ทำไมสี จิ้นผิง ยังไม่ต่อสายถึงเซเลนสกี?

จะบอกว่า สี จิ้นผิง ไม่มีเบอร์ตรงของเซเลนสกีก็คงไม่ถูกนัก

และถ้าเซเลนสกีตัดสินใจต่อสายไปปักกิ่ง, สี จิ้นผิง จะรับสายไหม?

เดิมทีจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของยูเครน เพราะสั่งซื้อข้าวโพด, ข้าวบาร์เลย์และอาวุธเป็นจำนวนมาก

แต่พอยูเครนกลายเป็นสนามรบของรัสเซีย ความสัมพันธ์ของจีนกับยูเครนยังเหมือนเดิมไหม?

คำถามคือไม่มีอะไรเหมือนเดิมแน่...แต่ปักกิ่งจะเล่นบทเป็น “อัศวินสันติภาพขี่ม้าขาว” ได้ก็ต้องแสดงให้เห็นว่ายังคบหากับยูเครนไม่น้อยไปกว่าเดิม

เดือนมกราคมปีที่แล้วเป็นการคุยกันระหว่าง สี จิ้นผิง กับเซเลนสกีครั้งล่าสุด...เพื่อฉลองครบ 30 ปีแห่งความสัมพันธ์ทางการทูต

เป็นจังหวะที่ทั้ง 2 ผู้นำเน้นถึง “มิตรภาพอันลุ่มลึกและความไว้วางใจซึ่งกันและกันทางการเมืองอย่างลึกซึ้ง”

แต่นั่นคือก่อนที่ปูตินจะส่งทหารเข้ายูเครนเพียง 2 เดือน

ตั้งแต่นั้นมา สีกับเซเลนสกีก็ยังไม่ได้ต่อสายคุยกันเลย...แม้ว่าผู้นำยูเครนจะร่ำร้องขอพบหรือสนทนากับผู้นำปักกิ่งหลายครั้งหลายคราว

วันนี้เซเลนสกีรอสายจากสี จิ้นผิง ทุกวัน อีกทั้งยังบอกว่าพร้อมจะเดินทางไปปักกิ่ง หรือไม่ก็เชิญสีมาที่กรุงเคียฟเพื่อจะได้เห็นสภาพบ้านเมืองที่ยูเครนถูกรัสเซียอันเป็นเพื่อนซี้ของจีนได้กระทำต่อยูเครน

เซเลนสกีพยายามรักษาท่าทีไม่หงุดหงิดกับการรอคอย สี จิ้นผิง เพราะต้องการจะขอให้ช่วยพูดกับปูตินให้ยุติสงคราม, ถอนทหารกลับบ้านและคืนดินแดนให้เจ้าของบ้านเสีย

อาจจะเพราะสีรู้ว่าจะได้รับคำร้องขอจากเซเลนสกีอย่างไรจึงยังลังเลที่จะส่งเสียงกริ๊งกร๊างไปถึงกรุงเคียฟ

สี จิ้นผิง รู้ว่าเซเลนสกีคงจะหงุดหงิด และเซเลนสกีก็คงจะรู้ว่าสีมีความลังเลใจ

แต่เมื่อต่างคนต่างรู้ทันความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่ง ก็น่าจะต้องเปิดใจแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันเสียที

จีนรู้ว่าถ้าจะมีบทบาทเป็น “คนกลาง” ที่แท้จริงก็ต้องแสดงความใกล้ชิดกับยูเครนในระดับที่ไม่น้อยกว่าให้กับรัสเซีย

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย

เพราะสี จิ้นผิง อุตส่าห์บินไปหาปูตินถึงมอสโก และออกแถลงการณ์ร่วมกับผู้นำรัสเซียที่แสดงความใกล้ชิดสนิทสนมอย่างยิ่ง

อีกทั้งยังส่งรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ “นายพลหลี่ ซ่างฝู” ไปเยือนมอสโกตามหลัง สี จิ้นผิง ไม่กี่สัปดาห์

แต่กับยูเครนยังไม่แม้แต่จะส่งเสียงทักทายอย่างเป็นกันเองด้วยซ้ำไป

หรือเมื่อยูเครนเจอกับการถล่มทลายอย่างหนักจากภัยสงครามแล้ว ก็อาจจะไม่น่าคบหาในฐานะเป็นคู่ค้าเหมือนก่อนหรือเปล่า

มองย้อนกลับไประหว่างปี 2017-2021 ยูเครนส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า

ปี 2019 จีนกลายเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของยูเครน

โดยที่ยูเครนขายข้าวบาร์เลย์และเหล็กใหญ่ที่สุดสำหรับตลาดจีน

อีกทั้งยังขายข้าวโพดให้จีนมากที่สุดอีกด้วย และยังส่งอาวุธขายให้จีนในฐานะตลาดใหญ่อันดับ 2 สำหรับยูเครน

เรือบรรทุกลำแรกของจีน “เหลียวหนิง” นั้นจีนซื้อเรือเก่าของรัสเซียจากยูเครนเพื่อเอามาสร้างเสริมต่อเติมจนกลายเป็นอุปกรณ์ทางทะเลชั้นสูง

เดิมทีบริษัทจีนหลายแห่งรวมตัวกันเพื่อเสนอจะสร้างรถไฟใต้ดินสายใหม่ในกรุงเคียฟ

ข้อตกลงการค้าเสรีของยูเครนกับสหภาพยุโรปก็เป็นแรงจูงใจให้จีนสามารถส่งสินค้าของตนเข้าตลาดยุโรปผ่านยูเครน

การแลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมของ 2 ประเทศก็มีความใกล้ชิดสนิทสนมมากขึ้นตลอดเวลา

...จนรัสเซียบุกยูเครน

จีนไม่วิพากษ์และไม่ประณามรัสเซียแม้ตอนที่ปูตินผนวกคาบสมุทรไครเมียจากยูเครนเป็นของตนในปี 2014

สงครามครั้งล่าสุดก็ไม่ได้ทำให้จีนเปลี่ยนท่าทีที่เป็นมิตรกับมอสโกแต่ประการใด

ยูเครนเฝ้ามองปักกิ่งตาปริบๆ

อีกด้านหนึ่ง ยูเครนก็ได้รับแรงกดดันจากสหรัฐฯ ให้ถอยห่างจากจีน

นั่นอาจจะเป็นเหตุผลที่ยูเครนประกาศยกเลิกข้อตกลงที่จะขายบริษัทผลิตอุปกรณ์อวกาศให้กับนักลงทุนในเวลาต่อมา

เซเลนสกีคงจะรู้สึกอึดอัดไม่น้อยเมื่อเห็นปูตินกับสี จิ้นผิง ออกแถลงการณ์ร่วมที่ปักกิ่งในเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ขณะที่รัสเซียระดมทหารประชิดชายแดนยูเครนท่ามกลางข่าวว่าปูตินเตรียมบุกยูเครน และคำทำนายนั้นก็เกิดเป็นจริงตามคาด

แต่สี จิ้นผิง ไม่แสดงอาการลังเลใดๆ ที่จะประกาศว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซียนั้นแน่นแฟ้นแน่นหนา “ไร้ขีดจำกัด”

พอสงครามระเบิด ท่าทีของปักกิ่งก็ยิ่งชัดเจนขึ้นว่าอยู่เคียงข้างรัสเซีย

ภาษาและลีลาของจีนในกรณีนี้เป็นไปในแนวเดียวกับมอสโกตลอด...ไม่เรียกมันว่า “การรุกราน” และยืนยันว่ารัสเซียไม่ผิด ที่ผิดคือนาโตที่เป็นผู้ “ยุแหย่ให้เกิดวิกฤต” ต่างหาก

เซเลนสกีอดทน กัดฟันรับรู้ท่าทีของจีนตลอด และไม่เคยออกความเห็นทางลบใดๆ ต่อสี จิ้นผิง

ตรงข้าม กลับยืนยันว่าจีนมีบทบาทสำคัญในการช่วยระงับสงคราม

เซเลนสกีมักจะตอกย้ำว่าจีนมีจุดยืนตรงกับเซเลนสกีในเรื่องการเคารพใน “บูรณภาพแห่งดินแดน”

พอจีนเสนอ “แผนสันติภาพ 12 ข้อ” ตะวันตกหลายประเทศออกมาวิจารณ์ว่าจีนไม่จริงใจ เพราะยังไม่เคยเอ่ยตำหนิรัสเซียในเรื่องนี้เลย

แต่เซเลนสกียังไม่พร้อมจะวิพากษ์ปักกิ่ง

ย้ำว่าข้อเสนอของจีนเป็น “สัญญาณที่สำคัญ”

และเสริมว่า “ผมอยากเชื่อจริงๆ ว่าจีนจะไม่ส่งอาวุธให้รัสเซีย”

แต่หลายคนรู้ว่าลึกๆ แล้วเซเลนสกีคิดอย่างไรกับการแสดงออกของสี จิ้นผิง กับปูตินเมื่อเทียบกับความนิ่งเฉยต่อเซเลนสกีจนถึงวันนี้

แต่เซเลนสกีเลือกสนามรบ ไม่ปะทะกับจีนที่เขายังเชื่อว่าต้องการจะยกระดับความเป็นผู้นำโลกที่จะสร้างสันติภาพแทนที่จะถูกมองว่าเอียงข้างผู้ก่อสงครามอย่างรัสเซีย

แต่จีนย่อมจะมองออกมาหลังสงครามสงบ จีนย่อมมีโอกาสที่จะมีบทบาทในการฟื้นฟูยูเครนใหม่อย่างใหญ่โตกว้างขวาง

แต่วันนี้ สี จิ้นผิง กำลังรอจังหวะที่จะต่อสายถึงเซเลนสกี...เพื่อสามารถบอกได้ว่า

 “ผมมีข่าวจะบอก....”

แต่วันนี้ สี จิ้นผิง คงจะยังไม่สามารถสรุป “ข่าวดี” จากปูติน

สายตรงปักกิ่งกับกรุงเคียฟจึงยังเงียบสนิท!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว