'บัน กีมูน' ไปทำอะไรที่เมียนมา?

ความพยายามจะเรียกร้อง กดดัน โน้มน้าวผู้นำทหารเมียนมาให้ยอมทำตาม “ฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน” ดูเหมือนจะเป็นภารกิจที่หนักหน่วงและท้าทายยิ่งนัก

เพราะพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ทำ “หูทวนลม” มาตลอด

ใครไปเยี่ยมไปเยือนแทนที่จะมีความหวังว่าจะมีความคืบหน้าในการทำให้ “สงครามกลางเมือง” ของเมียนมาลดความรุนแรงลงบ้านเพื่อนำไปสู่สันติภาพ ก็จะต้องยอมรับว่าต้องพกเอาความผิดหวังกลับบ้าน

แต่ทำไมมิน อ่อง หล่าย ยังต้อนรับขับสู้ผู้มาเยือนอย่างเป็นทางการ?

เพราะมันเป็นโอกาสของการสร้างภาพว่าใครต่อใครยังต้องติดต่อไปมาหาสู่กับเขา

โดยที่เขาไม่ต้องยอมอ่อนข้อต่อข้อเรียกร้องให้เลิกปราบปรามประชาชนผู้เห็นต่างกับตนเองเลยแม้แต่น้อย

ล่าสุด อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ บัน กีมูน ก็บินลงไปเนปยีดอเพื่อแสดงความตั้งใจที่จะเกลี้ยกล่อมผู้นำทหารให้ยอมฟังเสียงจากประชาคมโลกบ้าง

แต่ก็ไม่มีวี่แววว่าจะได้ผลอะไรในทางรูปธรรมเท่าไหร่นัก

กลับกลายเป็นว่าทำให้ มิน อ่อง หล่าย ถือโอกาสนี้ออกข่าวในสื่อทางการของตนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

เพราะมันทำให้เขาดูดี ผู้นำโลกบางคนยังต้องการมาเจอเขา และเขาก็ยังสามารถยืนกรานแบบกระต่ายขาเดียวได้โดยที่ไม่มีใครทำอะไรเขาได้

ทั้งๆ ที่ผู้นำอาเซียนส่วนใหญ่ (ไม่ทั้งหมด) ได้แสดงท่าทีรังเกียจเดียดฉันท์เขาด้วยการไม่เชิญมาร่วมประชุมสุดยอดทั้งในระดับผู้นำและรัฐมนตรี

แปลว่าในอาเซียนเอง เขากำลังถูกโดดเดี่ยว แต่ความพยายามจากวงการนานาชาติบางแห่งก็ยังอยากจะขับเคลื่อนเผื่อจะได้มีแสงสว่างที่ปลายถ้ำบ้าง

แม้ว่าขณะที่บัน กีมูน มาเยือนนั้น กองทัพเมียนมาก็ยังเดินหน้าปราบปรามกลุ่มต่อต้านด้วยอาวุธร้ายแรงต่อเนื่องอย่างไม่ลดละ

บัน กีมูน ไปถึงก็คงหวังว่านอกจากเจอมิน อ่อง หล่าย แล้วก็ควรจะได้พบกับอองซาน ซูจี ซึ่งต้องถือว่าเป็นตัวละครสำคัญของการที่จะสร้างความปรองดองและสมานฉันท์แห่งชาติได้

แต่มิน อ่อง หล่าย ก็ไม่ยอมให้เขาเจออองซาน ซูจี

ซึ่งก็อาจจะอ้างเหตุผลเดิมๆ ว่าเธอเป็นผู้ถูกศาลตัดสินมีความผิดจำคุกแล้ว

และตามกฎหมายไม่มีใครสามารถติดต่อเธอได้

เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้นเลย หากผู้นำทหารต้องการจะสร้างบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์จริงๆ

               เพราะถ้าไม่ให้อองซาน ซูจี มีบทบาทในการแสวงทางออกร่วมกัน การเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอย่างท่วมท้น กับอำนาจเผด็จการของกองทัพก็จะไม่มีวันผ่อนเบาลงได้

บัน กีมูน ทำได้ก็แค่ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทหารเมียนมายุติความรุนแรงในประเทศที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง และร่วมมือกับฝ่ายตรงข้ามเพื่อยุติวิกฤตนองเลือด

ความพยายามทางการทูตในการแก้ไขวิกฤตไม่ได้คืบหน้าไปถึงไหน เพราะรัฐบาลทหารเพิกเฉยต่อคำวิจารณ์ของนานาชาติว่าด้วยการปราบปรามฝ่ายตรงกันข้ามอย่างโหดเหี้ยม และปฏิเสธที่จะมีส่วนร่วมในการเจรจาใดๆ กับฝ่ายอื่นที่ไม่ใช่กองทัพ

บันพูดในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่ประกอบด้วยฝ่ายนิติบัญญัติจากพรรค NLD ของอองซาน ซูจี ซึ่งกำลังดำเนินการทั้งด้านการเมืองและการทหารยกเลิกผลพวงจากรัฐประหาร จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของ "ทางออกที่ยั่งยืน"

คำว่า “ทางออกที่ยั่งยืน” ของบัน กีมูน หมายถึงการที่จะไม่หวนกลับมาฟาดฟันทำลายล้างกันด้วยอาวุธอีก

แต่ถึงวันนี้ ความหวังนั้นยังห่างไกลจากความเป็นจริงมากมายนัก

กองทัพยังต่อต้านข้อเสนอใดๆ ที่จะให้เจรจากับฝ่ายที่ไม่ใช่พวกตน

เพราะในภาษาทางการแล้ว NUG ถูกรัฐบาลทหารระบุเป็นองค์กร "ก่อการร้าย"

ซึ่งแปลว่าการกระทำใดๆ ที่โยงกับกลุ่มต่อต้านล้วนแต่เป็นเรื่องผิดกฎหมายความมั่นคงที่มีบทลงโทษหนักๆ ทั้งสิ้น

ตลอดเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน กลุ่มสิทธิมนุษยชนได้กล่าวหาว่ารัฐบาลทหารสังหารหมู่ เผาหมู่บ้าน และใช้การโจมตีทางอากาศและปืนใหญ่เพื่อลงโทษชุมชนที่ต้องสงสัยว่าเป็นที่พักของฝ่ายตรงข้าม

การโจมตีทางอากาศของทหารในภูมิภาคสะกาย ซึ่งเป็นพื้นที่ของกลุ่มต่อต้านเมื่อเร็วๆ นี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 170 คน และบาดเจ็บหลายร้อยคน

รัฐบาลทหารอ้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจ ด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการฉ้อฉลที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ในปี 2563 อันเป็นปีที่พรรคของอองซาน ซูจี ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น

และแม้สัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งใหม่ แต่ฝ่ายทหารก็ออกกฎกติกาใหม่ที่จงใจปิดหนทางการแข่งขันของพรรคที่ไม่ใช่พวกตน

“การจัดการเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขปัจจุบันเสี่ยงต่อความรุนแรงและความแตกแยก และผลที่ประชาชนชาวเมียนมาไม่ยอมรับ” บันกล่าว

ในถ้อยแถลงนั้นมีการระบุว่า บันขอพบอองซาน ซูจี ซึ่งขณะนี้ต้องรับโทษจำคุก 33 ปี ภายหลังการพิจารณาคดีแบบปิดประตูหลายครั้งที่กลุ่มสิทธิฯ ระบุว่าเป็นเรื่องจงใจปิดกั้นเพื่อใช้อำนาจกองทัพกลั่นแกล้งผู้นำฝ่ายต่อต้าน

การเยือนของนายบันได้ขึ้นหน้าหนึ่งของ Global New Light of Myanmar อันเป็นกระบอกเสียงของกองทัพ

ข่าวและภาพที่ปรากฏนั้นมีแต่ภาพที่เป็นไปทางบวกสำหรับผู้นำทหาร

แต่ไม่เอ่ยถึงข้อเรียกร้องของบัน กีมูน เรื่องให้มีการเจรจาและยุติความรุนแรงเลย

ข่าวในสื่อทางการเมียนมาบอกว่า บัน กีมูน หัวหน้ารัฐบาลทหาร มิน อ่อง หล่าย ได้ "แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความคืบหน้าล่าสุดของเมียนมา และหารืออย่างจริงใจด้วยท่าทีที่สร้างสรรค์"

มีแค่นั้นจริงๆ ไม่ได้ระบุว่าการที่อดีตเลขาฯ สหประชาชาติมาเยี่ยมนั้น มีภารกิจเรื่องให้รัฐบาลทหารเลิกวิธีการที่ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวเมียนมา

บัน กีมูน แจ้งว่าการไปเยือนเมียนมาครั้งนี้ในฐานะสมาชิกกลุ่มผู้นำโลก "The Elders" (ผู้อาวุโส) ที่ก่อตั้งโดยเนลสัน แมนเดลา อดีตผู้นำเรียกร้องประชาธิปไตยของแอฟริกาใต้

เป็นองค์กรเอกชนที่ทำงานเพื่อส่งเสริมสันติภาพและคลี่คลายความขัดแย้งระดับโลก 

ในคำแถลงเป็นทางการนั้น บัน กีมูน บอกว่าได้พบผู้นำทหารในเมียนมาและเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงโดยทันที และดำเนินการตามฉันทามติ 5 ประการของอาเซียน

และย้ำว่า เขาได้พบกับผู้นำทางทหารและอดีตประธานาธิบดีเต็ง เส่ง เพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของทุกฝ่ายที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาที่ยั่งยืน รวมถึงรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG)

“ผมมาเมียนมาเพื่อเรียกร้องให้กองทัพยอมรับการยุติความรุนแรงโดยทันที และเริ่มการเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” บัน กีมูน กล่าว

“การประชุมเป็นไปเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกัน ผมจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อช่วยให้ชาวเมียนมาได้รับความสงบสุข ความเจริญรุ่งเรือง และเสรีภาพที่พวกเขาสมควรได้รับ”

แถลงการณ์บอกว่า การไปเยือนครั้งนี้เป็นไปตามคำเชิญของทหารเมียนมา

ในการประชุมที่กรุงเนปยีดอ บัน กีมูน เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ประเด็นของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)

และมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติหมายเลข 2669 เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

เขาสนับสนุนการเรียกร้องของประชาคมระหว่างประเทศ ให้ทหารเมียนมาปล่อยตัวนักโทษที่ถูกคุมขังโดยพลการทั้งหมดทันที เพื่อการเจรจาที่สร้างสรรค์และเพื่อการยับยั้งอย่างสูงสุดจากทุกฝ่าย

บัน กีมูน กล่าวย้ำถึงการประณามจากนานาชาติอย่างรุนแรงต่อการโจมตีทางอากาศของทหารในภูมิภาคสะกาย ซึ่งคาดว่าจะคร่าชีวิตพลเรือนไปแล้วกว่า 160 คน รวมทั้งผู้หญิงและเด็ก

เขาเตือนว่า การเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นเมื่อมีเงื่อนไขเท่านั้นจึงจะเป็นอิสระและยุติธรรม

และการจัดการเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไขปัจจุบัน มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงและการแตกแยก และผลที่ออกมาจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวเมียนมา อาเซียน และประชาคมระหว่างประเทศในวงกว้าง

แต่ผมประเมินจากผลที่ตามมาหลังสัปดาห์ที่แล้ว ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่ามิน อ่อง หล่าย จะยอมฟังเหตุผลที่แย้งกับความต้องการกุมอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จของตนเลยแม้แต่น้อย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว