ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และมีการประเมินกันว่าอีกเพียงไม่กี่ปีข้างหน้าไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) คือมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ตรงนี้ถือเป็นอีกโจทย์ใหญ่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยเตรียมพร้อมและมีความพร้อมรับมือกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป นั่นคือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระยะยาว
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอดในปี 2572 เร็วขึ้นกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะเกิดขึ้นในปี 2574 หลังจากประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงมาแล้ว 3 ปีติดต่อกัน คือตั้งแต่ปี 2563-2565 จากอัตราการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์มีแนวโน้มลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และการปรับโครงสร้างเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก!
โดยก่อนหน้านี้เราอาจจะได้ยินกระแสข่าวการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของหลายประเทศในโลก ไม่ว่าจะเป็น “จีน” ที่สูญเสียตำแหน่งจำนวนประชากรมากที่สุดในโลกให้กับอินเดีย เนื่องจากการเผชิญการลดลงของจำนวนประชากรเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ทศวรรษ, “ญี่ปุ่น” ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจำนวนประชากรที่ลดลง และความเป็นสังคมสูงอายุเรื้อรังอาจจะรุนแรงจนกระทั่งญี่ปุ่นหายไปจากแผนที่โลกได้, “เกาหลีใต้” เป็นอีกประเทศที่อัตราการเจริญพันธุ์ลดลงมาต่ำที่สุดแซงหน้าทุกประเทศแม้กระทั่งญี่ปุ่น และ “ฝรั่งเศส” ที่อยู่ระหว่างการปฏิรูประบบบำนาญจนนำมาสู่เหตุประท้วงใหญ่
สำหรับประเทศไทยนั้น มีประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรเช่นกัน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคธุรกิจและรัฐบาลชุดใหม่ต้องเร่งจัดการ โดยเฉพาะการก้าวเป็นสังคมสูงอายุขั้นสุดยอดในปี 2572 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากประชากรไทยมีจำนวนลดลงแล้วตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเร็วขึ้นถึง 9 ปีเมื่อเทียบกับที่เคยคาดกันไว้ว่าจะเริ่มลดลงในปี 2572 ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเริ่มแซงหน้าจำนวนเด็กเกิดใหม่ในปี 2564-2565 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ อัตราการเกิดและภาวะการเจริญพันธุ์ของไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยปัจจุบันอัตราการเกิดอยู่ที่เพียง 0.76% ส่วนภาวะการเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.33 ขณะที่ประชากรรุ่น Baby Boomer (เกิดก่อนปี 2506-2526) ราว 1 ล้านคน กำลังเข้าสู่ช่วงอายุ 60 ปีเป็นจำนวนมากในปีนี้ อีกทั้งการปรับเพิ่มอัตราการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์ก็ไม่ง่าย ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความไม่แน่นอนสูง ประชาชนมีความกังวลต่อความไม่มั่นคงด้านรายได้ในยุคค่าครองชีพสูง รวมถึงความกังวลต่อเหตุการณ์แวดล้อม ทั้งการเกิดวิกฤตโรคระบาดใหม่ ภัยธรรมชาติ วิกฤตความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์โลก ทำให้เกิดค่านิยมที่คนรุ่นใหม่ไม่ต้องการมีบุตร
ดังนั้น การเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายจากโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป จึงเป็นโจทย์สำคัญสำหรับภาคธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาส เนื่องจากรายได้ธุรกิจอาจถูกกระทบหากลูกค้ายังคงใช้จ่ายไม่ต่างจากเดิม แต่ฐานลูกค้ามีจำนวนที่ลดลงเรื่อยๆ ขณะเดียวกันรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการที่เสนอต่อลูกค้าต้องมีการปรับเปลี่ยนจากผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้น สวนทางกับเด็กและวัยทำงานที่มีแนวโน้มลดลง สะท้อนว่า หากผู้ประกอบธุรกิจสามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่แตกต่างและตอบโจทย์ผู้สูงวัย ในราคาที่เอื้อมถึงได้ ก็จะมีโอกาสสร้างรายได้ให้เติบโต ขณะเดียวกันก็ต้องมีสินค้าและบริการที่เจาะประชากรเด็กและวัยทำงานด้วย
ไม่เพียงเท่านี้ ต้นทุนธุรกิจมีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะการขาดแคลนกำลังแรงงาน และการปรับมาใช้เทคโนโลยี/เครื่องจักร สะท้อนว่าต้นทุนธุรกิจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแรงงานน่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่ต้นทุนแรงงานเฉลี่ยอยู่ที่ราว 10% ของต้นทุนรวม
อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภาคธุรกิจต่างๆ คงต้องเร่งปรับตัวและเตรียมการรองรับประเด็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทย ซึ่งจะเกิดขึ้นควบคู่ไปกับโจทย์อีกหลายด้านพร้อมๆ กัน การปรับตัวได้เร็วและมองได้ครบถ้วนย่อมสร้างความได้เปรียบ และเป็นโอกาสที่แตกต่างกันออกไป ไม่เพียงเท่านี้ประเด็นดังกล่าวก็นับว่าเป็นโจทย์ท้าทายสำคัญต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่ต้องเร่งจัดการ เพราะเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงต่อทิศทางเศรษฐกิจในภาพใหญ่และความสามารถในการแข่งขันของประเทศ.
ครองขวัญ รอดหมวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปี68สินเชื่อระบบแบงก์ไทยหืดจับ
ปี 2568 ยังเป็นอีกปีที่ต้องจับตากับทิศทางของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ที่จะเข้ามามีผลกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์กดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน
แผนดัน ‘เกษตรครบวงจร’
อุตสาหกรรมเกษตร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และที่ผ่านมาเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนไปได้ด้วยสินค้าเกษตร แต่ก็มีบางช่วงที่ติดขัดและไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จากปัจจัยกระทบต่างๆ
เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี
เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม
แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ
ของขวัญรัฐบาล
อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว
ยกระดับธุรกิจไทยแข่งขันเวทีโลก
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ