ไบเดนกับมาร์กอสจูเนียร์กระชับความเป็นพันธมิตร

ต้นเดือนพฤษภาคม เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand Marcos Jr.) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ กระชับความร่วมมือกับรัฐบาลไบเดนหลายเรื่องโดยเฉพาะด้านการทหาร

ความจำเป็นของฟิลิปปินส์:

ประการแรก การหาปลาในพื้นที่ทับซ้อน

ฟิลิปปินส์มีปัญหาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับจีน ทุกปีเมื่อกลุ่มเรือประมงจีนนับร้อยนับพันมาจับปลาในพื้นที่ทับซ้อนจึงขัดแย้งกับชาวประมงฟิลิปปินส์ เป็นข่าวครึกโครมเสมอ แต่กองทัพฟิลิปปินส์อ่อนแอไม่อาจสกัดฝ่ายจีน ความช่วยเหลือทางทหารจากสหรัฐน่าจะก่อประโยชน์ เป็นที่เรียกร้อง ในการเจรจาล่าสุดรับปากว่าจะให้เรือยามฝั่ง 4 ลำ

ภาพ: เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
เครดิต: https://www.facebook.com/pageanthology101/photos/a.1010011412361799/5876278749068350/

ไบเดนกล่าวต่อมาร์กอส จูเนียร์ ว่า “สหรัฐยึดมั่นข้อตกลงปกป้องฟิลิปปินส์แน่นอน รวมถึงทะเลจีนใต้ ช่วยปรับปรุงกองทัพให้ทันสมัย ย้ำ ฟิลิปปินส์กับสหรัฐเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันและจะดีขึ้นอีก ปรับใช้ “Bilateral Defense Guidelines” ฉบับใหม่

รัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ แสดงตัวเป็นมิตรกับจีนและอเมริกาพร้อมกัน แต่ผูกความมั่นคงใกล้ชิดอเมริกามากขึ้น แม้บอกว่าไม่ใช่ต้านจีนแต่ไม่สมเหตุผลเท่าไรนัก

ประการที่ 2 แนวคิดจีนสร้างกำแพงยักษ์ (Great Wall) ทางทะเลจีนใต้

ส่วนหนึ่งกินลึกเข้ามาในทะเลฟิลิปปินส์ตะวันตก แม้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (International arbitral tribunal) พิพากษาว่าการที่ทางการจีนอ้างความเป็นเจ้าของโดยใช้เส้นประ 9 เส้น (nine-dash line) นั้นเป็นโมฆะ ไม่สามารถใช้สิทธิ์จากประวัติศาสตร์อ้างความเป็นเจ้าของ การอ้างสิทธิ์ของจีนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทุกวันนี้จีนสะสมกำลังต่อเนื่อง ขยายสนามบิน ติดตั้งขีปนาวุธหลายชนิดตามเกาะแก่งที่ Woody Island, Fiery Cross Reef, Mischief Reef และ Subi Reef กองกำลังทางเรือที่ขยายตัว เรือบรรทุกเครื่องบินล้วนมีส่วนช่วยเคลื่อนไหวครอบครองตามจุดยืนเป็นพื้นที่ของตน

กองเรือติดอาวุธขนาดเล็ก (เรือประมงติดอาวุธ) ที่น่าจะสัมพันธ์กับทางการจีนมักแล่นมาแถบนี้ พวกนี้เตรียมตัวมาดี มีระบบเก็บข้อมูล ปัญหาคือกองทัพเรือฟิลิปปินส์อ่อนแอเกินไป จำต้องอาศัยกองเรืออเมริกันเข้าช่วย แต่สหรัฐไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับเรือติดอาวุธเล็กๆ แบบนั้น

รัฐบาลชุดที่แล้วของโรดริโก ดูเตร์เต (Rodrigo Duterte) ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ดำเนินนโยบายใกล้ชิดจีน พูดเสมอว่าหากทำสงครามฟิลิปปินส์ไม่อาจชนะได้เลย

ปกติถ้าพูดภาพรวม รัฐบาลสหรัฐจะพูดถึงเอเชีย-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง แต่รอบนี้ข่าวที่ปรากฏให้ความสำคัญกับประเด็นไต้หวัน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะสหรัฐมุ่งใช้ฐานทัพในฟิลิปปินส์เพื่อการนี้ สอดคล้องกับข้อตกลง EDCA

ประการที่ 3 การค้าการลงทุน

มีข้อมูลว่า ในการเจรจารอบนี้ผู้นำฟิลิปปินส์ให้ความสำคัญการค้าการลงทุนมากกว่าประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ ข้อนี้เป็นผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมมากกว่า อยากได้จากทุกประเทศไม่เกี่ยงว่าสหรัฐหรือจีน

ปีที่แล้ว 2022 ฟิลิปปินส์ขายสินค้าแก่สหรัฐเพียง 11,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่เพื่อนบ้านส่งออกมากกว่านับสิบเท่า ปี 2020 เอกชนสหรัฐลงทุน 5,200 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านหลายแสนล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเพราะเพื่อนบ้านมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับดีกว่า

ประการที่ 4 การทูตอย่างระมัดระวัง

ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ กล่าวว่า ไม่สนับสนุนพฤติกรรมยั่วยุใดๆ ที่นำฟิลิปปินส์เข้าพัวพันด้วย ไม่อนุญาตให้ใช้ฟิลิปปินส์เป็นฐานปฏิบัติการทางทหาร

ฟิลิปปินส์เหมือนหลายประเทศ ดำเนินการทูตอย่างระมัดระวัง ใกล้ชิดอเมริกาด้านความมั่นคง ในขณะที่ค้าขายกับจีนมากกว่า จีนลงทุนหลายโครงการ ต้องระมัดระวังไม่กระทบมหาอำนาจชาติใดชาติหนึ่งจนเป็นภัยต่อตนเอง ชาติสมาชิกอาเซียนบางประเทศกังวลจีนที่ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลต่อภูมิภาคมากขึ้นทุกที จำต้องร่วมมือสหรัฐถ่วงดุลจีน

ประการที่ 5 ข้อตกลงความมั่นคงกับสหรัฐ

ปลายเดือนเมษายน 2014 ประธานาธิบดีบารัค โอบามา กล่าวยอมรับการคงอยู่ของสนธิสัญญาป้องกันประเทศ (Mutual Defense Treaty) ที่ทำกับฟิลิปปินส์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1951 “สนธิสัญญาดังกล่าวมีความว่าประเทศเราทั้งสองได้ให้คำมั่นสัญญาต่อกัน” ที่จะป้องกันอีกฝ่ายหากถูกกองกำลังต่างประเทศโจมตี สหรัฐจึงยึดมั่นปกป้องฟิลิปปินส์ “สหรัฐอเมริกาจะรักษาคำมั่นดังกล่าว ผู้เป็นพันธมิตรจะไม่มีวันโดดเดี่ยว”
สมัยรัฐบาลอากีโนลงนามข้อตกลงความมั่นคงทวิภาคีฉบับใหม่ Enhanced Defense Cooperation Agreement (EDCA) มีอายุ 10 ปี อนุญาตให้ทหารสหรัฐปรากฏตัวในประเทศฟิลิปปินส์ สามารถใช้ฐานทัพบางแห่งเป็นท่าเทียบเรือและเป็นฐานบินชั่วคราว
ล่าสุดนอกจากขยาย EDCA แล้วยังปรับปรุง “new bilateral defense guidelines” แนวทางทวิภาคีด้านการป้องกันประเทศที่มีมานานแล้วให้สอดคล้องกับบริบทซับซ้อนในปัจจุบัน

Lloyd Austin รมต.กลาโหมกล่าวต่อมาร์กอส จูเนียร์ ว่า “เราเป็นครอบครัวเดียวกัน เราจะช่วยเหลือกันเสมอ” เป็นเพื่อนและพันธมิตรที่ตัดขาดกันไม่ได้หลายทศวรรษแล้ว มีสนธิสัญญา Mutual Defense Treaty พวกเรายึดถือหลักประชาธิปไตย ต้องการให้เอเชียแปซิฟิกเสรีและเปิดกว้าง จะเผชิญความท้าทายร่วมกัน ด้านผู้นำฟิลิปปินส์ชี้ว่า 2 ประเทศจะมีอนาคตที่สดใสยิ่งร่วมกัน

อีกข้อตกลงคือ สร้างความร่วมมือ 3 ฝ่าย สหรัฐ-ญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์ ชี้ ฟิลิปปินส์เผชิญสถานการณ์ที่ซับซ้อนมาก ย้ำว่าจะไม่เข้าร่วมความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐ ไม่เป็นฐานปฏิบัติการทางทหารในความขัดแย้งดังกล่าว อาจตีความว่า สหรัฐกำลังสร้างนาโตเอเชียแบบหลวมๆ ถ้าคิดว่าความร่วมมือ 3 ฝ่าย สหรัฐ-ญี่ปุ่น-ฟิลิปปินส์สัมพันธ์กับความร่วมมือทางทหารไตรภาคีสหรัฐ-ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้

จะดีหรือร้ายมากกว่า:

ฟิลิปปินส์หวังรักษาอธิปไตย ผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อน สกัดเรือประมงจีน ข้อนี้ติดตามได้แน่ว่าจะเป็นจริงแค่ไหน ฐานทัพหลายแห่งที่ให้อเมริกาใช้ กองเรือที่ 7 ของอเมริกาสามารถบรรลุเป้าหมายที่รัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ คาดหวังได้หรือไม่

รัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ แสดงท่าทีที่ดีต่อจีนด้วย แต่ความร่วมมือกับสหรัฐล่าสุดชวนให้สงสัยว่าจะกระทบสัมพันธ์มากแค่ไหน

ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เผยว่า ให้สหรัฐใช้ฐานทัพตามข้อตกลง EDCA ไม่ได้หมายถึงให้ใช้รุกรานโจมตีประเทศใด “ไม่ใช่เพื่อต้านใคร ไม่ได้ต้านจีน” มีประโยชน์ด้านบรรเทาภัยพิบัติ เป็นคำชี้แจงที่ฟังไม่ขึ้น เพราะกำลังพูดว่าฐานทัพทหารเหล่านั้นใช้เพื่อบรรเทาภัยพิบัติ สวนทางยุทธศาสตร์สหรัฐอย่างสิ้นเชิง

Global Times สื่อจีนชี้ว่า ฟิลิปปินส์พยายามรักษาสมดุลระหว่างจีนกับสหรัฐแต่ไม่สร้างสัมพันธ์เท่าเทียม ผูกความมั่นคงใกล้ชิดอเมริกามากขึ้น แม้รัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ จะบอกว่าไม่ใช่ต้านจีน ฟิลิปปินส์จะเสียมากกว่าได้ เสี่ยงมากขึ้น เอื้อยุทธศาสตร์อเมริกา นำสู่ความไร้เสถียรภาพมากกว่าสันติภาพ ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อสหรัฐไม่รักษาคำพูด ใช้ฐานทัพนอกข้อตกลง ลากฟิลิปปินส์เข้าสู่ความขัดแย้งรุนแรง เมื่อถึงเวลานั้นทุกอย่างอาจสายเกินแก้ รัฐบาลฟิลิปปินส์ควรเข้าใจว่าฐานทัพคือฐานทัพ ไม่ได้ตั้งไว้เพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติตามคำชี้แจงของมาร์กอส จูเนียร์

ที่ผ่านมารัฐบาลมาร์กอส จูเนียร์ แสดงตัวเป็นมิตรกับจีนและอเมริกาพร้อมกัน ตามยุทธศาสตร์รักษาสมดุล การกระชับพันธมิตรความมั่นคงกับสหรัฐล่าสุดชี้ว่าใกล้ชิดอเมริกาด้านทางทหาร โดยเข้าใจว่ามีความขัดแย้งเรื่องน่านน้ำทับซ้อนกับจีน เพียงแต่รัฐบาลชุดนี้เลือกดึงอเมริกาเข้ามา ท่ามกลางประเด็นไต้หวันกำลังเข้มข้นและอาจเข้มข้นขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เมื่อถึงเวลานั้นฟิลิปปินส์จะมีบทบาทอย่างไรเป็นเรื่องน่าติดตาม

อาจมองภาพใหญ่ว่ารัฐบาลฟิลิปปินส์สลับใช้นโยบายอิงสหรัฐกับอิงจีน ปรับสมดุลตามบริบท ผลประโยชน์ในแต่ละช่วง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)

เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง

เลือกตั้งสหรัฐ2024เลือกสังคมนิยมหรือฟาสซิสต์

ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”

ทรัมป์คุกคามโลกเสรีประชาธิปไตย?

การที่ทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรต่อรัสเซีย จีน อาจไม่ปกป้องสมาชิกนาโต ชวนให้ตั้งคำถามว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามโลกเสรีประชาธิปไตยหรือไม่