หยุดก่อน! คนวงการก็ยังกลัวว่า AI จะฉลาดเกินมนุษย์

ขณะที่ผู้คนจำนวนหนึ่งตื่นเต้นกับเทคโนโลยี ChatGPT ที่สามารถตอบโต้กับมนุษย์ได้อย่าง “ฉลาดมากขึ้น” แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่เกิดความกังวลว่ามันอาจจะ “ฉลาดเกินมนุษย์” จนไม่อาจจะควบคุมได้

หนึ่งในคนที่ร้อนใจคืออีลอน มัสก์ CEO ของ SpaceX และ Tesla กับผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI รวมทั้งผู้บริหารในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอีกจำนวนหนึ่ง

ความกลัวว่ามันจะเก่งเกินกว่าที่มนุษย์จะควบคุมได้ทำให้คณะนี้ทำหนังสือเปิดผนึก

เป็นการลงนามบัญชีหางว่าวเรียกร้องให้ระงับการพัฒนาเทคโนโลยี AI ใด ๆ ที่ล้ำหน้ากว่า GPT-4 ซึ่งเป็นโปรแกรม AI รุ่นล่าสุดของบริษัทโอเพนเอไอ (OpenAI) เป็นเวลา 6 เดือน

เหตุผลที่อ้างในจดหมายนี้คือถ้าหากขืนปล่อยให้มีการพัฒนาต่อไปอีกก็จะเกิด “ความเสี่ยงต่อสังคมและมนุษยชาติ”

หนังสือเปิดผนึกฉบับนี้ทำในนามขององค์กรไม่แสวงผลกำไร Future of Life Institute

มีผู้ลงนามที่ส่วนใหญ่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และนักธุรกิจที่เป็นผู้บริหารอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมากกว่า 1,000 คน

ล้วนแล้วแต่เป็นคนดัง ๆ ในวงการเช่นนักวิจัยจากบริษัทดีพไมน์ (DeepMind) โยชัว เบนจิโอ หรือหนึ่งใย “เจ้าพ่อแห่งปัญญาประดิษฐ์”

ตัวอีลอน มัสก์ เองนั้นยอมรับว่ารถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าของเทสลาก็ใช้เทคโนโลยี AI ในระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ

ข้อเรียกร้องในจดหมายเปิดผนึกบอกให้ระงับการพัฒนา AI จนกว่าจะมีการจัดทำกฎระเบียบเกี่ยวกับการออกแบบปัญญาประดิษฐ์ การพัฒนา การนำไปปฏิบัติ และได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในวงการต่าง ๆ

ตอนหนึ่งของจดหมายบอกว่า

 “ระบบปัญญาประดิษฐ์อันทรงพลังควรได้รับการพัฒนาเมื่อเรามั่นใจได้ว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบเชิงบวกและความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้”

นั่นสะท้อนความกลัวว่า AI จะฉลาดขึ้นทุกที ... และอาจจะสามารถสร้างความเสียหายให้กับสังคมโลกเกินกว่าที่มนุษย์จะเข้าใจได้ในวันนี้

เป็นภาพที่น่ากลัวพอ ๆ น่าทดสอบทีเดียว

ความเสี่ยงที่ว่านั้นมีอะไรอีกหรือ?

หนังสือฉบับนี้อ้างว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้นั้นอาจจะมาในรูปของ AI ที่มีการทำงานแข่งขันกับมนุษย์จนเกิดการหยุดชะงักในด้านเศรษฐกิจและการเมือง

จึงเรียกร้องให้ผู้พัฒนา AI ทำงานร่วมกับผู้กำหนดนโยบายในเรื่องการออกมาตรการควบคุมเพิ่มเติมให้มีประสิทธิภาพสูงกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

องค์กรไม่แสวงผลกำไร Future of Life Institute นั้นได้รับเงินสนับสนุนหลักจาก Musk Foundation, Founders Pledge และ Silicon Valley Community Foundation

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท OpenAI ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทไมโครซอฟท์ (Microsoft) เปิดตัวโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ GPT (Generative Pre-trained Transformer) รุ่นที่ 4 ในชื่อ GPT-4

พอเปิดตัวมาก็สร้างความฮือฮาเพราะสามารถใช้งานด้วยศักยภาพอันหลากหลาย

ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการตอบโต้ถามตอบได้เหมือนมนุษย์

อีกทั้งยังสามารถประพันธ์เพลงและยังสรุปความย่อความจากเอกสารยาวเหยียด

สั่งให้สรุปรายงานการประชุมให้เหลือหน้าสองหน้าก็ยังทำได้

ความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากปัญญาประดิษฐ์นี้มีขึ้น

ยิ่งมันเก่งมากขึ้นเท่าใดก็ยิ่งทำให้คนในวงการต่าง ๆ แสดงความกังวลเท่านั้น

มีความเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีล่าสุดนี้อาจเปิดทางให้มิจฉาชีพปรับมาใช้ในทางผิดกฎหมายเช่นหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตในรูปแบบฟิชชิง

หรือการนำเสนอข้อมูลที่บิดเบือนทั้งในรูป Fake news, misinformation หรือ disinformation

และเพิ่มความเสี่ยงด้านอาชญากรรมไซเบอร์

หลายรัฐบาลทางตะวันตกก็เริ่มตื่นตัว เคลื่อนไหวให้มีการออกกฎระเบียบเพื่อกำหนดกรอบการกำกับดูแล AI ขึ้นมาโดยด่วน

อีกด้านหนึ่งธนาคารเพื่อการลงทุน โกลด์แมน แซคส์ เปิดเผยรายงาน ชี้ว่า AI ในภาพรวมอาจเข้ามาแทนที่งานประจำกว่า 300 ล้านตำแหน่งในสหรัฐฯ

ความจริงก่อนหน้าจะเปิดตัว ChatGPT และ GPT-4 ก็มีความกลัวกันแล้วว่าเทคโนโลยี AI จะสามารถเข้ามาแทนที่ตำแหน่งงานราว 1 ใน 4 ที่มีอยู่ประจำในตลาดงานทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป

แม้ว่าฝ่ายที่เห็นต่างจะยืนยันว่าเมื่อ AI เข้ามาก็จะเพิ่มตำแหน่งงานแบบใหม่

และผลิตภาพหรือประสิทธิภาพในการทำงานก็จะเพิ่มขึ้น

อีกทั้งมนุษย์ก็จะมีเวลาว่างเว้นจากงานรูทีนทั้งหลายเพื่อทำงานสร้างสรรค์ที่จะก่อให้เกิดคุณค่ามากยิ่งขึ้น

คนกลุ่มที่มองโลกในแง่ดีบอกว่า AI อาจเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และบริการแบบรายปีทั่วโลกถึง 7%

รัฐบาลสหราชอาณาจักรเป็นตัวอย่างของการปรับตัวในเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ

โดยรัฐบาลบอกว่าจะมุ่งเพิ่มการลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ เพราะเชื่อว่าจะช่วย “ขับเคลื่อนผลิตภาพในเศรษฐกิจ”

แต่ในขณะเดียวกัน รัฐบาลก็จะต้องพยายามสร้างความมั่นใจต่อประชาชนว่าสามารถจะบริหารจัดการกับผลกระทบของการเข้ามาของ AI

รัฐมนตรีเทคโนโลยีมิเชล โดเนแลนของอังกฤษบอกนักข่าวว่า

“เราต้องการสร้างความมั่นใจว่า AI จะมาช่วยเติมเต็มวิธีการทำงานของเราในสหราชอาณาจักร ไม่ใช่ก่อผลร้ายด้วยการแทรกแซงการทำงาน เราต้องการให้มั่นใจว่ามันจะช่วยทำให้งานของเราออกมาดีขึ้น ไม่ใช่ขโมยงานไปจากเรา”

รายงานของโกลด์แมน แซคส์บอกด้วยว่าการเข้ามาของ AI จะส่งผลกระทบไปยังอุตสาหกรรมในภาคส่วนต่าง ๆ คือ

กระทบต่องานธุรการ 46%

และ กระทบต่องานด้านกฎหมาย 44%

ขณะที่งานก่อสร้าง จะได้รับผลกระทบเพียง 6%

ส่วนงานบำรุงรักษา หรือเมนเทนแนนท์ จะได้รับผลกระทบเพียง 4% เท่านั้น

ผลกระทบต่ออาชีพต่าง ๆ ก็อาจจะไม่เท่ากัน และอาจจะไม่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน

เช่นศิลปินหลายคนกลัวว่าปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างผลงานศิลปะขึ้นมาใหม่จากข้อมูลที่มีอยู่

ซึ่งอาจจะแย่งโอกาสการหากินและการสร้างสรรค์ผลงานของพวกเขาก็ได้

งานวิจัยบางชิ้นบอกว่าความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ทำให้แรงงานตกงานมากกว่า สร้างงานตำแหน่งใหม่

เรากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ดังนั้นจึงต้องฟังหูไว้หู แต่ก็ไม่อาจจะประมาทได้เลย

เพราะการปรับเปลี่ยนอันเกิดจากอินเตอร์เน็ตที่เริ่มเมื่อกว่า 20 ปีก่อนนั้น ในตอนแรกก็ไม่มีใครเชื่อ และไม่มีใครลงมือปรับตัวอย่างจริงจัง

จนเมื่อผลกระทบของ disruption หรือ “ความป่วน” มากระทบผู้คนในวิชาชีพต่าง ๆ จึงเกิดการไหวตัว

แต่ก็เป็นการไหวตัวที่ช้าเกินไปสำหรับคนในหลาย ๆ วงการจนเกิดผลเสียหายหนักหน่วงอย่างที่เห็นกันถึงทุกวันนี้!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ