อินโดนีเซียจะเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ระหว่างวันที่ 9-11 พฤษภาคมนี้...โดยที่เชื่อได้ว่าหัวข้อสำคัญคือ “วิกฤตเมียนมา” ซึ่งยังเป็นประเด็นร้อนที่หาทางออกไม่ได้
รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดฯ Retno Marsudi บอกว่าอินโดฯ พยายามจะใช้ “การทูตเงียบ” หรือ quiet diplomacy เพื่อเกลี้ยกล่อมให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทในเมียนมาหันหน้ามาเจรจากัน
เป็นความหวังที่ยังห่างไกลจากความเป็นจริงมากนัก
เพราะผู้นำทหารเมียนมาไม่มีทีท่าว่าจะพร้อมทำตาม “ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน” เลยแม้แต่น้อย
การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งนี้เป็นครั้งที่ 42 จะจัดที่เมือง Labuan Bajo, East Nusa Tenggara
แต่นายกฯ ไทย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา คงจะไม่ได้ไปร่วมเพราะกำลังหาเสียงโค้งสุดท้าย
ผู้นำอาเซียนอื่นๆ ก็คงจะซุบซิบกันว่าใครจะมาเป็นนายกฯ ไทยคนต่อไปเพื่อการประสานงานกับอาเซียนให้ราบรื่นต่อไป
ก่อนหน้าการประชุมสุดยอด มีความพยายามที่จะคุยกันอย่างไม่เป็นทางการเพื่อ “ผ่าทางตัน” เมียนมา
การเจรจา “นอกรอบ” หรือ “เจรจาทางเลือก” ที่อินเดียเป็นเจ้าภาพร่วมกับเมียนมา ได้จัดทำข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการเพื่อลดความรุนแรงใน "ทุกฝ่าย"
รวมถึงมาตรการระงับอาชญากรรมข้ามชาติ และเร่งรัดความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
พออินเดียเสนอตัวมาเป็น “คนกลาง” อีกด้านหนึ่งก็ย่อมจะสร้างแรงกดดันให้อาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ทางการทูตของตน
อินเดียเป็นเจ้าภาพจัด "การประชุมติดตามผล 1.5" ว่าด้วยการแก้ไขวิกฤเมียนมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่กรุงนิวเดลี
เป็นการติดตามการประชุมที่มีรูปแบบคล้ายกับในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
ผู้เข้าร่วมปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายอินเดียแล้ว ก็ยังมีนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญของ “Think Tank” หลายสำนัก
และมีตัวแทนระดับกลางของระบอบทหารของเมียนมากับตัวแทนจาก 4 ประเทศในอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนาม
โดยมีตัวแทนจากอินโดนีเซียในฐานะเป็นประธานหมุนเวียนขององค์กร
ที่น่าสนใจสำหรับการสนทนารอบนี้ มีตัวแทนจากจีนและบังกลาเทศเข้าร่วมด้วย
ญี่ปุ่นซึ่งเข้าร่วมการประชุมครั้งก่อนในประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมในครั้งนี้เพราะ "แจ้งให้ทราบล่วงหน้ากะทันหันเกินไป"
ในการประชุมที่เดลี อินเดียตกลงกับเมียนมาในการส่งคณะผู้แทนไปยังกรุงเนปยีดอ เพื่อช่วยผลักดันให้มีการ "เริ่มต้นการเจรจาใหม่เต็มรูปแบบ" ระหว่างรัฐบาลทหารและรัฐบาลระดับภูมิภาค
ที่สำคัญ ประเทศที่เข้าร่วมเห็นพ้องต้องกันว่า กระบวนการตามรอย 1.5 นี้ควร "เสริมต่อ" ความพยายามของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤต
ผู้เข้าร่วมยังเห็นพ้องต้องกันว่า การเจรจาในอนาคตควร "นำเสนอมุมมองของประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายของเมียนมาด้วย"
มีการอ้างถึง “ความคับข้องใจ” ของอินเดียและบังกลาเทศเกี่ยวกับกระบวนการของอาเซียนที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า
และความรู้สึกอย่างที่เจ้าหน้าที่อินเดียคนหนึ่งกล่วถึงประเด็นที่ว่า "อาเซียนไม่คำนึงถึงความกังวลของเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของเมียนมา" เท่าที่ควร
ในขณะที่กระบวนการ Track 1.5 ยังคง "ไม่เป็นทางการ" การตัดสินใจดูเหมือนจะเป็นส่วนสำคัญของการเจรจาระดับภูมิภาคที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา
บางคนที่ไปร่วมวงถกแถลงมา บอกว่าทุกฝ่ายจงใจให้อยู่ในการเสวนาเป็นเรื่องนอกรอบปกติ
ต้องการให้รับรู้ในระดับต่ำและระดับกลางเพื่อหลีกเลี่ยงความล้มเหลว
และไม่ต้องการให้มีผลกระทบหากความคิดริเริ่มแบบนี้ไปไม่ถึงไหน
แต่ผู้เข้าร่วมทั้งหมดก็ตกลงกันว่าแต่ละคนจะส่งสารไปยังรัฐบาลของตนเอง และสรุปรายละเอียดก่อนการเจรจาอย่างไม่เป็นทางการครั้งต่อไปซึ่งว่ากันว่าจะจัดที่ สปป.ลาว
ในฐานะประธานอาเซียนคนต่อไปในปี 2567 ลาวเริ่มมีส่วนร่วมทางการทูตกับเมียนมามากขึ้น แม้ว่าจะถูกบางคนมองว่ามีความผูกพันกับจีนที่คบหากันอย่างใกล้ชิด
แต่แน่นอนว่ารัฐบาลทหารเมียนมาก็ใกล้ชิดกับทั้งจีนและรัสเซียมากกว่าสหรัฐฯ และโลกตะวันตกอยู่แล้ว
การ “คุยกันนอกรอบ” ที่กรุงเดลีครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพยายามหาทางออกจากวิกฤตที่ยืดเยื้อมากว่าสองปีแล้ว
นั่นย่อมรวมทั้งการเยือนกรุงเนปยีดอก่อนหน้านี้ของอดีตเลขาธิการสหประชาชาติ บัน กีมูน
วงการทูตบอกว่าแค่ไม่กี่วันก่อนที่บัน กีมูน จะไปเมียนมา คุณดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย และที่ปรึกษาคือ คุณพรพิมล "พอลลีน" กาญจนลักษณ์ ได้เดินทางไปเยือนหนึ่งวันเพื่อพบกับมิน อ่อง หล่าย เช่นกัน
น่าสนใจว่า ทั้งหมดนี้จะมีข้อมูลอะไรใหม่ที่นำมารายงานต่อ
สำหรับประเทศไทยแล้ว ช่วงนี้น่าจะมีความไม่สะดวกที่ผู้นำไทยจะมีปฏิสัมพันธ์กับผู้นำอาเซียนอื่นๆ เพราะการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระดับนำของประเทศ
ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีต่างประเทศ
ดังนั้น ท่าทีและบทบาทของไทยต่อกรณีเมียนมาจะเป็นอย่างไรหลังการตั้งรัฐบาลใหม่ จึงเป็นประเด็นที่อาเซียนและประชาคมในภูมิภาคนี้ต้องคอยเฝ้ามองเช่นกัน
เพราะในท้ายที่สุดก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกับเมียนมายาวที่สุด และมีความเชื่อมโยงกับเพื่อนบ้านด้านตะวันตกนี้ในทุกมิติ ย่อมจะมีบทบาทที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดสันติภาพ
ที่ผ่านมาวงการทูตเห็นว่า ไทยมีส่วนไม่น้อยในการผลักดันให้มีกระบวนการ Track 1.5 เพื่อหาทางออก “ที่ไม่เป็นทางการ” สำหรับวิกฤตครั้งนี้
แต่ก็ทำให้สมาชิกอาเซียนบางส่วนมีความรู้สึกหงุดหงิดกับท่าทีของไทย ที่ดูเหมือนจะโอนอ่อนผ่อนตามผู้นำทหารมากเกินกว่าที่จะทำให้มิน อ่อง หล่าย ตระหนักในความไม่รับผิดชอบของตนต่อฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน
นักการทูตที่รู้เรื่องดีคนหนึ่งบอกว่า ในบางช่วงรัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ถึงกับกระซิบกับฝ่ายไทยอย่างตรงไปตรงมาว่า ไทยควรปฏิบัติตามข้อตกลงของอาเซียนที่จะกีดกันรัฐบาลเมียนมาจากการจัดกิจกรรมต่างๆ
เหตุเพราะสิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์ มองว่าไทยยังเชื้อเชิญรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารมาพบปะกับชาติอาเซียนอื่นๆ “อย่างไม่เป็นทางการ”
และคุณดอนเองก็ยังไปหามิน อ่อง หล่าย อย่างเปิดเผยเสมือนทุกอย่างไม่มีอะไรผิดปกติ
ทั้งๆ ที่อย่างน้อยสมาชิกอาเซียน 3-4 ประเทศเห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นปกติสำหรับวิกฤตเมียนมา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ