การเยือนจีนของประธานาธิบดีเอมมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ที่เพิ่งเสร็จสิ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ถือว่าประสบความสำเร็จต่อทั้งเจ้าภาพและผู้มาเยือนอย่างน้อยในระดับหนึ่ง
จากที่อ่านแถลงการณ์ร่วม 51 ประเด็นที่เผยแพร่ออกมาตอนสิ้นสุดของการเยี่ยมเยือน
ประเด็นสงครามยูเครนมีเพียง 3 ข้อ และไม่ได้มีประเด็นใหม่ที่จะให้ความหวังว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และมาครงจะสามารถหาหนทางสร้างสันติภาพได้จริงๆ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการปูพื้นสร้างบรรยากาศสำหรับการก้าวเดินไปข้างหน้าได้
ในหัวข้อ "ร่วมส่งเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพของโลก" จีนและฝรั่งเศสระบุในแถลงการณ์ร่วมเกี่ยวกับวิกฤตยูเครนใน 3 ประเด็นที่ “เห็นพ้องกันเป็นเอกฉันท์”
1.ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนความพยายามทั้งหมดเพื่อฟื้นฟูสันติภาพในยูเครน บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ
2.ทั้งสองฝ่ายต่อต้านการโจมตีด้วยอาวุธต่อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อสันติอื่นๆ และสนับสนุนบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ในการส่งเสริมความปลอดภัยและความมั่นคงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อสันติ
รวมถึงความพยายามในการรับรองความปลอดภัยและความมั่นคงของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Zaporizhzhia
3.จีนและฝรั่งเศสเน้นย้ำถึงความสำคัญที่ฝ่ายต่างๆ ในความขัดแย้งควรปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทั้งสองประเทศเรียกร้องให้มีการคุ้มครองผู้หญิงและเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งตามพันธสัญญาระหว่างประเทศ เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง และจัดหาการเข้าถึงด้านมนุษยธรรมที่ปลอดภัย รวดเร็ว และปราศจากอุปสรรค
แต่คำร้องขอของมาครงให้สี จิ้นผิง “หาทางเรียกสติของรัสเซียกลับคืนมา” เพื่อบรรลุสันติภาพในยูเครน ไม่ได้หมายความว่าผู้นำจีนจะไปกดดันประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียมากไปกว่าที่ผ่านมา
และคำถามที่ว่าสี จิ้นผิง จะต่อสายถึงประธานาธิบดีเซเลนสกีของยูเครนเมื่อไหร่ ก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนนัก โดยมีเพียงคำบอกเล่าจากจีนว่าสี จิ้นผิง จะทำเช่นนั้น “เมื่อเงื่อนไขและเวลาเหมาะสม”
แปลว่ายังไม่มีคำมั่นสัญญาอย่างเป็นรูปธรรม ว่าจีนจะเดินหน้าขอความชัดเจนจากปูตินจะเข้าสู่โต๊ะเจรจาหรือไม่ เมื่อไหร่ และอย่างไร
และเมื่อสี จิ้นผิง ยังไม่ได้สนทนากับเซเลนสกีด้วยซ้ำ (ทั้งๆ ที่ไปเยือนมอสโกอย่างอบอุ่นและเป็นข่าวอย่างกว้างขวางเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านั้น) จึงยิ่งทำให้มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นว่าการเจรจาสันติภาพจะเกิดได้เมื่อใดกันแน่
ขณะที่ผู้นำจีนกับฝรั่งเศสพูดเรื่องหยุดยิงและสันติภาพ เราก็เห็นรูปของปูตินไปตรวจดูอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อเสริมสมรรถนะการสู้รบของทหารัสเซียในยูเครน
เรียกว่าไปกันคนละทิศคนละทางค่อนข้างชัดเจน
แต่กระนั้น การตั้งความหวังไว้สูงเกินไปสำหรับการสงบศึกยูเครนนั้นย่อมไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงนัก เพราะยังมีเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคขัดขวางอยู่มากมายหลายด้านจริงๆ
แต่หากดูบรรยากาศการรับรองมาครงที่ปักกิ่งแล้วก็ต้องสรุปว่า สี จิ้นผิง ต้องการจะแสดงความมี “มิตรจิตมิตรใจ” กับผู้นำฝรั่งเศสคนนี้อย่างเต็มเปี่ยม
มองได้ว่า จีนต้องการจะแยกฝรั่งเศสและสหภาพยุโรปออกจากอ้อมแขนของสหรัฐฯ
และมาครงต้องการจะให้จีน “รักษาระยะห่าง” จากรัสเซียโดยเฉพาะในประเด็นสงครามยูเครน
หลายฝ่ายมองว่า ทุกสัญญาณชี้ไปว่าจีนออกแรงสุดฤทธิ์ในการสร้างมิตรภาพกับประเทศในยุโรป
เป้าหมายคือเพื่อคานอิทธิพลสหรัฐฯ ในระดับสากล
ไม่เพียงแต่มีการประชุมกันหลายรอบทั้งตัวต่อตัวและเต็มคณะที่ปักกิ่งเท่านั้น สี จิ้นผิง ยังชวนมาครงไปเที่ยวต่างจังหวัดอีกด้วย
ถือเป็นกรณีพิเศษจริงๆ เพราะปกติผู้นำจีนจะไม่แสดงความสนิทสนมคุ้นเคยกับผู้มาเยือนแบบนี้
ยกเว้นกับปูตินเท่านั้น
แต่ในกรณีมาครง สี จิ้นผิง ควงเขาไปจิบชาร่วมกันที่บ้านหลังเก่าของบิดาผู้นำจีนที่นครกวางโจว ในมณฑลกวางตุ้ง
นักวิเคราะห์ในวงการทูตมองว่ากิจกรรมอย่างนี้ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นบ่อยนัก
จึงตีความได้ว่า สี จิ้นผิง ต้องการ “เอาใจ” มาครงซึ่งเป็นแกนสำคัญของสหภาพยุโรปเป็นการเฉพาะ
เพื่อคานอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่สี จิ้นผิง วิพากษ์อยู่บ่อยๆ ว่าพยายามจะ “ปิดล้อมและกดดัน” จีนอย่างไร้เหตุผล
จีนต้องการจะดึงฝรั่งเศสเป็นพวก เพื่อให้สมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ ได้ขยับเข้ามาใกล้กับปักกิ่งมากกว่าเดิม
จีนอาจจะมองว่ามาครงเป็น “ผู้นำยุโรปที่คบได้” และถือเป็น “หุ้นส่วนของจีนที่สำคัญที่สุดในยุโรป”
ถ้าจะให้เข้าใจว่าสี จิ้นผิง คิดอย่างไรกับเรื่องนี้ ก็ต้องอ่านบทนำของ Global Times สื่อกระบอกเสียงภาษาอังกฤษของปักกิ่งที่บอกตอนหนึ่งว่า
“เป็นเรื่องที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่า การเดินนโยบายเป็นเบี้ยล่างทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลกรุงวอชิงตันจะนำไปสู่ทางตัน...”
และเสริมว่า การทำให้ความสัมพันธ์จีน-ฝรั่งเศสเป็นสะพานสำหรับความร่วมมือจีน-ยุโรป “จะมีประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่ายและต่อโลก”
นั่นคือการส่งสัญญาณจากจีนว่า หากฝรั่งเศสเลิกเดินตามสหรัฐฯ หันมากระชับความสัมพันธ์กับจีน ก็จะได้ประโยชน์มากกว่าแนวทางปัจจุบัน
การที่จีนต้อนรับมาครงพร้อมกับประธานคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป เออร์ซูลา ฟอน แดร์ เลเยน นั้น เป็นการตอกย้ำถึงทิศทางของกลยุทธ์ทางการทูตใหม่ของปักกิ่งอย่างไม่ต้องสงสัย
จีนปรับยุทธศาสตร์ทางการทูตกับนานาชาติเพื่อดึงให้ประเทศต่างๆ เข้ามาแนบชิดกับตนมากขึ้นอย่างน่าสนใจ
ข่าวบางกระแสบอกว่าปีนี้จีนเพิ่มการใช้จ่ายทางการทูตไป 12.2%
และผู้นำโลกจากทั้งยุโรปและเอเชียต่างก็เข้าคิวมาเยือนจีนอย่างคึกคัก
โดยที่เกือบทุกคนได้มีโอกาสเข้าพบกับสี จิ้นผิง เป็นการส่วนตัวทั้งสิ้น
เพียงในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหลายประเทศเดินทางมาเยือนจีน เช่น สิงคโปร์, มาเลเซีย, สเปน และญี่ปุ่น
แม้แถลงการณ์จีน-ฝรั่งเศสจะไม่ได้ให้ความหวังว่า ปูตินกับเซเลนสกีจะยอมนั่งลงเจรจาสันติภาพในเร็วๆ นี้ แต่ก็น่าเชื่อได้ว่าสี จิ้นผิง ได้ถูกวางตัวไว้ให้เป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นที่สุดในยามนี้ที่จะช่วยแก้วิกฤตยูเครนแล้ว
ผมเชื่อว่าจากนี้ไปอีกไม่นาน สี จิ้นผิง ก็จะเล่นบท “กาวใจ” ที่คึกคักยิ่งขึ้น
เช่นยกหูถึงเซเลนสกี และต่อสายถึงปูตินเพื่อปูทางไปสู่การลดระดับความตึงเครียดของสงคราม
แม้จะไม่สามารถทำให้ยุติสงคราม แต่ก็จะเริ่มเห็นลีลาของทุกฝ่ายที่จะหาเส้นทางสู่การต่อรองเจรจากันในระดับหนึ่งทีเดียว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ