หลังจากที่รัฐบาลได้รับพระราชทาน “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ” รัฐบาลได้ออก “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ให้ประชาชนได้รับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้เสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร
ก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงสละราชสมบัติ พระองค์ได้เสด็จยังต่างประเทศ และได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2477 และเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2478 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ทรงยืนยันว่าพระองค์ได้ทรงพ้นตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไปพร้อมกับการสละราชสมบัติ และการตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงได้มีกระแสรับสั่งว่า พระองค์ทรงสละสิทธิ์ที่จะตั้งผู้ครองราชย์สมบัติสืบต่อจากพระองค์
ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันเสาร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรต่อกรณีการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เขียนได้นำเสนอคำแนะนำที่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรฯทรงประทานให้แก่ที่ประชุมสภาฯ นั่นคือ สภาผู้แทนราษฎรไม่มีอำนาจในการรับหรือไม่รับการสละราชสมบัติ เพราะพระบาทสมเด็จพระปกเล้าฯทรงสืบราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระองค์มีสิทธิ์ที่จะสละราชสมบัติโดยไม่จำเป็นต้องขอการอนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น สิ่งที่สภาผู้แทนราษฎรจะทำได้คือรับทราบการสละราชสมบัติเท่านั้น ส่วนในกรณีพระมหากษัตริย์พระองค์ต่อไป หม่อมเจ้าวรรณไวทยากรทรงให้ความเห็นว่า “ส่วนพระองค์ต่อไปซึ่งจะขึ้นครองราชสมบัติ ก็ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร”
ขุนวรสิษฐ์ดรุณเวทย์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดหนองคายได้กล่าวในที่ประชุมสภาฯว่า “ถ้าเราได้ความอย่างนั้น ก็แปลว่า เวลานี้ว่างมหากษัตริย์ เรียกว่าว่างลงไป เพราะเหตุว่าสละแล้ว ไม่ได้ลาออก ทรงสละสิทธิ เมื่อสละแล้ว เวลานี้ก็แปลว่าว่างมหากษัตริย์ คราวนี้ปัญหาที่จะวินิจฉัยก็ว่า เมื่อว่างมหากษัตริย์ลงแล้ว เราจะทำอย่างไรต่อไป”
ผู้ทำการแทนประธานสภาฯ กล่าวว่า “เรื่องนี้ข้าพเจ้าเห็นพอจะตอบได้ว่า รัฐธรรมนูญ (ฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475/ผู้เขียน) มาตรา ๙ มีข้อความดังนี้ ‘มาตรา ๙ การสืบราชสมบัติท่านว่า ให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. ๒๔๖๗ และประกอบด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร’”
นายสร้อย ณ ลำปาง ผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง กล่าวว่า “ในกรณีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติไปเช่นนี้ ข้าพเจ้าและผู้แทนราษฎรทั้งหลายก็คงเสียใจอยู่เป็นอันมากเหมือนกัน ด้วยเหตุที่ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ประทับอยู่ในกรุงสยาม แต่ว่าได้ประทับอยู่ในต่างประเทศ และได้ทรงสละราชสมบัติ ในเมื่อเราไม่ได้อยู่เฝ้าละอองธุลีพระบาทโดยพร้อมเพรียง แต่เท่าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชโองการดำรัสนี้ กล่าวคือ สั่งมายังรัฐบาลว่า ได้สละราชสมบัติแล้วนั้น ข้อสำคัญที่สุดคือ ข้อสละราชสมบัติ เราเป็นอันเชื่อได้แน่นอนว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้นได้สละราชสมบัติแล้วจริง แต่ในข้อนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นต่อไปว่า ก็เมื่อเราเชื่อกันแล้วแน่ๆว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้สละราชสมบัติแล้วจริง คือหมายความว่า ความจริง พระองค์ยังเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ แต่ในเรื่องราชสมบัตินั้นได้สละเสีย เช่นเราจะเห็นว่า พระเจ้าอัลฟองโส กษัตริย์ของสเปน ซึ่งได้สละราชสมบัติแล้ว ก็เรียกว่ากษัตริย์นอกตำแหน่ง เป็นต้น ข้าพเจ้าขอย้ำอีกทีว่า ในการที่เรามีรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นคู่อยู่ด้วย ก็เมื่อพระองค์สละราชสมบัติไปแล้ว เราก็จำเป็นจะต้องมีพระมหากษัตริย์ใหม่โดยไม่มีปัญหา อย่างเช่น ท่านผู้แทนฯหนองคายกล่าวมาแล้วว่า ว่างกษัตริย์
การว่างกษัตริย์นี้จะเป็นผลดีผลร้ายแก่เราอย่างไร ในเมื่อเราว่างกษัตริย์ลงไปนั้น ท่านทั้งหลายก็ย่อมทราบแล้ว ดังพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระนริศฯก็ไม่ทรงรับเป็นผู้สำเร็จราชการ เวลานี้ รัฐบาลก็ไม่รู้จะทำอย่างไร และตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๐ (มาตรา ๑๐ ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือด้วยเหตุใดเหตุหนึ่งจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ จะได้ทรงตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ถ้าหากพระมหากษัตริย์มิได้ทรงตั้งหรือไม่สามารถจะทรงตั้งได้ไซร้ ท่านให้สภาผู้แทนราษฎรปรึกษากันตั้งขึ้น และในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรยังมิได้ตั้งผู้ใด ท่านให้คณะรัฐมนตรีกระทำหน้าที่นั้นไปชั่วคราว/ผู้เขียน) เมื่อสภาฯยังไม่ได้ตั้งผู้ใด หรือสภาฯยังไม่เห็นผู้ใด คณะรัฐมนตรีก็จำเป็นจะต้องดำเนินงานไป ถ้าจะปล่อยให้คณะรัฐมนตรีดำเนินงานไปโดยไม่มีกษัตริย์แล้ว บุคคลภายนอกจะเห็นไปอย่างอื่น
ด้วยเหตุนี้แหละ ข้าพเจ้าจึงขอเสนอกับท่านผู้แทนทั้งหลาย ท่านสมาชิกทั้งหลายว่า เป็นการสมควรแล้วหรือยัง ในคืนวันนี้ ซึ่งเป็นการประชุมสำคัญเพื่อประเทศชาติของเราให้ดำรงอยู่ด้วยความวัฒนาถาวรสืบไป เราสมควรจะจัดการอย่างไรที่ให้มีกษัตริย์ขึ้นในเวลานี้ แต่ที่จะคิดไปอย่างอื่นว่า รอไปหรืออะไรนั้น ข้าพเจ้าไม่เห็นชอบด้วย ข้าพเจ้าเห็นว่า จำเป็นต้องมีอย่างยิ่ง พระมหากษัตริย์ แต่ไม่ใช่ให้ว่างอยู่ หรือทิ้งไว้อย่างนั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นหรือบุคคลอื่นที่ไม่หวังดีต่อชาติเราเอาไปนินทาได้ เพราะฉะนั้น วันนี้จะเป็นการโต้รุ่งก็ยอม พระมหากษัตริย์นั้นย่อมทรงสละแล้วตามนี้ สละด้วยความเต็มพระทัยจริงๆ เพราะฉะนั้น จะเป็นเหตุให้พระมหากษัตริย์ว่างลงนั้น ความเสียหายจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าไม่จำเป็นจะต้องพรรณนาให้ท่านทั้งหลายฟัง ท่านทั้งหลายย่อมทราบอยู่แล้ว ครั้นจะให้คณะรัฐมนตรีกระทำไปในนามของพระมหากษัตริย์นั้น ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่ชอบตามที่เราควรจะมีได้ คือชอบตามรัฐธรรมนูญจริง แต่ว่า คนอื่นเขาจะนินทาได้ เพราะฉะนั้น ในคืนวันนี้ ข้าพเจ้าขอให้ดำเนินการเรื่องนี้ไปจนตลอดเรื่อง แม้จะสว่างก็ตามเถิด ข้าพเจ้ายินดี เพราะเหตุว่า พระมหากษัตริย์องค์ใหม่นี้เป็นการสำคัญที่เราควรจะได้ใคร ข้าพเจ้าขอเสนอดังนี้
ต่อมา ขุนชำนาญภาษา ผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้ยินสมาชิกซึ่งกล่าวเมื่อกี้นี้ ข้าพเจ้าเห็นด้วยในทางที่เราจะจัดการให้มีพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญ เพราะว่าพระมหากษัตริย์ ซึ่งเรารักใคร่อย่างยิ่งนั้น ท่านได้สละไปเอง ที่จริง น่าจะเห็นใจพวกเราว่า เราจงรักภักดี รัฐบาลเองก็ได้แต่งผู้แทนไปเชิญเสด็จจนถึงเสียเงินเสียทองมากมาย ก็เงินนั้นเป็นของใคร ของราษฎรนั่นเอง แต่สภาฯนี้ก็มิได้คัดค้าน เพราะมีความยินดีให้รัฐบาลทำอย่างนั้น เมื่อพระองค์ไม่กลับมาเช่นนี้ ก็เหลือวิสัยของพวกเราจะทนทานได้ เมื่อพระประมุขไม่มี เราก็จำเป็นจะต้องหาขึ้นให้มี เพื่อจะให้เป็นมิ่งขวัญของเราต่อไปตามรัฐธรรมนูญ และตามคำซึ่งเจ้าคุณนายกฯ (พระยาพหลพลพยุหเสนา/ผู้เขียน) ได้บันทึกเมื่อไปเฝ้าสมเด็จกรมพระนริศฯนั้น ว่าจะส่งรายนามผู้ซึ่งจะสืบราชสันตติวงศ์นั้น ก็น่าที่รัฐบาลจะเสนอให้สภาฯนี้ทราบไว้ด้วย เพื่อจะเป็นทางดำริของพวกสมาชิกทั้งหลายทั่วๆกัน ส่วนอย่างอื่น ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่ควรจะพิจารณาหรือจะอภิปรายให้มากนัก เพราะท่านสละแล้ว ทำอย่างไร ท่านก็คงไม่กลับแน่”
ต่อจากนั้น หลวงวรนิติปรีชา ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนคร พระยาสมันตรัฐบุรินทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสตูล มีความเห็นว่า สภาฯควรที่จะลงมติเป็นเอกฉันท์ขอเชิญให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จมาดำรงสิริราชสมบัติต่อไป แม้พระองค์จะไม่ทรงรับ แต่การที่สภาฯมีมติเช่นนั้น ถือว่าเป็นเกียรติยศแก่สภาฯเอง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการจงรักภักดี
แต่นายยู่เกียง ทองลงยา ผู้แทนราษฎรจังหวัดกาญจนบุรี เห็นว่า “ข้าพเจ้าเข้าใจตามความเข้าใจของข้าพเจ้าว่า สภาฯนี้ไม่มีหน้าที่จะพิจารณาว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัตินั้นเป็นหน้าที่ของสภาฯนี้จะต้องอนุมัติหรือไม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นรัชทายาท คล้ายกับว่าเป็นผู้ที่รับพินัยกรรมในกองมฤดกอันหนึ่งเท่านั้น แล้วมาบัดนี้ มีพระราชประสงค์ที่จะสละพระราชมฤดกนั้น เราจะไปขัดขวางอย่างไรได้ ตามธรรมดาสัตว์เดรัจฉานก็มีหัวหน้า มนุษย์เราก็เหมือนกัน เรายกย่องกันขึ้นคนหนึ่งเป็นพระมหากษัตริย์โดยชอบตามนิติธรรมประเพณี อาศัยที่มนุษย์เราต่อมาชอบที่จะได้สิทธิได้อะไรต่างๆจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งเราควรจะได้คู่เคียงกัน สมาชิกทั้งหลายอยู่ในที่นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นกษัตริย์ได้ทุกคนเมื่อมีผู้แต่งตั้ง แต่ถ้าหากว่าไม่มีผู้แต่งตั้ง ก็คงอยู่อย่างนี้ไปก่อน การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัตินั้น ได้ทรงคิดทบทวนดูแล้วว่าพระองค์ไม่มีความสามารถที่จะทำประโยชน์ได้แล้ว ตามที่ได้ทรงแถลงมาว่าหมดความสามารถที่จะทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนชาวไทยให้ได้รับความสุขสมบูรณ์แล้ว สภาฯนี้มีหน้าที่จะพิจารณาในเรื่องนี้ว่า เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติแล้วไซร้ เราจะเลือกผู้ใดขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ต่อไปเท่านั้น”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 42)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการปกครองภายใต้คณาธิปไตยสืบทอดอำนาจของคณะราษฎรตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2489
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร