รัฐประชานิยม

ใกล้เลือกตั้งแล้ว เรื่องที่ควรจะพูดถึงมากที่สุดคือ นโยบายพรรคการเมือง

แม้เอาเข้าจริง ประชาชนจะเลือก ส.ส.โดยดูนโยบายพรรคการเมืองนั้น มีเปอร์เซ็นต์ไม่มากนัก เพราะประชาชนส่วนใหญ่มีคนที่จะเลือกอยู่ในใจแล้ว

มูลเหตุจูงใจการเลือก ส.ส. โดยส่วนใหญ่แล้ว ประชาชนเลือกคนที่ตัวเองรักและชอบ

หรือเลือกตัวบุคคลนั่นเอง

ไม่ว่านักการเมืองคนดังกล่าวจะย้ายไปพรรคการเมืองไหน ประชาชนในเขตเลือกตั้งนั้นก็ยังคงเลือกให้เป็น ส.ส.เหมือนเดิม

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเห็นการเลือกตั้งลักษณะนี้ในหลายเขตเลือกตั้ง   

ขณะที่ประชาชนบางกลุ่มเลือกพรรค โดยไม่สนใจว่าผู้สมัคร ส.ส.จะเป็นใคร

หรือที่เรียกว่าเลือกแบบยุทธศาสตร์

ส่วนประชาชนที่เลือกเพราะชื่นชอบนโยบาย ก็เจือสมอยู่ใน ๒ กลุ่มแรก เพียงแต่ให้น้ำหนักไปที่ตัวผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองมากกว่า

ฉะนั้นการเลือกเพราะนโยบายพรรคโดยตรงถือว่ามีน้อยมาก

แต่การไม่ให้ความสำคัญกับนโยบายพรรคการเมืองเลย จะทำให้การใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชนขาดมิติที่สำคัญไป

นั่นคือ ความรับผิดชอบต่อส่วนรวม

เพราะ ส.ส.ที่เข้าสภาส่วนใหญ่จะมาในลักษณะของการอุปถัมภ์ เจ้าพ่อ มาเฟีย ผู้มีอิทธิพล นายทุน มากกว่าจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถ และมีอุดมการณ์ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

เขตเลือกตั้งมี ๔๐๐ เขต ส.ส.มาจากระบบอุปถัมภ์เกินครึ่ง สภาผู้แทนราษฎรก็จะเกิดปัญหา ในการผลักดันนโยบาย เพราะไม่มีใครสนใจนโยบายที่ใช้หาเสียงตั้งแต่แรก

ฉะนั้นจะสังเกตว่าเมื่อไปเป็นรัฐบาลแล้ว นโยบายที่พรรคการเมืองต่างๆ นำมาหาเสียง ถูกนำไปแปลงเป็นนโยบายรัฐบาล และผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้น้อยมาก

ดูกรณี ค่ารถไฟฟ้า ๒๐ บาทตลอดสาย เป็นตัวอย่าง

แม้ทำไม่เคยสำเร็จแต่พรรคการเมืองเดิมๆ ก็ยังคงนำมาหาเสียงซ้ำๆ โดยที่ประชาชนซึ่งเลือก ส.ส.ของพรรคนั้นไม่เคยทวงถามด้วยซ้ำว่า ทำไมตอนเป็นรัฐบาลถึงทำไม่สำเร็จ

แล้วทำไมถึงนำมาหาเสียงซ้ำอีก

นโยบายพรรคการเมือง จึงสะท้อนความจริงใจของพรรคการเมือง

นโยบายรัฐสวัสดิการ พรรคก้าวไกลโหมหาเสียงนโยบายนี้มากที่สุด

แล้วมันเป็นไปได้แค่ไหน

ฟัง "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" พูดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา  เหมือนพยายามจะสร้างความชัดเจน แต่ยิ่งพูดก็ยิ่งมีคำถามมากมาย เพราะเป็นการพูดเพียงมิติเดียว คือประชาชนจะได้อะไร แต่ไม่ยอมบอกว่าประชาชนต้องเสียอะไร

 “ภาพที่เราอยากเห็น คือรัฐสวัสดิการ ที่จะมาตอบโจทย์คนส่วนใหญ่ในประเทศนี้ ที่มีเกษตรกรหลายคนเป็นหนี้ ธ.ก.ส. ที่ทำงานทั้งชีวิตจนวันตายก็อาจจะยังใช้หนี้ไม่หมด แล้วยังต้องตกทอดจากรุ่นสู่รุ่นอีก บางคนก็ต้องเป็นหนี้ กยศ. พอเรียนจบเริ่มต้นชีวิตก็ติดลบไปแล้ว สำหรับคนหนุ่มยังต้องมาเจอกับการเกณฑ์ทหาร เอาวัยที่สุกสกาวในชีวิตไปรับใช้บ้านนายพล นี่คือชีวิตของคนจน เราจึงต้องการสร้างรัฐสวัสดิการขึ้นมา นี่คือสังคมที่เราอยากเห็น ที่ดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตาย"

ความหมายรัฐสวัสดิการของ "ธนาธร" คือ รัฐสวัสดิการเข้มข้น รัฐเข้าไปแทรกแซงดูแลประชาชนแทบทุกเรื่องตั้งแต่เกิดยันตาย

พูดง่ายๆ นี่คือรัฐสวัสดิการแบบสแกนดิเนเวีย

น่าชื่นชมอยู่ครับหากทำได้จริง เพราะจะเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่

เพียงแต่พรรคก้าวไกลไม่เคยบอกชัดๆ ว่า จะเอางบประมาณจำนวนมหาศาลเป็นแสนๆ ล้าน มาจากไหน

เท่าที่เห็นพูดกันคือ เลิกเกณฑ์ทหาร ตัดงบกองทัพที่ไม่จำเป็น จะมีงบเหลือมาแจกประชาชน

ที่น่าประหลาดใจคือมีนักวิชาการ นักธุรกิจ เคลิ้มไปกับคำตอบนี้

งบแค่นั้นมันพอสำหรับรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบหรือครับ?

ไปดูสวีเดนเป็นตัวอย่าง 

ปัจจุบัน การเก็บภาษีหลักๆ ในสวีเดน แบ่งออกเป็นสามส่วน

๑.ภาษีรายได้ ประมาณร้อยละ ๓๐-๓๕ ของเงินเดือน

๒.ภาษีนายจ้างประมาณร้อยละ ๓๐ ของเงินเดือนลูกจ้าง/คน/เดือน

๓.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat) ประมาณร้อยละ ๒๕ ของราคาสินค้า

แล้วหนทางสู่รัฐสวัสดิการ ความเป็นไปได้ของสังคมไทย ต้องทำอย่างไร

เอาตามที่พรรคก้าวไกลขายไอเดียอยู่ เรียกกว่าไกลเกินจะเป็นความจริงได้

อาจได้บ้างตามที่พรรคก้าวไกลหาเสียงไว้แจกเงิน เด็กได้ ๑,๒๐๐ บาท คนแก่ได้ ๓ พัน

โดยเฉพาะคนชรา ไม่ใช่รายได้ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้หลังเกษียณ ตามความหมายของรัฐสวัสดิการ

แต่พรรคอื่นก็ใช้นโยบายหาเสียงใกล้เคียงกันนี้ โดยไม่มีใครเรียกรัฐสวัสดิการ

เพราะมันคือรัฐประชานิยม!

ฉะนั้นหากไทยจะก้าวเข้าสู่รัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ  รัฐดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนตายอย่างสมบูรณ์แบบ ประชาชนต้องรับรู้ว่าจะต้องเสียอะไรไปบ้าง

สิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องเปลี่ยนแปลงหลังได้เป็นรัฐบาล คือปฏิรูปภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ทำไมต้องปฏิรูป เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ครอบคลุมฐานทั้งหมด

อีกทั้งยังมีสิทธิลดหย่อนภาษีอีกประมาณร้อยละ ๘๐ 

เป็นของกลุ่มที่รวยที่สุดร้อยละ ๑๐

พรรคก้าวไกลกล้าหาญพอที่จะขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมคนให้มากขึ้นหรือเปล่า

กล้าพอที่จะยกเลิกการลดหย่อนภาษีที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มรายได้สูงหรือเปล่า

การปฏิรูปภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นอีกประเด็นที่พรรคก้าวไกลต้องทำ เพราะปัจจุบันรัฐสูญเสียรายได้จากกลุ่มนี้ไปมาก

การกำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสม คือไม่ลดแลกแจกแถมมากเกินไป คือสิ่งที่ต้องทำหากต้องการพาประเทศเป็นรัฐสวัสดิการเต็มรูปแบบ

สิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI อย่างที่ ไทยซัมมิท ได้ ควรจะเพลาๆ ลงหน่อย 

การเก็บภาษีจากการหากำไรจากการซื้อขายหุ้น อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์ดิจิทัล

สำคัญที่สุด ภาษีมูลค่าเพิ่ม (vat)        ปัจจุบันเก็บที่ ๗%

หากเพิ่มขึ้น ๑% สามารถทำรายได้ให้รัฐร่วม ๑ แสนล้านบาท

เก็บสัก ๑๕% พอที่จะนำมาสร้างรัฐสวัสดิการได้อยู่

พรรคก้าวไกลกล้าบอกประชาชนหรือเปล่า?

ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ภาษีสิ่งแวดล้อม  สรุปคือต้องปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบ

แทนที่จะไปเรียกร้องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์  ปฏิรูปกองทัพ พรรคก้าวไกลมาจับเรื่องปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไม่ดีกว่าหรือ

หาเสียงเลือกตั้งควรจะพูดความจริงกับประชาชน

อย่าหลอกลวง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปั้น 'จีดีพีเลือด'

เชื่อเถอะครับ... ที่รัฐบาลพ่อเลี้ยงประกาศจะปั้นจีดีพีให้โตพรวดๆ นั้น ทำได้จริง

กาสิโนต้องเร่งด่วน!

ไม่รู้จะแปลความอย่างไรครับ... นอกจากรัฐบาลลักไก่! ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาสะกิดรัฐบาลเอากลับไปทำเสียให้ถูกต้อง ให้มันครบวงจรจริงๆ

จะล้มทั้งกระดาน

น่าเห็นใจครับ... วานนี้ (๑๒ มกราคม) หมอใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ "พล.ต.ท. นพ.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์" รูดซิปปากแน่น ใส่กุญแจอีก ๑๔ ชั้น ไม่บอกนักข่าวว่าส่งเอกสาร หลักฐาน การรักษาตัว "นักโทษเทวดา" ไปให้ คณะอนุกรรมการสอบสวนเฉพาะกิจ แพทยสภา แล้วหรือยัง

อย่าปล่อยให้เหลิง

นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ