ผมชอบรูปนี้...เพราะเป็นภาพที่น่ารักของผู้นำอินเดียกับญี่ปุ่นที่นั่งจิบชาในสวนดอกไม้...เพื่อพูดถึงสันติภาพของภูมิภาคในย่านนี้ของเรา
ในช่วงต้นสัปดาห์ที่เริ่มเมื่อ 20 มีนาคมที่ผ่านมา ขณะที่สี จิ้นผิง ไปเยือนมอสโกเพื่อพบกับปูติน อีกคู่หนึ่งคือนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่นก็แวะไปหานายกฯ นเรนทรา โมดี ที่อินเดีย
นอกจากญี่ปุ่นจะเชิญอินเดียไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ Group of Seven ในเดือนพฤษภาคมแล้ว ที่น่าสนใจคือ
คำประกาศแผนปฏิบัติการของญี่ปุ่นที่เรียกว่า “ความคิดริเริ่มใหม่ในอินโด-แปซิฟิก”
ที่บางคนมองว่าเป็นแผนต้านอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้
แต่ผมเห็นว่านี่เป็นการแข่งขันระหว่างญี่ปุ่นกับจีน ที่จะเชิญชวนให้ประเทศในแถบนี้ (รวมทั้งไทย) ที่จะร่วมวงในการหาทางสร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศในย่านนี้ ที่ไม่ฟังเสียงเฉพาะจากวอชิงตันเท่านั้น แต่ยังต้องฟังปักกิ่งและโตเกียว และนิวเดลีด้วย
คนไทยเรามักจะลืมว่า ในเอเชียนั้นมีประเทศใหญ่ๆ ที่เราควรจะต้องสร้างสัมพันธ์และทำความเข้าใจร่วมกันอย่างลึกซึ้งคือ จีน, อินเดีย และญี่ปุ่น
ซึ่งหากหาทางร่วมมือกับอาเซียนให้ได้ครบวงจรแล้ว เราก็จะสามารถสร้างเครือข่ายแห่งความร่วมมือที่สามารถทำให้ตะวันตกต้องหยุดใคร่ครวญถึงอนาคตโลกที่จะมองข้ามเอเชียไม่ได้เป็นอันขาด
คิชิดะไปอินเดีย 2 วัน โดยไปขายไอเดียที่หวังจะส่งเสริม "วิสัยทัศน์ของอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้าง” ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มที่นำโดยโตเกียว สำหรับความร่วมมือด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้น
เพื่อส่งสัญญาณถึงปักกิ่งว่าจะต้องมาตั้งวงสนทนากันให้ใกล้ชิดมากขึ้นในมวลหมู่เอเชียด้วยกัน
คิชิดะบอกว่าญี่ปุ่นพร้อมจะให้ความช่วยเหลือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
เตรียมเพิ่มการสนับสนุนด้านความมั่นคงทางทะเล การจัดหาเรือและอุปกรณ์ลาดตระเวนยามชายฝั่ง และความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติใหม่ของญี่ปุ่นที่นำมาใช้ในเดือนธันวาคม
โตเกียวกำลังติดตั้งขีปนาวุธร่อนพิสัยไกลเพื่อเสริมศักยภาพในการโจมตีกลับ และใช้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาอย่างมีกลยุทธ์มากขึ้นในการสนับสนุนประเทศที่มีแนวคิดเดียวกัน
ที่ทั้งจีนและญี่ปุ่นต้องเพิ่มงบประมาณด้านทางทหารมากขึ้นก็เพราะความระแวงคลางแคลงต่อกัน
หากมีความเข้าใจกันให้ลึกซึ้งขึ้นก็จะแปรการเผชิญหน้าเป็นความร่วมมือได้
อินเดีย ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมและตลาดเกิดใหม่ หรือ G-20 ปีนี้ ยอมรับว่าความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นเป็นกุญแจสำคัญสู่เสถียรภาพในภูมิภาค
อินเดียและญี่ปุ่นพร้อมด้วยสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย รวมกันเป็นพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิกที่เรียกว่า Quad
การอ้างสิทธิเหนือดินแดนของจีนในทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ ทำให้ประเทศเพื่อนบ้านขนาดเล็กของปักกิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สั่นคลอน
เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ซึ่งกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือ
ในขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างนิวเดลีและปักกิ่งก็เลวร้ายลงเช่นกันตั้งแต่ปี 2020 เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทหารอินเดียและจีนปะทะกันตามชายแดนที่ลาดักห์ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดในเขตหิมาลัย ทำให้ทหารอินเดีย 20 นายและจีน 4 นายเสียชีวิต
คิชิดะชวนโมดีคุยเรื่องกระชับความร่วมมือทวิภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และพูดถึงการบริหารจัดการเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และการจัดหาเงินทุนเพื่อการพัฒนา
ผู้นำทั้งสองแสดงความพร้อมที่จะร่วมมืออย่างใกล้ชิด ในการจัดการกับความท้าทายระดับโลกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาพลังงานและเสบียงอาหารที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่สงครามรัสเซียกับยูเครน
คิชิดะบอกว่า โมดีรับคำเชิญที่จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G-7 ของประเทศอุตสาหกรรมหลัก ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองฮิโรชิมาในเดือนพฤษภาคม
ญี่ปุ่นดำรงตำแหน่งประธาน G-7 ในปีนี้ และบอกว่าจะแสวงหาความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อวางรากฐานสำหรับการประชุมสุดยอดที่ประสบความสำเร็จ
อินเดียและญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง การค้าระหว่างทั้งสองประเทศมีมูลค่า 20.57 พันล้านดอลลาร์ในปีงบประมาณ 2021-22
การลงทุนของญี่ปุ่นในอินเดียแตะ 3.2 หมื่นล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2000-2019
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในอินเดีย รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง
สัญญาณว่าญี่ปุ่นกำลังจะทุ่มงบก้อนใหญ่เพื่อเสริมบทบาทของตนในภูมิภาคให้โดดเด่นเคียงคู่จีน คือคำประกาศของคิชิดะที่ว่า ภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นจะใช้งบประมาณ 75,000 ล้านดอลลาร์ (2.5 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2030 เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
และเขาไม่ลืมที่จะอ้างถึงสงครามยูเครน ในคำปราศรัยของเขา คิชิดะกล่าวว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซีย “ทำให้เราเผชิญความท้าทายพื้นฐานที่สุดในการรักษาสันติภาพ”
แผนปฏิบัติการที่ญี่ปุ่นประกาศจะ “นำประชาคมระหว่างประเทศไปสู่ความร่วมมือมากกว่าการแตกแยกและการเผชิญหน้า”
คิชิดะบอกว่าแผนปฏิบัติการมี 4 เสาหลัก ได้แก่ หลักการเพื่อสันติภาพและกฎเกณฑ์เพื่อความเจริญรุ่งเรือง แนวทางอินโด-แปซิฟิกเพื่อจัดการกับความท้าทาย การเชื่อมต่อหลายระดับ และความปลอดภัยที่แผ่ขยายจากทะเลสู่ท้องฟ้า
คิชิดะอธิบายหลักการเพื่อสันติภาพและกฎเพื่อความเจริญรุ่งเรือง เพื่อต่อต้าน “ความพยายามฝ่ายเดียวในการเปลี่ยนแปลงสถานะที่เป็นอยู่โดยใช้กำลังและการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ”
จะหมายความถึงใครถ้าไม่ใช่จีน
และยังเอาใจอาเซียนด้วยการเสนอเงินเพิ่มเติม 100 ล้านดอลลาร์ (3,400 ล้านบาท) แก่กองทุนบูรณาการญี่ปุ่น-อาเซียน
เราจึงเห็นการพบปะระหว่างผู้นำญี่ปุ่นกับอินเดียที่น่าจะมีความหมายสำคัญต่ออนาคตของ “ภูมิรัฐศาสตร์” ในภูมิภาคนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้
แม้ว่าอินเดียจะเล่นบท “ประเทศเป็นกลาง” ไม่ถือหางข้างใดในความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หรือแม้แต่ในกรณีสงครามยูเครน
แต่ขณะเดียวกัน โมดีก็จับมือกับสหรัฐฯ, ออสเตรเลีย และญี่ปุ่นในการตั้งกลุ่ม Quad
แต่ก็เป็นสมาชิกสำคัญของ BRICS ที่ร่วมมือกับจีนและรัสเซียอย่างใกล้ชิดสนิทสนมเช่นกัน
นี่คือโฉมหน้าการทูตภารตะที่มีความคล่องแคล่วในภาวะความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งอย่างหนักหน่วงมากขึ้นทุกวัน
ภาพการนั่งจิบชาในสวนของคิชิดะกับโมดีจึงสื่อความหมายที่น่าวิเคราะห์ในมิติของ “ความเป็นเอเชีย” อย่างยิ่ง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ