วันก่อน ผมเขียนถึงกฎหมายฉบับใหม่ของสหภาพยุโรป ที่ต้องการหยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าทั่วโลก ด้วยการกำหนดให้บริษัทที่นำเข้าสินค้า 7 ประเภทต้องตรวจสอบย้อนกลับว่า การผลิตสินค้าต้องไม่มีความเชื่อมโยงกับการทำลายป่า
ทันใดนั้น ประเทศไทยก็ต้องลุกขึ้นมาสำรวจตรวจสอบ และเตรียมพร้อมสำหรับอุปสรรคใหม่ของการส่งออกทันที ขณะที่ผมติดตามข่าวอยู่นี้ ก็ได้อ่านที่คุณอสิ ม้ามณี อธิบดีกรมยุโรปของกระทรวงการต่างประเทศ อธิบายประเด็นนี้กับ “มติชน” ได้อย่างน่าสนใจ
ร่างกฎหมายดังกล่าวได้พัฒนามาเป็นกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (Regulation on Deforestation-Free Products) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการวางจำหน่ายสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการตัดไม้ทำลายป่าในตลาดอียู โดยครอบคลุมสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ ไม้ วัว โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง และยางพารา
กำหนดให้บริษัทในอียูที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้ ต้องดำเนินการตรวจสอบย้อนกลับตลอดกระบวนการผลิตสินค้า (mandatory due diligence) ว่าไม่มีความเชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่าและการทำให้ป่าเสื่อมโทรม
เมื่อกฎหมายดังกล่าวได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงกลางปีนี้ก็จะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านระยะเวลา 18 เดือน ตามที่กฎหมายกำหนดโดยบริษัทนำเข้าในอียูยังไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมาย
คาดว่าช่วงเปลี่ยนผ่านจะสิ้นสุดลงในช่วงปลายปีหน้า นั่นหมายความว่า ตั้งแต่ปลายปีหน้าเป็นต้นไป ภาคเอกชนในอียูจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ
ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นคือ บริษัทในอียูที่นำเข้าสินค้าตามที่ระบุในกฎหมายรวม 7 ประเภทสินค้า จะต้องจัดทำรายงาน หรือ due diligence statement เพื่อยืนยันว่าตนซึ่งเป็นผู้นำเข้าได้ตรวจสอบและดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อยืนยันว่าสินค้าเหล่านั้นถูกต้องตามกฎหมายของประเทศผู้ผลิต และไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม พร้อมกับระบุพิกัดของพื้นที่ (geolocation) ที่ใช้ในการปลูกพืชหรือเลี้ยงปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้อง
ฝ่ายอียูจะสุ่มตรวจสินค้านำเข้าเหล่านี้ว่าเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือไม่ โดยเน้นใช้ geolocation ในการเปรียบเทียบกับภาพถ่ายจากดาวเทียมของพื้นที่นั้นในอดีต
เพื่อตรวจสอบว่า แปลงเกษตรดังกล่าวไม่ได้มาจากการตัดไม้ทำลายป่าหลังจากปี 2020 อันเป็น cut-off date ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ UN Sustainable Development Goals (SDGs)
อธิบดีกรมยุโรปบอกว่า ถ้าผู้ส่งออกไทยไม่สามารถสนับสนุนข้อมูลและหลักฐานเหล่านั้นได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้นำเข้าในอียูจะเปลี่ยนไปนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นที่มีความพร้อมมากกว่าแทน
ที่ไทยต้องเตรียมพร้อม เพราะหากเราพลาดท่าเสียทีรายได้จากการส่งออกจะได้รับผลกระทบไม่น้อย
อีกทั้งเกษตรกรไทยเราเองก็จะตกอยู่ในสภาพที่กลายเป็นผู้ต้องรับกรรม
อธิบดีอสิแจ้งว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าทั้ง 7 ประเภทจากไทยไปยังอียูในปี 2021 มีมูลค่าสูงถึง 6.2 หมื่นล้านบาท
จากจำนวนนี้เป็นการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางถึง 6 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ อียูยังเป็นตลาดสำคัญสำหรับการส่งออกยางพาราและกาแฟของไทยอีกด้วย
โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 10 และร้อยละ 9 ตามลำดับ ของมูลค่าการส่งออกของไทยไปสู่ตลาดโลกในปี 2021 ที่ผ่านมา
ท่านบอกว่า กฎหมายฉบับนี้น่าจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยโดยเฉพาะเกษตรกรยางพาราในวงกว้าง และผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรกรรายย่อย ที่อาจจะไม่มีศักยภาพในการรวบรวมข้อมูลและหลักฐาน เพื่อยืนยันว่าแปลงเกษตรของตนไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าหรือการทำให้ป่าเสื่อมโทรม
ซึ่งอาจลดโอกาสที่ผู้ส่งออกจะเลือกซื้อสินค้าจากเกษตรกรรายย่อยเหล่านี้
พอกระทรวงการต่างประเทศทราบเรื่องนี้ มีการทำอะไรเพื่อเตรียมตัวไปแล้วบ้าง?
อธิบดีอสิบอกว่า ในภาพรวมกระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมยุโรป และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ เป็นหนึ่งในหน่วยงานฝ่ายไทยที่มีการติดตามการออกกฎหมายและมาตรการใหม่ของอียูมาอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะมาตรการภายใต้นโยบาย European Green Deal ที่จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทย ซึ่งรวมถึงกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าด้วย
พร้อมกับได้แจ้งพัฒนาการเหล่านี้ให้แก่ภาครัฐ เอกชนและประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆ ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์ของกรม และสถานเอกอัครราชทูต การร่วมบรรยายในประเด็นนี้ในโอกาสต่างๆ ตลอดจนการจัดการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการภายใต้นโยบาย European Green Deal เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้วและเมษายนปีนี้
เมื่อตระหนักถึงผลกระทบต่อผู้ส่งออกไทยโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย จึงได้หารือกับฝ่ายอียูในประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อขอรับข้อมูลทางเทคนิค แสวงหาความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมให้แก่เอกชนไทย
ตลอดจนให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จในการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าในไทย เพื่อผลักดันให้ไทยถูกจัดอันดับอยู่ในกลุ่มประเทศความเสี่ยงต่ำ ซึ่งจะลดภาระผู้ส่งออกไทยได้มาก
แล้วมีความตื่นตัวกันในประเทศแค่ไหน?
อธิบดีบอกว่า โดยที่ฝ่ายอียูเพิ่งเพิ่มยางพาราเข้ามาในรายการสินค้าภายใต้ข้อบังคับของกฎหมายดังกล่าวเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้วนี่เอง จึงทำให้อุตสาหกรรมยางพารารับทราบถึงพัฒนาการนี้ได้ไม่นานเมื่อเทียบกับสินค้าอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม หลังจากการเพิ่มยางพาราเข้ามาในรายการสินค้า หลายหน่วยงานได้ร่วมกันสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นนี้ ผ่านการจัดการประชุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการหารือกับฝ่ายอียูโดยตรง
โดยเฉพาะการเดินทางเยือนไทยของผู้แทนจากคณะกรรมาธิการยุโรปด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพาราในไทย
โดยเฉพาะการยางแห่งประเทศไทย ซึ่งได้จัดการประชุมกับฝ่ายอียูเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ปีนี้ในลักษณะ hybrid
โดยเปิดให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยางพาราได้เข้าฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับร่างกฎหมายจากอียูโดยตรง
อย่างนี้ถือว่าเป็นมาตรการกีดกันการค้าของอียูต่อประเทศอื่นหรือไม่? และไทยเราจะทำอย่างไร?
อธิบดีบอกว่า หลายฝ่ายมองว่ามาตรการนี้เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าของอียูเท่านั้น
แต่กรมยุโรปมองว่า หากสามารถเตรียมความพร้อมให้แก่เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยได้ทันท่วงที จนสามารถออกเอกสารอย่างเป็นทางการเพื่อยืนยันว่าสินค้าส่งออกของไทยไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า ย่อมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ส่งออกและเกษตรกรไทย
เพราะเป็นที่แน่นอนว่า บริษัทอียูที่นำเข้าสินค้าเหล่านี้ย่อมต้องการซื้อสินค้าจากแหล่งผลิตที่มีความน่าเชื่อถือ ที่ทั้งถูกกฎหมายและมีความยั่งยืน รวมถึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
และมีหลักฐานอย่างเป็นทางการว่าไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า มากกว่านำเข้าจากประเทศที่ไม่สามารถให้หลักฐานดังกล่าว
นั่นคือการเพิ่มศักยภาพให้แก่เกษตรกรไทยอย่างยั่งยืนในโลก
ปัจจุบันที่ประเทศพัฒนาแล้วกำลังผลักดันมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมให้มีความเข้มข้นมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็เป็นทิศทางที่ประเทศไทยกำลังเดินไปเช่นกัน
หากเราไม่ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนในทุกๆ มิติ เราจะทำมาหากินในเวทีโลกลำบากขึ้นทุกที!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ