เมื่อวานเขียนถึง “ทางเลือก” ของจีนในสงครามยูเครน
จะเดินหน้าสนับสนุนรัสเซียไม่ให้แพ้ตะวันตก
หรือจะเล่นบท “ผู้ไกล่เกลี่ยเพื่อสันติภาพ”
เพราะสองบทนี้มีความย้อนแย้งอยู่ในตัว ปักกิ่งต้องตัดสินใจว่าจะเลือกเดินไปทางใดทางหนึ่ง
แต่ก็อาจจะมีนักวิเคราะห์แย้งได้ว่าจีนอาจจะพยายามใช้ “การทูตไต่ลวด” ด้วยการเดินสองเส้นทางพร้อม ๆ กัน
เพราะจีนจะตัดรัสเซียไม่ได้ แต่ก็ไม่ต้องการให้ถูกตะวันตกโดดเดี่ยวตนเองหากอยู่ข้างรัสเซีย
เพราะความเสี่ยงคือจีนไม่อาจจะประเมินได้ว่ารัสเซียจะสามารถเอาชนะสงครามนี้ได้หรือไม่ หรือได้เมื่อไหร่ และด้วยต้นทุนเท่าไหร่
สมมติว่าจีนสนับสนุนรัสเซียด้วยอาวุธอย่างลับๆ ไม่ว่าจะเป็นโดรน กระสุนปืนใหญ่ และกระสุน คำถามก็คือจะช่วยให้รัสเซียได้รับชัยชนะในสนามรบแน่นอนหรือไม่
คำตอบของนักยุทธศาสตร์บางค่ายคือ: ไม่แน่
เพราะตะวันตกเชื่อว่าเพียงอาวุธจากจีนอาจจะไม่ได้พลิกสถานการณ์ของการประสานงานและการบัญชาการสู้รบในภาคสนามของรัสเซียในยูเครนได้
แต่ความช่วยเหลือด้านวัตถุจากจีนก็สามารถยืดอายุสงคราม ให้รัสเซียได้เปรียบทางยุทธวิธีบนพื้น
และเพื่อโน้มน้าวชนชั้นนำรัสเซียที่กระวนกระวายว่ารัสเซียยังสามารถสู้รบต่อไปได้
แน่นอนว่า ปูตินจะต้องขอบคุณสี จิ้นผิงหากได้รับความช่วยเหลือจากจีนอย่างเป็นกอบเป็นกำ
และจะเสริมความมั่งมั่นของรัสเซียในการทำสงครามที่ยาวนาน ปกป้องปูตินจากความเปราะบางทางการเมืองที่เกิดจากสงครามที่ลากยาวเกินกว่าที่วางเป้าเอาไว้
แต่ผมก็เชื่อว่าจีนจะไม่กระโดดเข้าร่วมสงครามกับรัสเซียเพราะความเสี่ยงมีสูงเกินกว่าที่จะเป็นประโยชน์ต่อเป้าหมายของปักกิ่ง
แต่ก็อาจจะมีนักวิเคราะห์บางสำนึกที่โยงเรื่องยูเครนกับไต้หวัน
จนเกิดทฤษฎีทับซ้อนว่าหากสี จิ้นผิงต้องการจะดึงความสนใจของชาวโลกออกจากปฏิบัติการทางทหารต่อไต้หวัน จีนก็อาจจะพร้อมเข้าไปเล่นบทที่คึกคักขึ้นในสงครามยูเครน
ด้วยการประกาศตนสนับสนุนปฏิบัติการของรัสเซียในยูเครน
ถึงขั้นมีการมองกันว่าถ้าจีนช่วยให้รัสเซียทำสงครามในยูเครนต่อไปอีก สหรัฐฯและยุโรปก็ต้องทุ่มทรัพยากรทางทหารส่วนใหญ่ไปที่ยูเครน
ซึ่งก็หมายความว่าตะวันตกอาจจะไม่มีทรัพยากรสำรองเพียงพอที่จะช่วยปกป้องไต้หวันในกรณีที่ปักกิ่งต้องการจะเปิดศึกกับไต้หวัน
แต่นั่นเป็นการวิเคราะห์บนหลักคิดว่าจีนมีเป้าประสงค์ที่จะบุกไต้หวันในปีสองปีข้างหน้า
ซึ่งก็อาจจะไม่ใช่การคาดคะเนที่ถูกต้องแม่นยำ
เพราะจีนก็อาจจะมีการประเมินสถานการณ์ของตนกรณีไต้หวันอย่างเป็นขั้นเป็นตอนด้วยการชั่งตวงวัดความเสี่ยงในปัจจัยต่าง ๆ ที่อยู่นอกเหนือการพยากรณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านตะวันตกแน่นอน
แต่จีนก็ต้องวางเป้าหมายว่าด้วยจุดยืนของตนในเวทีระหว่างประเทศในวันข้างหน้าด้วยการมองผลประโยชน์ของตนเป็นหลักด้วย
นั่นคือการที่ปักกิ่งรู้ว่าจะยืนเคียงข้างรัสเซียอย่างแข็งขันโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อจีนเองในระยะกลางและระยะยาวย่อมเป็นไปไม่ได้
เพราะจีนมองไปข้างหน้าแล้ว เห็นแนวร่วมของตนหลัก ๆ คือรัสเซีย, อิหร่าน, เกาหลีเหนือและเอเซียกลางไม่น่าจะพอสำหรับการขยับขึ้นเป็นมหาอำนาจที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐฯได้
แม้จะมีองค์กรที่จับมือกับอินเดียใน BRICS แต่จีนก็ต้องการได้ชื่อว่ามีพันธมิตรทางตะวันตกที่สามารถแบ่งปันผลประโยชน์ให้กันและกัน
นั่นคือสหภาพยุโรปที่กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของจีนในการสร้างมิตร
แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่สี จิ้นผิงก็ได้แสดงความพยายามอย่างยิ่งที่จะดึงเอาประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอมมานูเอล มาครงมาเป็นเพื่อนสนิทเพื่อเป็นหัวหอกในการให้ยุโรปได้แสดง “ความเป็นตัวของตัวเอง” จากสหรัฐฯ
ซึ่งก็ได้ผลเริ่มต้นที่น่าสนใจ เพราะทันทีที่เสร็จจากการพบปะกับสี จิ้นผิง ที่ปักกิ่ง ผู้นำฝรั่งเศสก็แถลงว่า “ไต้หวันไม่ใช่เป้าหมายเร่งด่วนของยุโรป”
และยังยืนยันว่ายุโรปกับสหรัฐ แม้จะเป็นพันธมิตรเก่าแก่ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกันในทุกกรณี
ซึ่งย่อมจะโยงไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับจีนที่ไม่จำเป็นต้องไปผูกติดกับสหรัฐฯในทุกกรณี
เป็นที่มาของวาทกรรมใหม่ของผู้นำในยุโรปที่พูดถึงการบริหารจัดการความสัมพันธ์กับจีนที่จะแปรรูปจาก decoupling เป็น de-risking
นั่นหมายถึงการไม่แยกขั้วระหว่างยุโรปกับจีนโดยเด็ดขาดในลักษณะที่ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำกิจกรรมด้านเศรษฐกิจ, ความมั่นคงและสังคม
แต่ให้เป็นการ “ลดความเสี่ยง” ต่อกัน อันหมายถึงการพยายามหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่อาจจะนำไปสู่คาวมขัดแย้งที่ควบคุมไม่ได้
จีนไม่ได้กระโดดงับข้อเสนอนี้ และได้ตั้งข้อสังเกตว่ายังมีวาระซ่อนเร้นอยู่
แต่ก็เห็นได้ว่าผู้นำยุโรปบางประเทศเริ่มจะยอมรับว่าอย่างไรเสียก็ต้องคบหากับจีนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งโดยต้องหลีกเลี่ยงการปะทะกัน
และต้องไม่เดินตามสหรัฐฯในทุกกรณีอีกต่อไป
จีน ร่วมกับพันธมิตรที่มีแนวคิดเดียวกันในอินโดแปซิฟิก พวกเขาจะนำเสนอแนวร่วม
และด้วยแนวคิดนี้เองที่อาจจะทำให้ยุโรปเพิ่มอำนาจต่อรองกับจีนในเรื่องของรัสเซีย
นั่นคือยุโรปสามารถบอกกล่าวกับปักกิ่งว่าหากจีนจะคบหายุโรปอย่างสร้างสรรค์และเอื้อประโยชน์ต่อกันอย่างจริงจัง จีนก็ต้องให้คำมั่นอย่างเป็นรูปธรรมว่าจะไม่สนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามในยูเครน
เพราะยุโรปไม่อาจจะเห็นรัสเซียยึดยูเครน กลายเป็นภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงต่อยุโรปในวันข้างหน้า
สี จิ้นผิงย่อมต้องคิดหนักในประเด็นนี้
เพราะเป็นทางสองแพร่งที่ต้องชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบ
ผลประโยชน์ของจีนกับรัสเซียอาจจะมีความสอดคล้องกันในหลาย ๆ ด้าน
แต่ไม่ใช่ทุกด้าน
จีนต้องการจะคบหายุโรปเพื่อคานอำนาจสหรัฐฯ
และหากจีนจะเล่นบทมหาอำนาจที่ต้องการจะสร้างบรรยากาศแห่งสันติภาพจริงก็ต้องพยายามดึงเอารัสเซียให้ทำข้อตกลงกับยุโรปเพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติและลดความระแวงสงสัยต่อกัน
แต่ก่อนจะถึงจุดนั้น สี จิ้นผิงมีประเด็นเฉพาะหน้าที่ต้องตัดสินใจอย่างหนัก
นั่นคือจะน้าวโน้มให้ปูตินปิดเกมสงครามบนเงื่อนไขที่ยูเครนและยุโรปยอมรับได้อย่างไรโดยที่ยังให้ปูตินครองอำนาจอยู่อย่างสมศักดิ์ศรี
นั่นคือคำถามที่ยากเย็นยิ่งนัก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ