ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ตอนที่ ๓๘): การสละราชสมบัติ

 

ในหนังสือ “เอกสารการเมือง-การปกครองไทย” ที่ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. ๒๕๑๘   ชัยอนันต์ สมุทวนิช และ ขัตติยา กรรณสูตรได้รวบรวมเอกสารสำคัญในการเมืองการปกครองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๔๑๗-๒๔๗๗  เอกสารเหล่านี้เป็นเอกสารชั้นต้นที่ถูกใช้อ้างอิงในการเขียนงานวิจัย หนังสือ ตำราต่างๆที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองไทยในช่วงเวลาดังกล่าว

เรื่องสุดท้ายในหนังสือ คือ เรื่องที่ ๑๒ ว่าด้วยการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งอาจารย์ชัยอนันต์และอาจารย์ขัตติยาได้ค้นคว้าและนำเอกสารสำคัญมาตีพิมพ์ไว้  อันเป็น “หนังสือโต้ตอบระหว่างรัชกาลที่เจ็ดกับรัฐบาล” ซึ่งผู้เขียนได้นำมาเผยแพร่ไปในตอนก่อนๆ      และในตอนนี้ คือ “พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ”                

พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ   

“เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนากับพวก ได้ทำการยึดอำนาจการปกครองโดยใช้ทหาร ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แล้ว ได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้น เพราะเข้าใจว่า พระยาพหลฯและพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบประเทศทั้งหลาย ซึ่งใช้การปกครองตามหลักนั้น เพื่อให้ประชาราษฎร์ได้มีสิทธิ์ที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆ อันจะเป็นส่วนได้ส่วนเสียแก่ประชาชนทั่วไป ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนั้นอยู่เสมอ และกำลังดำริจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปแบบนั้น (พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยมีพระราชดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญแก่ราษฎร โดยทรงมอบให้พระยาศรีวิศาลวาจา และนายเรมอน บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษากระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ยกร่าง ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง/ชัยอนันต์-ขัตติยา)  โดยมิให้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง เมื่อมามีเหตุอันรุนแรงขึ้นเสียก่อนแล้ว และเมื่อผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ก็เป็นอันไม่ผิดกับหลักการที่ข้าพเจ้ามีความประสงค์อยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงเห็นควรโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบภายในประเทศ ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญเป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นไปได้  แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างสมบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความเห็นของราษฎรโดยแท้จริง และจากรัฐธรรมนูญมีทั้งสองฉบับ (ฉบับชั่วคราวเมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ และฉบับถาวรเมื่อ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๖/ชัยอนันต์-ขัตติยา)  จะพึงเห็นได้ว่า อำนาจที่จะกำหนดนโยบายต่างๆนั้นจะอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือก เช่น ในฉบับชั่วคราวแสดงให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ จะไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎรเลย                                     

ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำขอร้องของข้าพเจ้า แต่ก็ยังให้มีสมาชิกซึ่ตนเลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่งหนึ่ง  การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภท ก็โดยหวังว่า สมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงานและชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองโดยทั่วๆไป  ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภท ๒ ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกพ้องของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คิดถึงความชำนาญ  นอกจากนี้ คณะผู้ก่อการบางส่วน ได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองในคณะก่อการและพวกพ้อง จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยำแนะนำของคณะรัฐบาล ซึ่งมีตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น ทั้งนี้มีเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯกับพวกก็กลับเข้าทำการยึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ ๒ และแต่นั้นมา ความหวังที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงต่างๆเป็นไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง               

เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนไม่ได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ จึงเป็นเหตุให้มีการกบฏขึ้นถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองในระหว่างคนไทย             

เมื่อข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเสีย ให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริง เพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน คณะรัฐบาลและพวกซึ่งกุมอำนาจบริบูรณ์ในเวลานี้ก็ไม่ยินยอม ข้าพเจ้าได้ร้องขอให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนหลักการ และนโยบายสำคัญอันมีผลได้เสียแก่พลเรือน รัฐบาลก็ไม่ยินยอม และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่น เรื่องคำร้องขอต่างๆของข้าพเจ้าสมาชิกก็มิได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องโดยถ่องแท้และละเอียดละออเสียก่อน เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วนภายในวาระประชุมเดียว นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ออกกฎหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคลซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมือง ในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก คือ ก็ไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับ ไม่เปิดเผย (พระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ ให้อำนาจแก่คณะกรรมการซึ่งรัฐบาลเป็นผู้แต่งตั้งเป็นผู้พิจารณคดี แทนที่จะเป็นอำนาจของศาล/ชัยอนันต์-ขัตติยา)  ซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ในเมื่ออำนาจสิทธิขาดยังอยู่ในมือข้าพเจ้าเอง และข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกใช้วิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม 

ข้าพเจ้าเห็นว่า รัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคล และหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใด คณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามข้าพเจ้าต่อไปได้       

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะเพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชนราษฎร

บัดนี้ ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้เป็นหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมา ก่อนที่จะข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์                           

อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผ้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศ เพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เป็นไปโดยความยินยอมเห็นชอบหรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า           

ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ตามความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยาธิษฐาน ขอให้ประเทศสยามจงประสบความเจริญ และขอให้ประชาชนชาวสยามได้มีความสุขความสบาย

(พระปรมาภิไธย)  ประชาธิปก ปร.

วันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที

(ประกาศทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗

----------

(โปรดติดตาม “คำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติ” ได้ในตอนต่อไป)                                               

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 47: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490