เมษายน 2023 Pew Research Center นำเสนอมุมมองคนอเมริกันต่อจีนในเวทีโลก มีข้อสรุปพร้อมข้อวิพากษ์ดังนี้
คนอเมริกัน 83% มองแง่ลบต่อประเทศจีน โดยที่ 44% มองแง่ลบมากๆ (very unfavorable views) เนื้อหายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฉบับล่าสุด 2022 ระบุว่า จีนเป็นคู่แข่ง (competitor) ประเทศเดียวที่ต้องการเปลี่ยนระเบียบโลกและมีพลังมากขึ้นที่จะทำเช่นนั้น ผลสำรวจพบว่าคนอเมริกัน 52% เห็นว่าจีนเป็นคู่แข่ง ที่เหลือราว 4 ใน 10 มองว่าจีนเป็นศัตรู (an enemy) ตัวเลขนี้สูงขึ้นมากกว่าปีก่อน เข้าใจว่า 2 ประเทศกำลังแข่งกันมีอิทธิพลระดับโลก
พวกเดโมแครตโน้มเอียงที่จะมองจีนเป็นคู่แข่งมากกว่าพวกรีพับลิกัน แต่ระยะหลังทั้งสองกลุ่มมองจีนเป็นศัตรูมากขึ้น
เป็นสถานการณ์การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ คนอเมริกันส่วนใหญ่ภาคภูมิใจที่ประเทศตนยิ่งใหญ่อันดับหนึ่ง บางคนอธิบายว่าโลกควรเป็นเช่นนั้น รัฐบาลพยายามรักษาความเป็นหนึ่งนี้ จีนที่ก้าวขึ้นมาจึงเป็นคู่แข่งหรือมองว่าเป็นศัตรูที่คุกคาม
6 ประเด็นที่คนอเมริกันกังวลมากที่สุด ได้แก่ ความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซีย รองมาคือ ความตึงเครียดที่ไต้หวัน นโยบายสิทธิมนุษยชนของจีน พลังอำนาจทางทหาร พลังอำนาจทางเทคโนโลยีของจีน และการแข่งขันทางเศรษฐกิจกับจีน
ประเด็นเหล่านี้ปรากฏอยู่ในสื่อเสมอ เช่น รัฐบาลไบเดนเตือนจีนหากช่วยรัสเซียทำสงครามยูเครน กระแสข่าวจีนจะใช้กำลังยึดไต้หวันในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สื่อตะวันตกรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนในจีนสม่ำเสมอ จีนมีอาวุธใหม่ๆ ข่าวรัฐบาลไบเดนชี้จีนจะสร้างอาวุธนิวเคลียร์จำนวนมาก ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีบางด้าน และการกีดกันสินค้าจีนบางรายการ แม้กระทั่งกล่าวหาจีนจะใช้ TikTok ล้วงความลับ คนอเมริกัน 88% ไม่เชื่อว่าจีนจะรักษาข้อมูลส่วนตัว โดยที่ 59% บอกว่าไม่เชื่อเลย ทั้งนี้อาจเกิดจากสื่ออเมริกันมักนำเสนอว่ารัฐบาลจีนติดตามสอดแนมคนของเขาอย่างกว้างขวาง
ประเด็นความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซียคือหัวข้อที่คนอเมริกันกังวลมากๆ 62% ระบุว่าจะก่อปัญหาแก่สหรัฐอย่างใหญ่หลวง (a very serious problem) คนที่คิดเช่นนี้เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เห็นว่าความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นอันตรายต่อสหรัฐ และอาจหนักกว่านี้หากร่วมมือทางทหาร ประเด็นนี้น่าสนใจ ตลอดเวลาที่ผ่านมาจีน-รัสเซียกระชับความร่วมมากขึ้นทุกที จีนซื้อใช้อาวุธรัสเซียมากมาย แต่ยืนยันว่าไม่ใช่พันธมิตรทางทหารและไม่คิดจะทำเช่นนั้น
ปลายปี 2022 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ย้ำ จีนกับรัสเซียร่วมมือกันเพื่อสร้างโอกาสและส่งเสริมความมั่นคงโลก 2 ประเทศจะเชื่อมต่อกันมากขึ้น ร่วมมือด้านพลังงานมากขึ้น โลกอยู่ระหว่างเลือกแนวทางสงครามเย็นหรือสัมพันธ์แบบเท่าเทียม ได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งคู่ จีนกับรัสเซียต่อต้านความเป็นเจ้า การเมืองเชิงอำนาจ ยึดมั่นบทบาทของยูเอ็น เคารพกฎหมายระหว่างประเทศ เห็นด้วยหาก BRICS จะมีสมาชิกเพิ่ม
ปี 2022 การค้าจีน-รัสเซียสูงถึง 190,000 ล้านดอลลาร์ เฉพาะปิโตรเลียมจีนนำเข้าเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า อินเดียกับจีนซื้อน้ำมันรัสเซียแล้วขายต่อในราคาตลาดโลก ทำให้การกดราคาไม่ได้ผล เป็นตัวอย่างการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม รัสเซียสามารถสู้ศึกต่อไป
ถ้ามองว่ายูเครนคือเหตุการณ์นำสู่การจัดระเบียบโลกใหม่ ตอนนี้ฝ่ายสหรัฐกับอีกขั้วคือจีน-รัสเซียกำลังแข่งกันหาพวก แข่งขันวางระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในด้านต่างๆ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐระบุว่า 10 ปีนี้เป็นช่วงสำคัญที่สุด ห้วงเวลาชี้อนาคต
คนอเมริกัน 3 ใน 4 คิดว่าจีนไม่คำนึงผลประโยชน์ประเทศอื่นๆ อย่างที่รัฐบาลสหรัฐทำ ทั้งประเด็นแทรกแซงกิจการของประเทศอื่น ไม่ช่วยสร้างสันติภาพโลก พวกรีพับลิกันมักมองบทบาทจีนในแง่ลบมากกว่าพวกเดโมแครต แต่บางข้อเห็นตรงกัน เช่น 84% ของพวกรีพับลิกันเห็นว่าจีนไม่ช่วยให้โลกมีสันติภาพ ส่วน 80% ของพวกเดโมแครตคิดเช่นนั้น
ประเด็นไต้หวันคือหัวข้อที่เอ่ยว่าจีนแทรกแซงต่างชาติ ทั้งที่ความจริงคือเดิมรัฐบาลสหรัฐเคยยอมรับสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นประเทศ มีที่นั่งใน UN แต่เหตุการณ์เปลี่ยนไป กุมภาพันธ์ 1972 รัฐบาลนิกสันกับจีนลงนามแถลงการณ์ร่วมสหรัฐ-จีน (U.S.-China joint communiqué) เนื้อหาตอนหนึ่งระบุว่า สหรัฐยอมรับว่า “จีนทั้ง 2 ฝั่งของช่องแคบไต้หวันเป็นจีนเดียว และไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน”
เมื่อไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน UN และรัฐบาลสหรัฐยอมรับจึงพูดว่าจีนแทรกแซงไม่ได้ ไต้หวันไม่ใช่ประเทศยังเป็นส่วนหนึ่งของจีน ดังที่กล่าวแล้วว่าแต่เดิมเกิดสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก่อนและได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศ แต่ในปี 1978 รัฐบาลสหรัฐกลับลำ ยอมรับสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) เท่านั้น
ความเข้าใจผิดเรื่องนี้น่าจะมาจากสื่อกระแสหลัก การพูดเป็นนัยว่าไต้หวันเป็นอิสระ เช่น แนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรและคณะเยือนไต้หวันเมื่อสิงหาคมปีก่อน กล่าวชื่นชมความเป็นประชาธิปไตยของไต้หวัน (ตรงข้ามกับจีนที่เป็นคอมมิวนิสต์ตามมุมมองอเมริกา) ผู้รักเสรีภาพ และกำลังจะกลายเป็นประเทศ ตอกย้ำกระแสข่าวจีนจะใช้กำลังบุกไต้หวันนั้นไม่ชอบธรรม
คนอเมริกันมากกว่าครึ่ง (54%) ไม่คิดว่าสหรัฐกับจีนสามารถร่วมมือกันสร้างสันติภาพโลก อาจตีความว่าทั้งสองอยู่คนละฝ่าย กรณีสงครามยูเครนเป็นตัวอย่าง อันที่จริงแล้วทั้งคู่ขัดแย้งในหลายเรื่องอยู่แล้ว
คนอเมริกันเกือบครึ่ง (48%) คิดว่าทั้งคู่ต่างได้ประโยชน์ และอีกเกือบครึ่ง (47%) ชี้ว่าจีนเป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากการค้าทวิภาคี ข้อมูลตัวเลขเดือนมิถุนายน 2022 ยอดสินค้าจีนส่งออกสู่อเมริกาเพิ่ม 19.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน รวมมูลค่า 56,000 ล้านดอลลาร์ นำเข้าสินค้าอเมริกาเพิ่ม 1.7% มูลค่า 14,600 ล้านดอลลาร์ จีนเป็นฝ่ายเกินดุลถึง 41,400 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 26% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ต้องพูดด้วยว่า คนอเมริกันชอบซื้อใช้สินค้าจีน (ไม่ได้บังคับซื้อ) ทั้งๆ ที่รัฐบาลพยายามขัดขวาง เป็นหลักฐานชี้ว่ามาตรการขึ้นภาษีสินค้าและกีดกันสินค้าจีนไม่ได้ผลอย่างที่คิด ไม่ว่าเศรษฐกิจประเทศใดจะเป็นอย่างไร เผชิญปัญหาเฉพาะหน้า เช่น โควิด-19 ปัญหาซัพพลายเชน เรือขนส่งไม่พอใช้ ในภาพรวมสินค้าจีนยังคงส่งออกมากขึ้นทุกที
ในสถานการณ์เช่นว่า คนอเมริกันไม่คิดว่าจีนเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลก (สหรัฐเหนือกว่า) แต่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจจีนคุกคามสหรัฐ
ด้านพลังอำนาจทางทหาร กว่าครึ่งคิดว่าอาวุธยุทโธปกรณ์จีนพอใช้หรือดีกว่าทั่วไป 11% เท่านั้นที่คิดว่าเป็นอาวุธชั้นเลิศ แต่ ในแง่ภาพกองทัพ 84% เห็นว่ากองทัพจีนเป็นภัยคุกคาม โดย 44% คิดว่าคุกคามมาก ส่วนคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับการโจมตีทางไซเบอร์
45% คิดว่ามาตรฐานการครองชีพจีนต่ำกว่ามาตรฐาน 26% คิดว่าอยู่ระดับมาตรฐานทั่วไป เรื่องนี้ใช้แนวคิดต่างกัน แนวคิดจีนคือ “สังคมที่ทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน” (moderately prosperous society) กรกฎาคม 2021 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศว่าจีนไม่มีคนยากจนอีกแล้ว รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับประชาชน 1,400 ล้านคนต่างทำหน้าที่ของตน เพื่อเป้าหมายเดียวกันคือทุกคนมีกินมีใช้ไม่ขัดสน เดินหน้าสู่การฟื้นฟูชาติต่อไปโดยยึดมั่นสังคมนิยมตามคุณลักษณะของจีน (socialism with Chinese characteristics) ตั้งอยู่บนการพัฒนาทุกคนทุกด้าน รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรม เป็นผู้คิดสร้างสรรค์ ปรารถนาดีต่อตัวเอง สังคมและโลก ยึดถือความยั่งยืน ไม่ฉาบฉวยหรือมุ่งแต่ผลประโยชน์ระยะสั้น
โดยรวมแล้ว คนอเมริกันรุ่นเก่ามองจีนในแง่ลบมากกว่าคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่าจะยึดมุมมองเก่าๆ คนรุ่นใหม่สนใจเศรษฐกิจจีน เป็นโรงงานของโลก ถ้ามองจากฐานสมาชิกพรรค พวกรีพับลิกันมักจะมองจีนในแง่ลบมากกว่า โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคง สิทธิมนุษยชน
ย้อนรอยในสมัยทรัมป์โหมกระแสต่อต้านรัฐบาลจีน ชี้ว่าเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ขึ้นภาษีสินค้าจีนหลายรอบ ชี้ว่าสินค้าพวกนั้นทำให้คนอเมริกันตกงาน กระแสต้านจีนลามถึงคนอเมริกันเชื้อสายจีน
จากกระแสที่สร้างในรัฐบาลชุดก่อนตอนนี้กลายเป็นทัศนคติของสังคม สอดคล้องกับเนื้อหายุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ ทิศทางการนำเสนอของสื่อกระแสหลัก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด