'นี่ไง..ตัวการค่าไฟแพง'

ร้องกันขรม "ค่าไฟแพงโหด"

แล้วก็ถล่มกันใหญ่

รัฐบาลลุงตู่นั่นแหละตัวการ ลุงตู่กินนอก-กินในกับนายทุนพลังงาน ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์

ลุงตู่นอกจากไม่แก้ปัญหาและแก้ปัญหาไม่ได้แล้ว

ลุงตู่ยังให้ "ขึ้นค่าไฟ" ซ้ำเติมชาวบ้าน!

ลุงตู่นี่ "เป็นที่สุดของแจ้" จริงๆ ...........

เป็นทั้งเผด็จการ ทั้งยาสามัญประจำบ้าน  ทั้งกระโถนท้องพระโรง ทั้งส้วมสาธารณะ            

เพราะฉะนั้น ลุงตู่ถือว่ามีบุญ เป็นทั้งถนน  เป็นทั้งสะพาน เป็นทั้งถาน เป็นทั้งยอดพระเจดีย์ ใครอยากขี้รด-ขี้ ใครอยากปิดทอง-ปิด

จะว่าไป ก็น่าอิจฉานะ!

เรื่องค่าไฟแพงชนิดก้าวกระโดดนี้ ทุกคนรู้คร่าวๆ ว่า มาจากการประมูลกำลังผลิตไฟฟ้าเอกชน ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์ ที่ กฟผ.ทำสัญญาซื้อขายกับเอกชน

ต้นทุน-กำไรมันก็สะท้อนออกมาเป็นค่าไฟ ตามสูตร "ปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ" ที่เราเรียกค่า Ft

แล้วไอ้ ๕ พันเมกะวัตต์นี้ มันมายังไงกัน?

ความจริงไม่ใช่เรื่องลึกลับ........

เราไม่จำกันเอง มันก็มาตะเภาเดียวกับ " จำนำทุกเมล็ด-โกงทุกเมล็ด" นั่นแหละ

ไอ้พวกนักการเมืองขี้โกง มันรู้จุดอ่อนคนไทย จำอะไรไม่ค่อยได้

"ลืมง่าย" จึงเท่ากับ "หลอกง่าย"!

ฉะนั้น เวลาตอโผล่ ไอ้นักการเมืองตัวการ จะทำเฉไฉ ไม่รู้-ไม่ชี้ เรื่องนี้...ไม่ใช่ข้า แถมหาเสียงผสมโรงด่ารัฐบาลหน้าเสื่อมันไปซะเลย

ถ้างั้น วันนี้ มารู้ให้ชัดกันไปซะที ว่าโรงไฟฟ้าเอกชน ๕ พันเมกะวัตต์ ต้นเหตุค่าไฟแพงนี้ มันเป็นมาไงกัน?

จากข่าวมีเยอะ แต่เดี๋ยวจะว่า เอียงข้างโน้น-ข้างนี้ ฉะนั้น ผมจะนำเนื้อหาจาก "วิทยานิพนธ์" มาให้เรียนกันเลย

เรื่อง "มาตรการทางกฎหมายในการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของประเทศไทยเพื่อป้องกันการทุจริต"

ผู้ทำวิทยานิพนธ์ฉบับนี้คือ "นางสาวรพีพร อภิภัทรางกูร"

เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตร "นิติศาสตรมหาบัณฑิต" สาขากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา ๒๕๖๐

ในหัวข้อ ๒.๓.๑ ปัญหาทุจริตเชิงนโยบาย

เฉพาะ "บางส่วน-บางตอน" จากหน้าที่ ๓๓ ดังนี้

๒.๓.๑ ปัญหาทุจริตเชิงนโยบาย

กรณีที่เคยปรากฏเป็นข้อกังขาของสังคมเกิดขึ้นในช่วงเวลาการปรับปรุงแผน PDP สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

โดยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาและมีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2555

เห็นชอบตามมติ กพช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2555 เรื่องการปรับปรุงแผน PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3

ประเด็นที่เป็นความเคลือบแคลงสงสัย ในเรื่องความไม่โปร่งใสจากการปรับปรุงแผน PDP ฉบับดังกล่าว ที่ยังคงเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวถึง และมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจนกระทั่งปัจจุบัน

คือ กรณีที่แผน PDP ได้กำหนดให้มีการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชน IPP ในปริมาณ 5,400 เมกะวัตต์

โดยระบุว่า....

"จะต้องเป็นพลังงานไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงเป็นก๊าซธรรมชาติทั้งหมด"

ทำให้ กกพ. (สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน-เปลว) ซึ่งมีหน้าที่ออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ตามที่ มาตรา 11 (4) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 กำหนดไว้

ต้องไปดำเนินการ ออกระเบียบ และหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้าและออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน        โดย กกพ.ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้า

เพื่อทำหน้าที่ศึกษาและจัดทำระเบียบ หลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า ประเมินและคัดเลือกข้อเสนอของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่

ซึ่งเป็นที่มาของการออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่ (IPP) ปริมาณ 5,400 เมกะวัตต์ เมื่อปี พ.ศ.2556

โดยคณะอนุกรรมการการจัดหากำลังการผลิตไฟฟ้าได้จัดทำเอกสารรายละเอียดการยื่นประมูล (Request for Proposal:  RFP) สำหรับกำหนดการผลิตในช่วงปี พ.ศ. 2564-2569

ซึ่งในการออกประกาศเชิญชวนครั้งดังกล่าว มีผู้ผลิตให้ความสนใจและซื้อเอกสาร RFP จำนวน 89 ราย

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการเปิดซองข้อเสนอด้านเทคนิค คงเหลือผู้ยื่นข้อเสนอโครงการรวมทั้งสิ้น 9 ราย จาก 5 กลุ่มบริษัท

ท้ายที่สุดแล้ว ได้ผู้ชนะการประมูลคือ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)

ซึ่งเป็นเอกชนรายเดียวที่ได้กำลังผลิตไฟฟ้าปริมาณกว่า 5,000 เมกะวัตต์ ไปครอบครองแต่เพียงผู้เดียว

และได้เข้าทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับกฟผ. ในฐานะผู้ได้รับการคัดเลือกจากการประกาศรับซื้อไฟฟ้าของ กกพ. ซึ่งผูกพันระยะเวลานานกว่า 25 ปี

การชนะประมูลของเอกชนรายดังกล่าว จนหลายฝ่ายตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใส อันมีที่มาจากการปรับปรุงแผน PDP ของรัฐบาล

..............................

กรณีศึกษาดังกล่าว แม้ไม่อาจบอกได้ว่ามีผู้ใดได้รับประโยชน์จากการประมูลที่มีมูลค่าการลงทุนหลายแสนล้านบาทหรือไม่

แต่ความไม่ชอบมาพากลที่ได้รับการตั้งคำถามจากหลายภาคส่วนในสังคม และยังคงไม่ได้รับคำตอบอย่างกระจ่างชัดจนกระทั่งปัจจุบัน

เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า การใช้อำนาจของรัฐบาลในการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกิจการไฟฟ้าผ่านการจัดทำหรือปรับปรุงแผน PDP

ทำให้คนบางกลุ่มเชื่อว่า การจัดทำและปรับปรุงแผน PDP เป็นเสมือนเครื่องมือที่ปิดบังวาระซ่อนเร้นของผู้กำหนดนโยบายประการหนึ่ง

ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการไฟฟ้าและคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ในแง่ของการประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชน

ก็ก่อให้เกิดความสงสัยว่า

การประมูลมีเงื่อนงำ ไม่เป็นธรรม และโปร่งใสต่อการแข่งขันหรือไม่.....ฯลฯ......

..........................................

ก็ฟ้าแจ้งจางปางกันไปนะครับ

ว่าไอ้ ๕,๐๐๐ เมกะวัตต์ "ต้นเหตุ" ค่าไฟแพงวันนี้ มาจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ไม่ใช่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์

คำถามต่อมา ลุงตู่เข้ามาเป็นรัฐบาล เมื่อรู้ โครงการนี้ ไม่ได้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความต้องการไฟฟ้า และไม่คำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริงแล้ว

มิหนำซ้ำ การประมูลยังมีเงื่อนงำ ไม่เป็นธรรม แล้วทำไมไม่แก้ไข?

แก้ไขหรือไม่แก้ไข อ่านนี่ครับ....

๑๕ ธ.ค.๖๔ "นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์" กก.บห.และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF

แจ้งผลคำพิพากษาของ "ศาลปกครองสูงสุด" ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

เรื่องการประมูลโครงการโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้า ๕,๓๐๐ เมกะวัตต์

สรุปประเด็น คือ เมื่อพลเอกประยุทธ์เข้ามาเป็นรัฐบาลก็ให้ตรวจสอบเรื่องนี้

ในที่สุด "กระทรวงพลังงาน" เจรจายกเลิกโครงการนี้ แจ้งให้ BOI ชะลอการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนของโครงการ

-๒๓ ก.ค.๕๘ กลุ่มกัลฟ์ยื่นฟ้องต่อ "ศาลปกครองกลาง" ตั้งแต่ กกพ., สกพ., กระทรวงพลังงาน ไปจนถึง "คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง"

-๘ ธ.ค.๕๙ "ศาลปกครองกลาง" มีคำพิพากษาว่า "ผู้ถูกฟ้องคดี มีอำนาจดำเนินการตรวจสอบตามกฎหมาย

แต่ได้กระทำนอกเหนือเกินขอบเขตอำนาจในการใช้ผลการตรวจสอบดังกล่าว

จนเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดี ได้รับความเสียหาย

ให้กระทรวงพลังงานแจ้งยกเลิกหนังสือที่ส่งไปถึงคณะกรรมการ BOI เกี่ยวกับการชะลอการพิจารณาอนุมัติการส่งเสริมการลงทุน

-๔ ม.ค.๖๐ "กระทรวงพลังงาน" ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลาง

-๑๔ ธ.ค.๖๔ "ศาลปกครองสูงสุด" พิพากษาการกระทำของกระทรวงพลังงาน ทั้งในส่วนของการส่งหนังสือถึงคณะกรรมการ BOI

หรือการเรียกผู้ฟ้องคดีเข้าไปเพื่อเจรจาไกล่เกลี่ยยกเลิกสัญญาขายไฟฟ้า นั้น

เป็นการกระทำที่ละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย

ดังนั้น.........

"ศาลปกครองสูงสุด" จึงพิพากษาให้กระทรวงพลังงานยกเลิกหนังสือของกระทรวงพลังงาน

ที่มีถึงสำนักงานคณะกรรมการ BOI ในการให้ชะลอการสนับสนุนการส่งเสริมการลงทุนของโครงการของผู้ฟ้องคดี

และให้กระทรวงพลังงานแจ้งสำนักงานคณะกรรมการ BOI ทราบภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ที่มีคำพิพากษา

รวมถึงห้ามกระทรวงพลังงานนำผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงการประมูลโครงการดังกล่าวไปใช้เจรจากับผู้ฟ้องคดีเพื่อยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าอีกต่อไป

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดดังกล่าวถือเป็นที่สุด.

..................................

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ถือเป็นที่สุด.

เอวัง ก็มี ด้วยประการฉะนี้ แล

ขอให้คุณโยมยิ่งลักษณ์ และครอบครัวชินวัตร จงเป็นสุข...เป็นสุข อยู่บนบิลค่าไฟ ทุกทิวาราตรี

ตลอดกาลนาน เทอญ.

 

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอาซะทีเถอะน่า...กกต.!

หมาน่ะ .... จุ๊ๆ ปาก มันยังหยุด เอียงคอ ตาจ้อง หูตั้ง และฟัง แต่ที่ "นายอิทธิพร บุญประคอง" ประธาน กกต. กระแอมถึงนายทักษิณ ผู้ช่วยหาเสียง "ผู้สมัครนายก อบจ." พรรคเพื่อไทย

ไอ้เสือถอย 'รอล้มล้าง'

ขบวนการ "ล้มล้างรัฐธรรมนูญ" ถอยซะแล้ว! "ประธานวันนอร์" แถลงหลังประชุมวิป ๓ ฝ่าย เมื่อวาน (๘ ม.ค.๖๘)