พรุ่งนี้วันที่ 9 พฤษภาคม เป็น “วันแห่งชัยชนะ” หรือ Victory Day ของรัสเซีย
สำหรับประธานาธิบดีปูตินแล้ว วันแห่งชัยชนะปีนี้มีความหมายมากกว่าปีก่อนๆ เพราะเป็นวันที่มอสโกต้องการจะประกาศ “ชัยชนะ” ใน “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในยูเครน
เพราะพรุ่งนี้คือวันที่ 440 ของสงครามในยูเครน
แต่ปูตินยังไม่อาจ “ปิดเกม” และประกาศชัยชนะได้อย่างสมบูรณ์
อีกทั้งยังดูเหมือนจะมีอุปสรรคขัดขวางอยู่หลายประการ
ไม่นับการที่มีโดรนจากฝั่งยูเครนเข้าไปก่อกวนและพยายามก่อวินาศกรรมในหลายๆ จุดของดินแดนรัสเซีย รวมถึงคาบสมุทรไครเมีย
ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความเสียหายทั้งชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และขวัญกำลังใจของทหารหาญรัสเซียได้
ความจริง “วันแห่งชัยชนะ” เป็นวันสำคัญสำหรับรัสเซีย ที่รำลึกถึงชัยชนะของสหภาพโซเวียตที่มีต่อนาซีเยอรมนีในปี 1945 พร้อมกับปิดฉากสงครามโลกครั้งที่สอง
เป็นชัยชนะที่เสริมสร้างเกียรติภูมิความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของสหภาพโซเวียตจนถึงสหพันธรัฐรัสเซียถึงวันนี้
“วันแห่งชัยชนะ” มีพิธีเปิดครั้งแรกใน 16 สาธารณรัฐของสหภาพโซเวียต หลังการลงนามใน German Instrument of Surrender ในช่วงค่ำของวันที่ 8 พฤษภาคม 1945 (ซึ่งตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม ตามเวลามอสโก)
รัฐบาลสหภาพโซเวียตประกาศชัยชนะในช่วงต้นของวันที่ 9 พฤษภาคม หลังจากพิธีลงนามในกรุงเบอร์ลิน
สำหรับเยอรมนีตะวันออก วันที่ 8 พฤษภาคมถือเป็นวันปลดปล่อย หรือ Liberation Day ตั้งแต่ปี 1950 ถึง 1966 และมีการเฉลิมฉลองอีกครั้งในวันครบรอบ 40 ปี ในปี 1985 ในปี 1967
"วันแห่งชัยชนะ" แบบโซเวียตได้รับการเฉลิมฉลองในวันที่ 8 พฤษภาคม ตั้งแต่ปี 2002
ส่วนรัฐเมคเลนบูร์ก-ฟอร์พอมเมิร์นของเยอรมนี ได้ถือเอาวันเฉลิมฉลองที่เรียกว่า “วันแห่งการปลดปล่อยจากสังคมนิยมแห่งชาติ” และการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง
สหพันธรัฐรัสเซียรับรองวันที่ 9 พฤษภาคมอย่างเป็นทางการตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1991 และถือว่าเป็นวันหยุดทางการ
ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ในยุโรปถือเอาวันแห่งชัยชนะของยุโรป (มักย่อมาจาก VE Day หรือ Victory in Europe Day) ในวันที่ 8 พฤษภาคม และ “วันแห่งยุโรป” ในวันที่ 9 พฤษภาคม เป็นวันรำลึกถึงชาติหรือวันแห่งชัยชนะ
มาถึงปีนี้ การเฉลิมฉลองชัยชนะในรัสเซียดูเหมือนจะถูกลดความเกรียงไกรยิ่งใหญ่ลง เพราะสงครามและความสับสนอันเกิดจากความขัดแย้งกับยูเครนและตะวันตก
ประมาณ 21 จังหวัดของรัสเซียได้ประกาศลดกิจกรรมเฉลิมฉลองลงในปีนี้เพราะสถานการณ์ที่ไม่ปกติ
ส่วนการเดินขบวนสวนสนาม ณ จัตุรัสแดงกลางกรุงมอสโกก็ยังจะดำเนินต่อไป
คาดว่าประธานาธิบดีปูตินจะปราศรัยด้วยการอ้างถึง “ชัยชนะ” ในการปกป้องดินแดนของรัสเซียด้วยการระงับยับยั้ง “ภัยคุกคาม” จากตะวันตกโดยเฉพาะ NATO ผ่านยูเครน
แต่ปูตินจะใช้จังหวะนี้ประกาศทิศทางใหม่ของสงครามในยูเครนหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องจับตากันอย่างใกล้ชิดต่อไป
เพราะทุกย่างก้าวของปูตินในภาวะปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่มีความหมายที่จะกำหนดแนวทางของสงครามในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าทั้งสิ้น
มีการประเมินกันในหมู่นักวิเคราะห์หลายสำนัก ว่ามีความเป็นไปได้ที่ผู้นำรัสเซียอาจต้องกัดฟัน “ลดเป้าหมายระยะสั้น” ในการทำสงครามในยูเครน
จากที่เคยวางเอาไว้ตอนเปิดศึกกับยูเครน ว่าจะต้องยึดให้เบ็ดเสร็จตั้งแต่สามเดือนแรกของปฏิบัติการ
แต่วันนี้สงครามย่างเข้าสู่เดือนที่ 14 แล้ว การสู้รบยังชะงักงันอยู่ในหลายจุด
อีกทั้งตะวันตกก็ยังส่งอาวุธยุทโธปกรณ์มาให้ยูเครนอย่างต่อเนื่อง
ปูตินจะยอม “เผชิญกับความเป็นจริง” ในสนามรบมากน้อยแค่ไหน จึงเป็นประเด็นที่มีการเฝ้ามองกันอย่างใกล้ชิด
มองจากมุมรัสเซีย ทุกอย่างยัง “เป็นไปตามแผนการเดิม” ไม่ว่าคนอื่นจะมองว่าสถานการณ์สู้รบในภาคสนามนั้น ฝ่ายรัสเซียอาจจะกำลังเพลี่ยงพล้ำในหลายจุด
แต่ปูตินยังแสดงความมั่นอกมั่นใจอย่างเต็มที่
คำประกาศของหัวหน้าทหารรับจ้าง Wagner Group ที่ด่าว่ารัฐมนตรีกลาโหม และผู้บัญชาการทหารรัสเซียอย่างไม่เกรงอกเกรงใจนั้น ย่อมทำให้เห็นภาพของความขัดแย้งในระดับสูงของการสู้รบ
อีกทั้งการที่กระทรวงกลาโหมรัสเซียออกข่าวว่า ยูเครนส่งโดรนสองลำมาเพื่อหวังลอบสังหารปูตินเหนือตึกที่ทำการเครมลินนั้น ย่อมสะท้อนถึงความเปราะบางของระบบป้องกันภัยสูงสุด
ปูตินคงจะกำลังปรับองค์กรและจัดระบบการบังคับบัญชาการทำสงครามอย่างเร่งร้อน
เพราะภาพที่ออกมาย่อมไม่สะท้อนถึงความเด็ดขาดของระดับนำของมอสโกแน่นอน
ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองแห่งชาติสหรัฐฯ เอวริล เฮนส์ บอกว่าปูตินอาจจะกำลัง “ลดความทะเยอทะยาน” ในการตั้งเป้าหมายของสงครามลง
และยอมลดเป้าหมายด้วยการทำให้แน่ใจว่า จะสามารถกระชับอำนาจการควบคุมดินแดนของยูเครนที่รัสเซียยึดไว้ทางตะวันออกเเละทางใต้ของประเทศ
เป้าหมายหลักของปูติน น่าจะเป็นการทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้ยูเครนได้เข้าเป็นสมาชิก NATO ในวันข้างหน้า
แม้ว่าเซเลนสกีของยูเครนเองจะพูดหลายครั้งว่า แม้กรุงเคียฟจะยังไม่ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของ NATO แต่ในทางพฤตินัยแล้วยูเครนก็ถือว่าเป็นสมาชิกขององค์กรทางทหารของยุโรปอย่างไม่เป็นทางการแล้ว
"กองกำลังของรัสเซียได้พื้นที่ในเดือนเมษายนน้อยกว่าช่วงใดๆ ในเวลาสามเดือนก่อนหน้านี้" ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯ รายงานต่อสมาชิกคณะกรรมาธิการด้านการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อสัปดาห์ก่อน
ฝ่ายสหรัฐฯ อ้างว่า ข่าวกรองหลายกระแสยืนยันตรงกันว่า ทหารรัสเซียกำลังเจอปัญหาอาวุธไม่เพียงพอ
อีกทั้งยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านบุคลากรของกองทัพที่มีผลบั่นทอนประสิทธิภาพการสู้รบในภาคสนามอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ฝ่ายข่าวกรองของสหรัฐฯ ก็ยังเชื่อว่า แม้ปูตินจะตกอยู่ในสถานะที่ลำบากมากขึ้น แต่ก็ยังไม่น่าจะอยู่ในภาวะตีบตันถึงจุดที่ต้องตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์
คำประกาศของผู้นำของหน่วยทหารรับจ้าง Wagner Group ที่ชื่อ Yevgeny Prighozin ที่ว่าจะถอนกองกำลังของตนออกจากแนวรบบาคห์มุตในวันที่ 10 พฤษภาคม เพราะไม่พอใจที่กองทัพรัสเซียไม่ส่งกระสุนมาเติมให้นั้นย่อมมีผลทางลบต่อภาพลักษณ์และการเดินหน้าทำสงครามของรัสเซียในยูเครน
แรงกดดันอีกด้านหนึ่งที่ส่งผลต่อปูตินคือ การที่เซเลนสกีพยายามจะผลักดันให้ปูตินต้องขึ้นศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก หรือ ICC (International Criminal Court)
แม้ว่าจะมีหมายจับปูตินจากศาลนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะส่งตัวผู้นำรัสเซียไปกรุงเฮกได้
จึงน่าสนใจว่าใน “วันแห่งชัยชนะ” พรุ่งนี้ ปูตินจะประกาศ “ชัยชนะ” อะไรให้ชาวรัสเซียและชาวโลกได้รับทราบจริงๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว