โลกเรามาถึงจุดที่การเอ่ยถึง “สงครามนิวเคลียร์” กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วหรือ?
ล่าสุดที่สร้างความหวาดหวั่นเพิ่มขึ้นคือ คำประกาศของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ว่ามอสโกจะติดตั้ง “อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี” ในเบลารุส
ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านทางตะวันตกของรัสเซียและทางเหนือของยูเครน อันเป็นสมรภูมิรบที่ลากยาวเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว
พอปูตินประกาศเช่นนั้น ความสนใจของโลกก็หันมาพิจารณาว่ารัสเซียมีคลังแสงนิวเคลียร์มากน้อยเพียงใด
ต้องไม่ลืมว่ารัสเซียเป็นประเทศที่มีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดในโลก โดยมีสหรัฐฯ เป็นเบอร์ 2 รองลงมา
ในการให้สัมภาษณ์กับช่อง Rossiya-24 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ปูตินกล่าวว่ารัสเซียได้ลงนามในข้อตกลงกับเบลารุสเพื่อติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน
“ในวันที่ 3 เมษายน เราจะเริ่มฝึกอบรมทีมปฏิบัติการ และในวันที่ 1 กรกฎาคม เราจะสร้างคลังเก็บอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีพิเศษในดินแดนเบลารุสให้เสร็จสิ้น” ปูตินกล่าวหน้าตาเฉย
เหมือนจะบอกว่าหากฝั่งตะวันตกยังแสดงท่าทีเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย มอสโกก็จะเดินหน้าเตรียมการป้องกันตัวเองด้านนิวเคลียร์อย่างเต็มที่
ไม่ว่าจะมีเสียงคัดค้านจากใครที่ไหนก็ตาม
ผู้นำรัสเซียยังยืนยันว่า การตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการละเมิดข้อตกลงไม่แพร่ขยายอาวุธกับสหรัฐฯ และประเทศอื่นแต่อย่างไร
เพราะความเคลื่อนไหวของมอสโกครั้งนี้ก็ไม่ได้แตกต่างไปจากการนำอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ไปประจำการในยุโรป
“ความจริงสหรัฐฯ ทำอย่างนี้มานานหลายทศวรรษแล้ว ด้วยการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธีในดินแดนของประเทศพันธมิตร ประเทศในกลุ่มนาโต ในยุโรปมาเป็นเวลานานแล้ว” ปูตินย้ำ
เท่ากับเป็นการสำทับว่า ถ้ามะกันทำได้ ไฉนข้าจะทำไม่ได้บ้างจังหวะเวลาของเรื่องนี้มีความหมาย
เพราะข้อตกลงกับเบลารุสมีขึ้นหลังจากอังกฤษประกาศจะส่งกระสุนยูเรเนียมที่หมดสมรรถนะ (depleted uranium shells) ไปให้ยูเครน
รัสเซียบอกว่านี่คือส่วนหนึ่งของการที่ตะวันตกใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ในยูเครน
ขณะที่อังกฤษแย้งว่า กระสุนชนิดที่ว่านี้ไม่อาจจะจัดประเภทเป็น “อาวุธนิวเคลียร์” เพราะแร่ยูเรเนียมที่ใช้ “หมดสภาพ” แล้ว
แต่คำประกาศของปูตินล่าสุดดึงความสนใจไปที่คลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ขนาดมหึมาของรัสเซีย
เกิดคำถามมากมายตามมา เช่น คลังแสงนิวเคลียร์ของรัสเซียใหญ่แค่ไหน และใครเป็นผู้ควบคุม?
(คำว่า “อาวุธนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี” หมายถึงหัวรบนิวเคลียร์ขนาดเล็กและระบบยิงสำหรับใช้ในสนามรบหรือสำหรับการโจมตีแบบจำกัด ถูกออกแบบมาเพื่อทำลายเป้าหมายในพื้นที่เฉพาะจุดโดยไม่ทำให้ผลกระทบกระจายออกไป)
คำถามใหญ่คือ คลังแสงนิวเคลียร์ของรัสเซียใหญ่โตน่ากลัวเพียงใด
รัสเซียได้รับมรดกคลังแสงนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต
รายงานทางการแจ้งว่า รัสเซียมีคลังเก็บหัวรบนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ข้อมูลของสมาพันธ์นักวิทยาศาสตร์อเมริกันระบุว่า ทุกวันนี้มอสโกครอบครองหัวรบทั้งหมดประมาณ 5,977 ชุด ในปี 2022
สหรัฐฯ มี 5,428 หัวรบ
ในบรรดายอดหัวรบนิวเคลียร์เหล่านี้มีประมาณ 1,500 ชุดที่ปลดระวางแล้ว
มีหัวรบสำรอง 2,889 ชุด และหัวรบเชิงยุทธศาสตร์ 1,588 ชุด
นักวิทยาศาสตร์ด้านนิวเคลียร์อ้างว่ารัสเซียมีขีปนาวุธนำวิถีแบบใช้ภาคพื้นดิน 812 ลูก
ขีปนาวุธยิงจากเรือดำน้ำ 576 ลูก และขีปนาวุธอีกประมาณ 200 ลูก ที่ใช้ทิ้งระเบิดหนัก
ด้านสหรัฐฯ มีหัวรบนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ประจำการอยู่ 1,644 หัวรบ
จีนมีหัวรบทั้งหมด 350 หัว
ฝรั่งเศส 290 หัว และอังกฤษ 225 หัว
ตามรายงานเดียวกันนี้ ในช่วงสงครามเย็น คลังแสงของโซเวียตมียอดหัวรบนิวเคลียร์ประมาณ 40,000 หัวรบ ในขณะที่อเมริกามียอดประมาณ 30,000 หัวรบ
นอกจากนี้ รัสเซียยัง “ดูเหมือน” จะมีขีปนาวุธข้ามทวีปติดอาวุธนิวเคลียร์ประมาณ 400 ลูก
โดยที่นักวิทยาศาสตร์ด้านปรมาณูประเมินว่า สามารถบรรทุกหัวรบได้มากถึง 1,185 หัวรบ
นอกจากนี้มอสโกยังมีเรือดำน้ำติดอาวุธนิวเคลียร์ 10 ลำ ที่สามารถบรรทุกหัวรบได้มากถึง 800 หัวรบ และมีเครื่องบินทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ 60-70 ลำ
ในรายงาน “สถานการณ์นิวเคลียร์ปี 2022” สหรัฐฯ ระบุว่า รัสเซียและจีนกำลังขยายและปรับปรุงกองกำลังนิวเคลียร์ของตนให้ทันสมัย
ขณะที่วอชิงตันจะดำเนินการตามแนวทางการควบคุมอาวุธ เพื่อป้องกันการแข่งขันทางอาวุธที่มีระดับการลงทุนสูงขึ้นกว่าเดิม
ปูตินอ้างว่าเขามีข้อมูลว่า สหรัฐฯ กำลังพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ประเภทใหม่
เรียกว่าต่างฝ่ายต่างสืบหาข้อมูลเรื่องอย่างนี้กันอย่างละเอียดแน่นอน
นับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991 มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ทำการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์
ตามรายงานของสมาคมควบคุมอาวุธ สหรัฐฯ ทำการทดสอบครั้งล่าสุดในปี 1992
จีนและฝรั่งเศสในปี 1996 อินเดียและปากีสถานในปี 1998
และเกาหลีเหนือ ในปี 2017
และสหภาพโซเวียตทดสอบครั้งล่าสุดในปี 1990
คำถามต่อมาคือ ใครมีอำนาจกดปุ่มนิวเคลียร์?
สำหรับรัสเซีย ปูตินเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสูงสุดในกรณีการใช้นิวเคลียร์ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และที่ไม่ใช่เชิงยุทธศาสตร์
ในหลักปฏิบัติของรัสเซียแล้ว สิ่งที่เรียกว่า "กระเป๋าเดินทางนิวเคลียร์" หรือ "เชเกต์" (ตั้งชื่อตามภูเขาเชเกทในเทือกเขาคอเคซัส) จะติดตามประธานาธิบดีรัสเซียไปทุกที่เสมอ
ตามรัฐธรรมนูญของรัสเซีย ประธานาธิบดีดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดด้วย
แต่ในกรณีที่ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติงานได้ หน้าที่ทั้งหมดของประธานาธิบดีจะตกเป็นของนายกรัฐมนตรี
แต่นายกรัฐมนตรีรัสเซียไม่ได้มีกระเป๋าเดินทางนิวเคลียร์ติดตามไปทุกหนทุกแห่ง
แต่มอบอำนาจนั้นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและเสนาธิการทหารเป็นผู้ครอบครองอุปกรณ์ที่ว่านี้
ดังนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของรัสเซีย ซึ่งปัจจุบันคือ เซอร์เกย์ ชอยกู และหัวหน้าเจ้าหน้าที่ทั่วไป ซึ่งปัจจุบันคือ วาเลอรี เกราซิมอฟ ต่างก็มีกระเป๋านิวเคลียร์ประจำตัว
ตามหลักแล้ว กระเป๋าเดินทางนิวเคลียร์ทั้ง 3 ใบเชื่อมต่อกับเครือข่ายคำสั่งสำรองที่เรียกว่า “คอเคซัส”
ซึ่งประกอบด้วยสายสัญญาณ เครื่องส่งวิทยุ และดาวเทียม
หากประธานาธิบดีรัสเซียตัดสินใจเปิดการโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ คำสั่งนี้จะถูกส่งจากกระเป๋าเดินทางนิวเคลียร์ไปยังอุปกรณ์รับที่เรียกว่า Baksan ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของเสนาธิการทหาร กองกำลังขีปนาวุธ กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ผ่านเครือข่ายการสื่อสารที่เรียกว่า Kazbek
ผมเคยได้ดูวิดีโอที่ออกอากาศโดยช่อง Zvezda TV ของรัสเซียในปี 2019
ซึ่งเปิดเผยเป็นครั้งแรกว่า ในกระเป๋าเดินทางนิวเคลียร์อันโด่งดังมีอะไรบ้าง
ในส่วนที่เรียกว่า “คำสั่ง” จะมีปุ่ม 2 ปุ่ม ปุ่ม “เปิดใช้งาน” เป็นสีขาว และปุ่ม “ยกเลิก” เป็นสีแดง
จากข้อมูลของ Zvezda กระเป๋าเอกสารนั้นเปิดใช้งานโดยแฟลชการ์ดพิเศษ
การ์ดที่ว่านี้จะมีข้อมูลของบุคคล และจะใช้เป็นกุญแจสำคัญในการเปิดใช้งานกระเป๋าเดินทางนิวเคลียร์ก่อนที่จะสามารถใช้เพื่อสั่งการโจมตีได้
หากรัสเซียคิดว่ากำลังเผชิญการโจมตีทางยุทธศาสตร์ด้วยนิวเคลียร์ ประธานาธิบดีจะส่งคำสั่งยิงโดยตรงไปยังหน่วยบัญชาการเสนาธิการทั่วไปและหน่วยบัญชาการสำรอง ซึ่งเป็นเจ้าของรหัสลับ
คำสั่งนี้ก็จะถูกส่งต่อไปยังระบบสื่อสารต่างๆ โดยฉับพลัน และต่อไปยังหน่วยกองกำลังขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ ก่อนที่อาวุธนิวเคลียร์จะถูกเปิดใช้งานกับเป้าหมาย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการโจมตี
ประธานาธิบดีรัสเซียสามารถปรึกษาผู้นำระดับสูงจากคณะมนตรีความมั่นคงก่อนที่จะออกคำสั่ง
ถึงจุดนั้นคำสั่งชุดต่อมาก็คือ ให้เรือดำน้ำออกทะเล กองกำลังขีปนาวุธจะถูกแจ้งเตือนขั้นสูงสุด
และเครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์จะปรากฏตัวที่ฐานและพร้อมที่จะบินขึ้นทันที
นี่คือภาพที่เราไม่อยากแม้แต่จะคิด...แต่ทุกวันนี้กลับกลายเป็น “ฉากทัศน์วันสิ้นโลก” ที่เริ่มมีผู้คนแสดงความสนใจอย่างมาก!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ