ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนประกาศแล้วว่าจะเล่นบทเป็น “ผู้ไกล่เกลี่ยสันติภาพ” ระหว่างรัสเซียกับยูเครนเพื่อให้ยุติสงครามที่ลากยาวมาเข้าสู่วันที่ 448 แล้ว
แต่ดูเหมือนทั้งสองฝ่ายยังตั้งท่าที่จะยกระดับการทำสงครามหนักขึ้นอีก
เหมือนจะไม่สนใจว่าจีนจะตกอยู่ในฐานะลำบากใจเพียงใดหากทั้งมอสโกและกรุงเคียฟไม่ได้แสดงความเกรงอกเกรงใจผู้นำจีนในเรื่องสันติภาพเลย
คำถามที่น่าสนใจในช่วงนี้คือ: จีนกับรัสเซียมีผลประโยชน์ตรงกันและต่างกันในมิติไหนบ้าง
เพราะหากทั้งสองประเทศมีส่วนได้ส่วนเสียกับสงครามและสันติภาพมากเท่าใด ความกระตือรือร้นของปักกิ่งในเรื่องการหาทางยุติสงครามก็ยิ่งมีมากแค่นั้น
แต่ความสัมพันธ์ของสองสหายนั้นไม่ได้เป็นสีดำสีขาวเท่านั้น หากแต่ยังมีความเป็นสีเทาที่มีความไม่ชัดเจนและแน่นอนสูงมาก
เชื่อกันว่าจีนมีส่วนได้เสียเกี่ยวกับสงครามยูเครนอยู่อย่างน้อย 3 ประการ
ประการแรกคือการพยายามไม่ให้เกิด “หายนะ” ต่อสถานภาพของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน
เพราะปูตินเป็นผู้นำที่เอื้อต่อผลประโยชน์ของจีนอย่างชัดเจน
เช่นความเป็นพันธมิตรที่อยู่ข้างเดียวกันในการเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกา
อีกทั้ง ปูตินยังช่วยจัดหาพลังงานราคาถูกและตลาดขนาดใหญ่สำหรับประเทศจีน
จึงค่อนข้างแน่ชัดว่าปักกิ่งไม่ต้องการให้ปูตินถูกแทนที่ด้วยผู้นำที่เป็นมิตรกับจีนน้อยกว่านี้
และจีนก็ย่อมไม่ต้องการเห็นความไร้เสถียรภาพภายในประเทศในรัสเซียหากมอสโกเกิดแพ้สงครามยูเครน จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม
ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุดที่จีนไม่ต้องการเห็นอย่างเด็ดขาดคือกรณีที่รัฐรัสเซียถูกแยกส่วนเพราะวิกฤตภายในไม่ว่าปูตินจะยังบริหารประเทศอยู่ต่อหรือไม่ก็ตาม
เพราะนั่นอาจนำความโกลาหลมาสู่พรมแดนของจีนและจะบ่อนทำลายความสามารถของจีนในการค้ากับเอเชียกลาง คอเคซัสใต้ และยุโรป
แม้ว่าปูตินและสี จิ้นผิงอาจยังไม่เห็นพ้องต้องกันทั้งหมดว่าสงครามในยูเครนควรจบลงอย่างไร
แต่ทั้งสองผู้นำก็คงเห็นตรงกันว่าไม่ว่าในสถานการณ์ใด ความพ่ายแพ้ของรัสเซียในกรณีนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เป็นอันขาด
จีนยังเข้าใจดีว่าสงครามในยูเครนมีผลกระทบต่อระเบียบระหว่างประเทศด้วย
หากสงครามสิ้นสุดลงตามเงื่อนไขของชาติตะวันตกด้วยชัยชนะที่ชัดเจนของยูเครน สหรัฐฯ ก็จะป่าวประกาศว่านั่นเป็นชัยชนะต่อระเบียบระหว่างประเทศ
จีนต้องการจะจัดระเบียบโลกใหม่ภายในเงื่อนไงของจีนไม่ว่าจะเป็นด้านกฎเกณฑ์ อำนาจ และทางการทูต
ในทางตรงกันข้าม หากสงครามยืดเยื้อและยังคงนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อและความไม่มั่นคงทางอาหารทั่วโลก จีนก็อาจสรุปว่านั่นคือความล้มเหลวของระเบียบระหว่างประเทศที่นำโดยสหรัฐฯ ที่มีมาก่อน
จีนก็อาจสามารถกล่าวได้ว่า 30 ปีของการเป็น “เจ้าโลก” ของอเมริกาได้นำโลกใบนี้สู่ทางตัน
เมื่อจีนใช้ตรรกะเช่นนี้ได้ ก็ย่อมจะแสดงตนเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความรับผิดชอบต่อระเบียบระหว่างประเทศ
ในอีกแง่หนึ่งก็มองได้ว่าจีนอาจยินดีที่สงครามจะดำเนินต่อไปตราบเท่าที่ยังดึงความสนใจและทรัพยากรของสหรัฐฯ ไปกองไว้ที่ยุโรป ซึ่งห่างไกลจากอินโดแปซิฟิกอันเป็น “หลังบ้าน” ของจีน
ผลประโยชน์ประการที่สามของจีน (ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ประการที่สองทั้งหมด) คือบทบาทของจีนหลังสงครามในยูเครนยุติลง
ในแง่หนึ่ง ปักกิ่งก็คงพอจะรับได้กับการปล่อยให้รัสเซีย ยูเครน และชาติตะวันตกอ่อนล้าจากศึกสงคราม
แต่จีนคงต้องการจะใช้เหตุผลของกระบวนการสันติภาพและภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจหลังสงครามของยูเครน
จะเห็นได้ว่าก่อนสงครามจีนสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นกับยูเครน
และไม่ต้องสงสัยว่าจีนจะมีบทบาทกว้างขวางอย่างในการฟื้นฟูยูเครนหลังสงคราม
แม้ว่ายูเครนจะยืนกรานมาตลอดว่าผู้สนับสนุนยูเครนในสงครามควรเป็นผู้ได้รับประโยชน์หลักจากโอกาสที่มาพร้อมกับการฟื้นฟูประเทศ
แต่เซเลนสกีของยูเครนก็ไม่เคยปฏิเสธที่จะเปิดประตูนั้นให้กับจีน
เพราะท้ายที่สุดแล้ว ยูเครนก็อาจต้องหันไปพึ่งพาปักกิ่งเพื่อช่วยแบกรับความต้องการมหาศาลในกระบวนการฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม
แผนสันติภาพที่สี จิ้นผิงเสนอต่อปูตินที่กรุงมอสโกเมื่อเร็ว ๆ นี้ แม้จะถูกวิพากษ์ว่าขาด “ความสมดุล” แต่มันก็เป็นสัญญาณว่าจีนต้องการเป็นทั้งผู้ไกล่เกลี่ยและ “ผู้เล่น” ตัวหนึ่งทางเศรษฐกิจในยูเครน
ในเมื่อมีผลประโยชน์อันเกี่ยวโยงกับสงครามขนาดนี้ นักวิเคราะห์ทั้งหลายก็ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าจีนจะไม่ปล่อยให้เหตุการณ์ในยูเครนดำเนินไปตามยถากรรมด้วยความเฉยเมย
หากมองในแง่ลบ จีนจะใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อขัดขวางไม่ให้สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในยูเครน
นั่นแปลว่าแม้หากสงครามยังคงเลวร้ายสำหรับรัสเซีย จีนจะเดินหน้าสนับสนุนปูติน ... เพื่อไม่ให้วอชิงตันประสบชัยชนะในการหนุนเนื่องยูเครน
แต่มองในแง่บวก จีนก็คงจะพยายามปรับสงครามให้เข้ากับวิสัยทัศน์และมุมมองของตนเพื่อสร้างระเบียบระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับแนวทางของตน
ในแง่หนึ่งจะเป็นการพยายามขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากับยูเครนและเพื่อนบ้านของยูเครน
แต่ในทางกลับกัน จีนก็อาจจะขยายขอบเขตของการดำเนินนโยบายที่จะเปิดทางให้รัสเซียละเมิดกฎกติกาใด ๆ ที่กำหนดโดยวอชิงตัน
นั่นหมายความจีนต้องพยายามประคองให้รัสเซียชนะเพื่อจะได้ไม่ต้องตกอยู่ภายใต้กรอบแห่งวิถีของตะวันตก
นั่นแปลว่าจีนอาจพร้อมเสี่ยงด้วยการให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่รัสเซีย
ซึ่งก็อาจมาในรูปของการสนับสนุนอย่างลับๆ หากความช่วยเหลือนี้ตรวจไม่พบหรือหากตรวจไม่พบอย่างแน่ชัด
ด้วยวิธีนี้ จีนก็ยังสามารถอ้างบทบาทของ “ผู้สร้างสันติภาพ” ในยูเครนพร้อม ๆ กับการที่ประคองไม่ให้รัสเซียต้องพลาดท่าเสียทีในสนามรบเสียก่อน
ต้องไม่ลืมว่าหากจีนดำเนินนโยบายคบหายุโรปใกล้ชิดมากขึ้น และดึงสหภาพยุโรปออกจากอ้อมกอดของสหรัฐฯ ได้สำเร็จก็อาจจะเกิดร่องรอยแห่งความระหองระแหงระหว่างยุโรปและสหรัฐอเมริกา
ในกรณีนั้น หากวอชิงตันประณามปักกิ่งที่จัดเตรียมอาวุธให้กับรัสเซียและใช้มาตรการลงโทษ แต่ยุโรปปฏิเสธที่จะปฏิบัติตาม เพราะยุโรปเกรงกลัวการตอบโต้ทางเศรษฐกิจของจีน
นั่นก็อาจลงเอยด้วยการปล่อยให้วอชิงตันถูก “โดดเดี่ยว” จากยุโรปได้
นั่นคือฉากทัศน์ที่น่าพิจารณา...และเป็นมุมมองที่ลุ่มลึกกว่าที่เคยเห็นเฉพาะแง่มุมขาวกับดำอย่างที่เป็นมาก่อน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ