มะกันประเมินโอกาสที่ จีนจะส่งทหารบุกไต้หวัน

เมื่อวานเขียนถึงแนวทางวิเคราะห์ของ Gen Mike Milley, ประธานเสนาธิการทหารร่วมของอเมริกา, ว่าด้วยสงครามยูเครน

พอเขียนจบก็ได้ข่าวว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เตรียมจะเสนอชื่อ พล.อ.ชาร์ลส์ บราวน์ (Charles Brown) ผู้บัญชาการทหารอากาศให้มาแทนตำแหน่งนี้ เพราะคนเดิมจะเกษียณสิ้นเดือนกันยายนนี้

นายพลบราวน์จะเป็นนายทหารผิวดำคนที่ 2 ต่อจากนายพล Colin Powell ผู้ล่วงลับ

นอกจากนี้ยังถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ที่ตำแหน่งผู้นำ 2 อันดับต้นๆ ของเพนตากอนจะเป็นของคนสีผิว

รัฐมนตรีกลาโหม Gen Lolyd Austin ก็เป็นนายพลผิวดำเช่นกัน

ประสบการณ์ของนายพลบราวน์อยู่ในย่านมหาสมุทรแปซิฟิกและตะวันออกกลาง

แต่แนวทางวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของนายพลมาร์ก มิลลี ก็ยังน่าสนใจ เพราะเขาคือหนึ่งในแกนนำของการวางนโยบายทางทหารของสหรัฐฯ

ในการให้สัมภาษณ์ค่อนข้างละเอียดกับ Foreign Affairs นั้นมีการถามถึงทิศทางของสหรัฐฯ ในเอเชียด้วย

ถาม : เมื่อคุณประเมินความเสี่ยงของความขัดแย้งทางอาวุธในเอเชีย คุณมักจะพูดถึงความพยายามยับยั้งจีน

คุณกำลังจะนำบทเรียนอะไรจากสงครามยูเครนมาใช้ในแปซิฟิก?

นายพลมาร์ก มิลลี : ไม่มีสงครามใดที่เหมือนกัน การรุกรานไต้หวันโดยจีนจะไม่ดูเหมือนการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย

พื้นฐานที่แตกต่างกันก็เริ่มจากภูมิประเทศและสภาพอากาศ

ยูเครนมีพรมแดนทางบกติดกับรัสเซีย และรัสเซียสามารถระดมพลและวางกำลังในพื้นที่ชุมนุมและตำแหน่งโจมตีสำหรับการรุกราน

รัสเซียมีทหาร 140,000-150,000 นาย อยู่แนวหน้า และอีกกว่าแสนคนอยู่ข้างหลังในแนวรบหลายแนวข้ามพรมแดนทางบก

ดังนั้นพวกเขาจึงมีช่องทางการสื่อสารพื้นฐานทางบกที่ดีพอสมควร

ปัญหาของจีนนั้นแตกต่างกันโดยพื้นฐาน

ถ้าจีนจะโจมตีไต้หวัน ปักกิ่งก็ต้องเตรียมยกพลขึ้นบกแบบสะเทินน้ำสะเทินบกร่วมกับพลร่ม และการโจมตีทางอากาศ เฮลิคอปเตอร์ปีกหมุน ขีปนาวุธ ต้องพร้อมหมด 

การเตรียมการยิงทั้งหมดที่จะเข้าไปโจมตีไต้หวัน พวกเขาต้องยึดหัวหาด และจากนั้นต้องมีลิฟต์สะเทินน้ำสะเทินบกและฝ่าข้ามน้ำเป็นระยะทาง 100 ไมล์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายพอสมควร

นอกจากนั้น ทหารจีนยังต้องสร้างความแน่ใจว่าใต้ผิวน้ำทหารของเขาจะปลอดภัยจากการโจมตีของเรือดำน้ำ

อีกทั้งยังมีภารกิจกวาดทิ้งทุ่นระเบิดและเคลียร์ชายหาด จากนั้นก็ยังต้องยกพลเข้าโจมตีและยึดเขตเมืองที่มีประชากรประมาณสามล้านครึ่ง...ในภูมิประเทศที่มีภูเขาสูงมาก ซึ่งเป็นปราการป้องกันตัวธรรมชาติอย่างดีสำหรับไต้หวันเอง

ผมจึงต้องเตือนคุณว่า ต้องระมัดระวังในการที่จะเปรียบเทียบการทำสงครามในยูเครนกับไต้หวัน

แต่ก็มีบทเรียนหนึ่งที่ฝ่ายจีนคงจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ นั่นคือสงครามของจริงนั้นค่อนข้างแตกต่างจากสงครามบนกระดาษ

เพราะพอถึงจุดหนึ่งเมื่อทหารต้องตายจริง และการสู้รบก็ทำด้วยรถถังจริง และยานรบทหารราบก็ถูกระเบิดจริง                  และบางครั้งสิ่งต่างๆ ก็อาจไม่เป็นไปตามที่คุณคิด

ดังนั้นอย่างน้อยเท่าที่เราทราบ ฝ่ายจีนยังไม่มีกิจกรรมในระดับการฝึกและเตรียมการที่จะรองรับการศึกขนาดใหญ่ และขอบเขตของการทำสงครามรุกราน

ลองย้อนกลับไปคิดถึง “ศึกนอร์มังดีซิ...ที่นอร์มังดี สหรัฐอเมริกาและอังกฤษส่งทหารประมาณ 120,000 นายขึ้นฝั่ง             รวมทั้งหย่อนหน่วยทหารจำนวน 3 กองบินลงไป ณ จุดนั้นคืนก่อนหน้านั้น และส่งทหารประมาณ 120,000 นายขึ้นไปยึดชายหาดก่อนเที่ยงหรือตอนบ่ายของวันเดียวกัน...ตามมาด้วยทหารอีกจำนวนหนึ่งในเวลาต่อมา

และต้องไม่ลืมว่ากองทัพไต้หวันวันนี้ไม่ใช่ทหาร Wehrmacht ของนาซีเยอรมนีในปี 1944 เพราะกองทัพไต้หวันเป็นหน่วยรบที่มีศักยภาพ

กองทัพที่ยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีได้ประสบการณ์ก่อนหน้านั้นจากการบุกแอฟริกาเหนือและซิซิลี และได้ปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกในอิตาลี จึงได้ประโยชน์จากบทเรียนที่ได้รับ และมีประสบการณ์เป็นร้อยครั้งว่าด้วยปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบกในมหาสมุทรแปซิฟิกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ดังนั้น แม้ในช่วงปี 1944 ก็ยังเจอความท้าทายมาก...อย่าลืมว่านายพลไอเซนฮาวร์เขียนจดหมายลาออกในกรณีที่เกิดความล้มเหลวในคืนก่อนหน้านั้น

และในกรณีนั้นเป็นปฏิบัติการทางทหารตรงช่องแคบอังกฤษ ซึ่งมีความกว้างประมาณ 30 ไมล์ อะไรทำนองนั้น

และตอนนี้ ในกรณีไต้หวัน มันเป็นระยะทางเป็นร้อยไมล์ และเป็นกองทหารที่ไม่เคยทำอะไรแบบนั้นมาก่อนเลย

แถมภูมิประเทศในไต้หวันยังยากกว่าและซับซ้อนกว่าที่นอร์มังดีมาก

ผมเชื่อว่ามันเป็นภารกิจที่หนักหน่วงทีเดียว และผมก็เชื่อว่าฝ่ายจีนตระหนักเรื่องนี้ดีเช่นกัน

ดังนั้นเราควรจะทำอย่างไร?

เราต้องพยายามระงับยับยั้งการต่อสู้ด้วยอาวุธให้ได้

แล้วจะยับยั้งได้อย่างไร?

ประวัติศาสตร์บอกเราว่าวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เกิดสงครามคือ การมีกองกำลังที่เข้มแข็งมาก และมั่นใจว่าฝ่ายตรงข้ามรู้ว่าคุณมีศักยภาพเช่นนั้น

ต้องให้ฝ่ายตรงกันข้ามรู้ว่าคุณมีความสามารถที่จะเอาชนะในการสู้รบหากเกิดขึ้น

และให้อีกฝ่ายหนึ่งได้ตระหนักว่าคุณมีความตั้งใจที่จะใช้ศักยภาพเช่นนั้น และต้องสื่อสารให้ฝ่ายโน้นได้รับทราบด้วย

ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ ให้แน่ใจว่ากองทัพสหรัฐฯ ไม่เพียงแต่เหนือกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง ไม่ใช่แค่เหนือกว่าเล็กน้อย ต้องดีกว่ามากด้วย

 นั่นก็เพื่อให้แน่ใจว่าฝ่ายโน้นรู้ศักยภาพของเรา...และให้เขารู้ด้วยว่าเรามีความตั้งใจที่จะใช้กองกำลังที่เหนือกว่านั้นในกรณีเกิดวิกฤต

นอกจากนี้เรายังต้องให้แน่ใจว่าไต้หวันต้องปรับปรุงความสามารถในการป้องกันอย่างมากและรวดเร็ว และรวมถึงสิ่งที่คุณเห็นที่ยูเครน

นั่นคือทั้งประเทศลุกขึ้นมาทำสงครามกับผู้รุกราน

ดังนั้นรัสเซียไม่ได้แค่ต่อสู้กับกองทัพยูเครนเท่านั้น แต่ยังต้องต่อกรกับชาวยูเครนด้วย

ไต้หวันก็ต้องประเมินและทบทวนหลักการป้องกันของคุณ และพัฒนากองทัพให้มีความสามารถในยุทธศาสตร์ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเรียกว่า “กลยุทธ์เม่น” (Porcupine Strategy)

นั่นคือยุทธศาสตร์ที่จะเตือนฝั่งปักกิ่งว่า ถ้าหากเปิดฉากโจมตีไต้หวัน ก็อาจจะประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นความสำเร็จแบบจำกัด

แต่มันจะเป็นความสำเร็จที่มีค่าใช้จ่ายสูง...สูงเกินประโยชน์ที่จะได้ ได้ไม่คุ้มเสีย

แต่ผมคาดว่าเรามีเวลาค่อนข้างจำกัดเพื่อให้แน่ใจว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ได้ประเมินต้นทุนที่ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นหากตัดสินใจโจมตีไต้หวัน

แต่เพราะเวลามีจำกัด เราจึงต้องพยายามจะออกแบบมาตรการที่จะยับยั้งจีนไม่ให้คิดการใหญ่ที่อันตรายและไม่คุ้มกับความเสี่ยงสำหรับจีน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ