จีน-มาเลเซียจะฟื้น Asian Monetary Fund ‘ไม่มีเหตุผลที่เราจะต้องพึ่งพาดอลลาร์ต่อไป’

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนเปิดประตูต้อนรับผู้นำอาเซียนสองคนเมื่อต้นเดือนนี้

เป็นสัญลักษณ์อีกด้านหนึ่งว่า ปักกิ่งกำลังต้องการจะกระชับมิตรกับอาเซียนเพื่อสกัดอิทธิพลสหรัฐฯ

ผมสนใจหนึ่งในหัวข้อของการปรึกษาหารือกับนายกฯมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม คือการพูดถึงการรื้อฟิ้น "กองทุนการเงินเอเชีย" หรือ Asian Monetary Fund (AMF)

โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการพึ่งพาดอลลาร์สหรัฐฯ

อันวาร์เสนอให้จัดตั้งกองทุนนี้บนเวทีสัมมนาใหญ่ประจำปี Boao forum ในไหหลำ

โดยเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

“ตอนที่ผมพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ท่านพูดทันทีว่า ‘ผมอ้างถึงข้อเสนอของอันวาร์เกี่ยวกับกองทุนการเงินเอเชีย’ และเขายินดีต่อการหารือ” อันวาร์แจ้งกับรัฐสภามาเลเซียหลังกลับจากการเยือนจีน

นอกจากนี้ อันวาร์ยังเรียกร้องให้จีนฟื้นฟูแผนหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางหรือ One Belt One Road อีกด้วย

“ไม่มีเหตุผลใดที่มาเลเซียจะยังคงพึ่งพาเงินดอลลาร์ต่อไป” อันวาร์ประกาศ

ซึ่งต้องถือว่าเป็นก้าวใหม่ที่มีความสำคัญ ในขณะที่จีนกับสหรัฐฯ กำลังเผชิญหน้ากันหนักหน่วงยิ่งขึ้น

และมีแนวโน้มว่าเงินสกุลหยวนจะเริ่มมีบทบาทสำคัญมากขึ้น เมื่อหลายประเทศเริ่มหันมาใช้เงินสกุลหยวนในการซื้อขายแทนดอลลาร์

เมื่อผู้นำทั้งสองเปิดไฟเขียวเรื่องนี้ ธนาคารกลางของมาเลเซียก็เริ่มลงรายละเอียดถึงขั้นตอนของการเดินเรื่องนี้ทันที

โดยเน้นไปที่การเจรจาเรื่องการค้าโดยใช้เงินริงกิตและเงินหยวน

อันวาร์ควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังด้วย จึงอยู่ในฐานะจะผลักดันให้เรื่องนี้เดินหน้าได้เร็วและจริงจังขึ้น

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของมาเลเซียเรื่องนี้มีขึ้นเพียงไม่กี่เดือน หลังจากอดีตเจ้าหน้าที่ในสิงคโปร์หารือว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคควรทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงของค่าเงินดอลลาร์ที่ยังคงแข็งค่า

ซึ่งส่งผลให้สกุลเงินท้องถิ่นอ่อนค่าลง มีผลกระทบต่อการบริหารเศรษฐกิจของประเทศที่มีความผันผวนหนักขึ้นตลอดเวลา

การแข็งค่าของเงินดอลลาร์เป็นเรื่องที่น่าปวดหัวสำหรับประเทศในเอเชีย รวมทั้งมาเลเซียซึ่งเป็นผู้นำเข้าสุทธิของรายการอาหาร

ดัชนีบลูมเบิร์กดอลลาร์แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกันยายน 2565

การแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์ส่งผลให้เงินริงกิตและสกุลเงินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ร่วงลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบหลายทศวรรษ

นักวิเคราะห์บอกว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็หมดความอดทนกับอิทธิพลของ “เจ้าพ่อชื่อดอลลาร์” แล้ว

อันวาร์บอกว่า ในตอนแรกเขาได้ตั้ง “กองทุนการเงินเอเชีย” ในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลังเป็นครั้งแรกในทศวรรษที่ 1990

แต่แนวคิดนั้นไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรเพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังแข็งค่าอยู่

“แต่ตอนนี้ด้วยความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในจีน  ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ผมคิดว่าเราควรหารือเรื่องนี้ อย่างน้อยที่สุดควรพิจารณากองทุนการเงินเอเชีย และประการที่สอง การใช้สกุลเงินของเรา” เขากล่าว

อันวาร์ยังเปิดเผยต่อฝ่ายนิติบัญญัติถึงรายละเอียดของเงิน 170,000 ล้านริงกิต (ประมาณ  1.3 ล้านล้านบาท) ที่จีนเตรียมจะนำมาลงทุนในมาเลเซีย

ซึ่งรวมถึงการลงทุนเบื้องต้นจำนวน 2 พันล้านริงกิตในปีนี้ในกลุ่ม Zhejiang Geely Holding Group และโครงการหุบเขาไฮเทคยานยนต์ของ Proton ซึ่งจะเพิ่มเป็น 32 พันล้านริงกิต

บริษัท Rongsheng Petrochemical Co. จะเพิ่มกิจกรรมในเมืองเปงเงอรัง รัฐยะโฮร์ ด้วยโครงการมูลค่า 80,000 ล้านริงกิต

Rongsheng เป็นหนึ่งในโรงกลั่นที่ใหญ่ที่สุดของจีน

จีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับมาเลเซียเพื่อส่งเสริมอารยธรรมเอเชีย รักษาเอกราชทางยุทธศาสตร์

โดยสี จิ้นผิง ได้เน้นย้ำกับผู้นำมาเลเซียว่าจีนปฏิเสธ “ความคิดแบบสงครามเย็น” และการ "เผชิญหน้าแบบกลุ่ม” อย่างแข็งขัน

ปักกิ่งและกัวลาลัมเปอร์จะครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปีหน้า

“ทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะสร้างชุมชนจีน-มาเลเซียที่มีอนาคตร่วมกัน สิ่งนี้จะเปิดบทใหม่ในความสัมพันธ์ทวิภาคี" โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนรายงาน

นอกจากคุยเรื่องการค้าและลงทุนแล้ว อันวาร์บอกว่าเขายังได้สัมผัสกับความพยายามของรัฐบาลจีนในการเผชิญหน้าและคลี่คลายปัญหาความยากจนในจีน

“ซึ่งขณะนี้กำลังเกิดผลในทางปฏิบัติ เพราะคนจีนเกือบ 800 ล้านคนได้รับการปลดปล่อยจากโซ่ตรวนของความยากจน”

ห่างกันเพียงวันเดียว สี จิ้นผิง ก็เจอกับนายกฯ ลี  เซียนหลง ของสิงคโปร์ด้วย

ผู้นำจีนบอกกับลีว่า "ภูมิภาคเอเชียได้จุดประกายเส้นทางการพัฒนาที่มีเอกราช ความเคารพซึ่งกันและกัน ความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วมกัน การเปิดกว้าง การรวมและ ความร่วมมือแบบ win-win ที่สอดคล้องกับความเป็นเอเชีย

ซึ่งที่สีบอกลีสะท้อนถึงแนวคิดของจีนในยุคใหม่

สี จิ้นผิง บอกว่าโลกกำลังปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างรวดเร็วชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในช่วงหนึ่งศตวรรษ

จีนปฏิเสธ “ความเป็นเจ้าโลก” และ “การข่มขู่กลั่นแกล้ง” อย่างเด็ดขาด

อีกทั้งจะไม่อนุญาตให้ประเทศใดมาลิดรอนสิทธิของชาวเอเชียในการแสวงหาสิ่งที่ดีกว่าให้ชีวิต

ไม่ต้องตีความให้ยากก็ต้องรู้ว่าสีหมายถึงอเมริกา

ผู้นำทั้งสองเห็นพ้องกันว่าทั้งสองฝ่ายควรทำงานเพื่อให้การเชื่อมต่อเที่ยวบินกลับมาอีกครั้ง

จีนเพิ่งเปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเมื่อวันที่ 15 มี.ค. โดยจีนให้กลับมาใช้วีซ่าทุกประเภทอีกครั้ง

นายกฯ สิงคโปร์ย้ำว่า ถึงเวลาแล้วที่จะมองไปข้างหน้า ทำงานร่วมกัน และทำให้หุ้นส่วนของสองประเทศก้าวไปข้างหน้า

โดยพูดเอาใจเจ้าของบ้านว่า "หลายประเทศรวมถึงสิงคโปร์มีความกระตือรือร้นที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน และผมหวังว่าการเยือนของผมครั้งนี้จะกระตุ้นแรงผลักดันใหม่สำหรับความร่วมมือทวิภาคีและการแลกเปลี่ยนระดับสูงระหว่างเรา"

ผมสังเกตว่าตอนประชุมกันนั้น สี จิ้นผิง พูดภาษาจีนผ่านล่าม

และลี เซียนหลง พูดภาษาอังกฤษผ่านล่ามเช่นกัน

ทั้งๆ ที่นายกฯ สิงคโปร์พูดภาษาจีนได้คล่องแคล่ว

เพราะผู้นำสิงคโปร์ต้องการจะคงไว้ซึ่ง “ความเป็นสากล” ของสิงคโปร์

ไม่ให้ถูกมองว่าสิงคโปร์มีความเป็นจีนมากเกินไปนัก

เขาสอนให้คนของเขาปฏิบัติตนและคิดแบบเป็น Singaporeans ไม่ใช่ Chinese

นี่คือความแตกต่างที่น่าสนใจยิ่งสำหรับคนไทยเราที่ติดตามข่าวคราวระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ในเชิงสัญลักษณ์และเนื้อหาที่มีความหมายลุ่มลึกอย่างมีนัยสำคัญ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ