เมื่ออินเดียแซงหน้าจีนในฐานะประเทศประชากรสูงสุดของโลก...เป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย?
ด้วยพื้นที่ประมาณ 2.4% ของผืนแผ่นดินโลก วันนี้อินเดียเป็นที่อยู่อาศัยของของคนเกือบหนึ่งในห้าของทั้งโลก
โดยมีประชากรมากกว่า 1.4 พันล้านคน
หรือมากกว่าประชากรทั้งหมดของอเมริกา แอฟริกา หรือยุโรปรวมกัน
ขณะเดียวกัน จีนซึ่งมีขนาดประมาณ 3 เท่าของอินเดียมีประชากรใกล้ๆ กับอินเดีย
แต่ความแตกต่างอยู่ที่ว่าประชากรของอินเดียค่อนข้างอายุน้อยและกำลังเติบโต
ในขณะที่คนจีนกำลังแก่ตัวลงและมีจำนวนน้อยลง
หนีไม่พ้นว่าการเปลี่ยนแปลงทางประชากรก่อให้เกิดความท้าทาย ทางเศรษฐกิจและสังคมที่สำคัญสำหรับยักษ์ใหญ่ในเอเชียทั้งสองประเทศ
เพราะหากไม่ดิ้นรนเพื่อปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของประชากร ก็อาจจะนำมาซึ่งปัญหาที่หนักหนาสาหัสได้
ประชากรของอินเดียนับอย่างไร?
ประชากรของอินเดียมีจำนวนเกิน 1.4286 พันล้านคน ซึ่งสูงกว่าของจีน 1.4257 พันล้านคนเล็กน้อย ตามการประมาณการกลางปี 2566
ตัวเลขทางการแจ้งว่า อินเดียมีทารกเพิ่มขึ้นประมาณ 23 ล้านคนในปี 2565 แม้ว่าอัตราการเกิดได้ชะลอตัวลงเหลือ 19.7 ในปี 2562 จาก 24.1 ในปี 2547
ประชากรของประเทศยังคงเติบโตแม้ว่าจะช้าลงก็ตาม
เมื่อเทียบกับจีนแล้วจะเห็นว่า จีนจดทะเบียนเด็กแรกเกิดเพียง 9.56 ล้านคน ซึ่งต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2493 เป็นอย่างน้อย เพราะมีการบันทึกการเสียชีวิตมากขึ้น
จำนวนประชากรที่นั่นจึงลดลงเป็นครั้งแรกในหลายสิบปี
อินเดียคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งจำนวนประชากรสูงสุดในช่วงต้นถึงกลางปี 2603
ในขณะที่การคาดการณ์สำหรับจีนคือจำนวนประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง
การที่ประชากรเพิ่มขึ้นในอินเดียมีทั้งข้อดีและข้อเสีย
อินเดียไม่เพียงแต่มีประชากรมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีประชากรที่อายุน้อยที่สุดอีกด้วย
ข้อมูลของสหประชาชาติสะท้อนว่า ประชากรมากกว่าครึ่งมีอายุต่ำกว่า 30 ปี โดยมีอายุเฉลี่ย 28 ปี
เทียบกับประมาณ 38 ปีทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีน
ความได้เปรียบของการมีคนอายุน้อยมากกว่า อาจมีบทบาทสำคัญในการปลดล็อกการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ด้วยประชากรกว่า 2 ใน 3 ในวัยทำงาน ซึ่งมีอายุระหว่าง 15 ถึง 64 ปี ทำให้อินเดียสามารถผลิตและบริโภคสินค้าและบริการได้มากขึ้น ขับเคลื่อนนวัตกรรม และก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง
นั่นคือหากอินเดียสามารถบริหารการส่งผ่านแรงงานไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรม และผู้คนย้ายออกจากการเกษตร
นายกฯ นเรนทรา โมดี ซึ่งคาดว่าจะดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 3 ในปีหน้า ได้พยายามปรับส่วนแบ่งการผลิตด้านอุตสาหกรรมในระบบเศรษฐกิจเป็น 25% จาก 14% ที่คิดอยู่ในขณะนี้
แต่ขณะเดียวกันอินเดียก็ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน
เริ่มด้วยต้องแก้ไขปัญหาหลักของความยากจน ความหิวโหย และภาวะทุพโภชนาการอย่างมีประสิทธิภาพ ปรับปรุงสุขอนามัยและการศึกษาให้ดีขึ้น สร้างโครงสร้างพื้นฐาน และทำให้หมู่บ้านและเมืองน่าอยู่
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ยากต่อการจัดหาความมั่นคงทางอาหารและไฟฟ้าทั่วประเทศ ที่ยังคงเป็นพื้นที่เกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่
คลื่นความร้อนที่ยืดเยื้อในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิตอย่างกว้างขวาง
อีกด้านหนึ่ง อินเดียกำลังเผชิญกับปัญหาน้ำอย่างเฉียบพลัน ทั้งการขาดแคลนและมลพิษ
ประมาณ 40% ของครัวเรือนในชนบทไม่มีน้ำใช้ภายในบ้าน
การใช้จ่ายของรัฐบาลกลางและรัฐในการดูแลสุขภาพอยู่ที่ประมาณ 2% ของ GDP ซึ่งต่ำที่สุดในโลก และประมาณการว่ามากกว่า 1 ใน 3 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีภาวะแคระแกร็น
ครึ่งหนึ่งของผู้หญิงในกลุ่มอายุ 15-49 ปีเป็นโรคโลหิตจาง
อินเดียติดอันดับสุดท้ายจาก 180 ประเทศในดัชนีประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อปีที่แล้ว ที่สำรวจและวิจัยโดยมหาวิทยาลัยเยลของสหรัฐฯ
ที่เป็นปัญหาหนักอกอีกเรื่องหนึ่งคือ เยาวชนเกือบหนึ่งในสามของประเทศไม่มีงานทำ ไม่มีการศึกษาหรือได้รับการฝึกอบรมใดๆ
มีแรงงานเพียง 5% ของประเทศเท่านั้นที่ได้รับการยอมรับว่ามีทักษะอย่างเป็นทางการ
ซ้ำโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของประเทศนี้มีโครงสร้างพื้นฐานที่ยังต่ำกว่ามาตรฐานและขาดครูที่มีคุณภาพ
อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมของจีนต่ำกว่าของอินเดีย
อินเดียมีนโยบายควบคุมการเกิดใหม่ของประชากรเช่นกัน เพื่อไม่ให้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมบานปลายเกินความสามารถที่จะแก้ไขได้
ในปี 2513 รัฐบาลอินเดียเริ่มส่งเสริมครอบครัวขนาดเล็กอย่างจริงจัง
สโลแกนภาษาฮินดีที่ว่า "hum do, humare do" แปลคร่าวๆ ว่า "เราสองคนกับลูกสองคนของเรา" ได้รับการเปิดตัว
รัฐเสนอบริการทำหมันหญิงและชายและการคุมกำเนิด ซึ่งล้วนแต่ราคาถูกหรือทำให้ฟรีผ่านโรงพยาบาลและคลินิกที่ดำเนินการโดยรัฐบาล
แต่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โครงการนี้ได้ยุติลง
ข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า อัตราการเจริญพันธุ์เริ่มมีแนวโน้มลดลง และตอนนี้ลดลงเหลือ 2 ซึ่งต่ำกว่าระดับการเจริญพันธุ์ทดแทนที่ 2.1 เด็กต่อผู้หญิงหนึ่งคน
สหประชาชาติคาดการณ์ว่าอินเดียจะมีประชากร 1.668 พันล้านคนภายในปี 2593
ส่วนตัวเลขนี้ของจีนกลับไปกลับมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เพราะรัฐบาลพยายามจำกัดการเกิดมาเป็นส่งเสริมให้มีลูกมากขึ้น โดยเกรงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากจำนวนแรงงานที่ลดลง
ก่อนหน้านี้สหประชาชาติคาดว่าจีนจะมีประชากร 1.317 พันล้านคนภายในปี 2593
การมีประชากรอันดับหนึ่งของโลกมีความหมายทางการเมืองอย่างไรต่ออินเดียหรือ?
แน่นอน การเป็นเบอร์หนึ่งด้านประชากรทำให้มีความเป็น “แชมป์” ในด้านนี้
เพราะเดิมก็มีสถานะเป็นประเทศ “ประชาธิปไตยใหญ่ที่สุดของโลก” อยู่แล้ว
เพราะจีนไม่ถูกจัดว่าเป็น “ประชาธิปไตย” ในความหมายของตะวันตก
เมื่อมีตำแหน่งใหม่เป็นประเทศประชากรมากที่สุดบนโลกใบนี้แล้ว อินเดียก็อาจจะมีสิทธิ์เรียกร้องที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ทุกวันนี้มีเพียง 5 ประเทศเท่านั้นที่มีสถานะนี้ ได้แก่ สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และจีน)
อีกด้านหนึ่งอินเดียก็กำลังใช้อำนาจทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น เพื่อวางตำแหน่งตัวเองในฐานะผู้เล่นภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ
เช่นสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ในการจัดกลุ่ม “จตุภาคี” หรือ Quad
แต่ก็คบหากลุ่ม BRICS ที่มีจีนและรัสเซียเป็นแกนหลักด้วย
โดยกลุ่มนี้มี บราซิล, รัสเซีย, อินเดีย, จีน และแอฟริกาใต้
ดังนั้น เมื่อกลายเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดของโลก สถานะใหม่สำหรับอินเดียจึงมีทั้งข่าวดีและข่าวร้าย ที่ต้องอาศัยฝีมือการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพสูงจริงๆ จึงจะได้ประโยชน์เต็มที่.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว