รออยู่หลายวัน
รอธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาพูดถึงนโยบายแจกเงินดิจิทัลหัวละ ๑ หมื่นบาท ๕๕ ล้านคน ว่าจะมีความเห็นประการใด
วานนี้ (๒๔ เมษายน) "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ออกตัวล้อฟรี ไม่ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายที่พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งนำมาหาเสียง
แต่ก็มีติ่งว่า "ในหลักการแล้ว หากเป็นนโยบายที่ออกมาแล้วบั่นทอนต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ ก็เป็นปัจจัยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องจับตา"
เป็นอันว่าเข้าใจตรงกันนะครับ
แบงก์ชาติจับตาดูอยู่
ก็ถือเป็นครั้งแรกครับที่ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ออกมาพูดในภาพกว้าง แม้ไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าเป็นนโยบายของพรรคการเมืองใด แต่ก็ให้ความชัดเจนว่า นโยบายแบบไหนควรทำ หรือไม่ควรทำ
สิ่งที่ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติบอกคือ จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศ มีความจำเป็นที่จะต้องดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ ๔ เรื่อง
ประกอบด้วย...
๑.เสถียรภาพด้านราคา
นโยบายที่ออกมาจะต้องไม่กระตุ้นให้เงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้นมาก (ไฮเปอร์ อินเฟรชัน) เช่นในหลายประเทศที่จะต้องมีการพิมพ์เงินออกมาเพื่อแก้ไขปัญหาเสถียรภาพ ทำให้นโยบายการเงินต้องไปตอบสนองนโยบายการคลังเกินความจำเป็น
จนขาดเสถียรภาพในการกำหนดนโยบาย!
๒.เสถียรภาพด้านต่างประเทศ เช่น การทำนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่จะไปกระทบกับความเชื่อมั่นของนักลงทุน
๓.เสถียรภาพด้านฐานะการคลัง
ต้องคำนึงบนพื้นฐานหลายอย่าง ไม่ให้ภาระการคลังสูงเกินไปจนกระทบกับเสถียรภาพและหนี้สาธารณะต่อจีดีพี รวมถึงภาระหนี้ต่องบประมาณจะต้องควบคุมไม่ให้สูงเกินไป
ในส่วนของไทย ปัจจุบันภาระหนี้ต่องบประมาณยังอยู่ในสัดส่วน ๘.๕%
คาดว่าสิ้นปีจะอยู่ที่ ๘.๗๕%
แต่หากมีการทำนโยบายใช้จ่ายที่กระตุ้นภาระหนี้ให้สูงมากกว่า ๑๐% ประเทศก็อาจจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ
๔.เสถียรภาพระบบสถาบันการเงิน
ต้องทำนโยบายที่ไม่กระตุ้นให้ผิดวินัยการชำระหนี้ ซึ่งมีโอกาสที่จะทำให้เกิดหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพ
ทั้ง ๔ เรื่องนี้ คือหัวใจของเสถียรภาพเศรษฐกิจ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลหน้าจะต้องดูแลอย่างเคร่งครัด เพราะผลของมันจะส่งไปถึงประชาชนทั้งประเทศ
ทุกพรรคการเมืองฟังให้ชัดๆ นะครับ ในมุมของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้น
"....สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะเข้าสู่โหมดในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวที่ ๓.๖% ซึ่งมองว่าระดับการเติบโตของจีดีพีกลับเข้าสู่ช่วงการระบาดของโควิด-๑๙ ได้ในช่วงไตรมาส ๑/๒๕๖๖โดยเครื่องยนต์สำคัญที่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัว คือ ท่องเที่ยว ที่คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะอยู่ที่ ๒๘ ล้านคน และการบริโภคของภาคเอกชนที่บางช่วงอาจจะชะลอลงบ้าง แต่ในภาพรวมยังขยายตัวได้และยังไม่เห็นสัญญาณดร็อปลง ซึ่งน่าจะช่วยชดเชยการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกได้ แต่ก็ยังเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่งออกจะฟื้นกลับมาเป็นบวกได้ราว ๔% จากครึ่งปีแรกที่ติดลบ ๗% รวมถึงมองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้เกิน ๔%
ดังนั้น การดำเนินนโยบายทั้งด้านการเงินและการคลังจึงแตกต่างกับในช่วงโควิด-๑๙ ที่ต้องจัดเต็ม แต่ขณะนี้มาตรการที่ออกมาจะต้องเน้นในการดูแลเรื่องเสถียรภาพ ซึ่งมีความสำคัญมากกว่ากระตุ้นให้ขยายตัว โดยนักลงทุนต่างชาติเองก็ให้ความสำคัญที่สุดในเรื่องเสถียรภาพเป็นหลัก ที่ต้องมาจากหลายอย่างด้วยกัน ทั้งเสถียรภาพฝั่งการคลัง เสถียรภาพด้านราคา อัตราเงินเฟ้อ เสถียรภาพในระบบสถาบันการเงินที่ต้องเข้มแข็ง เสถียรภาพด้านต่างประเทศ ดังนั้นจึงยืนยันได้ว่าขณะนี้เรื่องเสถียรภาพสำคัญที่สุด มากกว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจ..."
ครับ...สำรวจนโยบายพรรคการเมืองที่นำเสนออยู่ในวันนี้ พรรคเพื่อไทยกำลังล้ำเส้นสถานการณ์เศรษฐกิจ
การแจกหัวละหมื่น อ้างว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทยจะใช้เศรษฐกิจไทยสังเวยการเข้าสู่อำนาจ
สถานการณ์วันนี้ต่างจากช่วงโควิดระบาดหนักอย่างสิ้นเชิง
เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวกลับมาทำงานแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นเรื่อยๆ ความรู้เศรษฐศาสตร์พื้นฐานก็น่าจะแยกแยะได้ว่า ไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินประชาชนแล้ว
สิ่งที่ควรทำคือให้น้ำหนักในเรื่องของการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เพราะที่ผ่านมาได้เห็นกันแล้วว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นการได้ผลในระยะสั้น ส่งผลข้างเคียงให้เกิดภาระหนี้ตามมา
จึงจำเป็นต้องสร้างศักยภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะเร่งผลักดันเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน
ท่องไว้นะครับ ประเทศไทยจะทยานไปข้างหน้าได้ สิ่งที่รัฐบาลถัดไปต้องทำคือ โครงสร้างพื้นฐาน
ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้่งบางส่วนอาจไม่เข้าใจความหมาย และความสำคัญ ของโครงสร้างพื้นฐาน ว่าทำไมต้องสร้าง
แจกเงินให้ประชาชนไปเลยไม่ดีกว่าหรือ?
เอาความหมายตามตำราเลยนะครับ โครงสร้างพื้นฐาน คือ สิ่งปลูกสร้างและระบบพื้นฐานที่รองรับการขยายตัวของชุมชน
ระบบสาธารณูปโภค เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า บำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ
ระบบขนส่งถือว่ามีความจำเป็นอย่างมาก เช่น ถนนรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน
ระบบการสื่อสาร ก็พวกเครือข่ายโทรศัพท์ โครงข่ายอินเทอร์เน็ต เป็นต้น
๘ ปี รัฐบาลลุงตู่ ทำมามากพอควร แต่ยังต้องทำต่อครับ
๕.๕ แสนล้านบาท แทนที่จะแจกหัวละหมื่น แล้วหายวับ เอาไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจไม่ดีกว่าหรือ
มันเป็นประโยชน์กับคนทั้งประเทศในระยะยาว ไม่ใช่ ๖ เดือน
อีกสิ่งที่พรรคการเมืองไม่ควรทำคือมาตรการพักหนี้
ไม่ควรใช้อย่างยาวนาน เนื่องจากภาระของลูกหนี้ไม่ได้ลดลง
ดอกเบี้ยยังเก็บตามปกติ
มาตรการนี้เหมาะกับช่วงโควิดระบาดหนักเท่านั้น
ลองสำรวจดูครับ พรรคการเมืองพรรคไหนมีนโยบายพักหนี้แบบเหวี่ยงแห แสดงว่าพรรคการเมืองนั้น ไม่ได้คำนึงถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจเลย
ในมุมแบงก์ชาติ การปรับเป็นการปรับโครงสร้างหนี้ ต้องทำแบบเฉพาะเจาะจง เน้นปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้
แต่อย่างว่าครับ นโยบายแบบนี้เอาไปหาเสียงไม่ได้ ชาวบ้านไม่ชอบ
ไม่เหมือนกับแจกหัวละหมื่น ใครๆ ก็เอา
ไม่แน่ใจเราเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เมื่อไหร่
แต่ที่แน่ๆ นี่คือผลของนโยบายประชานิยม
เสพแล้วติด ถอนตัวไม่ขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อย่าปล่อยให้เหลิง
นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ
เจอตอ ชั้น ๑๔
งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์
'ทักษิณ' ตายเพราะปาก
แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ
พ่อลูกพาลงเหว
มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ
นี่แหละตัวอันตราย
การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง
แก้รัฐธรรมนูญแกงส้ม
ก็เผื่อไว้... อาจจะมีการลักไก่ ลัดขั้นตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ