คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญกับการดำเนินชีวิตและธุรกิจ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจไปทั่วโลก ผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมทางอวกาศที่เติบโตอย่างมาก จนมีการคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมอวกาศและอากาศยานว่าจะสามารถเติบโตไปถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2040
ซึ่ง พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ Chief Economist ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า เทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology เป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ของโลกอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ โดยการพัฒนาองค์ความรู้ด้านอวกาศมาเป็นเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ความต้องการทั้งของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ ซึ่งประเทศไทยมีการใช้แผนที่ดาวเทียมในการประเมินสถานการณ์น้ำท่วม หรือตรวจจับไฟป่า
ขณะที่ในหลายประเทศทั่วโลกมีการพัฒนา Space Technology และนำมาใช้ในภาคธุรกิจอย่างแพร่หลายมากขึ้น เช่น การใช้ข้อมูลระยะไกลจากดาวเทียมเพื่อวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ระบบนำทางจากดาวเทียมกับเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับสำหรับใช้ในเชิงพาณิชย์ การนำข้อมูลดาวเทียมมาใช้ในการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะ รวมถึงการพัฒนาระบบขนส่งทางอวกาศเป็นการท่องเที่ยวในอวกาศได้
ขณะที่ อภินันทร์ สู่ประเสริฐ นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า Space Technology ที่ก้าวหน้า ช่วยตอบโจทย์ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการ บรรเทาผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และมีบทบาทในการช่วยภาคธุรกิจในการบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดห่วงโซ่การผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งสร้างความโปร่งใสด้านข้อมูลและสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค
สำหรับในประเทศไทย Space Technology จะเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการไทยใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกิจเกษตร ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจก่อสร้าง โดยในภาคเกษตร การใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม จะช่วยลดผลกระทบต่อผลผลิตข้าวจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้ราว 2,354 ล้านบาทต่อปี
สำหรับภาคขนส่ง การใช้เทคโนโลยีระบบนำทางจากดาวเทียมจะลดความเสียหายของผลผลิตระหว่างการขนส่งสินค้าส่งออกในกลุ่มผักและผลไม้ได้ราว 3,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ภาคก่อสร้างสามารถนำเทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกลมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีโดรน เพื่อทำการสำรวจและปรับพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพก่อนดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งช่วยให้ต้นทุนการก่อสร้างลดลงราว 10-20%
ด้าน ปราโมทย์ วัฒนานุสาร นักวิเคราะห์ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า หากต้องการให้ภาคธุรกิจในประเทศไทยใช้ประโยชน์จาก Space Technology ได้อย่างเต็มที่ ภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ของเทคโนโลยี และสนับสนุนภาคธุรกิจในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้เชี่ยวชาญด้าน Space Technology ได้แก่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และธุรกิจสตาร์ทอัปที่มีความเชี่ยวชาญ
ต้องยอมรับว่า เรื่อง Space Technology เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย และไทยเป็นผู้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากกว่าเป็นผู้นำในการลงทุน แต่ภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการลงทุนเทคโนโลยีด้านนี้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของภาคธุรกิจ และรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานตามมา และส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
โดย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า หากประเทศไทยมีเป้าหมายจะยกระดับไปสู่ประเทศที่มีความก้าวหน้าทาง Space Technology ในระดับกลาง ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาทในช่วง 10 ปีจากนี้ หรือลงทุนเฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง และจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้ภาคธุรกิจประยุกต์ใช้สเปซเทคโนโลยี หรือเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อรับมือกับปัจจัยเสี่ยงที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ได้แก่ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งความเสี่ยงจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิต
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในการประกอบธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน.
บุญช่วย ค้ายาดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปี68สินเชื่อระบบแบงก์ไทยหืดจับ
ปี 2568 ยังเป็นอีกปีที่ต้องจับตากับทิศทางของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ที่จะเข้ามามีผลกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์กดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน
แผนดัน ‘เกษตรครบวงจร’
อุตสาหกรรมเกษตร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และที่ผ่านมาเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนไปได้ด้วยสินค้าเกษตร แต่ก็มีบางช่วงที่ติดขัดและไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จากปัจจัยกระทบต่างๆ
เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี
เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม
แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ
ของขวัญรัฐบาล
อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว
ยกระดับธุรกิจไทยแข่งขันเวทีโลก
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ