หมอกควันข้ามพรมแดนอาเซียน: ข้อตกลงเดิมยังขาดความขลัง!

หนึ่งในความซับซ้อนของปัญหาหมอกควันที่ไทยเรากำลังเผชิญอยู่คือ การเผาป่าและกิจกรรมที่สร้างมลพิษของเพื่อนบ้าน

หากไม่มีมาตรการแก้ไขข้ามประเทศ ก็จะไม่สามารถระงับเหตุที่ต้นตอได้

ถามว่าอาเซียนมีกฎหมายเรื่องนี้ไหม?

คำตอบคือมี แต่ภาคปฏิบัติมีปัญหาสลับซับซ้อนมายาวนาน จนถึงวันนี้ก็ยังต้องแสวงหา “ความร่วมมือ” กันต่อไป

เมื่อเร็วๆ นี้ประเทศไทยได้พูดคุยกับเลขาธิการอาเซียนถึง "ปัญหาหมอกควัน" ข้ามพรมแดนอาเซียน

ฝ่ายไทยยังได้หยิบยกประเด็นปัญหาหมอกควันข้ามแดนในการพบหารือระหว่าง ดร.เกา กิม ฮวน เลขาธิการอาเซียน ซึ่งเยือนไทย แต่แม้จะมีการรับปากว่าจะยกประเด็นนี้ขึ้นมาในระดับอาเซียน ก็ไม่มีอะไรรับรองว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขดีกว่าที่ผ่านมา

ทุกประเทศอาเซียนได้เป็นภาคีข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution: AATHP)

เป็นกลไกเพื่อป้องกัน ติดตามและตรวจสอบมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ตั้งแต่ปี 2546

และเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา ที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ได้หารือถึงความร่วมมือด้านการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดน

อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้ ได้กำหนดเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาหมอกควัน 2 ด้าน ได้แก่

1.การจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านการควบคุมหมอกควันข้ามแดนของอาเซียน (ASEAN Co-ordinating Centre for Transboundary Haze Pollution Control: AATHPC) ที่อินโดนีเซีย

2.การจัดทำแผนงานว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษหมอกควันข้ามแดนด้วยวิธีปฏิบัติฉบับใหม่

แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าลำพังรัฐบาลอาเซียนเอง ประชุมกันกี่ครั้งกี่รอบก็ไม่เกิดผล

เพราะการแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคกสิกรรม ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงภาคประชาชน

ในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศบอกว่า นอกจากหารือกับประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอาเซียนแล้ว ก็ยังได้ผลักดันความร่วมมือเรื่องนี้ในหลายโอกาส

รวมทั้งผลักดันผ่านกรอบความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับภาคีภายนอกที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกับญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และเยอรมนี ตามแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) ที่มีอยู่

เมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไทยประชุมกับผู้นำ สปป.ลาว และเมียนมา ถกแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดนและ PM 2.5

โดยเสนอยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy) 5 ข้อ พร้อมขับเคลื่อนทันที

โดยมีนายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรี สปป.ลาว และพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ของเมียนมา เข้าร่วมการประชุม

นายกรัฐมนตรีไทยได้เสนอ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” ประกอบด้วย

C (Continued Commitment) มุ่งปฏิบัติตามเป้าหมายในการลดจุดความร้อนตามแผนปฏิบัติการเชียงราย ค.ศ.2017

L (Leveraging Mechanisms) ไทยจะส่งเสริมความร่วมมือทุกระดับ ผ่านกลไกคณะกรรมการชายแดนที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 42 ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ ที่อินโดนีเซียด้วย

E (Experience Sharing) การแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ เพื่อควบคุมปัญหามลพิษหมอกควันข้ามแดน

A (Air Quality Network) ส่งเสริมความร่วมมือเครือข่ายการตรวจวัดคุณภาพอากาศของประเทศในอนุภูมิภาค

R (Effective Response) นายกรัฐมนตรีเสนอให้เจ้าหน้าที่อาวุโสของทั้งสามประเทศประชุมหารือในบ่ายวันเดียวกัน เพื่อต่อยอดผลของการประชุมระดับผู้นำ

ทั้ง 3 ประเทศ ตกลงร่วมกันที่จะร่วมกันขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฟ้าใส โดยจะจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม ไทย ลาว เมียนมา เพื่อแก้ไขปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน

ตัวอย่างของเพื่อนบ้านอาเซียนสองประเทศคือสิงคโปร์กับอินโดนีเซีย ก็มีบทเรียนที่ผ่านมาที่ควรแก่การนำมาประกอบการพิจารณาเพื่อหาทางออกร่วมกัน

เมื่อเร็วๆ นี้ อินโดนีเซียประกาศว่าจะเคารพกฎหมายระหว่างประเทศเมื่อสิงคโปร์เดินหน้าสอบสวนบริษัทและบุคคลที่เชื่อมโยงการเผาป่า ที่มีผลทำให้เกิดหมอกควันพิษที่พัดเข้ามาถึงเพื่อนบ้าน (บางปีรวมถึงทางใต้ของไทย)

“ทั้งสิงคโปร์และอินโดนีเซียต่างมีข้อบังคับ (เกี่ยวกับไฟป่า) เราเคารพในข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ” รัฐมนตรีอินโดฯ ที่รับผิดชอบเรื่องประสานงานกิจการทางทะเลและการลงทุนแถลงตอนนั้น

มลพิษจากหมอกควันข้ามแดนจากไฟป่าของอินโดนีเซียส่งผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะมาเลเซียและสิงคโปร์มาประมาณสองทศวรรษแล้ว

มลพิษจากหมอกควันระหว่างเดือนมิถุนายนถึงตุลาคม พ.ศ.2015 เป็นหนึ่งในปัญหาที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์

ในปีนั้น โดยใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติมลพิษหมอกควันข้ามพรมแดน (THPA) ของสิงคโปร์ สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (NEA) ได้ทำการสอบสวนบริษัทอินโดนีเซียสี่แห่ง ได้แก่

PT Bumi Andalas Permai, PT Bumi Mekar Hijau, PT Sebangun Bumi Andalas Woods Industries และ PT Rimba Hutani Mas ว่ามีส่วนเกี่ยวโยงกับการเผาป่าหรือไม่

กฎหมายฉบับนี้เล็งเป้าไปที่ผู้ที่รับผิดชอบในการก่อให้เกิดหรือยินยอมให้เกิดไฟ หากการเผาไหม้ส่งผลให้เกิดหมอกควันในระดับที่มีผลต่อสุขภาพในสิงคโปร์

อินโดนีเซียยืนยันว่าจะปฏิบัติตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน

แต่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องของอินโดฯ ก็อ้างว่าความพยายามใดๆ ที่ดำเนินการเรื่องนี้จะต้องไม่กระทบต่ออธิปไตยของชาติอินโดนีเซีย

“เรามีหน้าที่ต้องปกป้องชาวอินโดนีเซีย แต่เรายังบังคับใช้กฎหมายกับพวกเขาหากพบว่ามีความผิด” รัฐบาลอินโดฯ แถลง

แต่ก็มีปัญหาระหว่างประเทศที่อ่อนไหวอยู่

เพราะโฆษกรัฐบาลอินโดฯ บอกด้วยว่า "คำตัดสินหรือการคว่ำบาตรใดๆ ต่อฝ่ายอินโดนีเซียที่ออกโดยศาลและรัฐบาลต่างประเทศจะไม่ถูกดำเนินการโดยอัตโนมัติในอินโดนีเซีย"

แต่อินโดฯ ก็ไม่ต้องการถูกมองว่าไร้ความผิดชอบต่อเพื่อนบ้านและข้อตกลงของอาเซียน

รัฐบาลอินโดนีเซียจึงสำทับว่าจะใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและป่าไม้ในการบังคับใช้กับบริษัทที่ทำผิดกฎหมาย หากพบว่ามีการละเมิดกฎหมาย

กฎหมายมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดนของสิงคโปร์ ได้รับการตราขึ้นเพื่อเสริมความพยายามของประเทศอื่นๆ ในการถือหุ้นบริษัทต่างๆ ซึ่งรวมถึงบริษัทในสิงคโปร์และบริษัทนอกสิงคโปร์ เพื่อรับผิดชอบต่อการก่อให้เกิดหรือมีส่วนทำให้เกิดมลพิษจากหมอกควันในสิงคโปร์

โดยเน้นว่ากฎหมายฉบับนี้มันไม่ได้มุ่งไปที่นิติบุคคลใดๆ ของประกาศใดเป็นการเฉพาะ

อีกทั้งจะใช้ให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

และย้ำว่ากฎหมาย THPA ฉบับนี้ไม่ได้แทนที่กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของประเทศอื่นๆ

แต่จะเพิ่มความพยายามร่วมกันเพื่อให้ “บริษัทที่กระทำผิด” ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของพวกเขา

เมื่อวิกฤตเรื่อง “หมอกควันเพื่อนบ้าน” มีแต่จะเสื่อมทรุดลงทุกวัน นั่นย่อมแปลว่ากฎหมายและข้อตกลงของอาเซียนวันนี้ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

จำเป็นที่ไทยเราต้องเป็นผู้ขับเคลื่อนให้เกิดความตื่นตัว เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงมาตรการทางปฏิบัติที่เกิดผลมากกว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

เพราะประชาชนชาวอาเซียนทุกคนมีสิทธิ์จะหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไปในปอดของทุกคนเช่นกัน!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ