ผู้พิทักษ์รักษ์ราชัน

ปี พ.ศ.2549 นับเป็นปีแห่งประวัติศาสตร์ เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ 60 ปี

พสกนิกรชาวไทยและหน่วยราชการได้มีการจัดกิจกรรม เพื่อเฉลิมฉลองทั่วทุกภูมิภาคของประเทศอย่างต่อเนื่องตลอดปี สำหรับกรุงเทพมหานครนั้น เป็นพื้นที่หลักที่มีการจัดงานพระราชพิธีและกิจกรรม ในระหว่างวันที่ 8-14 มิถุนายน 2549

รัฐบาลได้รับพระบรมราชานุญาต ร่วมกับประชาชนชาวไทยจัดงานเฉลิมฉลองอย่างสมพระเกียรติตามโบราณราชประเพณี เพื่อร่วมแสดงความกตัญญูกตเวทิตา น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณและแสดงความจงรักภักดี ถวายเป็นราชสักการะโดยพร้อมเพรียงกัน

โดยมีการกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระราชาธิบดีและสมเด็จพระราชินีของต่างประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประมุขทั่วโลก 25 ประเทศ เข้าร่วมพิธีฉลองสิริราชสมบัติด้วยในฐานะแขกของรัฐบาล

รัฐบาลได้มอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดการรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนินเข้าร่วมงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระประมุขต่างประเทศ ในวันที่ 12-13 มิถุนายน 2549 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สง่างาม และสมพระเกียรติ

ตลอดรวมถึงการจัดการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่สัญจร และที่มารวมตัวกันเฝ้าชมพระบารมีตามเส้นทางเสด็จฯ และในบริเวณงานพิธีต่างๆ

โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เตรียมความพร้อมทั้งในด้านกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อให้ภารกิจครั้งนี้ ประสบความสำเร็จและบรรลุวัตถุประสงค์อย่างดีที่สุด

พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร.ในขณะนั้น ได้จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจรักษาความปลอดภัย และการจราจรประมุขรัฐจากต่างประเทศที่เสด็จฯ มางานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (ศสร.) เพื่อเป็นศูนย์อำนวยการ ควบคุมสั่งการ และประสานงานด้านต่างๆ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ได้แต่งตั้ง พล.ต.อ.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา รอง ผบ.ตร.(ฝ่ายกิจการพิเศษ) เป็นผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจ พล.ต.ท.นาวิน สิงหะผลิน และ พล.ต.ท.อุกฤษฎ์ ปัจฉิมสวัสดิ์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็น รอง ผอ.ศูนย์ฯ

พล.ต.อ.อิสระพันธ์ เป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมกับตำแหน่ง ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจอย่างยิ่ง มีประสบการณ์เคยเป็นนายตำรวจราชองครักษ์ประจำ และเคยดำรงตำแหน่งสำคัญๆ เช่น ผู้บังคับการกองการต่างประเทศ ผู้บัญชาการศึกษา เป็นต้น

ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าฝ่ายอำนวยการศูนย์ฯ ทำหน้าที่รับผิดชอบงานฝ่ายอำนวยการ รวบรวมข้อมูล ประชุมเตรียมการ เสนอแนะจัดทำแผนคำสั่ง กำกับดูแลและประสานงานกับทุกหน่วย เพื่ออำนวยการสนับสนุนการรักษาความปลอดภัยและการจราจร

ฝ่ายอำนวยการที่เป็นกำลังหลัก 2 นาย คือ พล.ต.ต.รณรงค์ ยั่งยืน และ พล.ต.ต.ประยูร อำมฤต ซึ่งมีประสบการณ์มาแล้วหลายภารกิจสำคัญๆ เช่น การประชุมระดับประเทศ APEC เป็นต้น

เริ่มการดำเนินการ ได้กำหนดแผนรักษาความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร เพื่อเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบดูแลและเตรียมการให้สมบูรณ์แบบมากที่สุด

กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดย พล.ต.ท.วิโรจน์ จันทรังษี ผบช.น. เป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นหน่วยหลักทำหน้าที่ถวายความปลอดภัยและจัดการจราจรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

กองบัญชาการตำรวจภูธรเจ้าของพื้นที่ กรณีพระประมุขเสด็จฯ ไปต่างจังหวัด กองบัญชาการตำรวจสันติบาล กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกองบัญชาการตำรวจภูธร 1-9

สนับสนุนกำลังมาช่วยรักษาความปลอดภัยสถานที่ โรงแรมอันเป็นที่ประทับของบรรดาเหล่าพระประมุขต่างๆ

การเตรียมการ 2 เรื่อง การถวายความปลอดภัยพระประมุขและคณะผู้ติดตาม และการจัดการจราจร เป็นสิ่งที่จะต้องวางแผนการปฏิบัติทั้งในด้านความปลอดภัยและความสะดวกในการเดินทางให้มีความสอดคล้องสัมพันธ์กัน

มาตรการด้านถวายความปลอดภัย มีการเตรียมการในเรื่องต่างๆ ดังนี้

มาตรการด้านการข่าว มีการร่วมประชุมกับหน่วยข่าวทุกส่วนราชการ และหน่วยข่าวทุกประเทศที่พระประมุขเสด็จฯ มาร่วมพิธี เพื่อติดตามสถานการณ์ข่าว ตั้งแต่ก่อนพระประมุขเสด็จฯ ช่วงเวลาประทับอยู่ในประเทศจนเสด็จฯ กลับ

ความปลอดภัยเขตร่อนอากาศยาน ร่วมกับกองทัพอากาศ ดูแลความปลอดภัยให้กับเครื่องบินพระที่นั่ง ในขณะที่ร่อนลงและบินขึ้น บริเวณสนามบินและพื้นที่ต่อเนื่อง

ความปลอดภัยในเส้นทางเสด็จพระราชดำเนิน จัดเตรียมเส้นทางเสด็จฯ ของพระประมุขไปยังสถานที่ต่างๆ เช่น เดินทางจากท่าอากาศยานไปโรงแรมที่ประทับ เส้นทางจากโรงแรมที่ประทับไปยังสถานที่จัดงานพิธี รวมทั้งเสด็จฯ ไปยังสถานที่ต่างๆ เป็นการส่วนพระองค์ ต้องตรวจสอบและควบคุมระมัดระวังอาคารและสถานที่สูงต่างๆ อย่างยิ่ง

ความปลอดภัยบริเวณโรงแรมที่ประทับ โรงแรมที่ประทับพระประมุขและคณะผู้ติดตาม จำนวน 13 โรงแรม เช่น โรงแรมโอเรียนเต็ล โรงแรมแชงกรี-ลา โรงแรมรอยัล ออคิด เชอราตัน ฯลฯ

พื้นที่ภายในอาคารโรงแรม ให้ตำรวจสันติบาล ตำรวจตระเวนชายแดน และตำรวจภูธร ภาค 1-7 ดูแลรับผิดชอบ

พื้นที่ภายนอกโรงแรม ให้ตำรวจนครบาลดูแลรับผิดชอบ รวมทั้งควบคุมอาคารสูงข่ม การตั้งจุดตรวจ จุดสกัดต่างๆ เป็น 3 วงรอบ ตามระยะที่กำหนดไว้

ความปลอดภัย ณ ที่หมายพิธี กำหนดแผนและการปฏิบัติอย่างละเอียดรอบคอบทุกขั้นตอน เพื่อถวายความปลอดภัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบรมวงศานุวงศ์ และพระประมุขจากประเทศต่างๆ ทุกพระองค์ที่เสด็จฯ เข้าร่วมงานพิธีที่จัดขึ้น

พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นที่หมาย 1 ราชนาวิกสภาและหอประชุมกองทัพเรือ เป็นที่หมาย 2 และพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทและพระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร เป็นที่หมาย 3

มาตรการด้านการจราจร จัดวางระบบการเดินทางและการจัดการจราจรให้สอดคล้องกับมาตรฐานความปลอดภัยของการเดินทางอย่างสูงสุด ขบวนรถยนต์พระที่นั่งของพระประมุขต้องไปยังที่หมายงานพระราชพิธีอย่างตรงเวลา เข้าถึงที่หมายได้ตามลำดับ เรียงขบวนก่อนหลังตามกำหนด มีความสง่างามทั้งไปและกลับ ส่งผลกระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่ใช้เส้นทางน้อยที่สุด

การแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กรณีมีเหตุฉุกเฉินคุกคามความปลอดภัยขององค์พระประมุข ณ โรงแรมที่ประทับ ได้วางแผนจัดเตรียมความพร้อมสถานที่พิเศษเป็นพื้นที่ปลอดภัย และกำลังจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ "อรินทราช 26” เพื่อถวายอารักขาและเคลื่อนย้ายที่ประทับชั่วคราว ไปตามเส้นทางพิเศษที่กำหนดไว้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ และตอบโต้เหตุวิกฤตต่างๆ

การสนับสนุนทางการแพทย์ ได้ประสานงานให้กระทรวงสาธารณสุขจัดให้บริการทางการแพทย์ ถวายองค์พระประมุขและผู้แทนทุกพระองค์ จัดเตรียมแผนเส้นทางฉุกเฉิน เพื่อสนับสนุนการส่งกลับสายแพทย์ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดที่มีการเสด็จฯ ไป

การเตรียมความพร้อมและฝึกซ้อมปฏิบัติ โดยการอำนวยการของ พล.ต.ท.ศุภวุฒิ สังข์อ่อง ผบช.ศ. และ พล.ต.ต.ธีรวัฒน์ ณ ป้อมเพชร ผบก.สบพ.บช.ศ. จัดให้มีการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ จำนวน 8 หลักสูตร

เริ่มจาก หลักสูตรอบรมชุดครูฝึก คัดเลือกครูฝึกที่มีความรู้ความสามารถมาอบรมครูฝึก เพื่อไปฝึกตำรวจต่อในเรื่องการรักษาความปลอดภัย

หลักสูตรนายตำรวจเกียรติยศ คัดเลือกนายตำรวจชาย 35 นาย นายตำรวจหญิง 19 นาย เพื่อไปทำหน้าที่นายตำรวจติดตามพระประมุข ทำหน้าที่หัวหน้าชุดถวายความปลอดภัยประจำพระองค์พระประมุข และถวายงานตามพระราชประสงค์

หลักสูตรการรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ สำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปทำหน้าที่ชุดคุ้มครอง ฝึกยุทธวิธี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการต่อสู้ป้องกันตัว การใช้อาวุธ ฯลฯ เพื่อคุ้มครอง ป้องกันภัยให้กับพระประมุขหรือผู้แทน ปลอดภัยสูงสุด

หลักสูตรพลขับ คัดเลือกนายตำรวจสัญญาบัตร ร.ต.อ.ขึ้นไป มาขับรถยนต์พระที่นั่งพระประมุข และพลขับรถในขบวนอื่นๆ ให้มีการฝึกฝนและชำนาญ ในการขับรถทางยุทธวิธีเป็นอย่างดี

หลักสูตรรักษาความปลอดภัยสถานที่ ฝึกอบรมผู้บัญชาการประจำโรงแรมที่ประทับต่างๆ ซึ่งเป็นนายตำรวจระดับรองผู้บังคับการ (พ.ต.อ.พิเศษ) จากหน่วยต่างๆ ให้สามารถตรวจสอบและดูสถานที่ปฏิบัติงานจริง ในโรงแรมทุกแห่งรับรู้ข้อมูลทั่วไป แผนผัง โครงสร้าง สภาพพื้นที่ แล้วนำมาจัดทำแผนปฏิบัติงานและแผนเผชิญเหตุต่างๆ เพื่อรักษาความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ

หลักสูตรรักษาความปลอดภัยล่วงหน้า ฝึกตำรวจเพื่อสำรวจความพร้อมในพื้นที่ก่อนเสด็จฯ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ช่วยเหลือสนับสนุนนายตำรวจเกียรติยศ และชุดรักษาความปลอดภัยประจำพระองค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หลักสูตรอำนวยความสะดวกให้กับช่างภาพสื่อมวลชน เนื่องจากมีผู้สื่อข่าวทั้งไทยและผู้สื่อข่าวต่างประเทศซึ่งติดตามพระประมุขมาทำข่าวจำนวนมาก ต้องมีการจัดระบบสื่อมวลชนที่มาทำข่าว ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย จัดตรวจกล้องและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย เน้นการปฏิบัติหน้าที่ที่สุภาพ เรียบร้อย และให้มีความปลอดภัยสูงสุด

หลักสูตรตำรวจท้องที่รักษาความปลอดภัย ฝึกอบรมให้ตำรวจท้องที่ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยรอบโรงแรมที่ประทับ ตั้งด่านตรวจค้นบุคคล ยานพาหนะ สังเกตบุคคล และวัตถุต้องสงสัย รวมไปถึงการตอบโต้และแก้ไขสถานการณ์ต่างๆ

หลักจากฝึกอบรมเสร็จ ก็มีการตรวจความพร้อมและซักซ้อมการปฏิบัติบางหลักสูตรโดยเฉพาะชุดขบวนเสด็จฯ อันประกอบด้วยนายตำรวจเกียรติยศพลขับ เจ้าหน้าที่อาวุธชุดพิเศษ รถเบิกทาง รถนำ รถปิดท้ายขบวน

ต้องฝึกซ้อมร่วมกันหลายครั้ง ทดสอบเส้นทางต่างๆ ตามหมายกำหนดการในเวลาเหมือนวันจริงทั้งวันทั้งคืน เพื่อให้มีความมั่นใจและพร้อมเพรียงในการปฏิบัติอย่างดียิ่ง ไม่ให้มีข้อผิดพลาดขึ้นเด็ดขาด

การอำนวยการและการจัดการจราจร ภายใต้การควบคุมของ พล.ต.ต.จรัมพร สุระมณี และ พล.ต.ต.นพศักดิ์ สิทธิพร ควบคุม กำกับดูแล ฝึกซ้อม รถขบวนเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ พระประมุข จำนวนมากทุกขบวน เดินทางถึงที่หมายตามกำหนดการเรียงลำดับด้วยความเรียบร้อย

การปฏิบัติตามภารกิจต่างๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ออกสีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นวันมหามงคลอันยิ่งใหญ่ที่นับเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและประวัติศาสตร์โลก ประชาชนชาวไทยกว่า 60 ล้านคนรอคอย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศซึ่งพร้อมจะทำหน้าที่ "ผู้พิทักษ์” เพื่อถวายความปลอดภัย ถวายชีวิตแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

ตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 9 มิถุนายน 2549 ท้องฟ้ายังไม่สว่าง ประชาชนทุกหมู่เหล่าสวมใส่เสื้อสีเหลืองเดินทางมาชุมนุมอย่างเนืองแน่นบริเวณลานพระรูปทรงม้าเพื่อรอเฝ้าชมพระบารมี คลื่นมหาชนทอดยาวไปตามถนนราชดำเนินเลยไปถึงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไกลออกไปจนกระทั่งไม่มีที่สิ้นสุด

ภาพที่ทุกคนอาจไม่ทันสังเกต คือภาพตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ อำนวยความสะดวกการจราจรและดูแลความปลอดภัยให้กับพี่น้องประชาชนอย่างเข้มแข็งไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย

วันที่ 11 มิถุนายน 2549 พระประมุขเริ่มเสด็จฯ มาถึงประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นผู้แทนพระองค์รับเสด็จฯ  ณ ท่าอากาศยานกองทัพพอากาศ และท่าอากาศยานดอนเมือง

เมื่อพระประมุขและผู้แทนพระองค์แต่ละประเทศเสด็จฯ มาถึงประเทศไทย นายตำรวจเกียรติยศและชุดรักษาความปลอดภัยเข้าถวายความปลอดภัยทันที และทุกหน่วยตำรวจที่เตรียมความพร้อมไว้แล้ว ก็ได้เริ่มปฏิบัติงานทันทีเช่นกัน

วันที่ 12 มิถุนายน 2549 มีหมายกำหนดการ 2 หมาย เวลา 14.00 น. พิธีถวายพระพรชัยมงคล ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เวลา 18.00 น. เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรขบวนเรือพระราชพิธี ณ ราชนาวิกสภา และเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ ณ หอประชุมกองทัพเรือ

ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) บริหารจัดการรถขบวนพระที่นั่งของพระประมุขเข้าที่หมายได้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เรียงลำดับอาวุโสของการครองราชย์จากพระประมุขอาวุโสน้อยสุดจนถึงพระประมุขอาวุโสสูงสุด

วันที่ 13 มิถุนายน 2549 เวลา 19.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 พระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแด่พระประมุขและพระราชวงศ์ทุกพระองค์ ที่พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร

วันที่ 14 มิถุนายน 2549 เป็นวันที่ส่งเสด็จพระประมุขกลับแต่ละประเทศ

งานพระราชพิธีเฉลิมฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีจะผ่านพ้นไปแล้วหลายปี ตำรวจที่ร่วมปฏิบัติหน้าที่ถวายความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกการจราจร ยังจดจำมิเคยลืมเลือน

ตำรวจทุกนายได้ร่วมกันด้วยความสามัคคี ทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความภาคภูมิใจ ตั้งแต่ฝึกซ้อมจนถึงวันปฏิบัติหน้าที่จริง เป็นผลให้ภารกิจสำเร็จ เรียบร้อยทุกประการ

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะแสดงความจงรักภักดี กตัญญูกตเวทีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระผู้เป็นราชาผู้พิทักษ์ ปกปักรักษา คุ้มครอง เมตตาให้ประชาชนชาวไทยมีความสุขร่มเย็นตลอดมา

“กราบพ่อ ไม่ขอพร จากพ่อ เพราะพ่อให้ เกินพอ เกินใครให้ ขอทำดี ทำเพื่อพ่อ สบายใจ ทำเพื่อไทย เสริมต่อ เหมือนพ่อทำ” (โดย พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุทธารมณ์).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)

สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด

ตำรวจ ศชต.

“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”

ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”

ตำรวจพลร่ม

ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา

หมอนิติเวชตำรวจ

พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต

เครื่องจับเท็จ

มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ