เวทีดีเบตของพรรคการเมืองที่ผ่านมาเน้นประเด็น “ประชานิยม” และ “ใครจะมีดีลลับกับใคร” มากกว่าหัวข้ออื่นที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าเรื่องเศรษฐกิจและการเมือง
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา, นโยบายต่างประเทศ, สาธารณสุข หรือแม้แต่ปัญหาสังคมคนสูงวัย (ที่ไม่ได้จำกัดแค่เรื่องแจกเงินให้คนแก่อย่างที่เห็นอยู่เท่านั้น)
ความทุกข์ยากแสนสาหัสที่คนไทยเผชิญอยู่ขณะนี้ แต่ดูเหมือนจะไม่ได้รับความสนใจในการ “ดีเบต” เกี่ยวกับรายละเอียดอย่างเพียงพอก็คือ “อากาศเป็นพิษ”
ซึ่งมีผลกว้างไกลทั้งด้านเศรษฐกิจ, สาธารณสุข, สังคม และความรับผิดชอบของภาครัฐและเอกชนต่อภาคประชาสังคม
แต่พอยกเรื่องนี้ขึ้นมาถกแถลง ส่วนใหญ่เป็นเพียงแค่เรื่องเฉพาะหน้าและคำมั่นสัญญาที่ไม่มีนโยบายในภาคปฏิบัติที่จับต้องได้
น่าสนใจว่าฝ่ายที่ “ทำการบ้าน” เรื่องนี้อย่างจริงจัง บนพื้นฐานของการวิเคราะห์ข้อมูลและความสัมพันธ์กับโลกใบนี้กลับเป็นภาคประชาสังคม
พรรคการเมืองยังไม่ได้ลงมือศึกษาและทำข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร
จึงไม่แน่ใจว่าหลังการเลือกตั้งแล้ว รัฐบาลผสมที่จะมาบริหารประเทศจะมีแนวทางการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่กำลังคุกคามคนไทยอย่างรุนแรงอย่างไรบ้าง
ผมสนใจร่างกฎหมายที่รอการพิจารณาของพรรคการเมืองและรัฐบาลใหม่ ในหลายประเด็นที่ควรจะได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของทุกรัฐบาลและทุกภาคส่วนจากนี้ไป
นั่นคือ “ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ...” หรือเรียกสั้นๆ ว่า “ร่างกฎหมายอากาศสะอาด”
ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์หายใจอากาศบริสุทธิ์
วันนี้เมื่อแม้แต่ในกรุงเทพฯ ก็เจอกับภัยของฝุ่นจิ๋ว PM2.5 ความตระหนักในอันตรายของอากาศเป็นพิษน่าจะมาถึงจุดที่คนระดับนโยบายจะได้รับรู้ว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแค่ปรากฏการณ์ครั้งคราวหรืออยู่ไกลตัวอีกต่อไป
มีความพยายามผลักดันกฎหมายที่เรียกว่า “พ.ร.บ. อากาศสะอาด” มาระยะหนึ่งแล้ว
เพราะหลักการที่ว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะหายใจในอากาศที่สะอาด ไม่ใช่เป็นเพียงคำขวัญหรูๆ บนกระดาษอีกต่อไป
เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่า รัฐมีหน้าที่ต้องรับรอง ปกป้อง และทำให้สิทธิในอากาศบริสุทธิ์ของประชาชนนี้เกิดขึ้น
เริ่มกันตั้งแต่คำถามที่ว่า ทำไมฝุ่น PM2.5 ถึงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อสุขภาพ?
ประการแรกคือ ฝุ่นจิ๋วตัวนี้สามารถผ่านเข้าสู่ทางเดินหายใจได้อย่างง่ายดาย
งานวิจัยทางการแพทย์ยืนยันว่าร่างกายเราไม่สามารถกักและดักจับไว้ได้
มันจึงเข้าไปสะสมในปอดและแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดที่มีผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างน่ากังวล
เมื่อฝุ่นจิ๋วนี้กระจายในกระแสเลือด สิ่งที่ตามมาก็คือร่างกายจะเกิดภาวะโรคต่างๆ เช่น โรคทางเดินหายใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด
รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคตับ โรคไต โรครูมาติก โรคอัลไซเมอร์ และโรคเบาหวานอีกด้วย
เด็กและผู้สูงวัยคือกลุ่มความเสี่ยงสูง เพราะระดับที่จมูกหายใจได้อยู่ใกล้พื้นที่ระดับอากาศไม่ถ่ายเทมากนัก และในระดับที่มีการสะสมของสารพิษตกค้างในอากาศสูงอีกด้วย
เราถามไถ่กันมามากแล้วว่า “ฝุ่นจิ๋วมหาภัย” นี้มาจากไหน?
คำตอบมีอยู่ในหลายๆ วงการ ไม่ว่าจะเป็นการเผาในการทำเกษตร เผาป่า เผาขยะ อุตสาหกรรม การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ รวมไปถึงหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน
จะว่าไปแล้วรัฐบาลที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย แม้จะมีการออกข่าวถึงมาตรการแก้ไข แต่ก็ยังไม่มีทางออกอะไรที่ชัดเจน
ปัญหายิ่งหนักขึ้นทุกวัน ตัวเลขคนไทยที่เสียชีวิต จากมลพิษทางอากาศสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก
ภาคประชาสังคมหลายฝ่ายมีการรวมตัวกันเป็น “เครือข่ายอากาศสะอาด” ประเทศไทย ซึ่งได้ผลักดันร่างกฎหมาย “อากาศสะอาด” เพราะทางการไม่ลงมือทำอย่างจริงจัง
และตราบที่ยังมีการชี้นิ้วกล่าวโทษกันไปมา ก็จะไม่มีทางแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างจริงจัง
ผมเชื่อว่าเครือข่ายประชาชนจะเป็นกลไกสำคัญยิ่งสำหรับการขับเคลื่อนไหวให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่รุนแรงหนักหน่วงนี้
เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย (THAI CLEAN AIR NETWORK) เป็นการรวมตัวของกลุ่มจิตอาสาจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น แพทย์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษทางอากาศ นักเศรษฐศาสตร์ นักกฎหมายสิ่งแวดล้อม นักสื่อสารมวลชน นักเคลื่อนไหวทางสังคม และภาคประชาชน เพื่อหาทางออกในการแก้ไขและจัดการกับปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย
ไม่ได้เป็นเพียงการตั้งวงเสวนาและถกแถลงถึงปัญหาเท่านั้น แต่เครือข่ายนี้ได้นั่งลงร่าง “กฎหมายอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ” หรือที่มีชื่อเต็มว่า “พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …" ผมได้อ่านร่างกฎหมายฉบับนี้แล้ว มองเห็นว่าน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนที่ดึงเอาทุกฝ่ายมาร่วมกันหาทางออกอย่างจริงจัง
ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ที่สื่อต่างชาติเรียกว่า ASIA'S NEXT "AIRPOCALYPSE" หรือ “โลกาวินาศอันเกิดจากมลพิษทางอากาศ” ที่ประเทศไทยเป็นส่วนสำคัญของวิกฤตครั้งนี้
เอกสารของเครือข่ายนี้อธิบายว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาด #CleanAirAct เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2020 หรือเมื่อสองปีเศษๆ นี้เอง
ร่างกฎหมายฉบับนี้จะปรับหลักคิดสำคัญ คือ “อากาศสะอาดเป็นสิทธิของประชาชน”
กำหนดให้มีกลไกสำคัญคือ “คณะกรรมการอากาศสะอาด” เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรง
โดยคณะกรรมการนี้จะต้องมีตัวแทนจาก “จมูกประชาชน” ผู้สูดอากาศ ไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่ง
โดยเป็นร่างกฎหมายฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่อรัฐสภา
กระบวนการผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.อากาศสะอาด จะมีการรวบรวมรายชื่อประชาชนที่เห็นด้วย เพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาเห็นชอบบังคับใช้เป็นกฎหมาย
ร่างกฎหมายฉบับนี้ส่งเข้าไปรัฐสภาประมาณ 1 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
ทางกลุ่มจึงได้มีการชักชวนให้ผู้สนใจร่วมกันลงชื่อ เพื่อให้ครบจำนวน 5 หมื่นรายชื่อ หรือมากกว่า เพื่อผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.อากาศสะอาดในที่สุด
ผมอ่านเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว เห็นว่าน่าสนใจ เพราะหากทำตามร่างนี้ได้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญ
เช่น จะเกิดการบังคับใช้กฎหมาย เพิ่มประสิทธิภาพในการผลักดันให้มีหน่วยงานที่ “กำกับดูแล” การทำงานของหน่วยงานรัฐในการบังคับใช้กฎหมายอากาศสะอาดจริงจังขึ้น
ที่สำคัญคือจะมีการ “บูรณาการ” การทำงาน ไม่ทำแบบเป็นไซโล เพราะที่ผ่านมาปัญหานี้ก็เหมือนกับปัญหาระดับชาติอีกมากมายหลายเรื่อง
คือ “ไม่มีเจ้าภาพ”
เพราะเมื่อกฎหมายบอกว่าเป็น “ความรับผิดชอบร่วมกัน” ของหลายๆ ฝ่าย ลงท้ายก็ไม่มีหน่วยงานไหนลงมือทำอย่างจริงจัง
อีกประเด็นหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการแก้ปัญหานี้คือ จะเกิดการกระจายอำนาจ ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลทั่วถึงทุกพื้นที่
เปิดโอกาสให้ประชาชน “ร่วมจัดการ” อากาศสะอาดสามระดับ คือ ระดับนโยบาย ระดับกำกับดูแล และระดับปฏิบัติ
โดยมีเป้าหมายสำคัญที่สุดคือ การปกป้องสิทธิที่จะหายใจอากาศสะอาดของประชาชน
ใครก็ตามที่จะมาเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ จะต้องยึดเรื่องนี้เป็นอันดับต้นๆ ของนโยบายที่จะทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
ทั้งสำคัญวันนี้ วันหน้า และตลอดไป
หากยังทำแบบขอไปที รับปากแล้วก็ยังทำเหมือนเดิม ต่อไปบ้านเมืองก็จะเจอกับภัยพิบัติอย่างรุนแรงเกินกว่าที่จะจินตนาการได้จริงๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ