ถ้า “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ฉลาดขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างที่ผู้คนเริ่มพูดถึง Chat-GPT รุ่นปรับปรุงใหม่ คนอาชีพอะไรจะตกงานบ้าง?
วันก่อนผมเห็นมีใครตั้งคำถามนี้กับ GPT-4 และได้คำตอบที่สร้างความฮือฮาไม่น้อย
อาชีพที่เข้าข่ายจะถูกทดแทนโดย AI ได้อย่างน้อย 20 ตำแหน่งมีเช่น
เสมียนคีย์ข้อมูล
ตัวแทนบริการลูกค้า
พนักงานตรวจปรู๊ฟ
พนักงานบัญชี
นักแปล
นักเขียนข้อความโฆษณา
นักวิเคราะห์งานวิจัยการตลาด
ผู้จัดการโซเชียลมีเดีย
ผู้ช่วยจัดตารางงานผู้บริหาร
นักการตลาดผ่านคอลเซ็นเตอร์
ผู้ช่วยเสมือนจริง
นักถอดเทป
นักข่าว
เอเยนต์บริษัทท่องเที่ยว
ติวเตอร์
นักวิเคราะห์ฝ่ายสนับสนุนทางเทคนิค
นักการตลาดทางอีเมล
ผู้ประสานด้านสร้างเนื้อหา
นักจัดหางาน
บัญชี “คนอาจตกงานเพราะเอไอ” นี้ไม่ได้มาจากการวิเคราะห์ของมนุษย์
เป็นข้อมูลที่ GPT-4 ใช้ความเป็น AI ประมวลและวิเคราะห์ให้เรา ไม่ใช่เป็นความเห็นของมนุษย์เราเองจะแม่นยำและถูกต้องแค่ไหนมนุษย์ต้องเป็นผู้พิจารณาตัดสิน
แต่ก็ทำให้คนในอาชีพต่างๆ เหล่านี้ได้หนาวกันไปทั่วเช่นกัน เพราะเริ่มจะเห็นแนวโน้มแล้วว่าอะไรๆ กำลังจะเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ
ใครไม่ปรับตัว ไม่แสวงหาทักษะใหม่เพื่อทำอะไรได้มากกว่างานซ้ำๆ ที่ AI ทำได้ดีกว่าคน ก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจที่จะตกงานแน่นอน
เพราะแม้ว่าวันนี้เจ้า GPT จะยังไม่ได้เก่งกาจฉลาดเฉลียวไปในทุกๆ อย่าง แต่นับวันมันก็ยิ่งจะ “ฉลาด” ขึ้น เพราะเมื่อมีข้อมูลเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเขียนโปรแกรมให้มันเรียนรู้ที่จะเรียบเรียง แยกแยะ และวิเคราะห์เนื้อหาสาระก็จะใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น
ถึงขั้นที่ผู้ที่ติดตามเรื่อง AI อย่างใกล้ชิดมาตลอดยอมรับว่าเรากำลังเข้าสู่ยุคที่ AI “จะเปลี่ยนทุกสิ่งอย่าง” ในอนาคตอันใกล้นี้ ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบ ไม่ว่าเราจะพร้อมหรือไม่พร้อม และไม่ว่าเราจะพยายามสกัดกั้นมันอย่างไรก็ตาม
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 หรือเพียงแค่เกือบ 5 ปีที่แล้ว Sundar Pichai หัวหน้าผู้บริหารของ Google เคยเปรยเอาไว้ว่า
“AI อาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่มนุษยชาติเคยทำมา ผมคิดว่ามันเป็นอะไรที่ลึกซึ้งกว่าการค้นพบไฟฟ้าหรือไฟ”
ผมติดตามเรื่อง AI มาระยะหนึ่ง และเหมือนกับคนส่วนใหญ่ที่ไม่เชื่อว่าหุ่นยนต์จะมีทางเก่งกว่ามนุษย์
เพราะเราเชื่อมาตลอดว่าคอมพิวเตอร์จะเก่งกว่าคนได้อย่างไร ในเมื่อมันทำงานตามคำสั่งของคน
แต่วิวัฒนาการของ AI ที่สามารถป้อนข้อมูลจำนวนมหาศาลตลอดเวลากำลังสอนให้ “ปัญญาประดิษฐ์” มีความเก่งกาจ ตรงที่มันก้าวพ้นเพียงแค่การประมวลผลที่ป้อนเข้าไปเท่านั้น
แต่คำว่า Machine Learning และ Deep Learning มาจากการที่มันเรียนรู้ลึกลงไปแทนที่จะเพียงแค่กว้างขวางขึ้นเท่านั้น
เป็นที่มาของกูรูบางคนที่ตั้งคำถามว่า AI จะใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะเปลี่ยนระบบจากที่จะมี "ผลกระทบขนาดใหญ่ต่อโลก" ไปเป็น "โลกที่เปลี่ยนแปลงจนแทบจำไม่ได้"
คำตอบที่น่าตกใจคือมันอาจจะใช้เวลาที่สั้นลงมากอย่างน่าอัศจรรย์
หากเดิมต้องใช้เวลาเป็นทศวรรษ ต่อไปนี้อาจจะใช้เวลาเพียงเป็นปี และมิหนำซ้ำยังอาจจะใช้เวลาเป็นเดือนเท่านั้น
บางคนแย้งว่าต่อให้เก่งแค่ไหน นักพัฒนาทั้งหลายก็อาจจะต้องชนกำแพงบ้าง และอะไรๆ ที่คาดว่าจะเกิดก็อาจจะไม่เกิด
เหมือนที่เคยเรียกขานกันว่าเป็น “ฤดูหนาวอันยาวนาน" หรือ The long winter ของ AI ในอดีต
แต่ต้องย้อนถามว่า “แล้วถ้าหากนักพัฒนาเหล่านั้นไม่ปะทะกำแพงล่ะ? ถ้าหากมีการค้นพบที่ต่อยอดขึ้นไปได้อย่างน่ามหัศจรรย์ล่ะ?”
ถึงตอนนั้นมนุษย์จะต้องช็อกตกเก้าอี้เลยหรือไม่
AI จะทำให้คนตกงานเป็นล้านๆ ไหม?
ความจริง นวัตกรรมของโลกได้ทำให้ตำแหน่งงานหดหายมาเรื่อยๆ ต่างกันเพียงความเร่งและผลกระทบที่เคยทยอยกันมาปราฏให้เห็นเท่านั้น
จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับตัวครั้งใหญ่ในทุกๆ อาชีพ
ถามว่าเรามีเวลาปรับตัวนานเท่าไหร่?
คำตอบคือสั้นมาก
บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ต่างแข่งขันกันเพื่อแย่งชิงความเหนือชั้นทางด้าน AI อย่างเข้มข้นขึ้นทุกขณะ
สหรัฐฯ และจีนกำลังแข่งขันกันเป็นผู้นำด้าน AI
เงินทุนกำลังไหลเทเข้าสู่บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI
ใครที่บอกว่าเราควรจะชะลอตัวหรือหยุดยั้งการพัฒนา AI เพราะเรายังไม่รู้ว่ามันจะเป็นอันตรายต่อเราเพียงใด ก็คงจะถูกแซงหน้าไปอย่างรวดเร็ว
เพราะถ้าบริษัทหนึ่งลดความเร็ว อีกบริษัทหนึ่งก็จะเหยียบคันเร่งทันทีเพราะเห็นช่องว่าง
ในทำนองเดียวกัน หากประเทศหนึ่งหยุดชั่วคราว ประเทศอื่นๆ ก็จะยิ่งกดดันมากขึ้น
ประเทศไทยเราเป็นผู้บริโภคเทคโนโลยี แต่ไม่ส่งเสริมการผลิตนวัตกรรมเอง
เราจึงกลายเป็น “ผู้ทันความเปลี่ยนแปลงเฉพาะในส่วนที่เป็นลูกค้าของผู้ผลิตที่เก่งกว่าเรา”
นั่นคือจุดอ่อนที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย เพราะเรามีแต่การตั้งรับ แต่ขาดยุทธศาสตร์เชิงรุกในอันที่จะสร้างระบบและนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสิ่งใหม่ๆ ที่จะมาทดแทนสิ่งที่ล้าสมัยในประเทศอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
คนไทยไม่ทำงานที่ใช้แรงงาน
แต่ก็ไม่เรียนรู้ทักษะที่สูงขึ้นให้ทันกับความต้องการของตลาดใหม่ที่ต้องการความสามารถที่ถูกยกระดับขึ้นมา
เราจึงตกอยู่ใน “กับดักรายได้ปานกลาง” จนถึงวันนี้ และก็ยังหาทางออกจากกับดักนี้ไม่ได้
เพราะเรา “ใช้เป็น” แต่ “สร้างเองไม่เป็น”
ถ้าเราคิดว่า GPT-4 และเวอร์ชันใหม่ๆ ที่กำลังจะออกมาเป็น “ภัยคุกคาม” นั่นก็เพราะเราไม่กล้าออกจาก “เขตคุ้นเคย” ของเรา
แต่ถ้าเราปรับวิธีคิดและปฏิบัติใหม่ให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและเร่งร้อนที่เห็นอยู่นี้ เราก็จะยังสามารถขึ้นรถไฟขบวนต่อไปได้
แต่นั่นหมายถึงการเพิ่มความขยันและความพร้อมที่จะกระโดดเข้าสู่สนามการแข่งขันที่ดุเดือดและพลุ่งพล่านข้างหน้าให้จงได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ