ทำไมรัฐบาลจีนจึงเปิดฉากรณรงค์ต่อต้านการทุจริตในด้วยการไล่ตรวจสอบบัญชีและกิจกรรมของอุตสาหกรรมการเงินอย่างกว้างขวางในช่วงนี้?
คำตอบคือประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อขึ้นมารับตำแหน่งเบอร์หนึ่งของประเทศรอบที่ 3 ครั้งนี้ต้องการจะ “กวาดล้าง” คราบทุจริตที่ยังคั่งค้างอยู่ให้ราบคาบ
ข่าวจากเมืองจีนหลายกระแสรายงานตรงกันว่า หน่วยงานต่อต้านการทุจริตประพฤติมิชอบชั้นนำของจีนได้เปิดตัวการตรวจสอบรอบใหม่ต่อสถาบันการเงินชั้นนำของประเทศบางแห่ง
ภาษาทางการจีนเรียกเป็นปฏิบัติการเพื่อ “กระชับการรักษาวินัยและสอบสวน” อย่างต่อเนื่อง
เป็นปฏิบัติการของพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่มีอำนาจหน้าที่เหนือรัฐบาลในหลายๆ กรณี
เรื่องปราบคอร์รัปชันเป็นภารกิจสำคัญของพรรค
เสมือนหนึ่งว่าพรรคคอยสอดส่องดูแลการทำงานของรัฐบาลให้อยู่ในกรอบที่ถูกต้องเหมาะสม
สำหรับสถาบันการเงินทั้งหลาย การรณรงค์ทางวินัยรอบนี้อาจสร้างแรงกดดันมากขึ้น เพราะขณะนี้ธุรกิจด้านนี้ก็ยังถูกหลอกหลอนด้วยคุณภาพสินทรัพย์ที่ไม่แข็งแรงเพราะหลายปัจจัย เช่น โควิดและเศรษฐกิจภาพรวมที่ชะลอตัว
นักวิเคราะห์ผู้สันทัดกรณีเรื่องจีนประเมินว่า ผู้นำชุดใหม่ของจีนกำลังพยายามอย่างเร่งด่วน เพื่อกลบเกลื่อนความเสี่ยงทางการเงินด้วยระเบียบวินัยของพรรครอบใหม่
การตรวจจับหาคนโกงกินและการแอบให้สินบนนั้นจะมีผลกระทบอย่างมากต่อโอกาสการสร้างรายได้ของรัฐวิสาหกิจ
อีกทั้งยังจะมีผลต่อความพยายามในการลดความเสี่ยงระดับประเทศ
และจะทำให้การระดมทุนสำหรับธุรกิจยากขึ้นอีก
ธุรกิจการเงินเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่ทำกำไรได้มากที่สุดของจีน
โดยผลกำไรรวมของธนาคารของรัฐที่ใหญ่ที่สุด 6 แห่งของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 เมื่อเทียบปีต่อปีเป็น 1.36 ล้านล้านหยวน (6.8 ล้านล้านบาท) ในปี 2565
แต่ภาคส่วนนี้มีความเสี่ยงสูงต่อผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และการเงินในระดับท้องถิ่น
ระบบการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องพยายามบริหารความเสี่ยง และวิธีการที่จะทำให้ได้ผลที่สุดคือการชะล้างสิ่งโสโครกในระบบเส้นสาย และการสร้างเครือข่ายเพื่อการสร้างความร่ำรวยให้กับส่วนตัวของผู้บริหาร หรือกลุ่มคนที่มีอิทธิพลและอำนาจในการกำหนดนโยบายขององค์กรเหล่านั้น
มีคำถามว่าการสั่ง “รณรงค์ทางวินัย” ครั้งนี้แตกต่างจากครั้งก่อนๆ อย่างไร?
คำตอบคือการรณรงค์ต่อต้านการคอร์รัปชันครั้งล่าสุดของจีนซึ่งเริ่มต้นในปี 2556
เชื่อว่ามีส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการจัดการบริหารด้านการเมืองเพื่อให้ทุกอย่าง “อยู่ในร่องในรอย” ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง
นักวิเคราะห์เชื่อว่าการจัดการ “กวาดล้างสิ่งปฏิกูลทางด้านการเงิน” นั้นช่วยประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กระชับฐานอำนาจทางบริการและการเมืองให้อยู่ในกรอบของตน
ในการปราบการโกงกินรอบก่อนๆ นั้นมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงมากกว่า 500 คน ซึ่งมีตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีขึ้นไปถูกสอบสวนและลงโทษอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในแวดวงการบริหารระดับสูงของจีน
ครั้งนี้ คณะกรรมาธิการกลางเพื่อการตรวจสอบวินัย (CCDI) ซึ่งเป็นหน่วยงานต่อต้านการคอร์รัปชันชั้นสูงสุดของจีน มุ่งเน้นไปที่การปิดความเสี่ยงทางการเงินภายในประเทศ ลดผลกระทบจากภายนอกในประเทศ และวางรากฐานสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและนวัตกรรมเทคโนโลยี
แผนการชำระร้างความสกปรกในสถาบันการเงินรอบนี้ประกาศเมื่อวันที่ 27 มีนาคม มีเป้าหมายที่รัฐวิสาหกิจ รวมถึงสถาบันการเงิน 5 แห่ง
สอดคล้องกับจังหวะของการสั่นคลอนของระบอบการกำกับดูแลทางการเงิน
รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการการเงินกลาง และการบริหารการกำกับดูแลทางการเงินแห่งชาติเมื่อเร็วๆ นี้
ประเด็นสำคัญคือการจัดระบบใหม่ครั้งนี้เป็นการรวบอำนาจการควบคุมของพรรคไว้เหนือภาคการเงิน
ถามว่าการรณรงค์รอบนี้ใครได้รับผลกระทบบ้าง?
สถาบันการเงิน 5 แห่งที่ถูกสอบสวน ได้แก่ China Investment Corp, กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติมูลค่า 1.35 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ, China Development Bank และ China Everbright Group
ผู้บริหารทางการเงินหรือเจ้าหน้าที่กำกับดูแลสิบสองคนถูกสอบสวนตั้งแต่รัฐบาลใหม่เข้ารับตำแหน่งเมื่อกลางเดือนมีนาคม
ข้อมูลนี้ปรากฏบนเว็บไซต์ทางการ CCDI เลยทีเดียว คนทั่วไปสามารถเข้าไปติดตามข่าวสารและผลการสอบสวนได้
การสืบสวนล่าสุดพุ่งไปที่ Liu Liange อดีตประธานธนาคารแห่งประเทศจีน และ Li Xiaopeng อดีตประธาน China Everbright Group
ซึ่งไม่ใช่ปลาซิวปลาสร้อย หากแต่เป็นปลาตัวใหญ่ที่เคยถูกมองว่ามีอำนาจบารมีเหลือหลาย
แต่เป้าการสอบสวนมุ่งตรงไปที่หัว...เพื่อเขย่าให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ทำให้ตลาดให้ความสนใจและสร้างความตระหนักไปทั่วประเทศว่า แม้แต่ผู้บริหารระดับสูงก็อาจตกเป็นเป้าหมายได้
สองคนนี้ถือว่าเป็นผู้บริหารการเงินระดับสูงที่สุดที่ถูกสอบสวน นับตั้งแต่การล่มสลายของรองผู้ว่าการธนาคารกลาง Fan Yifei ในเดือนพฤศจิกายน
มีคำถามต่อว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?
การตรวจสอบระเบียบวินัยและการรณรงค์ค้นหาข้อเท็จจริงทั่วประเทศที่เปิดตัวโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ได้เรียกร้องให้ประชาชนรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบาย
ซึ่งรวมถึงนโยบายที่มุ่งเป้าไปที่สินเชื่อที่มีปัญหา
ความแปรปรวนในตลาดอสังหาริมทรัพย์
หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น
และการขาดการสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับธุรกิจขนาดเล็กและเอกชน
เพื่อทำให้แนวโน้มการเติบโตในระยะสั้นสดใสขึ้น ปักกิ่งกำลังผลักดันให้ธนาคารต่างๆ เพิ่มการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคเศรษฐกิจจริง
ทำให้สินเชื่อหยวนใหม่แตะระดับ 4.9 ล้านล้านหยวนในเดือนมกราคม และ 1.81 ล้านล้านหยวนในเดือนกุมภาพันธ์
ตัวเลขทั้งสองชุดนี้คือสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนเดียวกัน
เชื่อกันว่าอาจมีการสนับสนุนสภาพคล่องมากขึ้นสำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว
เพื่อให้แน่ใจว่ามีการส่งมอบบ้านให้กับผู้ซื้อ และป้องกันไม่ให้เกิดสินเชื่อเสียเพิ่มขึ้นในงบดุลของธนาคาร
นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มที่จะปราบปรามการเก็งกำไรทางการเงินที่ผิดกฎหมายอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจระหว่างธนาคาร
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทุ่มเทของรัฐบาลจีนในการลดความเสี่ยงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาจหมายถึงความระมัดระวังมากขึ้นในการปฏิรูปและการเปิดภาคการเงิน
เพราะเห็นภาพการล่มสลายของ Silicon Valley Bank ที่อเมริกาแล้ว ผู้นำจีนก็ย่อมเกิดความกังวลว่าเรื่องอย่างนี้จะเกิดขึ้นในจีนได้หรือไม่
สัญญาณที่ชัดเจนอย่างหนึ่งตามแนวทางใหม่คือ การลดเงินเดือนของเหล่าบรรดานักบริหารรัฐวิสาหกิจในปีที่ผ่านมา
ตัวอย่างเช่น China International Capital Corp ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนในจีนของ Morgan Stanley แจ้งในรายงานประจำปี 2565 ว่า เงินเดือนเฉลี่ยลดลง 19.7% จากปีก่อนหน้า
ขณะที่ China Merchants Securities ลดเงินเดือนเฉลี่ยลง 22.8%
โดยเฉลี่ยแล้วอัตราเงินเดือนในภาคการเงินยังคงสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ
และหน่วยงานตรวจสอบวินัยระดับสูงได้ออกมาเตือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ว่า ตำแหน่ง “ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน” ต้องเลิกทำตนประหนึ่งเป็น “ชนชั้นสูง” ของสังคมจีน
สัญญาณเตือนภัยจากผู้นำจีนมาถึงผู้บริหารการเงินในรัฐวิสาหกิจและเอกชนดังลั่นไปทั่ว
ใครทำเป็นไม่ได้ยิน หรือยังใช้วิธีการแบบเดิมในการบริหารองค์กรของตนก็จะเข้าข่าย “ขาดวินัย” ได้ทันที
ความหมายของ “ขาดวินัย” ก็คือ “หมดอนาคต”!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ