หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
อย่างไรก็ตาม ผู้แทนราษฎรในที่ประชุมมีความเห็นแตกต่างกัน ฝ่ายแรกเห็นสมควรให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเป็นเอกฉันท์ขอเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาดำรงสิริราชสมบัติต่อไป แม้พระองค์จะไม่ทรงรับ แต่การที่สภาฯมีมติเช่นนั้น ถือว่าเป็นเกียรติยศแก่สภาฯเอง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจงรักภักดี อีกฝ่ายหนึ่งไม่เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ แต่สภาฯมีหน้าที่รับทราบและดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยเร็ว ส่วนอีกฝ่ายเห็นว่าสภาฯมีหน้าที่รับทราบและไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการในเรื่องพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่โดยทันที
ความเห็นของผู้แทนราษฎรอีกท่านหนึ่งที่สนับสนุนความเห็นแรกคือ นายเทียม ศรีพิสิฐ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครปฐม ได้แถลงต่อที่ประชุมสภาฯว่า
“ในการที่สมาชิกอภิปรายเมื่อกี้นี้ (สมาชิกที่ว่านี้คือ ยู่เกียง ทองลงยา – ดูคำอภิปรายในตอนที่ ๔๑) ข้าพเจ้ายังไม่รับรองแน่ทีเดียวว่าน่าจะถูกต้อง เพราะว่าการสละราชสมบัตินั้น ตามธรรมดาบุคคลเรา ถ้าเป็นส่วนตัวแล้ว ไม่มีปัญหาอะไรที่สภาฯจะพึงวินิจฉัย แต่สมบัตินั้นเป็นสมบัติของพระมหากษัตริย์ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของชาติเรา เพราะฉะนั้น สภาฯจำเป็นที่จะต้องเกี่ยวถึงในราชสมบัติ อันนี้ ข้าพเจ้าขอสนับสนุนในความเห็นท่านสมาชิกทั้งสอง คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร กับเจ้าคุณสมันฯ ทั้งสองท่านเห็นว่าเราควรจะหน่วงเหนี่ยวในโอกาสที่สภาผู้แทนราษฎรเราเป็นสภาฯที่ทำหน้าที่ให้แก่ชาติบ้านเมือง คือรัฐบาลอันเป็นที่เคารพของเราทั้งหลายได้พยายามทางหนึ่ง และสภาฯเราได้พยายามอีกทางหนึ่ง เห็นได้ว่าเรามีจิตต์ใจจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์จริงๆ พระมหากษัตริย์องค์ต่อๆไปที่จะได้มาเป็นพระมหากษัตริย์ หากว่าพระมหากษัตริย์องค์นี้สภาฯไว้อาลัย ก็ไม่อยู่แล้ว พระมหากษัตริย์องค์ต่อไปที่จะมาเป็นพระมหากษัตริย์ ท่านจะได้มีจิตต์มีใจแน่แน่แนบแน่นในราชการ ข้าพเจ้าเห็นว่าอย่างนี้ เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าขอสนับสนุนความเห็นของท่านสมาชิกทั้งสองที่ได้อภิปรายเมื่อกี้นี้”
จากนั้น นาย สร้อย ณ ลำปาง ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง ได้กล่าวว่า
“ข้าพเจ้าได้ฟังอภิปรายกันแล้ว ก็ด้วยความจงรักภักดีเหมือนกัน และข้าพเจ้า เมื่อได้อ่านพระราชหัตถเลขาแล้ว ข้าพเจ้าแทบน้ำตาไหลเหมือนกัน ด้วยความจริงใจ รู้สึกสลดใจในการที่พระมหากษัตริย์ที่รักที่เคารพยิ่งจะได้จากไปคราวนี้ ข้าพเจ้าเสียใจเป็นอันมาก แต่ขณะเดียวกัน อย่าลืมว่าชาตินั้นสำคัญ ท่านจะคิดถึงพระมหากษัตริย์แล้ว ต้องคิดถึงชาติด้วย ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ รัฐธรรมนูญ นี่ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ก่อนเรามี ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แล้วเพิ่มรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีก ต้องคู่กันไป จากกันไม่ได้ เมื่อจากแล้ว ต้องมีทันที เพราะฉะนั้น ในการที่พระมหากษัตริย์ของเราจากไปคราวนี้ ใครที่จะไม่เสียใจ ไม่น้อยใจ ไม่กังวล ข้าพเจ้าเองพูดด้วยความจริงใจ พูดด้วยมีหลัก และพูดด้วยเหตุผล และการที่สมาชิกจะขอให้หน่วงเหนี่ยวในการที่จะไปกราบบังคมทูลอีกครั้งหนึ่ง ที่จะขอให้มาดำรงราชสมบัติต่อไปอีกนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นชอบด้วย เพราะเหตุว่า ข้าพเจ้าเห็นว่า ในการที่ไปกราบบังคมทูลนั้น พร้อมแล้ว พร้อมทุกองค์ทีเดียว เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ นั่นเป็นใคร ข้าพเจ้าถามเท่านี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎรใช่ไหม ท่านปฏิเสธไม่ได้ ในฐานะที่เป็นผู้แทนราษฎรด้วย เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าเราไม่ได้ทำอะไรเลย เราไปกราบทูลทุกอย่าง เราคอยฟังด้วยความตื่นใจ ด้วยความหวังดีทุกๆอย่างที่จะให้ประเทศชาติเจริญ ที่จะให้พระมหากษัตริย์กลับประเทศ เราคอยฟังอยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าได้เคยตั้งกระทู้ถามรัฐบาลว่า พระอาการของพระองค์ที่ทรงประชวรเป็นอย่างไร ดีขึ้นเพียงไหน ปรากฏในข้อประชุมแล้ว ข้าพเจ้าไม่มีอะไรในเรื่องความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ แต่อย่าลืมว่า ชาติสำคัญกว่าบุคคล คนจะต้องอยู่กับชาติ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์จะต้องอยู่ด้วยกัน รัฐธรรมนูญจะต้องเป็นคู่ของประเทศของเราเสมอไป
แต่เมื่อพระมหากษัตริย์ได้ทรงสละแล้ว เวลานี้ พระมหากษัตริย์ไม่มี เราจะทำอย่างไรกับพระมหากษัตริย์ ในคืนวันนี้ เราจะต้องหาพระมหากษัตริย์ให้ได้สักองค์หนึ่งเป็นแน่ๆ ที่จะให้ไปกราบบังคมทูลอีกครั้งหนึ่งนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นชอบด้วย จะให้พระองค์กลับมาเป็นกษัตริย์อีกนั้น ไม่ได้แน่ๆ พระองค์ได้ทรงสละแล้ว และได้ทรงบอกมายังรัฐบาลว่า พระองค์ได้สละราชสมบัติ แต่ไม่ใช่หน้าที่ของสภาฯ ดังที่ท่านที่ปรึกษา (หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร/ผู้เขียน) ได้ทรงอธิบายว่า เราจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตนั้น เราไม่มีหน้าที่เลย หน้าที่ของเราเพียงรับรู้ไว้เท่านั้นเอง หน้าที่ของเรา เราจะต้องมีพระมหากษัตริย์ และได้รับความเห็นชอบของเราด้วย หน้าที่ของท่านมีอยู่เท่านี้เอง ในขณะนี้ เราทราบแล้วว่า พระมหากษัตริย์ของเราได้ทรงสละแล้ว ซึ่งราชสมบัติ ซึ่งสิทธิ สิทธิอันนี้ ตามกฎหมายธรรมดาก็บอกว่า ใครมีสิทธิก็ย่อมสละสิทธินั้นได้ ถึงแม้องค์พระมหากษัตริย์เวลานี้ ก็ย่อมสละได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านสมาชิกเป็นที่เข้าใจว่า เวลานี้ เราต้องการพระมหากษัตริย์สักพระองค์หนึ่ง ขอท่านจงมีความเห็นอย่างข้าพเจ้า คือว่าเวลานี้ไม่มีพระมหากษัตริย์แล้ว”
ต่อมา นายสนิท เจริญรัฐ ผู้แทนราษฎรจังหวัดนครราชสีมา อภิปรายว่า
“เวลานี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เรากำลังพิจารณาประเด็น ๒ ประเด็นพร้อมกัน จึงฟังไม่รู้เรื่องว่าไปข้างไหนกันแน่ ข้อแรก มีผู้สงสัยว่าสภาฯนี้กำลังพิจารณาคำแถลงของรัฐบาลเพื่อรับทราบเท่านั้น หรือว่าสภาฯนี้พิจารณาในรูปใด นี่อีกข้อหนึ่งเป็นข้อสำคัญ ต่อมามีผู้เสนอว่า สภาฯนี้ควรให้ลงมติว่าจะกราบทูลให้ไม่ทรงสละราชสมบัติต่อไปหรือไม่ เป็น ๒ เรื่องอยู่แล้ว แล้วพูดกันจนไม่รู้เรื่อง ข้าพเจ้าขอให้ท่านประธานฯว่า เราควรจะไปทางไหนทางเดียวก่อน มิฉะนั้นแล้ว จะไม่จบ จนดึกดื่น แล้วก็จะไม่ได้ผลอะไร”
(โปรดติดตาม รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม 2477 ในตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490