อินเดียสะกิดพม่า: ให้จีนมาตั้งสถานี สอดแนมบนเกาะ Coco หรือเปล่า?

อินเดียสงสัยว่าจีนกำลังช่วยเมียนมาสร้าง “จุดสอดแนม” ในอ่าวเบงกอล

และไม่ได้แค่ตั้งคำถามเฉยๆ            

อินเดียออกข่าวให้เป็นรู้กันไปทั่วว่า ไม่สบายใจที่มีกิจกรรมบนเกาะใกล้บ้านตัวเองที่อาจจะแอบเก็บข้อมูลด้านความมั่นคงเกี่ยวกับตน

ยิ่งพอตั้งประเด็นว่าจีนอาจจะอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ก็ยิ่งทำให้มีคำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสองยักษ์ในเอเชียขึ้นมาอีก

หลายเดือนที่ผ่านมามีข่าวเป็นระยะๆ ว่าอินเดียเผชิญหน้ากับเมียนมา ว่าด้วยข้อมูลข่าวกรองที่แสดงให้เห็นว่าจีนกำลังให้ความช่วยเหลือในการสร้างฐานเฝ้าระวังบนเกาะห่างไกลในอ่าวเบงกอล

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงถึงทางวิ่งสำหรับเครื่องบินบนเกาะ Great Coco ของเมียนมา

เป็นข่าวในสื่อที่ได้ยินเสียงกระซิบจากฝั่งอินเดีย

และไม่เพียงแค่ตั้งคำถามเท่านั้น ตัวแทนรัฐบาลอินเดียในระดับต่างๆ ได้แชร์ภาพถ่ายดาวเทียมกับเจ้าหน้าที่เมียนมาด้วย...เพื่อตอกย้ำความสงสัยว่าเมียนมากับจีนกำลังทำอะไรอยู่บนเกาะแห่งนี้

อินเดียเชื่อว่าภาพดาวเทียมเหล่านั้นยืนยันว่าเป็นภาพคนงานชาวจีน ที่ช่วยกันสร้างสิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นเสารับฟังเสียงบนหมู่เกาะโคโคในมหาสมุทรอินเดีย

เจ้าหน้าที่อินเดียที่นำเสนอภาพถ่ายดาวเทียมชุดนี้ขอไม่บอกชื่อ แต่พร้อมจะให้รายละเอียดของข้อมูลที่ทางข่าวกรองของอินเดียได้เจาะหาข่าวมา

บางภาพตอกย้ำว่ากิจกรรมบนเกาะนั้นมีการขยายลานบินด้วยเพิ่มเติม ส่อไปในทางเป็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการดักฟังหาข้อมูลด้วย

พอนั่งลงประชุมกับฝ่ายอินเดีย ตัวแทนจากรัฐบาลทหารของเมียนมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องใดๆ กับจีน

และบอกปัดความกังวลของอินเดียในเรื่องนี้

แต่อินเดียไม่ลดละ เพราะสองยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียมีเรื่องระหองระแหงกันเรื่องชายแดนอยู่แล้ว

อีกทั้งยังมีแนวทางด้านนโยบายความมั่นคงและต่างประเทศที่ไม่สอดคล้องต้องกันในหลายๆ มิติ

สถานีเรดาร์บนเกาะ CoCo Islands จากภาพถ่ายดาวเทียมโดย Maxar Technologies

อินเดียกลัวว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านทหารบนเกาะแห่งนี้จะทำให้จีนสามารถตรวจสอบการสื่อสารจากฐานทัพเรือ

และอาจติดตามขีปนาวุธจากจุดทดสอบบนชายฝั่งตะวันออกได้

พล.ต.ซอ มิน ทุน โฆษกสภาบริหารรัฐกิจของเมียนมา บอกว่าข้อกล่าวหาที่ว่าจีนสร้างศูนย์ปฏิบัติการสอดแนมในหมู่เกาะโคโคโคนั้น “ไร้สาระ”

และยืนยันว่าจะไม่มีวันอนุญาตให้ทหารต่างชาติเข้ามายุ่มย่ามในดินแดนของตน

ในการตอบคำถามเรื่องนี้ โฆษกรัฐบาลทหารเมียนมาบอกว่า “เมียนมาและอินเดียมีการหารือกันเป็นประจำในหลายระดับ แต่ไม่มีการหารือเฉพาะประเด็นนี้”

เขาย้ำว่า รัฐบาลอินเดียก็รู้ดีว่ามีเพียงกองกำลังความมั่นคงของเมียนมาเท่านั้นที่ประจำการอยู่ที่นั่น

และเป็นกองกำลังที่มีหน้าที่ดำเนินกิจกรรมด้านป้องกันประเทศของตนเองเท่านั้น

เท่ากับเป็นการบอกปัดว่าจีนไม่เกี่ยว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียไม่ลดละ ยืนยันว่าอินเดียจะใช้ "มาตรการที่จำเป็น" เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตน

 “รัฐบาลอินเดียจับตาดูวิวัฒนาการทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของอินเดียอย่างต่อเนื่อง” เขากล่าว

สื่อ Nikkei Asia บอกว่าได้พยายามขอความเห็นจากฝ่ายจีน แต่ก็ยังไม่ได้การตอบสนองแต่อย่างใด

เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมา เฉิน ไห่ ซึ่งได้พบกับรัฐมนตรีรัฐบาลทหารบางคนเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ไม่ตอบสนองต่อคำร้องขอความคิดเห็น

กระทรวงต่างประเทศของจีนก็ไม่ตอบคำถามที่ส่งไปในประเด็นนี้ 

จีนกับอินเดียมีความขัดแย้งกันมายาวนาน...ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามสถานการณ์และบรรยากาศการเมืองในประเทศและระหว่างประเทศ

ความตึงเครียดทางทหารระหว่างอินเดียและจีนขยับระดับขึ้นตั้งแต่ปี 2563

อันเป็นปีที่มีการสู้รบที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายทศวรรษ

เกิดจากการปะทะกันที่ชายแดนหิมาลัย

ความจริง เรื่องพม่าเปิดทางให้หน่วยข่าวกรองส่งสัญญาณจีนบนหมู่เกาะแห่งนี้เริ่มมีการพูดถึงตั้งแต่ทศวรรษ 1990

แต่ก็เงียบหายไประยะหนึ่ง จนกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งเมื่อเร็วๆ นี้ เพราะกลุ่มวิจัยนโยบาย Chatham House ในลอนดอน ออกรายงานที่คาดเดาว่าเมียนมากำลังเสริมกำลังทางทหารที่หมู่เกาะโคโค โดยมีจุดประสงค์เพื่อดำเนินการตรวจตราทางทะเลในพื้นที่ดังกล่าว

อินเดียวางแผนที่จะกดดันรัฐบาลทหารของเมียนมาต่อเพื่อสกัดกั้นจีนจากการปฏิบัติการของหน่วยสืบราชการลับ

อินเดียตระหนักว่ารัฐบาลทหารเมียนมาต้องพึ่งพาจีนทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้นหลังก่อรัฐประหารเมื่อปี 2564 เพราะถูกตะวันตกคว่ำบาตรอย่างต่อเนื่อง

จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเมียนมา

อีกทั้งยังได้ลงทุนในท่าเรือและท่อส่งพลังงานในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหลีกเลี่ยงช่องแคบมะละกา

อินเดียมีหน่วยทหารอยู่ในกลุ่มเกาะอันดามันและนิโคบาร์ ห่างจากหมู่เกาะโคโคไม่ถึง 60 กิโลเมตร

กิจกรรมสอดแนมของจีนได้รับความสนใจเมื่อต้นปีนี้ เมื่อสหรัฐฯ ยิงบอลลูนสอดแนมที่บินอยู่เหนือดินแดนของตนตก

สหรัฐฯ เคยออกมาเตือนเรื่องความพยายามของจีนในการจัดตั้งฐานทัพทางทหารในส่วนอื่นๆ ของเอเชีย

ปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมวอชิงตันออกมาชี้ว่า สิ่งอำนวยความสะดวกที่ฐานทัพเรือเรียมของกัมพูชา “จะเป็นฐานทัพเรือโพ้นทะเลแห่งแรกของจีนในอินโด-แปซิฟิก”

แต่กัมพูชาก็ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ตลอดเวลาเช่นกัน

มาร์ติน ไมเนอร์ส โฆษกเพนตากอน สำทับว่าสหรัฐฯ มีความกังวลว่าจีนกำลัง “พยายามสร้างเครือข่ายโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ซึ่งจะทำให้กองทัพจีนสามารถรักษาแสนยานุภาพทางทหารได้ในระยะไกล”

สหรัฐฯ ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับจีนในกิจกรรมสอดแนมย่านนี้เป็นเรื่องหนึ่ง

แต่เมื่ออินเดียซึ่งเป็นประเทศใหญ่ในย่านนี้ ตั้งคำถามเรื่องเดียวกันนี้กับจีนก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เพราะนั่นหมายถึงการเผชิญหน้าของสองยักษ์เอเชีย ที่มีเดิมพันด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงมากยิ่งขึ้นทุกวัน

เป็นอีกเรื่องหนึ่งของคนไทยและอาเซียนต้องใส่ใจเป็นพิเศษ ในภาวะที่สมการแห่งการเมืองเอเชียกำลังเกิดภาวะ “พลวัตกลับตาลปัตร” ไปทั่วโลกอย่างที่เห็นกันทุกวันนี้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ