Defence Strategic Review 2023 ของออสเตรเลีย

Defence Strategic Review เป็นผลงานของคณะทำงานอิสระที่รัฐบาลออสเตรเลียจัดตั้งขึ้น ฉบับล่าสุด 2023 ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ มีสาระสำคัญดังนี้

     ออสเตรเลียให้ความสำคัญกับพื้นที่รอบประเทศกับภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก เผชิญการแข่งขันระหว่างประเทศหลายด้าน ประเด็นหลักมีต้นเหตุจากค่านิยมและการตีความที่แตกต่าง หลายทศวรรษที่ผ่านมาประเทศในภูมิภาคสะสมอาวุธมากมายควบคู่กับความตึงเครียดที่สูงขึ้น โลกาภิวัตน์ช่วยให้เศรษฐกิจโตมั่งคั่งและเชื่อมต่อกับอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น ออสเตรเลียจึงต้องรักษาการเชื่อมต่อดังกล่าวและระบบโลกที่ตั้งอยู่บนกติกา 

ภาพ: Defence Strategic Review 2023 ของออสเตรเลีย
เครดิตภาพ: https://www.defence.gov.au/about/reviews-inquiries/defence-strategic-review

การนี้ประเทศต้องรวมพลังทุกด้าน รวมทั้งด้านการทหาร ให้ได้ประโยชน์จากความขัดแย้งที่เหนือความเสี่ยง รักษาสมดุลอำนาจ ลดผลประโยชน์ต่างชาติ

แนวยุทธศาสตร์แห่งชาติ:

ให้ความสำคัญกับความมั่นคงของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก รักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่เชื่อมต่อกับนานาชาติและระบบโลกที่ตั้งอยู่บนกติกา กองทัพ (ADF) ต้องมีขีดความสามารถเกินกว่าการป้องกันชายฝั่ง สามารถปกป้องประเทศและภูมิภาค ต้านการวางกำลังที่เป็นปรปักษ์ต่อออสเตรเลีย สนับสนุนหุ้นส่วนรักษาความมั่นคงร่วมกัน และรักษาระบบโลกที่ตั้งอยู่บนกติกา ดังนั้นจะร่วมมือกับพันธมิตรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสหรัฐผู้นำรักษาสมดุลและความมั่นคงแถบนี้ จะพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก อาเซียน

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์อันมั่นคง (stable relationship) ระหว่างออสเตรเลียกับจีนเป็นประโยชน์ต่อทั้งคู่ จะร่วมมือกับจีนต่อไป แก้ไขความเห็นต่างอย่างชาญฉลาด

สถานการณ์โลกจากมุมออสเตรเลีย:

ตอนนี้ประเทศกำลังเผชิญความเสี่ยงสงครามเย็นใหม่ สงครามโลกครั้งที่ 3 สงครามนิวเคลียร์ล้างโลก เหล่านี้เป็นเรื่องจริง ดีที่ออสเตรเลียไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตศูนย์กลางความขัดแย้งนั้น และยังไม่มีชาติใดทัดเทียมอเมริกา ผู้นำระเบียบโลกในขณะนี้

สงครามเย็นครั้งก่อนออสเตรเลียไม่ถูกคุกคามทางทหารโดยตรง จากนั้นก็ไม่มีเหตุคุกคามรุนแรงใดๆ ปลอดภัยในระเบียบโลกขั้วเดียวที่สหรัฐเป็นแกนนำ (United States-led unipolar order)

สถานการณ์ปัจจุบันต่างไปมาก ประเด็นหลักคือ การแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐกระทบผลประโยชน์ออสเตรเลียและอาจขัดแย้งแรงยิ่งขึ้น เป็นภัยคุกคามและความขัดแย้งรูปแบบใหม่

ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคปรับปรุงกองทัพต่อเนื่อง กองทัพจีนตอนนี้ใหญ่ที่สุดนับจากสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา พร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นประโยชน์ต่อหลายประเทศ รวมทั้งออสเตรเลีย แต่การสร้างกองทัพจีนขาดความโปร่งใส ปกปิดเจตนาเชิงกลยุทธ์ การที่จีนย้ำอธิปไตยเหนือทะเลจีนใต้คุกคามระเบียบภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่ตั้งอยู่บนกติกา ขัดผลประโยชน์ออสเตรเลีย นอกจากนี้เป็นคู่แข่งกับเพื่อนบ้านออสเตรเลียด้วย

2013 Defence White Paper ระบุว่าต้องให้ความสำคัญกับอินโด-แปซิฟิก เป็นภูมิภาคสำคัญที่สุดของโลก มีประชากรมากสุด เป็นเขตเศรษฐกิจที่จะโตมาก โตเร็วหลายสิบปี จีนคือหนึ่งในประเทศดังกล่าว จะแข่งขันรุนแรงในแถบนี้ โดยเฉพาะการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ ประเด็นการก่อตัวของโลกหลายขั้ว โครงสร้างความมั่นคงภูมิภาคยังไม่ลงตัว ด้วยเหตุผลทั้งหมดออสเตรเลียจึงเริ่มกำหนดยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศในกรอบนี้

ถึงเวลาทบทวนการป้องกันประเทศใหม่หมด นโยบายทางทหาร ยกเครื่องโครงสร้างกองทัพ เข้าประจำการอาวุธใหม่ๆ รวมทั้งเรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ ให้มีขีดความสามารถมากพออย่างเร่งด่วน ใช้กระบวนการบริหารแบบเดิมไม่ได้ ยึดแนวทางรวมพลังทั้งรัฐบาลและทั้งประเทศ ออสเตรเลียอยู่ระหว่างการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ เสี่ยงที่จะเผชิญหน้าเข้มข้นถึงขั้นทำสงคราม

สถานการณ์ตอนนี้มีความเสี่ยงเกิดสงครามครั้งใหญ่ ปรปักษ์ตั้งท่าว่าจะเปิดสงคราม ในอดีตออสเตรเลียตั้งอยู่ในตำแหน่งห่างจากแนวสนามรบ แต่ไม่อาจใช้แนวทางนั้นอีกแล้ว อาวุธสมัยใหม่สามารถโจมตีจุดที่ห่างไกลออกไปมาก ทั้งจากทางเรือ ทางบก ทางอากาศ อวกาศและไซเบอร์ ต่างชาติสามารถโจมตีโดยไม่ต้องส่งกองทัพมาจ่อหน้าบ้าน อาจใช้วิธีขัดขวางเส้นทางการค้า การขนส่งสินค้าต่างๆ

กองทัพต้องพร้อมรบมากขึ้น ต้องเพิ่มงบกลาโหมและไม่บริหารจัดการด้วยวิธีเดิมๆ

เขตที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของทะเลอินเดีย ไล่มาถึงเส้นทางทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทอดยาวไปถึงมหาสมุทรแปซิฟิก

ยุทธศาสตร์สำคัญคือ ต้องรักษาสมดุลให้ก่อประโยชน์ต่อประเทศ

แนวยุทธศาสตร์แห่งชาติล่าสุดออสเตรเลียจะร่วมมือกับสหรัฐ ญี่ปุ่น และ AUKUS มากขึ้น ใช้ยุทธศาสตร์ป้องปราม รักษาสมดุลให้ก่อประโยชน์ต่อประเทศ

หุ้นส่วนออสเตรเลีย:

แต่ไหนแต่ไรยุทธศาสตร์ประเทศจะเป็นพันธมิตรกับมหาอำนาจ สหรัฐคือพันธมิตรเก่าแก่และทวีความสำคัญจึงร่วมมือใกล้ชิดกว่าเดิม ทั้งเรื่องที่สหรัฐกับญี่ปุ่นกระชับความเป็นพันธมิตร ความสัมพันธ์พิเศษกับญี่ปุ่น (Australia-Japan Special Strategic Partnership) และข้อตกลงความสัมพันธ์ไตรภาคีออสเตรเลีย-สหรัฐ-ญี่ปุ่น (Australia-United States-Japan trilateral relationship) เป็นตัวอย่างการกระชับมิตรประเทศ

ANZUS Treaty เป็นสนธิสัญญาความมั่นคงที่ออสเตรเลียทำกับสหรัฐตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ยังคงอยู่และมีชีวิตชีวากว่าเดิม ในขณะเดียวกันประเทศจะพึ่งพาตัวเองมากขึ้น สนับสนุนความมั่นคงภูมิภาคมากขึ้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจะกระตือรือร้นใช้ทุกอย่างที่มีช่วยเหลือร่วมมือพันธมิตร

ออสเตรเลียจะวางแผนทางทหารร่วมกับสหรัฐ หน่วยรบอเมริกันจะวนเวียนมาประเทศถี่ขึ้น รวมทั้งเรือดำน้ำ ร่วมยุทธศาสตร์ป้องปราม ซ้อมรบและลาดตระเวนร่วม ทั้งนี้กระทำโดยให้ความสำคัญกับการรักษาอธิปไตยทางทหาร

ร่วมมือกับประเทศต่างๆ โดยยึดผลประโยชน์ทางทหารของออสเตรเลียเป็นหลัก โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมมือกับนิวซีแลนด์เพื่อความมั่นคงแปซิฟิก ร่วมมือกับประเทศในมหาสมุทรอินเดีย เข้าร่วมประชุมกับกลุ่มประเทศหรือโครงข่ายนานาชาติ เช่น ร่วมมือกับอียู นาโต ในประเด็นที่สัมพันธ์กับภูมิภาค ร่วมมือกับอังกฤษภายใต้กรอบ AUKUS (พันธมิตรทางทหารอินโด-แปซิฟิก, สหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย)

เหล่านี้นำสู่การเข้าพัวพันต่อเนื่องอีกนาน การพัฒนาสะสมอาวุธส่งผลเปลี่ยนแปลงภูมิภาค จะมีกองกำลังต่างชาติมาประจำการหมุนเวียนสม่ำเสมอ ใช้งบประมาณเพื่อการฝึกฝน การตั้งค่ายทหาร สิ่งปลูกสร้างโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุน ความร่วมมือพหุภาคีจะนำสู่ความร่วมมือทวิภาคีและความร่วมมือด้านต่างๆ แม้กระทั่งด้านวัฒนธรรม ผู้คนไปมาหาสู่

การป้องปรามเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ใช้ ฝ่ายตรงข้ามต้องคิดหนัก ต้องสูญเสียหนักหากรบด้วย จึงต้องสร้างกำลังรบ สภาพแวดล้อมที่ฝ่ายตรงข้ามไม่อยากทำสงคราม ทั้งนี้จำต้องร่วมมือกับสหรัฐและมิตรประเทศสำคัญ

ยุทธศาสตร์เน้นสร้างความสมดุล:

กลางปี 2022 Penny Wong รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศออสเตรเลีย กล่าวว่า การอิงสหรัฐฝ่ายเดียวไม่น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ควรใช้ยุทธศาสตร์เน้นสร้างความสมดุล ไม่เลือกข้าง ความมั่นคงเอเชีย-แปซิฟิกตอนนี้เป็นแบบหลายขั้วแล้ว และไม่ใช่แบบที่จะยึดติดกับขั้วใดขั้วหนึ่ง จึงไม่ควรฝากอนาคตไว้กับขั้วใดขั้วหนึ่ง จีนก้าวขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่อยู่ใต้ชาติตะวันตกฝ่ายเดียวดังอดีตอีกแล้ว ควรมองความมั่นคงในกรอบกว้างรอบด้าน เน้นความร่วมมือพหุภาคีที่ปราศจากมหาอำนาจ อาเซียนเป็นตัวอย่างที่ดี สามารถเพิ่มอำนาจต่อรอง เป็นผลให้ชาติมหาอำนาจต่างหากที่ต้องเข้าหาอาเซียน

การนี้ต้องใช้ความกล้าหาญ เพราะบางมหาอำนาจพยายามให้เลือกข้าง ต้องการสร้างขั้วชัดเจน ให้เกิดมิตรกับศัตรู ที่ผ่านมาออสเตรเลียอิงสหรัฐค่อนข้างมาก ยึดทัศนคติที่มองว่าเป็นชาติตะวันตก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เส้นทางสายไหมตะวันออกแห่งศตวรรษที่21

BRI จะเป็นแค่การพัฒนาร่วมหรือเป็นยุทธศาสตร์ครองโลกของจีนเป็นที่ถกแถลงเรื่อยมา ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรนานาชาติเฝ้าติดตาม จริงหรือเท็จกาลเวลาจะให้คำตอบ

ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)

เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง

เลือกตั้งสหรัฐ2024เลือกสังคมนิยมหรือฟาสซิสต์

ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”

ทรัมป์คุกคามโลกเสรีประชาธิปไตย?

การที่ทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรต่อรัสเซีย จีน อาจไม่ปกป้องสมาชิกนาโต ชวนให้ตั้งคำถามว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามโลกเสรีประชาธิปไตยหรือไม่