ฟินแลนด์เข้า NATO : จุดพลิกผันสงครามยูเครน

ฟินแลนด์ (ประชากร 5.5 ล้านคน) ได้รับเข้าเป็นสมาชิกประเทศที่ 31 ของนาโตแล้ว...                ทันใดนั้นเพื่อนบ้านทางตะวันออกคือรัสเซีย ก็ประกาศว่าจะตอบโต้ด้วยการเพิ่มกำลังทหารทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ

เลขาธิการ Jens Stoltenberg บอกว่า การที่ฟินแลนด์เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์การทหารของยุโรปครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ “ประวัติศาสตร์”

เพราะแต่ไหนแต่ไรมา ฟินแลนด์พยายามจะรักษานโยบาย “เป็นกลาง” มาตลอด...แต่สงครามยูเครนทำให้อะไรๆ เปลี่ยนไปอย่างคาดไม่ถึง

แต่รัสเซียถือว่านี่คือการขยายตัวของนาโตมาประชิดติดชายแดนของตน

 “เราจะเสริมสร้างศักยภาพทางทหารของเราในทิศทางตะวันตกและตะวันตกเฉียงเหนือ” อเล็กซานเดอร์ กรึชโก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซียบอกสำนักข่าวของรัฐ RIA Novosti

ที่มอสโกกลัวคือ นาโตอาจจะติดตั้งอาวุธร้ายแรงในฟินแลนด์ โดยอ้างเพื่อเสริมความแข็งแกร่งของ “ปีกตะวันออก” ขององค์กรทหารยุโรปที่มีสหรัฐฯ เป็นหัวหอกแห่งนี้

ทั้งรัสเซียและฟินแลนด์มีเหตุจะต้องมีความระแวดระวังต่อกัน เพราะทั้ง 2 ประเทศมีชายแดนระหว่างกันถึง 1,340  กิโลเมตร

ฟินแลนด์กับสวีเดน (ที่เป็นอีกประเทศหนึ่งที่กำลังรอคิวเข้านาโตเป็นประเทศที่ 32) ละทิ้งนโยบาย “ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด” ที่มีมาอย่างยาวนานหลายสิบปี และตัดสินใจยื่นใบสมัครเข้าร่วมนาโตเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หลังรัสเซียส่งทหารเข้ายูเครนได้เพียง 3 เดือน

เครมลินยืนยันมาตลอดว่า รัสเซียไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มประเทศนอร์ดิกทั้ง 2 และไม่มี "ข้อพิพาท" กับทั้ง 2 ประเทศ

ตรงกันข้าม รัสเซียมองว่าการขยายสมาชิกของนาโตเป็นภัยคุกคาม "ที่มีอยู่จริง" ต่อความมั่นคง

และมอสโกได้อ้างว่า การที่ยูเครนได้แสดงความสนใจจะเข้านาโตคือหนึ่งในสาเหตุที่รัสเซียต้องเปิด “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ต่อยูเครน

นาโตเปิดไฟเขียวเป็นเอกฉันท์อย่างเป็นทางการให้ฟินแลนด์เข้านาโตไม่กี่วันหลังจากเมื่อวันที่ 30 มีนาคม รัฐสภาตุรกีอนุมัติในฐานะเป็นสมาชิกสุดท้ายที่ให้ความเห็นชอบ

แต่ตุรกียังมีข้อแม้ต่อคำขอเข้านาโตของสวีเดน เพราะอ้างว่าประเทศนั้นยังสนับสนุนกลุ่มต่อต้านตุรกีที่ไปก่อเหตุจากสวีเดน

ตามกติกาของนาโต ประเทศสมาชิกทั้งหมดจะต้องเห็นชอบกับการรับสมาชิกใหม่จึงจะรับเข้ามาได้

คำถามที่น่าสนใจคือ ทำไมฟินแลนด์และสวีเดนต้องการเข้าร่วมนาโต?

คำตอบคือ ทั้ง 2 ประเทศมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการรักษาความเป็นกลาง และหลีกเลี่ยงการเป็นพันธมิตรทางทหารกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

แต่เมื่อประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียส่งทหารเข้ายูเครน เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว ท่าทีของ 2 ประเทศนี้ก็เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ

เพราะสงครามยูเครนได้ทำลายความรู้สึกมั่นคงที่มีมาอย่างยาวนานในยุโรปเหนือ

ประเทศเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ในย่านนั้น เช่น สวีเดนและฟินแลนด์รู้สึกตกอยู่ในฐานะเปราะบาง กลัวจะโดนรุกรานแบบยูเครน

ทันทีที่กองกำลังรัสเซียบุกยูเครน อดีตนายกรัฐมนตรีของฟินแลนด์ Alexander Stubb ก็ประกาศว่าประเทศของเขาคงจะต้องปรับท่าทีในเรื่อง “ความเป็นกลาง” แล้ว

ฟินแลนด์ถูกรุกรานโดยสหภาพโซเวียตในปลายปี 1939 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

แม้ว่าทหารรัสเซียจะมีจำนวนมากกว่าหลายเท่า แต่กองทัพฟินแลนด์ก็ฮึดสู้อย่างทรหด ยันผู้รุกรานได้ยาวนานกว่า 3 เดือน

ในช่วงแรก ทหารฟินแลนด์สามารถหลบเลี่ยงการถูกยึดครองได้ แต่ท้ายที่สุดก็สูญเสียพื้นที่ไป 10 เปอร์เซ็นต์

ตอนสงครามยูเครนเริ่มใหม่ๆ คนฟินแลนด์ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ต้องการจะให้รัฐบาลของตนปรับท่าทีระหว่างประเทศ

ในเดือนตุลาคมของปี 2021 ประชากรฟินแลนด์เพียง 24% เท่านั้นที่เห็นว่าควรจะเข้าร่วมนาโต

แต่พอถึงเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว จำนวนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 76% ทันที

สวีเดนและฟินแลนด์ได้รับเชิญจากพันธมิตรของนาโตเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว

นอกจากนี้ เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย ซึ่งเป็น 3 ประเทศในกลุ่มทะเลบอลติกของสหภาพยุโรปก็ถูกมองว่าอาจต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากรัสเซีย

จึงมีการมองกันว่า เมื่อฟินแลนด์เข้านาโตแล้วอาจจะเพิ่มการคุ้มครองให้กับ 3 ประเทศนี้ โดยการเพิ่มมาตรการความปลอดภัยในภูมิภาครอบทะเลบอลติก

ย้อนกลับไปดูการก่อตั้งนาโตก็จะเห็นว่า สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และฝรั่งเศส เป็นแกนสำคัญของ 12 ประเทศที่ก่อตั้ง NATO ในปี 1949

เป้าหมายชัดเจนของการก่อตั้งพันธมิตรทางทหารของแอตแลนติกเหนือคือ การสกัดอิทธิพลของสหภาพโซเวียตในตอนนั้น

หัวใจของข้อตกลงนาโตอยู่ที่มาตรา 5 ที่ผูกมัดสมาชิกทั้งหมด (ซึ่งเพิ่มจาก 12 คนในตอนเริ่มต้น เป็น 31 วันนี้) ที่จะต้องปกป้องสมาชิกทุกประเทศ หากชาติใดชาติหนึ่งในพันธมิตรนี้ถูกภัยคุกคามหรือโจมตี

ก่อนฟินแลนด์ได้รับเข้าเป็นสมาชิกล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาชิกอีก  30 ประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกผู้ก่อตั้ง 12 ประเทศ ได้แก่ เบลเยียม แคนาดา เดนมาร์ก ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ โปรตุเกส สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

รวมทั้งกรีซ เทอร์กีเย เยอรมนี สเปน เช็ก สาธารณรัฐ ฮังการี โปแลนด์ บัลแกเรีย เอสโตเนีย ลัตเวีย ลิทัวเนีย โรมาเนีย สโลวาเกียและสโลวีเนีย แอลเบเนีย โครเอเชีย มอนเตเนโกร และมาซิโดเนียเหนือ

การตัดสินใจของฟินแลนด์ในการเข้าร่วมนาโตย่อมจะมีทั้งการได้มาซึ่งความอุ่นใจว่าจะได้รับการคุ้มครองทางทหารจากนาโตหากถูกคุกคาม

และขณะเดียวกันเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้รัสเซียมีท่าทีที่ไม่เป็นมิตรมากขึ้น

รัฐบาลฟินแลนด์ชั่งข้อดี-ข้อเสียในภาวะที่สงครามยูเครนยังไม่มีทีท่าว่าจะจบสิ้นแล้วเห็นว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว

การประเมินความเสี่ยงระหว่างทางเลือกที่จะ “สู้เดี่ยว...เป็นกลาง” กับการ “แสวงหาพันธมิตร” ก็มีปัจจัยใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อนแล้วเช่นกัน

โลกวันนี้อยู่ยากขึ้นทุกทีจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ