมาชิกพรรคย่อมมีบทบาทในการช่วยหาเสียงเลือกตั้งและระดมหรือพยายามดึงให้ผู้คนมาลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครของพรรคของตน
นอกจากเหตุผลหกประการข้างต้นแล้ว การเปิดพื้นที่และให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมและบทบาทของสมาชิกพรรคในการดำเนินกิจกรรมของพรรคจะช่วยลดการทุจริตและการรวมศูนย์อำนาจภายในพรรค ในแง่ของการลดการทุจริต คือ หากพรรคมีสมาชิกที่มีส่วนร่วมและมีบทบาทตามที่กล่าวไว้หกประการข้างต้น ก็จะทำให้ลดการใช้งบประมาณในการหาเสียง และในบางประเทศจะลดการซื้อเสียงไปได้ด้วย และเมื่อพรรคไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณการหาเสียงหรือซื้อเสียง ก็ทำให้พรรคไม่จำเป็นต้องหาเงินมาเป็นจำนวนมากเพื่อการนี้ ส่วนในแง่ของการป้องกันหรือลดการรวมศูนย์อำนาจภายในพรรค คือ หากพรรคไม่จำเป็นต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก อำนาจและอิทธิพลของสมาชิกพรรคที่มีฐานะมั่งคั่งและเป็นแหล่งทุนให้แก่พรรคก็จะลดลง แต่จะเปิดพื้นที่ให้กับสมาชิกที่มีคุณสมบัติความสามารถที่ได้รับความไว้วางใจจากประชาชนด้วยผลงานประสบการณ์ความรู้ความสามารถจริงๆ มากขึ้น อีกทั้งหากพรรคเปิดพื้นที่ให้สมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่มีบทบาทมากขึ้นก็จะเกิดการตรวจสอบถ่วงดุลและมีบทบาทในการกำหนดทิศทางของพรรคมากขึ้น ไม่ได้กระจุกรวมศูนย์อยู่ที่หัวหน้าพรรคหรือคณะกรรมการบริหารพรรคเสมอไปเท่านั้น แต่ถ้าสมาชิกพรรคมีอิทธิพลในพรรคมากเกินไปก็จะนำไปสู่ปัญหาที่ทำให้ผู้นำและ ส.ส. พรรคอาจตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสมาชิกพรรคที่เป็นองค์กรนอกรัฐสภา (extra-parliamentary organisations) ซึ่งสมาชิกพรรคเหล่านี้ไม่ได้ต้องมีความรับผิดชอบต่อการผลักดันหรือแรงกดดันของพวกตนเท่ากับผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคหรือ ส.ส. ที่พึงตระหนักด้วยก็คือ สมาชิกพรรคและนักเคลื่อนไหวของพรรค (party members and activists) อาจเป็นได้ทั้ง “พวกสุดโต่ง” (extremists) หรือ “ทหารเดินเท้าที่รับคำสั่งอย่างเดียว” (unquestioning foot soldiers)
สมาชิกพรรคการเมืองจึงเปรียบได้กับ “ซินเดอเรลลา” (Cinderellas) ที่ในยามปกติก็จะพร้อมยอมตามหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรค แต่หาก “เปลี่ยนองค์” ขึ้นเมื่อใดก็จะมีพลังโดดเด่นที่อาจอยู่เหนือหัวหน้าและคณะกรรมการบริหารพรรคได้ ดังนั้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่พรรคการเมืองจะต้องเปิดพื้นที่ให้กับสมาชิกพรรคที่เป็นคนส่วนใหญ่ แต่ก็พึงต้องระวังด้วย เพราะมวลชนสมาชิกพรรคอยู่ในสภาพ “ซินเดอเรลลา” ที่จะผุดจากการเป็นสาวรับใช้ขึ้นมามีบทบาทโดดเด่นเมื่อไรก็ได้
แต่ครั้นจะให้อยู่ในสภาพ “สาวรับใช้” ที่เป็นคล้ายทหารเดินเท้าที่ไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียง ก็จะไม่ใช่พรรคการเมืองในความหมายของพรรคการเมือง แต่ถ้าปล่อยให้มีพลังอำนาจอิทธิพลมากเกินไปก็อาจจะทำให้พรรคไม่สามารถเป็นพรรคได้อีกต่อไป
ทั้งนี้จึงต้องขึ้นอยู่กับหัวหน้าพรรคที่เป็นเอกบุคคล (the one) และคณะกรรมการบริหารพรรคที่เป็นคณะบุคคล (the few) ที่จะเปิดพื้นที่ให้มวลชน ขณะเดียวกันก็สามารถทัดทานและหาจุดสมดุลของสัมพันธภาพของอำนาจขององค์ประกอบทั้งสามนี้ ซึ่งหนทางที่ดีที่สุดคือ การร่างธรรมนูญพรรคจัดโครงสร้าง การระดมความคิดเห็น และกระบวนการการหาข้อยุติหรือฉันทานุมัติภายในพรรคเพื่อเป็นกฎกติกาสำหรับทุกฝ่าย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สส.เพื่อไทย ดี๊ด๊า ประเทศไทยมีระบบที่เป็นมาตรฐาน!
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่าประชาชนที่ติดตามเรื่องนี้คงสบายใจขึ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับ
'อิ๊งค์' ยิ้มรับ 'พ่อ-เพื่อไทย' รอดล้มล้างปกครอง ชาวเน็ตชี้จากนี้ไป 'ทักษิณ' ใส่เกียร์เหลิง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติไม่รับไว้พิจารณาวินิจฉัย คำร้องที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ในฐานะประชาชน ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ
ระทึกสุดขีด! 22 พ.ย. ศาลรธน.ลงมติ 'รับ-ไม่รับ' คำร้อง 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
คอนเฟิร์ม ศุกร์นี้ 22 พ.ย. 9 ตุลาการศาลรธน.นัดประชุมวาระพิเศษ หลังงดมาสองรอบ เตรียมนำหนังสือ-ความเห็นอัยการสูงสุด กางบนโต๊ะประชุม ก่อนลุ้นโหวตลงมติ”รับ-ไม่รับคำร้อง”คดีทักษิณ-เพื่อไทย โดนร้องล้มล้างการปกครองฯ
'แพทองธาร' โชว์วิชั่น การเมืองมีเสถียรภาพ ประเทศไทยจะดีขึ้น!
นายกฯ โชว์วิชั่น Forbes ไทยสงบ สันติ หวังรัฐบาลเปลี่ยน นายกฯเปลี่ยน แต่นโยบายเพื่อปชช.เดินหน้า บอกต่างชาติเจอคำถามแรกถามพ่อ-อาเป็นอย่างไร ย้ำการเมืองมั่นคง มีเสถียรภาพแน่นอน
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
รู้ไว้ซะ 'ปิยบุตร' เผย 'ทักษิณ' ได้กลับบ้าน เพราะก้าวไกลชนะเลือกตั้ง!
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบยกมาถกเถียงกันอีกครั้ง