สหรัฐฯ-จีน: อิทธิพลของใคร เหนือใครด้านไหนในอาเซียน?

จีนกับสหรัฐฯ ใครเป็นที่ชื่นชอบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากกว่ากัน?

เป็นหัวข้อวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยที่น่าสนใจ เพราะทั้งสองยักษ์ใหญ่พยายามจะชิงความได้เปรียบในย่านนี้

ทั้งด้วย hard power และ soft power

อันหมายถึงทั้งการลงทุนทุ่มทรัพยากรทางการเงิน การลงทุน เศรษฐกิจและความมั่นคงกันอย่างเต็มที่

นั่นคือ “พลังกระด้าง” (คำแปลของบางสำนัก)

แต่ “พลังละมุน” (คำแปลขำๆ ของอีกสำนัก) ก็ใช่ย่อย เพราะอะไรที่ไม่ดูแข็งทื่อ ไม่นำเสนอแบบขายของกันตรง ๆ ก็อาจจะมีผลทางด้านจิตใจและความรู้สึกที่ดีต่อกันมากกว่า

อะไรที่ hard อาจจะเจอกับแรงต้านตรงๆ แต่ถ้า soft ไว้หน่อยก็อาจจะทำให้เกิดความคุ้นเคยและเป็นกันเอง มีประสิทธิภาพที่สูงกว่าด้วยซ้ำ

รายงานการศึกษาของสถาบัน Lowy Institute บอกว่าจุดแข็งของจีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ

ขณะที่สหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งในด้านเครือข่ายการป้องกันประเทศและอิทธิพลทางวัฒนธรรม

สถาบันที่ได้ชื่อว่าเป็น “คลังสมอง” หรือ Think Tank แห่งนี้คือใครหรือ

Lowy Institute เป็นคลังความคิดอิสระที่ก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2546 โดย Frank Lowy เพื่อดำเนินการวิจัยหัวข้อเกี่ยวกับประเด็นทางการเมือง กลยุทธ์ และเศรษฐกิจระหว่างประเทศจากมุมมองของออสเตรเลีย ตั้งอยู่ที่เมืองซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

นักวิเคราะห์บางสำนักบอกว่า สถาบันแห่งนี้มีแนวทางค่อนไปทาง "เสรีนิยมใหม่"

บางคนก็บอกว่าน่าจะเอียงไปทาง "ขวากลาง"

ก็แล้วแต่ใครจะตีความอย่างไร แต่ผมถือว่าเป็นหนึ่งในรายงานที่น่าสนใจ ส่วนเราจะเห็นด้วยหรือไม่ก็เป็นสิทธิที่จะวิพากษ์วิจารณ์ได้เช่นกัน

 รายงานฉบับนี้บอกว่า การสูญเสียอิทธิพลครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2018 คือในมาเลเซีย

แต่วอชิงตันมีอิทธิพลมากกว่าในฟิลิปปินส์และสิงคโปร์

ขณะที่อิทธิพลของจีนยังคงแข็งแกร่งที่สุดในกัมพูชา  ลาว และเมียนมา

ตามวิธีการประเมินของรายงานนี้ ห้าปีที่ผ่านมานั้นมีสัญญาณชัดเจนว่าจีนได้ขยายอิทธิพลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหนือสหรัฐอเมริกา

การที่สหรัฐฯ สูญเสียอิทธิพลให้จีนในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่องนั้น รายงานนี้แยกเป็นอิทธิพลหรือ power 4 ประการด้วยกัน

ได้แก่ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ

เครือข่ายการป้องกัน

อิทธิพลทางการทูต

และอิทธิพลทางวัฒนธรรม

ตั้งแต่ปี 2018 ซึ่งเป็นปีมาตรฐานในรายงาน “Asia Power Snapshot: China and the United States in Southeast Asia”

รายงานนี้ให้คะแนนในแต่ละหัวข้ออย่างนี้

ในปี 2018 จีนนำสหรัฐฯ 52-48 ในด้านอิทธิพลในภูมิภาค

ในปี 2022 โอกาสเช่นว่านี้เพิ่มขึ้นเป็น 54–46

รายงานบอกว่า การประเมินระดับอิทธิพลเช่นนี้มีความสำคัญ เนื่องจากรูปแบบอิทธิพลเป็นส่วนหนึ่งของบริบทกว้างๆ ที่ประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้ประกอบในการหาแนวทางยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์กับมหาอำนาจทั้งสอง

โดยรวมแล้ว จุดแข็งของจีนในฐานะมหาอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ที่ความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจ ขณะที่สหรัฐฯ ดีกว่าในด้านเครือข่ายการป้องกันประเทศและอิทธิพลทางวัฒนธรรม

ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของจีนนั้นล้ำหน้าไปมาก ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ อ่อนแอกว่าจีนในทุกประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานระบุไว้

การสูญเสียอิทธิพลครั้งใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 2018 อยู่ที่มาเลเซีย 7 คะแนน ตามมาด้วยบรูไนและอินโดนีเซียอย่างละ 5 คะแนน

อิทธิพลของปักกิ่งยังคงแข็งแกร่งที่สุดในกัมพูชา ลาว  และเมียนมา ซึ่งยังคงเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่เหนือสหรัฐฯ

วอชิงตันมีอิทธิพลมากกว่าในฟิลิปปินส์และสิงคโปร์ แม้ว่าจะมีคะแนนนำเพียงเล็กน้อยสำหรับทั้งสองประเทศที่ 52–48 และ 51–49 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกันแล้ว อิทธิพลของปักกิ่งในลาวอยู่ที่ 71-29 ต่อวอชิงตัน

“อิทธิพลของปักกิ่งแข็งแกร่งที่สุดในลาว กัมพูชา และเมียนมา ซึ่งความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และการตั้งหลักแย่งชิงอิทธิพลด้านนี้ของสหรัฐฯ ค่อนข้างอ่อนแอ ทำให้จีนสามารถแซงหน้าอิทธิพลของวอชิงตันไปได้มาก” รายงานระบุ

พร้อมเสริมว่า อิทธิพลทางเศรษฐกิจของจีนในสามประเทศนี้เป็นตัวกำหนดอิทธิพลโดยรวม

ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างลาวกับกัมพูชาและปักกิ่ง และโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ในประเทศเหล่านี้ได้เพิ่มอิทธิพลของจีน แม้ว่าโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่ช้าลงได้ลดทอนอิทธิพลบางส่วนลง

จีนได้รับแรงฉุดในมาเลเซียเนื่องจากความสัมพันธ์ทางการทูตและการกลาโหมที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

อินโดนีเซียก็มีสถานภาพไม่ต่างกันนักในกรณีนี้

ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มีการเจรจาด้านกลาโหมระหว่างจีนกับมาเลเซียมากขึ้น

เช่นเดียวกับการซื้ออาวุธ ซึ่งรวมถึงการสั่งซื้อเรือรบของจีนโดยกัวลาลัมเปอร์

แม้ว่าสหรัฐฯ จะอยู่ใกล้กับฟิลิปปินส์ แต่อิทธิพลของสหรัฐฯ ก็ลดลงตั้งแต่ปี 2018 โดยมีสาเหตุหลักมาจากธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง เช่น การค้าและการลงทุน

เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์อนุญาตให้สหรัฐฯ ขยายฐานทัพ โดยให้ทหารอเมริกันเข้าถึงฐานทัพใหม่สี่แห่ง ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีนที่เพิ่มขึ้นในทะเลจีนใต้

แต่ในด้านการค้า ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์แผ่วลง

เช่น สหรัฐฯ มีความสำคัญน้อยลงในฐานะจุดหมายปลายทางสำหรับการส่งออกของฟิลิปปินส์

“และตอนนี้จีนลงทุนในฟิลิปปินส์มากกว่าสหรัฐฯ มาก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ตรงกันข้ามกับปี 2018 ที่สหรัฐฯ เป็นนักลงทุนรายใหญ่กว่าจีนมาก” รายงานระบุ

“หากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงลดลงในอัตราเดิมในอีก 5 ปีข้างหน้า อิทธิพลโดยรวมของปักกิ่งจะล้ำหน้าวอชิงตันค่อนข้างแน่นอน”

งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ว่า จุดแข็งของสหรัฐฯ ในการแย่งชิงอิทธิพลในย่านนี้คือ การเสริมความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ ด้านการป้องกันประเทศและการเข้าถึงทางวัฒนธรรม

อิทธิพลทางวัฒนธรรมของวอชิงตันอยู่ที่การเข้าถึงของสื่อ ตัวอย่างเช่น สำนักข่าว หนังสือพิมพ์ และผู้แพร่ภาพกระจายเสียงของอเมริกาที่ยังคงมีบทบาทแข็งแกร่งในภูมิภาคนี้ รายงานระบุ

รายงานเสริมด้วยว่า อิทธิพลด้านสื่อของจีนยังคงต่ำกว่าสหรัฐฯ มาก แต่ก็เริ่มมีการแลกเปลี่ยนระดับบุคคลกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผ่านสายสัมพันธ์ของจีนโพ้นทะเลและกิจกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลที่น่าสนใจ แม้ว่าในรายละเอียดหลายประเด็นเราอาจจะเห็นต่างจากผลการสำรวจของคลังความคิดนี้ก็ตาม

และหากเราแยกแยะและวิเคราะห์ได้ถูกต้องแม่นยำ ก็อาจสามารถนำมาปรับใช้เป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติในการคบหากับมหาอำนาจให้ได้ประโยชน์สูงสุดสำหรับประเทศได้เช่นกัน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ