เวียดนามจะเข้าใกล้สหรัฐฯ แค่ไหนเพื่อสกัดจีน?
ฮานอยกำลังต้องเล่นเกมถ่วงดุลอำนาจของสองยักษ์ใหญ่อย่างท้าทาย
เป็นที่รู้กันว่าจีนมองเวียดนามด้วยความระแวง และฮานอยก็ยื่นมือกระชับความสัมพันธ์กับวอชิงตันอย่างเร่งรีบเช่นกัน
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ไปเยือนฮานอยและเรียกร้องให้เวียดนามยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงกับวอชิงตัน ในการประชุมร่วมกับเหงียน ฟู้ จ่อง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม
เป็นการเยือนเวียดนามครั้งแรกของบลิงเกนในฐานะรัฐมนตรีต่างประเทศ
เห็นได้ชัดว่าเป็นความพยายามของวอชิงตันที่จะดึงเวียดนามมาร่วมนโยบายสกัดกั้นจีน
“ผมเชื่อ…ว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ดีในความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามและสหรัฐฯ-สิบปีแห่งความเป็นหุ้นส่วนที่ครอบคลุม ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นในทุกด้าน และเราเชื่อว่ามีโอกาสที่จะสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งนั้น” บลิงเกนกล่าวกับผู้นำเวียดนามก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการ
เป็นการอ้างถึงกรอบการพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีที่ลงนามอย่างเป็นทางการในปี 2013
การเยือนครั้งนี้มีขึ้นหลังการคุยกันทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับเหงียน ฟู้ จ่อง เมื่อปลายเดือนมีนาคม
ในสายตาของนักวิเคราะห์ที่เฝ้าติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดนั้น น่าจะสรุปได้ว่าความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามจะเติบโต...แต่ยังมีขีดจำกัด
พอหลี่ เฉียง ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีจีนคนใหม่ ก็เริ่มโทรศัพท์หาผู้นำในต่างประเทศเมื่อเดือนที่แล้ว เบอร์ของผู้นำเวียดนามก็อยู่ในอันดับต้นๆ ของรายชื่อที่ต้องเชื่อมต่อทันที
พอต่อสายถึงนายกฯ ฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ที่ฮานอย หลี่ เฉียง ก็เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนิน “ความสัมพันธ์เพื่อนบ้าน” ระหว่างจีนกับเวียดนาม
โดยเน้นว่าทั้งสองประเทศควร “ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมต่อไปเพื่อส่งเสริมเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองในเอเชีย-แปซิฟิก”
ก่อนหน้านี้ ฉิน กัง รัฐมนตรีต่างประเทศจีนได้คุยโทรศัพท์กับนายบุ่ย แทงห์ เซิน รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนามด้วยเนื้อหาสาระในแนวเดียวกัน
กิจกรรมทางการทูตเกิดขึ้นหลังจากสหรัฐฯ ให้ความสนใจในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กับเหงียน ฟู้ จ่อง หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม เพื่อ “ส่งเสริม พัฒนา และกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น”
ผู้นำทั้งสองต่างก็เชื้อเชิญให้ไปเยี่ยมซึ่งกันและกัน
จึงเป็นบทพิสูจน์ว่าเวียดนามกำลังรักษาสมดุลผลประโยชน์ของตนอย่างสุดฤทธิ์
ด้านหนึ่ง เวียดนามต้องการจะยกระดับความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ
แต่อีกด้านหนึ่ง ฮานอยก็พยายามจะหลีกเลี่ยงการถูกดึงเข้าสู่วงโคจรของอเมริกาเพื่อสกัดกั้นอิทธิพลของจีนในย่านนี้
สี จิ้นผิง เคยประกาศว่าจีนจะสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มั่นคงกับเวียดนาม
นั่นย่อมเป็น “แรงจูงใจ” ที่สำคัญสำหรับเวียดนาม
ยิ่งนับวันจีนกับสหรัฐฯ ก็ยิ่งยกระดับการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
และเพื่อนบ้านจำนวนมาก รวมถึงพันธมิตรของสหรัฐฯ เช่น ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และเกาหลีใต้ ได้ขยับเข้าใกล้วอชิงตันมากขึ้น
ซึ่งปักกิ่งย่อมมองว่านี่คือกลยุทธ์ที่จะ “ปิดล้อม” ตน
เวียดนามกลายเป็นจุดที่มีความสำคัญด้านภูมิรัฐศาสตร์มากขึ้น เพราะมีเศรษฐกิจที่เติบโตรวดเร็วและมีที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในทะเลจีนใต้อีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ตั้งแต่ปี 2018 สหรัฐฯ ได้ส่งเรือตรวจการณ์ไปแวะเวียนเวียดนามเกือบทุกปี
ในปี 2017 และ 2021 วอชิงตันส่งมอบเรือระดับ Hamilton สองลำให้ฮานอย
เรือรบฝูงนี้เคยเป็นเรือประเภทใหญ่ที่สุดในหน่วยยามฝั่งของสหรัฐฯ
ลำที่สามก็พร้อมสำหรับการส่งมอบเมื่อปีที่แล้ว
การส่งมอบเรือเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ US Excess Defense Articles ซึ่งระบุให้สหรัฐฯ มอบยุทโธปกรณ์ทางทหารส่วนเกินแก่พันธมิตรของสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนความพยายามในการปรับปรุงกองทัพและความมั่นคงให้ทันสมัย
การพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ชั้นสูงของสองประเทศก็เกิดถี่ขึ้น
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา นักการทูตอาวุโสจากเวียดนามและสหรัฐฯ ได้ประชุมกันที่กรุงวอชิงตันเพื่อหารือด้านการเมืองและความมั่นคง
ส่งผลให้สหรัฐฯ ยืนยันคำมั่นที่จะช่วยเวียดนามปรับปรุงขีดความสามารถทางทะเลและการบังคับใช้กฎหมาย
ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ ความร่วมมือของสองประเทศด้านความมั่นคงทางทะเลที่ดูเหมือนจะขยายขอบเขตกว้างขวางขึ้น
เป็นที่ชัดเจนว่า หน่วยยามฝั่งสหรัฐฯ มีความกระตือรือร้นที่จะเพิ่มความคึกคักในอินโด-แปซิฟิก
รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รอบๆ บ้านเรานี่แหละ
สี จิ้นผิง เคยกล่าวกับผู้นำเวียดนามในสารวันตรุษจีนที่ผ่านมาว่า จีนและเวียดนามมีอนาคตร่วมกัน
แต่ต้องยอมรับว่าความระแวงคลางแคลงที่ฝังลึกของเวียดนาม และข้อพิพาทด้านดินแดนในทะเลจีนใต้กับจีนนั้นมีส่วนกระตุ้นให้มีความร่วมมือด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น
เวียดนามคงจะติดตามความเคลื่อนไหวระหว่างสหรัฐฯ กับฟิลิปปินส์อย่างใกล้ชิดเช่นกัน
เพราะฟิลิปปินส์เปิดไฟเขียวให้สหรัฐฯ เข้าไปใช้ฐานทัพใหม่สี่แห่ง รวมถึงหนึ่งแห่งใกล้กับน่านน้ำพิพาทในหมู่เกาะสแปรตลีย์
แต่เวียดนามคงจะต้องเดินเกมอย่างระมัดระวังกว่าฟิลิปปินส์
อีกทั้งยังมีเหตุผลที่ต่างกันของสองประเทศ
ประการแรก ฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญากับสหรัฐฯ ซึ่งผูกพันตามสนธิสัญญาป้องกันร่วมกัน
แต่เวียดนามกับสหรัฐฯ ไม่มีข้อตกลงเช่นนั้น
อเมริกาอาจจะต้องการสิ่งเดียวกันจากเวียดนาม แต่คงไม่ง่าย
เพราะเรื่องอย่างนี้ต้องปรบมือสองข้างจึงจะดัง
น่าศึกษามากว่าเวียดนามกำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะวางตัว ณ จุดที่อ้างได้ว่า “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด”
แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย
ในทางปฏิบัติจะเป็นไปได้เพียงใดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ความจริงประเด็นนี้เป็นความท้าทายสำหรับประเทศต่างๆ ในอาเซียนเป็นอย่างยิ่ง
รวมทั้งประเทศไทยเราด้วย
โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่ในภาวะโลกผันผวนรวนเรอย่างหนักขณะนี้ ประเทศเล็กๆ และกลางๆ จะวางยุทธศาสตร์ทางการทูต ความมั่นคง และเศรษฐกิจอย่างไร
ให้นอกจากจะต้อง “รอด” แล้วยังต้อง “รุ่ง” ด้วย!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ