ทำไมโปแลนด์จึงกลายเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสำคัญที่สุดสำหรับยูเครนในการทำสงครามกับรัสเซีย?
คำตอบคือโปแลนด์รู้ว่าถ้ารัสเซียยึดยูเครนได้ เป้าต่อไปก็คือตัวเอง
ประวัติศาสตร์สอนโปแลนด์ถึงความเจ็บปวดของสงครามอย่างที่น้อยประเทศจะได้พานพบมาด้วยตนเอง
ตั้งแต่สงครามเริ่มต้น โปแลนด์ต้องรับผู้ลี้ภัยยูเครนกว่า 1.7 ล้านคน (จากทั้งหมดที่หนีสงครามออกนอกประเทศกว่า 7 ล้านคน)
และโปแลนด์กลายเป็นจุดผ่านที่สำคัญที่สุดสำหรับความช่วยเหลือและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ต่างประเทศส่งมาให้ยูเครน
ใครจะเข้ายูเครนต้องผ่านโปแลนด์เพื่อเดินทางต่อทางรถไฟหรือถนน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุด เพราะเส้นทางขนส่งเข้ากรุงเคียฟถูกระงับด้วยสงคราม
นอกจากนั้นโปแลนด์ยังกลายเป็นประเทศที่ประกาศสนับสนุนให้ยูเครนเข้านาโตและสหภาพยุโรปที่ดังที่สุดประเทศหนึ่ง
โปแลนด์ยังออกมาวิพากษ์บางประเทศทางตะวันตกว่า “มีท่าทีอ่อนข้อต่อรัสเซียมากเกินไป” ในกรณีรุกรานยูเครน
รัฐบาลโปแลนด์ภายใต้การนำของประธานาธิบดี Andrzej Duda เพิ่งต้อนรับการไปเยือนของประธานาธิบดีเซเลนสกีอย่างอบอุ่น
ขณะที่สมาชิกนาโตอื่นๆ จัดสรรงบประมาณ 2% ของจีดีพีให้กับด้านกลาโหมตามข้อตกลงกับนาโต แต่โปแลนด์ไม่ลังเลที่จะปรับขึ้นไปที่ 4% เพื่อแสดงความทุ่มเทต่อความร่วมมือทางทหารขององค์กรทหารร่วม
เพื่อแสดงความพร้อมจะช่วยยูเครนรบกับรัสเซีย โปแลนด์เป็นประเทศแรกที่ส่งรถถัง Leopard2 ให้ยูเครน (ก่อนที่เยอรมนีซึ่งเป็นผู้ผลิตด้วยซ้ำ)
และเมื่อไม่นานมานี้ โปแลนด์ก็เป็นประเทศแรกที่ประกาศจะส่งมอบเครื่องบินรบให้กับยูเครนเพื่อสกัดการโจมตีของรัสเซีย
เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ และนาโตสร้างค่ายทหารถาวรใหม่ในโปแลนด์ที่ตั้งอยู่เคียงข้างคลังแสงอาวุธยักษ์ที่มีรถถังและรถหุ้มเกราะทหารรบหลายร้อยคันประจำการอยู่อย่างแข็งขัน
นายทหารสหรัฐฯ คนหนึ่งเรียกโปแลนด์วันนี้ว่าเป็น “ฟันเฟืองแห่งความมั่นคงของภูมิภาคแห่งนี้”
แต่ก่อนนี้ โปแลนด์เป็น “เด็กนอกคอก” ไม่มีใครสนใจอะไรเท่าไหร่
แต่พอรัสเซียบุกยูเครนเท่านั้นแหละ ประเทศเพื่อนบ้านทางตะวันตกของยูเครนแห่งนี้ก็มีความสำคัญขึ้นมาทันที
สงครามยูเครนทำให้เกิดการ “เคลื่อนย้ายด้านภูมิรัฐศาสตร์” ในยุโรปอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
อยู่ดี ๆ “ศูนย์แรงดึงดูด” ของนาโตก็ย้ายจากยุโรปตะวันตก เช่น ฝรั่งเศสและเยอรมนีไปทางตะวันออก...นั่นคือโปแลนด์และประเทศในทะเลบอลติกและชาติอื่นๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ใต้ “ม่านเหล็ก”
หมายถึงที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตก่อนการล่มสลายเมื่อปี 1991
ยุโรปกลางและตะวันออกนั้นมีประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นกว่าทางตะวันตก...โศกนาฏกรรมของสงครามในอดีตและการหวนคืนมาของความขัดแย้งที่กลายเป็นการต่อสู้ด้วยอาวุธนั้นกลับมาหลอกหลอนความดำมืดแห่งประวัติศาสตร์อีกครั้ง
ไม่นานมานี้เอง นักประวัติศาสตร์เคยเรียกโปแลนด์ว่าเป็น “หัวใจของยุโรป”
ไม่ใช่เพียงจุดที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เท่านั้น แต่โปแลนด์ดูเหมือนจะเป็น “เบ้าหลอม” ของกระแสธารแห่งความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แล่นผ่านทวีปยุโรปทั้งมวล
นักประวัติศาสตร์จำนวนหนึ่งมองย้อนประวัติศาสตร์ของโปแลนด์แล้วก็ประกาศว่าความจริงประเทศนี้มีความเป็นยุโรปมากกว่าประเทศอื่นใดบนทวีปนี้ด้วยซ้ำ
เพราะบทบาทเก่าในฐานะเป็น “ปราการแห่งอารยธรรมคริสต์แห่งโลกตะวันตก”
กูรูหลายคนของโปแลนด์กำลังเตือนความทรงจำว่า คนในย่านนี้ที่มีพรมแดนประชิดกับรัสเซียได้เตือนมาตลอดว่าจะต้องตั้งการ์ดสูงไว้เพื่อป้องกัน “ความใฝ่ฝัน” ของผู้นำรัสเซียบางคนที่อาจจะยังฝันถึงอดีตอันเกรียงไกรของจักรวรรดิรัสเซียในอดีต
นักประวัติศาสตร์มีชื่อเสียงของโปแลนด์คนหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า
“เราเตือนเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากรัสเซีย หรือเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน และความเสี่ยงที่เราพึ่งพารัสเซียมากเกินไป... แต่ไม่มีใครฟังเรา ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนีหรือประเทศอื่น...และวันนี้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งที่เราพยากรณ์เตือนไว้นั้นล้วนถูกต้องหมด”
วันนี้รัฐบาลโปแลนด์กำลังพยายามจะสร้างกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป...ด้วยอาวุธที่มาจากสหรัฐฯ
นายกรัฐมนตรีโปแลนด์ Mateusz Morawiecki ปราศรัยที่มหาวิทยาลัย Heidelberg University ที่เยอรมนีว่ายุโรปกำลังเข้าสู่ “จุดเปลี่ยนแห่งประวัติศาสตร์”
นั่นหมายความว่ายุโรปตะวันตกจะต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นจากสงครามยูเครน
การที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีไปเยือนโปแลนด์อย่างเป็นทางการเมื่อสัปดาห์ก่อนมีความหมายสำคัญตรงที่ว่า ยูเครนกำลังจะจัดระเบียบของยุโรปตะวันออกใหม่
ตอนหนึ่งของคำกล่าวของเซเลนสกีบอกว่า “ในอนาคต 2 ประเทศของเราจะไม่มีพรมแดนแบ่งแยกประชาชนของเราอีก แต่ตอนนี้ภารกิจเฉพาะหน้าคือ การที่ยูเครนต้องได้รับชัยชนะในการทำสงครามกับผู้รุกรานก่อน”
โปแลนด์รู้ว่าหากยูเครนแพ้สงครามครั้งนี้ หนึ่งในเป้าหมายหลักของรัสเซียคือโปแลนด์อย่างปฏิเสธไม่ได้
ผู้นำโปแลนด์ยืนยันว่าจะผลักดันให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโตและสหภาพยุโรปโดยด่วน เพื่อสร้างป้อมปราการที่หนาแน่นสำหรับการรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของตน
และเพื่อความมั่นคงของประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของยูเครนจากภัยคุกคามที่ไม่เคยชัดเจนและใกล้ตัวเท่าที่เห็นและเป็นอยู่เลย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ