มีคำถามว่าเมื่อศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ฐานก่ออาชญากรรมสงครามแล้ว, ในทางปฏิบัติศาลนานาชาติแห่งนี้จะสามารถเอาตัวปูตินมาขึ้นศาลได้หรือไม่
คำตอบคือคงไม่ง่าย
แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีผลทางลบสำหรับปูตินเลย
เพราะความสำคัญของหมายจับนี้เป็นเรื่องสัญลักษณ์ของการเมืองระหว่างประเทศ ไม่น้อยไปกว่าการที่จะจับผู้กระทำผิดมาลงโทษ
ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ International Criminal Court ก่อตั้งเดือนกรกฎาคม ปี 2002 หรือกว่า 20 ปีแล้ว ภายใต้ข้อตกลงที่เรียกว่า Rome Statue เพราะเป็นการลงนามที่กรุงโรมร่วมกัน
ทุกวันนี้ ICC มีสมาชิก 123 ประเทศ แต่ประเทศยักษ์ใหญ่ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย, สหรัฐฯ หรือจีน ก็ไม่ได้เป็นสมาชิก
เพราะมหาอำนาจกลัวว่าตนจะถูกฟ้องร้องในข้อหาต่างๆ ที่เข้าข่าย 3 ประการ ภายใต้อำนาจของ ICC นั่นคือ
War crimes อาชญากรรมสงคราม
Crime against humanity อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
Genocide การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
เพราะประเทศใหญ่ๆ เหล่านี้ล้วนมีกิจกรรมที่ไปโยงกับความขัดแย้งในส่วนอื่นๆ ของประเทศ จึงสุ่มเสี่ยงที่จะถูกประเทศอื่นฟ้องร้องในข้อหา 3 ประการ ที่กินความอย่างกว้างขวางได้
บางประเทศ รวมทั้งไทย (และยูเครน) ที่ได้ร่วมลงมติสนับสนุนสนธิสัญญานี้ แต่ยังไม่ได้ให้สัตยาบันรับรองอย่างเป็นทางการ
หมายจับของ ICC ต่อปูติน และมาเรีย ลิวา-เบโลวา กรรมาธิการหน่วยงานเกี่ยวกับสิทธิเด็กของรัฐบาลรัสเซีย
โดยระบุว่าทั้งสองมีความรับผิดชอบในการวางแผนเนรเทศเด็กชาวยูเครนไปยังรัสเซีย
ศาลกล่าวว่า “มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าปูตินมีส่วนรับผิดชอบทางอาญาเป็นรายบุคคล” สำหรับอาชญากรรมที่ถูกกล่าวหา สำหรับการก่ออาชญากรรมร่วมกับผู้อื่นโดยตรง และสำหรับ “ความล้มเหลวในการควบคุมอย่างเหมาะสมต่อผู้ใต้บังคับบัญชาพลเรือนและทหารที่กระทำการดังกล่าว”
ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีตำรวจเป็นของตนเอง จึงไม่มีเครื่องมือบังคับใช้กฎหมายหรือคำสั่งของตน
ต้องพึ่งพาประเทศสมาชิกที่มีภาระผูกพัน จะต้องช่วยบังคับใช้คำสั่งของศาลแห่งนี้
เช่นในกรณีปูตินโดนหมายจับของ ICC หากผู้ต้องหาเดินทางไปในประเทศใดที่เป็นสมาชิก ก็เป็นหน้าที่ของประเทศนั้นที่จะต้องจับตัวส่งศาล
แต่ในทางปฏิบัติ แม้ว่าประเทศนั้นๆ จะไม่ทำตามหมายจับของศาลก็ไม่มีมาตรการลงโทษอะไรได้
ทั้งหมดจึงขึ้นอยู่กับความร่วมมือและจริงจังของประเทศสมาชิก
ถ้าถามว่าปูตินจะถูกจับไหม มีคำตอบเพียง 2 ทาง
ทางที่หนึ่งคือรัฐบาลรัสเซียส่งตัวเขาไปให้ศาล
ทางที่สองคือประเทศสมาชิก ICC จับเขาส่งศาล
ทั้งสองหนทางไม่น่าจะเกิดขึ้นได้
เหตุเพราะปูตินเป็นผู้กุมอำนาจเด็ดขาดในรัสเซีย จึงไม่น่าจะเป็นไปได้ที่รัฐบาลรัสเซียจะส่งมอบตัวเขาให้ ICC
นั่นแปลว่าตราบที่นายปูตินยังอยู่ในรัสเซีย ก็จะไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกรวบตัว
หรือเขาอาจจะถูกจับกุมถ้าเดินทางออกนอกประเทศ
ความจริงก่อนหน้านี้ปูตินก็ไม่ค่อยจะเดินทางไปไหนนอกเขตอิทธิพลของตนอยู่แล้ว เพราะมาตรการคว่ำบาตรนานาชาติ
จึงไม่น่าจะมีแนวโน้มที่เขาจะเดินทางไปยังประเทศที่ต้องการนำตัวเขาขึ้นพิจารณาคดี
ย้อนกลับไปตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ปูตินเดินทางไปแค่ 8 ประเทศเท่านั้น
และจาก 8 ประเทศนั้น 7 ประเทศคือดินแดนใต้อิทธิพลของรัสเซียที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต
ประเทศเดียวที่ปูตินไปเยือนและไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่เป็นพรรคพวกเก่าคืออิหร่าน
เป็นการไปเยี่ยมเยือนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีก่อน เพื่อพบปะกับอยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน
แต่อิหร่านก็เป็นพันธมิตรเหนียวแน่นของมอสโก จึงไม่มีความเสี่ยงใดๆ ที่ปูตินจะถูกจับไปส่งตัวให้ ICC
คำถามต่อมาก็คือแล้วในท้ายที่สุดปูตินจะต้องเผชิญการพิจารณาคดีหรือไม่
เงื่อนไขข้อแรกคือศาล ICC จะไม่พิจารณาถ้าผู้ต้องหาไม่มาปรากฏตัวเอง
อีกประการหนึ่ง รัสเซียไม่ยอมรับขอบเขตอำนาจของ ICC
อุปสรรคใหญ่สำหรับศาลและเป็นประโยชน์สำหรับปูตินคือ ICC ไม่มีกระบวนการพิจารณาคดีลับหลังจำเลย
มีประเด็นน่าสนใจต่อมาว่า การออกหมายจับปูตินมีผลอย่างไรต่อความเป็นไปของสงครามในยูเครนบ้าง
แม้ปูตินจะไม่ให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวนี้ แต่การที่ ICC ออกหมายจับนายปูติน ก็เท่ากับเป็นการส่งสัญญาณจากประชาคมโลกว่ามีการกระทำในสมรภูมิยูเครนที่เข้าข่ายเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ
เดิมที ICC บอกว่าจะไม่ออกข่าวเรื่องออกหมายจับให้เป็นที่รู้กันไปทั่ว แต่ก็เปลี่ยนความคิดเมื่อเห็นว่าหากแจ้งเรื่องนี้ให้ประชาคมโลกรับทราบ ก็อาจจะช่วยระงับยับยั้งไม่ให้การก่ออาชญากรรมนี้ดำเนินต่อไป
นั่นคือการป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องทำนองนี้ซ้ำอีก
ปฏิกิริยาทางการของรัสเซียต่อเรื่องนี้คือ การมองว่าหมายจับของ ICC ไม่มีความหมายใดๆ
รัฐบาลรัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ากองทัพรัสเซียได้กระทำการโหดร้ายป่าเถื่อนในยูเครน และโฆษกของนายปูตินเรียกการตัดสินใจออกหมายจับของ ICC ว่าเป็นเรื่อง “เกินกว่าเหตุและยอมรับไม่ได้”
รัสเซียอาจจะมองย้อนไปในอดีต และเห็นตัวอย่างว่าคำสั่งของ ICC ไร้ความหมาย
เช่นกรณีอดีตประธานาธิบดีซูดาน Omar al-Bashir ที่เดินทางไปต่างประเทศหลายครั้ง แต่ก็ไม่ถูกจับ แม้ว่าจะมีหมายจับ ICC ในข้อหามีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ดาร์ฟูร์
แล้วหมายจับนี้มีความหมายอย่างไร?
อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นจริงๆ ว่ารัสเซียเป็นประเทศนอกกรอบในประชาคมระหว่างประเทศ
และอาจจะเสริมอำนาจต่อรองของฝ่ายยูเครนและตะวันตกที่กำลังสนับสนุนยูเครนให้ทำสงครามชนะรัสเซีย
อีกด้านหนึ่ง ICC อาจยื่นฟ้องเพิ่มเติมที่โยงกับการรุกรานของรัสเซียไม่กี่เดือนข้างหน้า
ซึ่งก็จะสร้างภาพทางลบต่อรัสเซียเพิ่มขึ้นอีก
เพราะฝ่ายรัฐบาลยูเครนและองค์กรระหว่างประเทศ และอัยการของ ICC ก็กำลังเก็บข้อมูลและหลักฐานที่โยงถึงการกระทำของผู้นำการเมือง ทหาร และทหารรับจ้างของรัสเซีย
ที่ถูกกล่าวหาว่าได้ก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติในยูเครน
รวมถึงการสู้รบที่พุ่งไปที่เป้าหมายพลเรือน
แม้แต่การที่ทางรัสเซียประกาศเป็นประจำว่า การถล่มโจมตีหลายๆ รอบนั้นมีเป้าหมายไปที่ “โครงสร้างพื้นฐานทางพลังงาน” อันหมายถึงโรงไฟฟ้าและโรงงานผลิตน้ำสำหรับพลเรือน ก็อาจจะเข้าข่ายการทำลายเป้าหมายทางพลเรือน
ดังนั้นแม้ปูตินจะบอกว่าไม่ให้ราคาหมายจับของศาลโลก แต่มันก็จะเป็นเงาที่หลอกหลอนเขาไปในทุกเวทีระหว่างประเทศแน่นอน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ