วันนี้สงครามยูเครนเข้าสู่วันที่ 390
มีเรื่องร้อนๆ ที่เกิดขึ้นในไม่กี่วันที่ผ่านมา ที่ล้วนแล้วแต่ส่งสัญญาณไปในทางที่สร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นในระดับโลก
เริ่มด้วยวันนี้ (จันทร์ที่ 20 มีนาคม) ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีนจะไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ
ข่าวแจ้งมาล่วงหน้าว่า สี จิ้นผิง กับวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จะออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อประกาศว่าความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกำลังจะก้าวเข้าสู่ “ศักราชใหม่”
ในขณะที่สงครามยูเครนยังร้อนระอุ...แม้ว่าผู้นำปักกิ่งจะกำลังเล่นบท “ผู้ไกล่เกลี่ย” เพื่อหาทางให้มีการหยุดยิงเพื่อนำไปสู่สันติภาพถาวร
เป็นจังหวะเดียวกับที่รัฐมนตรีต่างประเทศจีนคนใหม่คือ ฉิน กัง ต่อสายตรงไปคุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ดมิโทร คูเลบา เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นว่าด้วยโอกาสที่จะหาทางยุติสงครามในยูเครน
ผมมองว่าเป็นความพยายามของจีนที่จะแสดงถึงการวางตัวเป็นกลาง
ขณะที่ผู้นำเบอร์หนึ่งจีนไปเยือนเบอร์หนึ่งรัสเซีย ปักกิ่งก็ไม่ต้องการจะให้เกิดภาพว่าจีนกับรัสเซียมีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ จนไม่อาจจะเป็นกลางในฐานะผู้เสนอตนเป็น “โซ่ข้อกลาง” ได้
จึงให้ระดับรัฐมนตรีต่างประเทศพูดคุยกันไปด้วย เพื่อให้เกิด “สมดุล” แห่งการเชื่อมต่อกับคู่กรณีในสงครามทั้งสองฝ่าย
และจีนกับสหรัฐฯ ยังมีเรื่องระหองระแหงเกี่ยวกับการที่เครื่องบินรบรัสเซียสอยโดรนของสหรัฐฯ เหนือทะเลดำ โดยที่ต่างฝ่ายต่างชี้นิ้วกล่าวโทษกันและกัน
เป็นการยกระดับความตึงเครียดให้สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
ยิ่งเครียดขึ้นเมื่อโปแลนด์และสโลวาเกีย (สองสมาชิกนาโต) ประกาศว่าจะส่งมอบเครื่องบินรบ MiG-29 ให้ยูเครนเพื่อเดินหน้าทำสงครามกับรัสเซียต่อ
ในจังหวะที่ฤดูหนาวกำลังจะจบลง เข้าสู่โหมด “รุกใหญ่ฤดูใบไม้ผลิ” หรือ Spring Offensive ที่คาดกันว่าจะทำศึกสงครามกันหนักขึ้นอีกรอบ
รัสเซียตอบโต้ด้วยการขู่ว่าถ้าสองประเทศนี้ส่งเครื่องบินรบให้ยูเครน มอสโกก็ไม่มีทางเลือกนอกจากจะต้อง “ทำลายให้สูญสิ้น” ไปเช่นกัน
นั่นแปลว่า สงครามยูเครนจะขยายวงจากศึกภาคพื้นดินสู่อากาศ และอาจจะกลายเป็นการสู้รบกันในทะเลดำเพิ่มขึ้นมาอีกมิติหนึ่งด้วย
ยังไม่ทันที่ความร้อนแรงจะเพิ่มขึ้นอย่างหนัก ก็มีความเคลื่อนไหวที่สร้างความเข้มข้นให้สงครามยูเครนอีกเรื่อง
นั่นคือคำประกาศจากศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ได้ออกหมายจับปูตินในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครนแล้ว
ยิ่งตอกย้ำว่า โอกาสที่จะลดอุณหภูมิการเผชิญหน้าระหว่างตะวันตกกับรัสเซียนั้นยากเย็นขึ้นอีกหลายขั้นทีเดียว
ศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC (International Criminal Court) ออกหมายจับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงคราม
คำแถลงของ ICC แจ้งข้อกล่าวหาต่อปูตินว่า เขามีส่วนร่วมสั่งการลักพาตัวเด็กๆ ชาวยูเครนระหว่างปฏิบัติการทหารของรัสเซีย
ตอนหนึ่งของคำประกาศบอกว่า “อาชญากรรมสงครามนี้เกิดจากการนำตัวหรือโยกย้ายเด็กๆ ออกจากพื้นที่ครอบครองในยูเครนไปยังรัสเซียอย่างผิดกฎหมาย"
ในคำประกาศเดียวกันนั้น ศาล ICC ยังได้ออกหมายจับ มาเรีย อเล็กเซเยฟนา ลโววา-เบโลวา หัวหน้าด้านสิทธิเด็ก ประจำสำนักงานประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย ในข้อหาเดียวกันด้วย
ผมดูวิดีโอคลิปที่ประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ พีออตร์ ฮอฟแมนสกี ออกประกาศเองแล้วเห็นเอาจริงเอาจังมาก
คำถามก็คือว่า “หมายจับของ ICC” นี้จะมีผลทางปฏิบัติอย่างไร
คำตอบคือ แม้ทางผู้พิพากษาของ ICC จะได้ออกหมายจับแล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่กับประชาคมโลกที่จะบังคับใช้
เพราะศาล ICC ไม่มีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายของตนที่จะสามารถไปจับกุมผู้ที่ถูกออกหมายจับได้
ประธานศาล ICC บอกว่า "เราได้ทำหน้าที่ในส่วนของเราภายใต้กฎหมายแล้ว นั่นคือการที่ผู้พิพากษาออกหมายจับ แต่การจับกุมนั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาคมโลก"
โอกาสในการดำเนินคดีต่อพลเมืองรัสเซียนั้นทำได้ยาก เพราะรัสเซียไม่ยอมรับอำนาจทางกฎหมายของศาลอาญาระหว่างประเทศ
ดมิทรี เมดเวเดฟ รองประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย บอกว่าหมายจับของ ICC ต่อปูตินไร้ความหมาย
“มันมีคุณค่าเท่ากับกระดาษชำระเท่านั้น...”
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย มาเรีย ซาคาโรวา ออกโรงโต้ทันควันว่า "คำตัดสินของศาลอาญาระหว่างประเทศไม่มีความหมายต่อประเทศของเรา แม้แต่ในแง่กฎหมาย"
แต่รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน ดมิโทร คูเลบา แสดงความยินดีกับความเคลื่อนไหวใหม่ล่าสุดนี้
เขาบอกว่า "กงล้อแห่งความยุติธรรมกำลังหมุนไป" และ "อาชญากรระหว่างประเทศจะต้องถูกลงโทษจากการลักพาตัวเด็กๆ และอาชญากรรมอื่นๆ"
ยูเครนก็ไม่ได้เป็นสมาชิกของ ICC เช่นเดียวกับรัสเซีย
แต่รัฐบาลยูเครนยอมรับอำนาจทางกฎหมายของ ICC เหนือดินแดนยูเครน และยอมให้อัยการของ ICC คาริม คาน เดินทางเข้าตรวจเยี่ยมพื้นที่เกิดเหตุมาแล้ว 4 ครั้ง นับตั้งแต่เริ่มการสืบสวนกรณีนี้เมื่อปีที่แล้ว
แต่นักวิเคราะห์ระหว่างประเทศให้ความเห็นว่า แม้รัสเซียปฏิเสธข้อกล่าวหานี้และไม่ยอมรับหมายจับของ ICC แต่หมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศก็ทำให้ปูตินกลายเป็น “ผู้ต้องหาที่ทางการต้องการตัว”
ทำให้ปูตินกลายเป็นผู้มีคดีระหว่างประเทศ และประเทศที่เป็นสมาชิกของ ICC มีภาระผูกพันที่จะต้องจับตัวผู้ต้องหาหากเจอตัว
ปูตินมีกำหนดจะไปร่วมประชุม BRICS ที่แอฟริกาใต้ในเดือนสิงหาคมนี้
แอฟริกาใต้เป็นสมาชิกของ ICC ดังนั้นจึงมีความรับผิดชอบที่จะต้องบังคับใช้กฎหมาย
นั่นแปลว่าถ้าปูตินไปปรากฏตัวที่นั่น ก็อาจจะมีเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลแอฟริกาใต้จับปูติน
แม้จะเคยมีกรณีที่แอฟริกาใต้ไม่ยอมจับ Omar al-Bashir ในปี 2015 ซึ่งอดีตผู้นำซูดานคนนี้จะถูก ICC ออกหมายจับในข้อหาสังหารหมู่พลเรือนในประเทศของตน
และเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนนี้ รัสเซียจะขึ้นเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ
นั่นจะทำให้เกิดภาพย้อนแย้งว่า รัสเซียที่ผู้นำถูกศาลอาญาระหว่างประเทศออกหมายจับจะมานั่งหัวโต๊ะขององค์กรที่สำคัญที่สุดของสหประชาชาติได้อย่างไร
ทั้งหมดนี้บอกเราว่า โลกกำลังก้าวเข้าสู่ความสับสนอลหม่านที่เกิดจากการขยายวงของสงครามยูเครนอย่างไม่จบไม่สิ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ