มองข้ามคำหรูๆ ว่าด้วย ‘เทคโนโลยี’ สู่ของจริง

พรรคการเมืองที่กำลังหาเสียงอยู่ขณะนี้พูดถึงเรื่อง “เศรษฐกิจดิจิทัล” กันคึกคัก แต่น่าสงสัยว่าแต่ละพรรคจะมีความเข้าใจความแตกต่างระหว่างเทคโนโลยี กับปัญหาพื้นฐานที่ต้องแก้ไขกันอย่างรอบด้านมากน้อยแค่ไหน

เพราะเอาเข้าจริงๆ เราเคยได้ยินเรื่องทำนองนี้มาก่อนแล้ว

เช่นมีการใช้ระบบ e-auction หรือประมูลงานหน่วยราชการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจะป้องกันการ “ฮั้ว” กันซึ่งเป็นช่องทางคอร์รัปชันที่มีมาช้านาน

แต่นั่นเป็นเพียงการใช้คำหรูๆ ให้ฟังทันสมัย เพราะในทางปฏิบัติกลับไม่ได้แก้ปัญหาทุจริตประพฤติมิชอบอย่างเป็นรูปธรรมอะไรมากนัก

เพราะตราบเท่าที่ตัวระบบราชการยังเอื้อต่อการรวมหัวของนักการเมือง, ข้าราชการ นักธุรกิจฉ้อฉลก็ยังมีหนทางที่จะหลุดรอดจากเทคโนโลยีได้

เราจึงไม่ควรจะเชื่อแต่เพียงว่าหากมีการเอ่ยอ้างถึงเทคโนโลยีแล้ว นั่นคือ “ยาแก้สารพัดโรค” ที่ฝังลึกอยู่ในระบบราชการและสังคมไทย

จำเป็นต้องทำความเข้าใจว่า การจะใช้เทคโนโลยีให้ได้ผลจริงๆ นั้นจะต้องเจาะลงไปถึงเนื้อหาและวิธีการที่ตอบโจทย์ได้จริงๆ

วันก่อนผมอ่านข้อความในเฟซบุ๊กของคุณสมคิด จิรานันตรัตน์ ที่ปรึกษาของกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ผู้มีส่วนสำคัญในการพัฒนาแอป “เป๋าตัง” ที่ได้ใช้กันมาระยะหนึ่ง

เป็นความเห็นและข้อเสนอที่สอดคล้องกับสิ่งที่ผมเชื่อว่า ต้องเป็นหัวใจของนโยบายรัฐบาลที่จะเข้ามาแก้ปัญหาของบ้านเมืองอย่างจริงจัง

ไม่เพียงแต่พร้อมจะใช้เทคโนโลยีเพื่อบริหารประเทศให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงเท่านั้น แต่ยังต้องรู้ซึ้งว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ชื่อหรูๆ  

หากแต่อยู่ที่เนื้อหาสาระที่จับต้องได้ และที่เข้าใจว่าเทคโนโลยีเป็นเพียง “เครื่องมือ” เท่านั้น หาใช่คำตอบสุดท้ายไม่

บางตอนที่คุณสมคิดนำเสนอน่าสนใจ เพราะสามารถนำไปสู่การถกแถลงเพื่อหาทางออกของประเทศอย่างแท้จริง โดยไม่เกี่ยวกับการเห็นด้วยหรือไม่กับข้อเสนอของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เราได้ยินได้ฟังอยู่ทุกวันนี้

คุณสมคิดเขียนว่า

การสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดระบบนิเวศน์ที่เอื้อประโยชน์แก่ผู้บริโภค และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการสร้างโอกาสและแต้มต่อให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก รวมถึงการที่เราจะสร้างแรงจูงใจให้ startup ในการเอาเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาและสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เป็นโจทย์ใหญ่ที่มีคนพูดถึงมากมาย

ทั้งเรื่องการสร้างระบบการเงินใหม่โดยเอาเทคโนโลยี blockchain มาใช้ การสร้าง big data ของประเทศ การสร้างระบบ credit scoring เพื่อการพัฒนาสินเชื่อแบบดิจิทัล

แต่ผมกลับมองเห็นว่า ข้อเสนอเหล่านั้นเป็นเพียงเศษเสี้ยวของระบบเศรษฐกิจดิจิทัล และเป็นภาพลวงตาที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเราเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มที่แล้ว

แต่แท้จริงแล้ว ข้อเสนอเหล่านั้นยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่หมักหมมของประเทศได้เลย

ปัญหาสำคัญของประเทศที่จะนำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นของประเทศ สามารถสร้างความหวัง สร้างความสามารถในโลกใหม่ได้ ในความเห็นของผม ควรจะแก้ปัญหาดังต่อไปนี้ได้ คือ

 1.ปัญหาคอร์รัปชัน

 2.ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 3.ปัญหาของการขาดซึ่งโอกาส

 4.ปัญหาการสร้างความสามารถในอนาคต

สิ่งที่เป็นองค์ประกอบที่ต้องสร้างขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ

 1.Open Data เราควรมีการเปิดข้อมูลทั้งภาครัฐและเอกชน เป็น data bureau ขนาดใหญ่ ซึ่งต้องจัดทำข้อมูลเป็นหลายระดับ

a.ระดับที่ระบุตัวตนและได้รับ consent แล้ว ข้อมูลส่วนนี้จะนำมาเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่ให้ความยินยอมเพื่อให้ใช้ข้อมูลส่วนตนไปใช้ประโยชน์ ในด้านการวิจัย การพิจารณาสินเชื่อของตนเอง และข้อมูลเสนอสินค้า บริการที่เหมาะสม โดยผู้ที่ยินยอมอาจได้รับผลตอบแทนกลับคืนในบางส่วนได้

 b.ข้อมูลภาครัฐ ที่ต้องเปิดเผยเพื่อความโปร่งใส และสามารถให้ผู้ชำนาญการในสาขา AI มาวิเคราะห์ความไม่ชอบมาพากลได้ รวมทั้งอาจตั้งรางวัลที่นำไปสู่การนำจับเรื่องการทุจริตทั้งผู้ให้และผู้รับ

c.ข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตน แต่ระบุกิจกรรม และข้อมูลแวดล้อมที่จำเป็น ที่จะนำไปสู่การวางแผนการผลิต การวางนโยบายระดับภูมิภาคและระดับประเทศได้

2.Open Platform เป็นแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ของประเทศที่เป็นศูนย์รวมของบริการด้านดิจิทัล เป็นที่ที่ supply และ demand มาพบกันได้โดยง่าย Open Platform ควรที่จะต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จะนำไปสู่เรื่อง

 a.Cashless Society เพื่อเป็นการนำประเทศไปสู่สังคมไร้เงินสด โดยภาครัฐต้องมีนโยบายอย่างจริงจังที่จะสนับสนุนสังคมไร้เงินสดอย่างเป็นรูปธรรม

 b.Paperless Society การใช้เทคโนโลยีมาใช้รองรับเอกสารทางการ และเอกสารรับรองต่างๆ ในรูปแบบดิจิทัล ลดการใช้กระดาษโดยสิ้นเชิง และส่งเสริมให้ธุรกรรมเป็นแบบอัตโนมัติ เกิดผลโดยทันทีได้

 c.Presence-less การส่งเสริมให้มีการทำธุรกรรมทุกรูปแบบ ให้เป็นดิจิทัล ไม่ต้องมาพบหน้าเพื่อทำธุรกรรม โดยอาศัยการพิสูจน์และการยืนยันตัวตนระดับชั้นมาตรฐานสูง และเอื้อให้เกิดโดยแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ที่มีการพิสูจน์ตัวตนระดับสูงมาแล้ว

 3.Open API เป็นระบบเชื่อมต่อที่จะทำให้ระบบขนาดเล็กไม่จำเป็นต้องสร้างโครงสร้างพื้นฐานเอง แต่สามารถเปิดให้บริการโดยอาศัยระบบขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างพื้นฐานนั้นๆ อยู่แล้ว เอื้อประโยชน์ให้โดยการเปิดให้มีการเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐานนั้นๆ เป็นการสร้างแต้มต่อและเอื้อให้ระบบขนาดเล็กเติบโตได้เร็วขึ้น ซึ่งระบบขนาดเล็กอาจสร้างเป็นรูปแบบต่อไปนี้ได้ คือ

 a.Web based สามารถเรียกใช้บริการ เช่น

 i.Authentication services

 ii.Payment services

 b.Application based สามารถเรียกใช้บริการ เช่น

 i.Identity proofing

 ii.Authentication services

 iii.Payment services

 c.Mini-app services สามารถอาศัยในแพลตฟอร์ม และเรียกใช้บริการ เช่น

 i.Identity proofing

 ii.Authentication services

 iii.Payment services

iv.AI services

 ดังนั้น การสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิทัลจึงไม่ใช่เป็นเรื่องการนำเทคโนโลยีที่สวยหรูมาใช้ แต่เป็นความเข้าใจ และความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี และต้องมีการออกแบบให้เหมาะสม จึงจะสามารถใช้งานได้จริง

หากมีองค์ประกอบของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเหล่านี้ คาดหวังว่าการคอร์รัปชันจะลดลงได้ เพราะสามารถตรวจสอบ ติดตาม และมีผู้เชี่ยวชาญจากทุกสารทิศมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลให้เกิดความโปร่งใสได้ ความเหลื่อมล้ำและการสร้างโอกาสจะดีขึ้น โดยที่แพลตฟอร์มขนาดใหญ่สามารถสร้างกลไก และแรงจูงใจให้คนตัวเล็กที่ขาดโอกาสได้ และเมื่อมีคนไทยใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มเหล่านี้ การต่อยอดด้านนวัตกรรมจะมีสูงขึ้นเป็นทวีคูณ และจะสามารถจูงใจให้มีการพัฒนาตนเองมากยิ่งขึ้นในอนาคต

ผมเห็นว่าเราต้องเริ่มด้วยการที่รัฐบาลจะเป็นตัวกลางเพื่อสร้าง Open Platform สำหรับให้ทุกฝ่ายเข้ามาใช้ โดยไม่ใช่ให้แต่ละหน่วยงานของรัฐและเอกชนต่างไปแข่งกันสร้างแพลตฟอร์มซ้ำซ้อน และ “คุยกันไม่รู้เรื่อง” (ทั้งคนทั้งระบบ) อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ใครมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงต้องมีหน้าที่คิดและทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง เปิดกว้างและให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

หาไม่แล้วก็จะมีแต่คำขวัญหรูๆ ที่ไร้ความหมายและไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ