แยกมิตรแยกศัตรู: ‘ลัทธิปูติน’ ภายใต้นโยบายต่างประเทศใหม่

อยู่ดี ๆ ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียก็ประกาศ ยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศ ฉบับใหม่

ขณะที่สงครามยูเครนลากยาวเกิน 400 วันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

เรียกมันว่า “ลัทธิปูติน” ก็ไม่น่าจะผิดนัก

แม้เนื้อหาหลัก ๆ จะไม่แตกต่างไปจากจุดยืนของรัสเซียที่ผ่านมามากนัก แต่สาระที่ตอกย้ำใหม่ทำให้ทุกอย่างชัดขึ้น

นั่นคือ “หลักคำสอนใหม่” ของปูตินยืนยันมั่นเหมาะว่าสหรัฐฯ คือศัตรูหมายเลขหนึ่งอย่างปราศจากความสงสัยทั้งสิ้นทั้งปวง

เพราะเอกสารใหม่นี้ระบุ 'แหล่งที่มาหลักของภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัสเซีย”

นั่นคือสหรัฐอเมริกา

และยังย้ำว่าพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดคือจีน...และอินเดีย

นักวิเคราะห์บางคนเรียกการประกาศ ยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศตั้งนี้ว่าเป็นการ อัปเดตทิศทางและจุดยืนนโยบายต่างประเทศ” ของมอสโก

ที่กล่าวหาว่าวอชิงตันใช้สงครามยูเครนเพื่อทำให้ประเทศที่ 'สงบสุข' อย่างรัสเซียอ่อนแอลง

คำประกาศจากเครมลินนั้นบอกว่านี่คือการนำหลักนโยบายต่างประเทศใหม่มาใช้ ซึ่งระบุว่าสหรัฐฯ เป็น “แหล่งที่มาหลักของภัยคุกคาม” ต่อความมั่นคงของรัสเซีย

ในขณะที่อธิบายว่ารัสเซียเป็น “รัฐอารยธรรมที่โดดเด่น” ที่มาพร้อมกับ “ภารกิจทางประวัติศาสตร์ที่ไม่เหมือนใคร”

เอกสารชุดนี้ถือว่าเป็นการปรับปรุง หลักคำสอน” ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2016

เพื่อสะท้อนถึง “การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในกิจการระหว่างประเทศ”

นั่นคือคำแถลงอย่างเป็นทางการของปูตินต่อที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงเมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา

สำทับด้วยคำอธิบายจากรัฐมนตรีต่างประเทศเซอร์เกย์ ลาฟรอฟที่ประกาศว่ารัสเซียกำลังเผชิญกับ “ภัยคุกคามที่มีอยู่” จาก “ประเทศที่ไม่เป็นมิตร”

หลักใหญ่ใจความของ “ลัทธิปูติน” ชุดใหม่นี้คือการอธิบายว่าสหรัฐฯ เป็น “แหล่งที่มาหลัก” ของภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อรัสเซีย

และพาดพิงถึง ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิวัติ” ไปสู่ “โลกหลายขั้วที่ยุติธรรมมากขึ้น”

คำว่า “โลกหลายขั้ว” (Multipolar World) เป็นวลีที่มุ่งสะท้อนถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีนภายใต้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

เพราะต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านี้ไม่นานปูตินและสีตกลงที่จะเป็น “หุ้นส่วนแบบไม่มีขีดจำกัด”

จังหวะการแถลงร่วมตอนนั้นเกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่ประธานาธิบดีรัสเซียจะสั่งบุกยูเครนอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว

แม้ว่ามอสโกจะเปิดสงครามรุกรานเพื่อนบ้าน แต่เอกสารนโยบายก็ย้ำว่ารัสเซียเป็นสังคมที่ว่า “สงบ เปิดเผย และคาดเดาได้”

โดยกล่าวหาว่าสหรัฐฯ อ้าง “ปฏิบัติการทางทหารพิเศษ” ของรัสเซียในยูเครนเพื่อเป็นข้ออ้างในการเปิด “สงครามลูกผสม” ที่มีเป้าหมายเพื่อ “ทำให้รัสเซียอ่อนแอและแตกเป็นเสี่ยง”

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ มอสโกได้เพิ่มความตึงเครียดกับสหรัฐฯ และพันธมิตรอย่างเห็นได้ชัด

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ปูตินสั่งให้รัสเซียประจำการอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในเบลารุสภายในฤดูร้อนนี้

และสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของรัสเซียควบคุมตัว Evan Gershkovich นักข่าวของ Wall Street Journal แห่งสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ในมอสโก ด้วยข้อหาจารกรรม

อเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ผู้นำเบลารุสบอกว่า เขากำลังหารือเกี่ยวกับการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ในดินแดนของตนกับรัสเซีย

Lukashenko บอกกับรัฐสภาเบลารุสว่าเขาได้เริ่มการเจรจากับปูตินเกี่ยวกับ “การส่งคืนอาวุธนิวเคลียร์ที่ถูกถอนออกไปในทศวรรษที่ 1990 ให้กับเบลารุส”

“เราจะไม่หยุดยั้งเพื่อปกป้องประเทศและประชาชนของเรา” เขาย้ำ

นักวิจัยอาวุโสด้านอาวุธทำลายล้างสูงแห่งสถาบันวิจัยการลดอาวุธแห่งสหประชาชาติคนหนึ่งวิเคราะห์ว่าการที่เบลารุสจะได้รับอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์จากรัสเซียนั้น “ไม่น่าจะสมเหตุสมผลทางด้านยุทธศาสตร์”

เพราะเขามองว่าการเคลื่อนย้ายอาวุธที่มีพิสัยข้ามทวีปออกจากรัสเซียไม่ได้สร้างความได้เปรียบทางด้านยุทธศาสตร์สงครามสำหรับรัสเซียมากนัก

“อาวุธทางยุทธศาสตร์มีค่ามหาศาล และมักจะประจำการอย่างน้อย 300-400 กิโลเมตรจากชายแดนทางบกที่ใกล้ที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ” คือเหตุผลที่นักวิเคราะห์มองความเคลื่อนไหวล่าสุดของรัสเซียในเบลารุส

ในขณะที่กลยุทธ์นโยบายต่างประเทศใหม่ของรัสเซียยอมรับบทบาทของสหรัฐฯ ในฐานะ "ศูนย์กลางการพัฒนาที่ทรงอิทธิพล"

แต่ก็แสดงให้เห็นวอชิงตันเป็น "ผู้จัดตั้งและผู้ดำเนินนโยบายต่อต้านรัสเซียของกลุ่มตะวันตก"

ตามแนวคิดนี้ จีนและอินเดียถูกมองว่าเป็น “ศูนย์กลางอำนาจอธิปไตยที่เป็นมิตรกันทั่วโลก”

ซึ่งมีมุมมองเดียวกับรัสเซียเกี่ยวกับ “ระเบียบโลกในอนาคต”

อิหร่าน ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย และอียิปต์ ถูกมองว่าเป็นพันธมิตรสำคัญเช่นกัน

ปูตินมองโลกวันนี้ละม้ายกับที่อดีตผู้นำสหภาพโซเวียตสตาลิน เคยแบ่งโลกเป็น “เขตอิทธิพล” ของตนและของฝ่ายตรงกันข้าม

นั่นคือวิธีคิดในยุค สงครามเย็น” ที่โลกถูกแบ่งเป็น “เขตอิทธิพลตะวันตก” และ “เขตอิทธิพลสหภาพโซเวียต”

แต่นั่นเกิดขึ้นก่อนจีนจะผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจอันดับสองรองจากสหรัฐฯ...และแซงหน้ารัสเซีย

แม้ความสัมพันธ์ระหว่างจีน-รัสเซียจะใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่โฆษกของเครมลิน ดมิทรี เปสคอฟ ก็แสดงความกังขาต่อแผนสันติภาพที่คาดคะเนสำหรับสงครามในยูเครนที่เสนอโดยปักกิ่ง

เปสคอฟบอกว่าแผนของจีนมีเนื้อหาที่ "ไม่สามารถบรรลุผลได้" เพราะท่าทีไม่เป็นมิตรของยูเครน

ตามหลักการใหม่นี้ รัสเซียมี "ภารกิจพิเศษ" ในการรักษาดุลอำนาจทั่วโลกและสร้างระบบระหว่างประเทศหลายขั้ว

เอกสารทางการชุดนี้อ้างถึงรัสเซีย ไม่ใช่แค่ในฐานะรัฐ แต่เป็น "อารยธรรม" ยิ่งใหญ่ของโลกทีเดียว

ทำให้ย้อนคิดถึงสิ่งที่ปูตินพูดมาตลอดว่าเขาจะต้องกู้สถานภาพของรัสเซียวันนี้ให้กลับไปรุ่งเรืองยิ่งใหญ่เหมือนจักรวรรดิรัสเซียในอดีต

เพราะปูตินยัง “ฝังแค้น” ที่สหภาพโซเวียตล่มสลายในปี 1991 ขณะที่เขาทำงานเป็นเจ้าหน้าเคจีบีอยู่ที่เยอรมันตะวันออกในขณะนั้น

ปูตินย้ำเสมอว่านั่นคือจังหวะเวลาที่เขาหัวใจสลายเพราะเห็นความยิ่งใหญ่ของสหภาพโซเวียตพังครืนต่อหน้าต่อตา

ปูตินถือเป็นภารกิจที่จะต้องเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่วันนี้ให้รัสเซียกลับมายิ่งใหญ่และเกรียงไกร

การทำสงครามดูเหมือนจะเป็นส่วนสำคัญของภารกิจนี้

และนั่นคือเหตุที่จะต้องเกาะติดวิธีคิดและแผนปฏิบัติของปูตินอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องจากนี้ไป

เพราะไม่มีใครบอกได้ว่า “ลัทธิปูติน” ใหม่นี้จะนำโลกไปสู่ความขัดแย้งเพิ่มขึ้นอย่างไรหรือไม่

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ